แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การปรับเป็นโทษอย่างหนึ่ง เมื่อศาลลงโทษปรับและมีการชำระค่าปรับครบถ้วนแล้วในวันเวลาใด ย่อมถือได้ว่าจำเลยได้พ้นโทษนับแต่วันที่ชำระค่าปรับนั้นแล้ว การที่จำเลยพ้นโทษปรับฐานเล่นการพนันยังไม่ครบกำหนด 3 ปี แล้วมา กระทำความผิดต่อพระราชบัญญัติการพนัน พ.ศ. 2478 อีก จึงเข้าหลักเกณฑ์ต้องวางโทษทั้งจำทั้งปรับตามวิธีการที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติดังกล่าวมาตรา 14 ทวิ อนุมาตรา (1) หรือ (2) แล้วแต่กรณี
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษฐานเล่นการพนันอีโปงครอบตามพระราชบัญญัติการพนัน พ.ศ. ๒๔๗๘ ริบของกลาง จ่ายเงินสินบนตามกฎหมายและวางโทษทั้งจำทั้งปรับจำเลยที่ ๓ ตามกฎหมายด้วย
จำเลยทั้งสามให้การรับสารภาพ และจำเลยที่ ๓ รับว่าเคยต้องโทษตามฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตามพระราชบัญญัติการพนัน พ.ศ. ๒๔๗๘ มาตรา ๔, ๕, ๖, ๑๐, ๑๒, ๑๔ ทวิ, ๑๕ จำเลยทั้งสามให้การรับสารภาพ ลดโทษให้คนละกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๗๘ ปรับคนละ ๖๐๐ บาท ไม่ชำระค่าปรับให้บังคับตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๙, ๓๐ ของกลางริบ ให้จำเลยทั้งสามจ่ายเงินสินบนนำจับกึ่งหนึ่งของค่าปรับแก่ผู้นำจับ จำเลยที่ ๓ถูกพิพากษาลงโทษปรับ ๖๐๐ บาท ในคดีก่อนมิใช่โทษจำคุก จึงไม่ถือว่าจำเลยที่ ๓ พ้นโทษในคดีดังกล่าว ไม่อาจลงโทษทั้งจำทั้งปรับได้คำขอนี้ให้ยก
โจทก์อุทธรณ์ให้วางโทษจำเลยที่ ๑ ทั้งจำทั้งปรับ
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า ที่โจทก์ฎีกาขอให้วางโทษจำเลยที่ ๓ ทั้งจำทั้งปรับตามพระราชบัญญัติการพนัน พ.ศ. ๒๔๗๘ มาตรา๑๔ ทวิ (๒) พระราชบัญญัติการพนัน (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๔๘๕ มาตรา ๓ในการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายนั้น ศาลฎีกาต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยแล้วจากพยานหลักฐานในสำนวน คดีนี้ศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ ๓ เคยต้องโทษฐานเล่นการพนันอีโปงครอบศาลพิพากษาปรับ ๖๐๐ บาท จำเลยที่ ๓ พ้นโทษมายังไม่ครบกำหนด ๓ ปีกลับมากระทำผิดในคดีนี้อีก ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยมีว่าจะวางโทษจำเลยที่ ๓ ทั้งจำทั้งปรับตามพระราชบัญญัติการพนัน พ.ศ. ๒๔๗๘ มาตรา๑๔ ทวิ (๒) ที่แก้ไขแล้วหรือไม่ พระราชบัญญัติการพนัน พ.ศ. ๒๔๗๘มาตรา ๑๔ ทวิ ที่แก้ไขแล้วบัญญัติว่า “ผู้ใดกระทำความผิดต้องระวางโทษตามพระราชบัญญัตินี้เมื่อพ้นโทษแล้วยังไม่ครบกำหนดสามปีกระทำความผิดต่อพระราชบัญญัตินี้อีก (๑)…..(๒) ถ้าโทษซึ่งกำหนดไว้สำหรับความผิดที่กระทำครั้งหลังเป็นโทษจำคุกหรือปรับ ให้วางโทษทั้งจำทั้งปรับ” ศาลฎีกาเห็นว่า การปรับถือเป็นโทษอย่างหนึ่งในจำพวกโทษทั้ง ๕ ชนิด ที่ลงแก่ผู้กระทำผิดตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๘(๔) เมื่อศาลลงโทษปรับจำเลยและมีการชำระค่าปรับครบถ้วนแล้วในวันเวลาใดย่อมถือได้ว่าจำเลยได้พ้นโทษนับแต่วันที่ชำระค่าปรับนั้นแล้ว ฉะนั้น หากจำเลยพ้นโทษปรับแล้วยังไม่ครบกำหนด ๓ ปี มากระทำต่อพระราชบัญญัติการพนันนี้อีก จึงเข้าหลักเกณฑ์ต้องวางโทษทั้งจำทั้งปรับตามวิธีการที่พระราชบัญญัติการพนัน พ.ศ. ๒๔๗๘ มาตรา ๑๔ ทวิ ที่แก้ไขแล้ว บัญญัติไว้ในอนุมาตรา(๐) หรือ (๒) แล้วแต่กรณี ที่ศาลล่างทั้งสองไม่วางโทษทั้งจำทั้งปรับจำเลยที่ ๓ นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า วางโทษจำเลยที่ ๓ ทั้งจำทั้งปรับตามพระราชบัญญัติการพนัน พ.ศ. ๒๔๗๘ มาตรา ๑๔ ทวิ (๒) ที่แก้ไขแล้วโดยให้จำคุก ๒ เดือน ปรับ ๑,๒๐๐ บาท ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘ แล้ว คงจำคุก ๑ เดือน ปรับ ๖๐๐ บาทโทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด ๒ ปี ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๕๖ ไม่ชำระค่าปรับจัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๙, ๓๐นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์.