คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 584/2516

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยขายผลิตภัณฑ์ของโจทก์ให้แก่ลูกค้าโดยรู้ว่าลูกค้าไม่สามารถชำระหนี้ได้ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายไม่ได้รับชำระหนี้ และโจทก์ได้ยื่นฟ้องลูกค้าจนศาลได้พิพากษาให้ลูกค้าชำระหนี้แก่โจทก์แล้ว แต่โจทก์ยังไม่ได้รับชำระหนี้ตามคำพิพากษานั้น เห็นว่าตราบใดที่โจทก์ยังไม่ได้รับชำระหนี้เต็มจำนวนพิพาทจากลูกค้า โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องจำเลยให้รับผิดต่อโจทก์ได้เสมอ การฟ้องจำเลยไม่จำเป็นต้องรอให้การบังคับคดีกับลูกค้านั้นเสร็จสิ้นเสียก่อน การที่โจทก์ฟ้องลูกค้าก่อนและบังคับคดีได้เท่าใด มีผลเพียงว่าโจทก์จะเรียกร้องเอาค่าเสียหายในส่วนนั้นจากจำเลยซ้ำอีกไม่ได้เท่านั้น
ศาลชั้นต้นงดสืบพยานโจทก์จำเลย แล้วพิพากษาคดี โจทก์ไม่ได้โต้แย้งคำสั่งงดสืบพยาน จึงอุทธรณ์ในประเด็นนี้ไม่ได้แต่ทั้งนี้มิได้หมายความว่าห้ามศาลอุทธรณ์มิให้ ย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นทำการสืบพยานใหม่ให้ได้ข้อเท็จจริงอันเป็นสารสำคัญแห่งคดีจนสิ้นกระแสความและพิพากษาใหม่ด้วยอำนาจของศาลอุทธรณ์ในอันที่จะยกคำพิพากษาศาลชั้นต้นแล้วย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษาใหม่นั้น เป็นอำนาจของศาลอุทธรณ์ซึ่งมีอยู่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 243 ศาลอุทธรณ์จึงมีอำนาจย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาใหม่ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า ในระหว่างที่จำเลยเป็นผู้อำนวยการองค์การฟ้องหนังโจทก์ จำเลยได้ขายผลิตภัณฑ์ของโจทก์ให้แก่บริษัทไทยโนเวลตี้ ด้วยความประมาทเลินเล่อ เป็นเงิน 233,932.68 บาท และบริษัทไทยโนเวลตี้ได้สั่งจ่ายเช็ครวม 13 ฉบับ เป็นการชำระหนี้ดังกล่าว แต่เรียกเก็บเงินไม่ได้รวมเป็นเงิน 213,534.39 บาท แต่จำเลยก็ยังขายแผ่นหนังต่าง ๆ ของโจทก์ให้แก่บริษัทไทยโนเวลตี้อีก 7 ครั้ง เป็นเงิน 58,048.87 บาท บริษัทไทยโนเวลตี้ได้จ่ายเช็คชำระหนี้รวม 7 ฉบับ แต่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คทั้งหมด โจทก์ได้ฟ้องบริษัทไทยโนเวลตี้ให้ชำระราคาสินค้าที่ค้างชำระ 271,583.26 บาท แก่โจทก์ ศาลแพ่งได้พิพากษาให้ชำระตามฟ้องแต่บริษัทไทยโนเวลตี้ยังมิได้ปฏิบัติตามคำพิพากษา โจทก์ยังคงได้รับความเสียหายจากความประมาทเลินเล่อของจำเลยเป็นเงิน 58,048.87 บาท ขอให้ศาลบังคับ

จำเลยให้การว่า จำเลยกระทำไปตามอำนาจหน้าที่และโดยสุจริตไม่ได้ประมาทเลินเล่อ จำเลยได้พยายามติดตามหนี้มิให้สูญ โดยให้บริษัทไทยโนเวลตี้จัดหาธนาคารมาค้ำประกัน ซึ่งบริษัทไทยโนเวลตี้ก็ได้จัดการตามความประสงค์ของจำเลย แต่ที่ประชุมคณะกรรมการของโจทก์ปฏิเสธไม่ยอมให้ธนาคารค้ำประกัน และจำเลยตัดฟ้องว่าจำเลยไม่ได้เป็นตัวแทน ไม่ได้ประมาท ศาลพิพากษาให้บริษัทไทยโนเวลตี้ชำระหนี้แล้ว โจทก์มาฟ้องจำเลยอีก จึงเป็นการใช้สิทธิไม่สุจริตฟ้องขาดอายุความ

ศาลชั้นต้นเห็นว่าคดีพอวินิจฉัยได้ จึงสั่งงดสืบพยาน แล้ววินิจฉัยว่า การบังคับคดีแก่บริษัทไทยโนเวลตี้มีระยะเวลา 10 ปี ยังไม่แน่ว่าโจทก์จะได้รับความเสียหายอาจจะได้รับชดใช้เต็มจำนวนก็ได้ และการที่คณะกรรมการของโจทก์ปฏิเสธไม่ยอมให้ธนาคารค้ำประกันหนี้เก่าและหนี้ที่จะมีต่อไปนั้น เป็นการปฏิเสธการบรรเทาความเสียหายให้แก่ตนเอง จำเลยจึงไม่ต้องรับผิด พิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์ ขอให้ศาลอุทธรณ์ยกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาสืบพยานแล้วพิพากษาใหม่

ศาลชั้นต้นไม่รับอุทธรณ์ อ้างว่าเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณาและโจทก์มิได้โต้แย้งไว้

โจทก์อุทธรณ์คำสั่ง ศาลอุทธรณ์สั่งว่า อุทธรณ์ของโจทก์ข้อ 2 ที่ว่า โจทก์ยังได้รับความเสียหาย มีสิทธิฟ้องจำเลยได้นั้นเป็นอุทธรณ์คำพิพากษาที่ไม่ต้องห้ามในศาลชั้นต้นสั่งรับอุทธรณ์ข้อนี้ ส่วนอุทธรณ์ข้อ 3 เป็นการอุทธรณ์คำสั่งระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้นที่สั่งงดสืบพยาน ซึ่งโจทก์มิได้โต้แย้งไว้ จึงอุทธรณ์ไม่ได้ ศาลชั้นต้นสั่งไม่รับชอบแล้ว

เมื่อคดีขึ้นศาลอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษาว่า โจทก์ยังไม่ได้รับชำระราคาผลิตภัณฑ์ของโจทก์ โจทก์จึงยังเสียหายอยู่ และมีสิทธิฟ้องจำเลย คดียังมีข้อเท็จจริงเถียงกันอยู่ ให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาพิเคราะห์ประเด็นข้อแรกเกี่ยวกับอำนาจฟ้องของโจทก์แล้ว เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกระทำละเมิดต่อโจทก์ โดยขายผลิตภัณฑ์ของโจทก์ให้แก่บริษัทไทยโนเวลตี้ จำกัด โดยรู้อยู่แล้วว่าบริษัทไทยโนเวลตี้ จำกัด ไม่สามารถชำระหนี้ได้ ทำให้โจทก์เสียหาย คือไม่ได้รับชำระหนี้ค่าผลิตภัณฑ์ตามสิทธิของโจทก์ แม้ว่าโจทก์ได้ฟ้องบริษัทไทยโนเวลตี้ จำกัด และศาลได้พิพากษาให้บริษัทไทยโนเวลตี้ จำกัด ชำระหนี้ตามฟ้องแก่โจทก์แล้วก็ตาม แต่ตราบใดที่โจทก์ยังไม่ได้รับชำระหนี้เต็มจำนวนที่พิพาทจากบริษัทไทยโนเวลตี้ จำกัด โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องจำเลยให้รับผิดต่อโจทก์ได้เสมอ การฟ้องจำเลยไม่จำเป็นต้องรอให้การบังคับคดีเอากับบริษัทไทยโนเวลตี้ จำกัด เสร็จสิ้นเสียก่อน สิทธิฟ้องร้องของโจทก์ในส่วนที่เกี่ยวกับบริษัทไทยโนเวลตี้นั้น มีมูลกรณีจากการไม่ชำระราคาสินค้านั้นเป็นเรื่องหนึ่ง ส่วนสิทธิของโจทก์ในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยนั้น มีมูลกรณีมาจากเรื่องละเมิดเป็นอีกเรื่องหนึ่งต่างหากจากกัน สิทธิฟ้องร้องของโจทก์ในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยนี้มีขึ้นทันทีที่โจทก์ถูกล่วงละเมิดสิทธิของตน ด้วยความประมาทเลินเล่อของจำเลยโดยตรง การที่โจทก์ฟ้องบริษัทไทยโนเวลตี้ จำกัด ก่อน และบังคับคดีได้แล้วเท่าใด มีผลเพียงว่าโจทก์จะเรียกร้องเอาค่าเสียหายในส่วนนั้นจากจำเลยซ้ำอีกไม่ได้เท่านั้น ส่วนปัญหาที่ว่าโจทก์จะพิสูจน์ได้ตามฟ้องหรือไม่ ย่อมจะต้องพิจารณาจากพยานหลักฐานที่โจทก์จำเลยนำสืบในชั้นพิจารณา ในชั้นนี้ต้องถือว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยได้

ประเด็นข้อสุดท้ายได้แก่ข้อฎีกาของจำเลยที่ว่า เมื่อศาลแพ่งพิพากษาให้ยกฟ้องโจทก์ โดยไม่ให้โจทก์สืบพยาน และศาลอุทธรณ์มีคำสั่งยืน ไม่รับอุทธรณ์ของโจทก์ในข้อที่โจทก์ขอสืบพยานใหม่ ก็เท่ากับว่าโจทก์ไม่มีโอกาสสืบพยานในคดีนี้อีกต่อไปนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า จริงอยู่ที่ศาลอุทธรณ์สั่งเช่นนั้น และคำสั่งนั้นเป็นคำสั่งที่ชอบ แต่ก็เป็นคำสั่งที่ชอบเฉพาะในประเด็นที่ว่า โจทก์ในฐานะคู่ความจะอุทธรณ์ในเรื่องขอสืบพยานใหม่ไม่ได้ และทั้งนี้มิได้หมายความว่าห้ามศาลสูงมิให้ย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นทำการสืบพยานใหม่ให้ได้ข้อเท็จจริงอันเป็นสารสำคัญแห่งคดีจนสิ้นกระแสความและพิพากษาใหม่ได้ อำนาจของศาลอุทธรณ์ในอันที่จะยกคำพิพากษาศาลชั้นต้น แล้วย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษาใหม่นั้น เป็นอำนาจของศาลอุทธรณ์ซึ่งมีอยู่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 243 และตามกรณีนี้ ศาลฎีกาเห็นว่า ศาลอุทธรณ์ก็ได้ใช้อำนาจนี้โดยชอบแล้ว ฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้น สรุปแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยกับศาลอุทธรณ์ที่ว่า คดีมีข้อเท็จจริงที่ยังโต้เถียงกันอยู่ สมควรที่ศาลชั้นต้นจะได้พิจารณาคดีนี้ใหม่ แล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดีต่อไป

พิพากษายืน ให้ยกฎีกาจำเลย

Share