คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 583/2562

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตามข้อตกลงในสัญญากู้ยืมเงินที่ระบุว่า จำเลยผู้กู้จะชำระเงินที่กู้ยืมทั้งหมดคืนเมื่อได้รับส่วนแบ่งจากการขายโครงการ ก็มิได้ระบุว่า การก่อสร้างโครงการเสร็จเมื่อใดและจำเลยจะได้รับส่วนแบ่งจากการขายโครงการเมื่อใด เมื่อปรากฏว่าโครงการดังกล่าวไม่ได้อยู่ในระหว่างก่อสร้างดังที่จำเลยให้การต่อสู้คดี แต่หยุดการก่อสร้างแล้ว กรณีจึงไม่มีระยะเวลาชำระหนี้ที่กำหนดลงไว้แน่นอน ทั้งจะอนุมานจากพฤติการณ์ทั้งปวงก็ไม่ได้ว่าเมื่อใดจะมีการก่อสร้างโครงการแล้วเสร็จ และจำเลยจะได้รับส่วนแบ่งจากการขายโครงการเพียงพอที่จะชำระเงินที่กู้ยืมทั้งหมดคืนแก่โจทก์ได้ เพราะเป็นเหตุการณ์ในอนาคตที่ยากจะมองเห็นผลสำเร็จได้ว่าต้องใช้เวลานานเพียงใด ในเมื่อพฤติการณ์ที่โจทก์กับจำเลยพิพาทกันเกี่ยวกับสัญญาหุ้นส่วน และบริษัท ธ. ที่ทั้งสองฝ่ายถือหุ้นร่วมกันเพื่อดำเนินการโครงการดังกล่าวมีหนี้สินล้นพ้นตัว และอยู่ในระหว่างการฟื้นฟูกิจการ ดังนั้น การชำระเงินกู้ยืมคืนตามข้อตกลงดังกล่าวจึงถือได้ว่าไม่ได้กำหนดเวลาอันจะพึงชำระหนี้กันไว้แน่นอน เจ้าหนี้ย่อมเรียกให้ชำระหนี้ได้โดยพลัน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 203 วรรคหนึ่ง การที่โจทก์นำคดีมาฟ้องขอให้จำเลยชำระหนี้ถือว่าเป็นการบอกกล่าวทวงถามให้จำเลยชำระหนี้เงินกู้ยืมอยู่ในตัวแล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 16,434,229.80 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี จากต้นเงิน 13,000,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 13,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท
จำเลยอุทธรณ์ โดยได้รับอนุญาตให้ยกเว้นค่าธรรมเนียมศาล
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยฎีกา โดยได้รับอนุญาตให้ยกเว้นค่าธรรมเนียมศาล
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2555 จำเลยในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่และเป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนบริษัทธนสารสมบัติพัฒนา จำกัด ตกลงทำสัญญาร่วมลงทุนกับโจทก์ในโครงการศูนย์การค้าซันเดย์มอลล์ (ทาวน์สแควร์) โดยเช่าที่ดินเพื่อปลูกสร้างอาคารห้างสรรพสินค้าจากการรถไฟแห่งประเทศไทย บริเวณย่านถนนพหลโยธิน (ตลาดซันเดย์) เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร เพื่อดำเนินการจัดหาผลประโยชน์มาแบ่งกัน โดยโจทก์ลงทุนเป็นเงิน 250,000,000 บาท ส่วนจำเลยลงทุนไปแล้วเป็นเงิน 700,000,000 บาท รวมเป็นเงิน 950,000,000 บาท ภายหลังจากบริษัทธนสารสมบัติพัฒนา จำกัด ได้ทำสัญญาเช่ากับการรถไฟแห่งประเทศไทย และโจทก์ได้ชำระเงินลงทุนให้แก่จำเลยแล้ว ให้ถือว่าแต่ละฝ่ายเป็นผู้ถือหุ้นของบริษัทในอัตราร้อยละ 50 โดยจำเลยจะโอนหุ้นของบริษัทดังกล่าวให้แก่โจทก์ และให้ทั้งสองฝ่ายเป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนบริษัทร่วมกัน และเมื่อบริษัทได้รับเงินรายได้จากการดำเนินโครงการดังกล่าว ภายหลังจากหักค่าใช้จ่ายชำระหนี้สถาบันการเงิน และคืนเงินลงทุนของทั้งสองฝ่ายแล้ว เงินส่วนที่เหลือทั้งสองฝ่ายตกลงแบ่งกันฝ่ายละครึ่ง หลังจากนั้นเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2555 จำเลยทำสัญญากู้ยืมเงินไปจากโจทก์ 13,000,000 บาท ตกลงจะชำระเงินที่กู้ยืมทั้งหมดคืนเมื่อได้รับส่วนแบ่งจากการขายโครงการศูนย์การค้าซันเดย์มอลล์ (ทาวน์สแควร์) ถ้าผู้กู้ผิดสัญญากู้ยืมเงินแม้แต่ข้อหนึ่งข้อใด ผู้กู้ยอมให้ผู้ให้กู้ฟ้องเรียกร้องต้นเงินกู้ทั้งหมดคืนได้ทันทีโดยไม่ต้องบอกกล่าว และผู้กู้ยอมเสียดอกเบี้ยให้แก่ผู้ให้กู้อัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวจนกว่าจะชำระเสร็จ ต่อมาวันที่ 13 มกราคม 2557 โจทก์มอบหมายให้ทนายความมีหนังสือทวงถามให้จำเลยกับพวกส่งมอบหลักประกันเงินกู้ดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยล่วงหน้า 2 ปี และหลักประกันเงินกู้รายอื่น กับให้ชำระหนี้และค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ย และให้ลาออกจากการเป็นกรรมการบริษัทดังกล่าวภายใน 7 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือทวงถาม
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยมีว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ เห็นว่า ตามสัญญากู้ยืมเงิน ข้อ 2 มีข้อตกลงว่า ผู้กู้สัญญาว่าจะชำระเงินที่กู้ยืมทั้งหมดคืนเมื่อได้รับส่วนแบ่งจากการขายโครงการ”ทาวน์สแควร์” แต่ข้อเท็จจริงได้ความจากทางนำสืบของโจทก์ว่า จำเลยผิดสัญญาร่วมลงทุนในการก่อสร้างโครงการทาวน์สแควร์ โดยการนำเงินของบริษัทธนสารสมบัติพัฒนา จำกัด ไปชำระหนี้ก่อนทำสัญญาร่วมลงทุน ทำให้ไม่มีเงินมาก่อสร้างห้างสรรพสินค้า เป็นเหตุให้การก่อสร้างโครงการสะดุดลงตั้งแต่ปลายปี 2556 และโจทก์กับครอบครัวได้ฟ้องจำเลยกับครอบครัวเป็นคดีแพ่งต่อศาลแพ่ง ซึ่งศาลแพ่งได้วินิจฉัยว่าจำเลยทำผิดสัญญาร่วมลงทุนและพิพากษาให้จำเลยกับพวกรวมทั้งบริษัทธนสารสมบัติพัฒนา จำกัด ชำระเงินให้แก่โจทก์ ซึ่งจำเลยก็เบิกความตอบทนายโจทก์ถามค้านรับว่า จำเลยพยายามให้การก่อสร้างแล้วเสร็จโดยเร็วมาตลอด แต่เมื่อต้นปี 2557 บริษัทได้หยุดการก่อสร้างโครงการทาวน์สแควร์ และบริษัทก็ไม่ได้จ่ายเงินให้แก่ผู้รับเหมา 2 ราย เนื่องจากเรื่องการเงินของบริษัทประกอบกับข้อเท็จจริงได้ความว่า บริษัทธนสารสมบัติพัฒนา จำกัด ถูกศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการแล้ว แสดงให้เห็นว่าบริษัทดังกล่าวมีหนี้สินล้นพ้นตัว ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/3 ดังนี้ โอกาสที่บริษัทดังกล่าวจะก่อสร้างโครงการให้แล้วเสร็จและจำเลยจะได้รับส่วนแบ่งจากการขายโครงการย่อมเป็นไปไม่ได้ ส่วนที่จำเลยอ้างว่าเป็นความผิดของโจทก์ที่ทำให้บริษัทไม่มีเงินในการก่อสร้างโครงการและโจทก์ฟ้องคดีโดยไม่สุจริต ก็เป็นข้อที่จำเลยไม่ได้ให้การต่อสู้คดีไว้แต่อย่างใด ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย นอกจากนี้ตามข้อตกลงในสัญญากู้ยืมเงินดังกล่าวที่ระบุว่า จำเลยผู้กู้จะชำระเงินที่กู้ยืมทั้งหมดคืนเมื่อได้รับส่วนแบ่งจากการขายโครงการ ก็มิได้ระบุว่า การก่อสร้างโครงการเสร็จเมื่อใดและจำเลยจะได้รับส่วนแบ่งจากการขายโครงการเมื่อใด และข้อเท็จจริงก็ปรากฏว่าโครงการดังกล่าวไม่ได้อยู่ในระหว่างก่อสร้างดังที่จำเลยให้การต่อสู้คดี แต่ได้หยุดการก่อสร้างแล้ว กรณีจึงไม่มีระยะเวลาชำระหนี้ที่กำหนดลงไว้แน่นอน ทั้งจะอนุมานจากพฤติการณ์ทั้งปวงก็ไม่ได้ว่า เมื่อใดจะมีการก่อสร้างโครงการแล้วเสร็จ และจำเลยจะได้รับส่วนแบ่งจากการขายโครงการเพียงพอที่จะชำระเงินที่กู้ยืมทั้งหมดคืนแก่โจทก์ได้ เพราะเป็นเหตุการณ์ในอนาคตที่ยากจะมองเห็นผลสำเร็จได้ว่าต้องใช้เวลานานเพียงใด ในเมื่อพฤติการณ์ที่โจทก์กับจำเลยพิพาทกันเกี่ยวกับสัญญาหุ้นส่วน และบริษัทธนสารสมบัติพัฒนา จำกัด ที่ทั้งสองฝ่ายถือหุ้นร่วมกันเพื่อดำเนินการโครงการดังกล่าวมีหนี้สินล้นพ้นตัว และอยู่ในระหว่างการฟื้นฟูกิจการ ดังนั้น การชำระเงินกู้ยืมคืนตามข้อตกลงดังกล่าวจึงถือได้ว่าไม่ได้กำหนดเวลาอันจะพึงชำระหนี้กันไว้แน่นอน เจ้าหนี้ย่อมเรียกให้ชำระหนี้ได้โดยพลัน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 203 วรรคหนึ่ง การที่โจทก์นำคดีมาฟ้องขอให้จำเลยชำระหนี้ถือว่าเป็นการบอกกล่าวทวงถามให้จำเลยชำระหนี้เงินกู้ยืมอยู่ในตัวแล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้นชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share