คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5282/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เมื่อในสัญญาประนีประนอมยอมความมิได้ระบุว่า กรณีที่โจทก์ผิดนัดให้เลิกสัญญาได้ ทั้งโจทก์และจำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันต่อหน้าศาลชั้นต้นโดยศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอมแล้ว คำพิพากษาตามยอมย่อมผูกพันโจทก์และจำเลยให้ต้องปฏิบัติตามคำพิพากษาดังกล่าวตาม ป.วิ.พ.มาตรา 145 วรรคหนึ่ง แม้โจทก์จะเป็นฝ่ายผิดนัดตามสัญญาประนีประนอมยอมความก็ตาม จำเลยก็ไม่อาจเลิกสัญญาประนีประนอมยอมความต่อโจทก์ได้ เพราะเป็นกรณีนอกเหนือไปจากที่ระบุไว้ในสัญญาประนีประนอมยอมความอันเป็นสาระสำคัญแห่งคำพิพากษาตามยอม
เมื่อศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาตามยอมและมิได้มีการอุทธรณ์คำพิพากษาคดีถึงที่สุด ซึ่งหลังจากนั้นเป็นเรื่องของการบังคับคดีตามคำพิพากษา จำเลยจึงมีเฉพาะสิทธิขอให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาตามยอมที่ระบุไว้ในสัญญาประนีประนอมความอย่างชัดแจ้งว่าหากโจทก์ผิดนัดยินยอมให้บังคับคดีได้ทันทีโดยการยึดทรัพย์ของโจทก์มาชำระหนี้พร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมาย ซึ่งจำเลยก็ได้มีคำขอให้ศาลชั้นต้นบังคับคดีแก่โจทก์ และศาลชั้นต้นออกหมายบังคับคดีไปแล้ว และเมื่อโจทก์นำเงินที่จะต้องชำระตามสัญญา-ประนีประนอมยอมความมาวางศาล โจทก์ในฐานะลูกหนี้ตามคำพิพากษาตามยอมโจทก์ก็ย่อมมีสิทธิกระทำได้เพื่อปฏิบัติตามคำพิพากษาตามยอมให้ตนหลุดพ้นจากหนี้ตามคำพิพากษาได้
โจทก์นำเงินตามจำนวนที่คำพิพากษาตามยอมระบุไว้มาวางต่อศาลภายหลังโจทก์ผิดนัดแล้ว เป็นผลเพียงทำให้โจทก์ต้องชำระดอกเบี้ยในต้นเงินที่นำมาวางศาลนับแต่วันผิดนัดจนถึงวันที่นำเงินตามคำพิพากษาตามยอมมาวางศาลในอัตราที่กฎหมายกำหนดไว้ด้วยเท่านั้น

Share