แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ทำสัญญายินยอมให้ ก. จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามที่โจทก์ฟ้องเป็นของ ก. ได้ กับยอมให้ ก. ดำเนินการผลิตและจำหน่ายหนังสือพิมพ์ภายใต้เครื่องหมายการค้าและชื่อทางการค้าดังที่ระบุไว้ในสัญญาได้ทันที โจทก์ยอมให้ ก. โอนสิทธิตามสัญญาให้จำเลยที่ 1 หรือบุคคลอื่นได้และยินยอมให้ ก. ให้บุคคลอื่นร่วมใช้สิทธิตามสัญญาได้ ส่วน ก. ยอมรับลูกจ้างของโจทก์ 274 คน เข้าทำงานในบริษัทของจำเลยที่ 1 ต่อไปโดยไม่ต้องปลดออก แสดงว่าโจทก์ให้ความยินยอมแก่ ก. ตลอดจนจำเลยที่ 1 ให้ใช้เครื่องหมายการค้าและชื่อทางการค้าดังกล่าวเป็นชื่อและหัวหนังสือพิมพ์ของจำเลยที่ 1 ได้ การกระทำของจำเลยทั้งสิบห้าเป็นการอาศัยสิทธิตามข้อตกลงในสัญญา จึงไม่อาจถือว่าจำเลยทั้งสิบห้ามีเจตนาละเมิดลิขสิทธิ์และเครื่องหมายการค้าตามฟ้องของโจทก์
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตาม พ.ร.บ. ลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 มาตรา 4, 6, 8, 15, 27, 31, 70, 73, 74, 76, และ 78 พ.ร.บ. เครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 มาตรา 4, 109, 110, 114, 115, 116 และ 117 ริบของกลางและจ่ายเงินค่าปรับกึ่งหนึ่งแก่โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางไต่สวนมูลฟ้องแล้ว พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงได้ความจากคำเบิกความของนายสันติ เรืองไพศาลบำรุง พยานโจทก์ซึ่งเป็นกรรมการผู้จัดการบริษัทโจทก์ เบิกความตอบคำถามค้านของทนายจำเลยทั้งสิบห้าประกอบกับหนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย ล. 7 และสัญญาให้ความยินยอมและยอมรับการใช้สิทธิในเครื่องหมายการค้าและชื่อทางการค้าเอกสารหมาย ล. 8 ซึ่งทนายจำเลยทั้งสิบห้าส่งประกอบการถามค้านว่านายนิกร พรสาธิต เป็นประธานกรรมการบริษัทโจทก์ และนายนิกรเพียงคนเดียวมีอำนาจลงชื่อและประทับตราสำคัญผูกพันโจทก์ได้ เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2539 โจทก์ทำหนังสือมอบอำนาจให้นายประพันธ์ บุญยเกียรติ ทำนิติกรรมหรือสัญญาต่าง ๆ แทนโจทก์ได้ โดยนายนิกรเป็นผู้ลงชื่อและประทับตราสำคัญของบริษัทโจทก์กระทำการแทนโจทก์ในหนังสือมอบอำนาจฉบับดังกล่าวตามเอกสารหมาย ล. 7 ต่อมาวันที่ 22 เมษายน 2542 นายประพันธ์ในฐานะผู้รับมอบอำนาจของโจทก์ตามหนังสือมอบอำนาจดังกล่าวได้ทำสัญญาให้ความยินยอมและยอมรับการใช้สิทธิในเครื่องหมายการค้าและชื่อทางการค้ากับนายเกียรติชัย อุดมธนสาร ตามเอกสารหมาย ล. 8 มีรายละเอียดว่านายเกียรติชัยเป็นผู้เริ่มก่อการจดทะเบียนตั้งบริษัทจำเลยที่ 1 โดยมีวัตถุประสงค์จะจัดพิมพ์และจำหน่ายหนังสือพิมพ์ซึ่งใช้ชื่อและหัวหนังสือหลายอย่างรวมทั้งที่โจทก์ฟ้องเป็นคดีนี้ด้วยคือ “วัฏจักรเพรส รถ WEEKLY” “วัฏจักรเพรสรวมงาน WEEKLY” “วัฏจักรเพรส อาคารและที่ดิน WEEKLY” และ “วัฏจักรเพรสรวมแหล่งงาน” คู่สัญญารับกันว่าเครื่องหมายการค้าและชื่อทางการค้าของทั้งสองฝ่ายมีลักษณะแตกต่างกัน โจทก์ไม่มีสิทธินำชื่อและหัวหนังสือของนายเกียรติชัยดังที่ระบุไว้ไปใช้ ทั้งโจทก์ยอมให้ นายเกียรติชัยจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของนายเกียรติชัยได้ กับยอมให้นายเกียรติชัยดำเนินการผลิตและจำหน่ายหนังสือพิมพ์ภายใต้เครื่องหมายการค้าและชื่อทางการค้าดังระบุไว้ในสัญญาได้ทันที โจทก์ยอมให้นายเกียรติชัยโอนสิทธิตามสัญญานี้ให้จำเลยที่ 1 หรือบุคคลอื่นได้ และยินยอมให้นายเกียรติชัยให้บุคคลอื่นร่วมใช้สิทธิตามสัญญาได้ ส่วนนายเกียรติชัยยอมรับลูกจ้างของโจทก์ 274 คน เข้าทำงานในบริษัทจำเลยที่ 1 ต่อไป โดยไม่ต้องปลดออก ดังนี้ แสดงว่าโจทก์ให้ความยินยอมแก่นายเกียรติชัยตลอดจนจำเลยที่ 1 ให้ใช้เครื่องหมายการค้าและชื่อทางการค้าตามที่โจทก์ฟ้องเป็นชื่อและหัวหนังสือพิมพ์ของจำเลยที่ 1 ได้
ส่วนที่โจทก์อุทธรณ์ว่า การรับฟังเอกสารหมาย ล.7 และ ล. 8 ควรกระทำในชั้นพิจารณาภายหลังจากประทับฟ้องไว้แล้ว โดยต้องพิจารณาถึงเจตนารมณ์และความสมบูรณ์ของเอกสารซึ่งฝ่ายจำเลยต้องนำสืบพยานบุคคลประกอบด้วยนั้น เห็นว่า นายสันติพยานโจทก์ได้เบิกความยอมรับความถูกต้องของเอกสารดังกล่าวไว้แล้ว เจตนารมณ์และความสมบูรณ์ของเอกสารหมาย ล. 7 และ ล. 8 สามารถอ่านเข้าใจได้ชัดแจ้ง ไม่จำต้องรับฟังพยานบุคคลของจำเลยแต่อย่างใด และนายประพันธ์จะมีอำนาจทำสัญญากับนายเกียรติชัยตามเอกสารหมาย ล. 8 หรือไม่ ก็เป็นเรื่องที่โจทก์จะว่ากล่าวเอาความแก่นายประพันธ์เองไม่อาจกระทบถึงสิทธิของนายเกียรติชัยตลอดจนสิทธิของจำเลยที่ 1 ได้ การกระทำของจำเลยทั้งสิบห้าจึงเป็นการอาศัยสิทธิตามข้อตกลงในสัญญาเอกสารหมาย ล. 8 และไม่ว่างานที่โจทก์ฟ้องจะเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามกฎหมายหรือไม่ก็ตาม เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ดังกล่าว กรณีจึงไม่อาจถือได้ว่าจำเลยทั้งสิบห้ามีเจตนากระทำความผิดตามที่โจทก์ฟ้อง
พิพากษายืน.