แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ตามสัญญาเช่าซื้อกำหนดให้ผู้ให้เช่าซื้อมีสิทธิเรียกค่าขาดราคาเป็นการกำหนดค่าเสียหายล่วงหน้าอันมีลักษณะเป็นเบี้ยปรับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 379 แต่สัญญาเช่าซื้อเลิกกันโดยปริยาย ผู้ให้เช่าซื้อจึงไม่มีสิทธิเรียกเบี้ยปรับเป็นค่าเสียหายตามสัญญาได้
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยในประเด็นค่าขาดประโยชน์ที่โจทก์เรียกร้องว่าเป็นเบี้ยปรับที่โจทก์พึงได้รับตามข้อกำหนดแห่งสัญญาเช่าซื้อแต่ศาลชั้นต้นเห็นว่าสูงเกินส่วนและใช้ดุลพินิจลดลงโดยวินิจฉัยให้โจทก์ได้รับเป็นเงิน 60,000 บาท แต่ในคำพิพากษาตอนต่อมาเมื่อนำไปรวมกับค่าขาดราคากลับระบุค่าขาดประโยชน์คือ 45,000 บาท เห็นได้ชัดว่า จำนวนเงินที่ระบุในตอนหลังนี้พิมพ์ผิดพลาดไป กรณีจึงต้องด้วยบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 143 เมื่อข้อผิดพลาดเล็กน้อยดังกล่าวปรากฏแก่ศาลฎีกาแล้ว ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจแก้ไขโดยถูกต้องได้ แม้โจทก์จะมิได้อุทธรณ์และเพิ่งหยิบยกขึ้นในชั้นฎีกาก็ตาม
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2537 จำเลยที่ 1 เช่าซื้อรถยนต์ไปจากโจทก์ในราคา 581,046.73 บาท กำหนดชำระเป็นรายงวดทุกเดือนติดต่อกันรวม 48 งวด โดยงวดที่ 1 ถึงงวดที่ 47ชำระงวดละ 12,105.61 บาท และงวดสุดท้ายชำระ 12,083.06บาท โดยจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมจำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อตั้งแต่งวดที่ 12 โจทก์บอกเลิกสัญญาและได้รับรถยนต์คืนโจทก์ได้รับความเสียหายเพราะรถยนต์อยู่ในสภาพทรุดโทรมมากประมูลขายได้ในราคา 242,990.65 บาทไม่พอกับค่าเช่าซื้อโดยยังขาดอยู่ 204,894.37 บาท และขาดค่าขาดประโยชน์จากการให้เช่ารถยนต์นับแต่วันผิดนัดจนถึงวันที่โจทก์ยึดรถยนต์คืนเป็นเงิน 81,713 บาท รวมทั้งต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มจำนวนเงิน 7,626.51 บาท แทนจำเลยที่ 1 ไป ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 294,233.88 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การต่อสู้คดี ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน175,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ คำขอนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำขอโจทก์เฉพาะค่าขาดราคานอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการแรกมีว่า โจทก์มีสิทธิเรียกค่าขาดราคารถยนต์ที่เช่าซื้อเพราะเป็นค่าเสียหายที่โจทก์พึงได้รับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 391 วรรคท้าย หรือไม่ เห็นว่า แม้ตามสัญญาเช่าซื้อข้อ 13.2เอกสารหมาย จ.6 จะกำหนดให้โจทก์มีสิทธิเรียกค่าขาดราคาดังกล่าวก็ตาม แต่ข้อสัญญานี้ก็คือการกำหนดค่าเสียหายล่วงหน้าอันมีลักษณะเป็นเบี้ยปรับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 379 นั่นเองฉะนั้น เมื่อสัญญาเช่าซื้อเลิกกันโดยปริยายอันถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1ผิดสัญญาตามที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยและโจทก์มิได้ฎีกาโต้แย้งกรณีจึงไม่ต้องด้วยบทบัญญัติแห่งมาตรา 391 วรรคท้าย ดังกล่าวซึ่งจะทำให้โจทก์มีสิทธิเรียกเบี้ยปรับเป็นค่าเสียหายตามสัญญาได้
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการสุดท้ายมีว่า โจทก์มีสิทธิได้รับค่าขาดประโยชน์รถยนต์ที่เช่าซื้อเป็นจำนวนเงิน45,000 บาท หรือ 60,000 บาท เห็นว่า ปรากฏตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ศาลชั้นต้นวินิจฉัยในประเด็นค่าขาดประโยชน์ที่โจทก์เรียกร้องเป็นเงิน 81,713 บาท ว่า ค่าขาดประโยชน์เป็นเบี้ยปรับที่โจทก์พึงได้รับตามข้อกำหนดแห่งสัญญาเช่าซื้อ ข้อ 13.1แต่ศาลชั้นต้นเห็นว่าสูงเกินส่วนและใช้ดุลพินิจลดลงโดยวินิจฉัยให้โจทก์ได้รับเป็นเงิน 60,000 บาท แต่ในคำพิพากษาตอนต่อมาเมื่อนำค่าขาดประโยชน์ที่วินิจฉัยไว้แล้วดังกล่าวไปรวมกับค่าขาดราคาที่ศาลชั้นต้นกำหนดให้โจทก์ได้รับกลับระบุค่าขาดประโยชน์คือ45,000 บาท ซึ่งเห็นได้ชัดว่า จำนวนเงินที่ระบุในตอนหลังนี้พิมพ์ผิดพลาดไป กรณีจึงต้องด้วยบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 143 ฉะนั้นแม้โจทก์จะมิได้อุทธรณ์ในเหตุผิดพลาดเล็กน้อยนี้โดยเพิ่งหยิบยกขึ้นมาในชั้นฎีกาก็ตามเมื่อข้อผิดพลาดเล็กน้อยดังกล่าวปรากฏแก่ศาลฎีกาแล้ว ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจแก้ไขข้อผิดพลาดเล็กน้อยโดยถูกต้องได้
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 60,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์