แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
แม้โจทก์สามารถออกหุ้นเพิ่มทุนโดยมีราคาสูงกว่ามูลค่าหุ้นที่ตั้งไว้ได้และส่วนล้ำมูลค่าหุ้นต้องนำไปบวกทบเข้าในทุนสำรองตาม ป.พ.พ. มาตรา 1105 และมาตรา 1202 ก็ตาม แต่การกระทำของโจทก์ที่มีการสร้างขั้นตอนที่ซับซ้อนขึ้นมาก่อนที่จะมีการทำสัญญาปลดเปลื้องและชดใช้หนี้เป็นการบิดเบือนข้อเท็จจริงเพื่อให้เงินที่โจทก์จะได้จากบริษัท อ. หลุดพ้นจากนิยามคำว่า เงินได้พึงประเมินหรือรายได้เนื่องจากการประกอบกิจการ เป็นผลให้ไม่เกิดภาระภาษีเงินได้นิติบุคคลจากเงินจำนวนดังกล่าว ซึ่งท้ายที่สุดแล้วเงินจำนวนดังกล่าวที่โจทก์ได้รับจากบริษัท อ. จะถูกนำไปชำระหนี้ให้แก่ธนาคารเจ้าหนี้ของโจทก์ก่อนที่โจทก์จะเลิกกิจการ โดยไม่มีลักษณะเป็นการออกหุ้นเพิ่มทุน เพื่อให้กิจการของบริษัทดำเนินต่อไปได้ พฤติการณ์ของโจทก์แสดงให้เห็นว่า สัญญาปลดเปลื้องและชดใช้หนี้ถูกทำขึ้นเพื่อหลีกเลี่ยงการเสียภาษีให้แก่จำเลย โจทก์จึงไม่ได้ออกหุ้นเพิ่มทุนแบบมีส่วนเกินมูลค่าหุ้นตามข้อกำหนดและเงื่อนไขของสัญญาปลดเปลื้องหรือชดใช้หนี้ซึ่งเป็นการเพิ่มทุนเพื่อการประกอบธุรกิจตามปกติ แต่เป็นการทำสัญญาปลดเปลื้องหรือชดใช้หนี้เป็นไปตามมติที่ประชุมผู้ถือหุ้นของโจทก์ตามแนวทางที่ น. ที่ปรึกษากฎหมายของโจทก์วางแผนไว้ ดังนั้น เงิน 906,296,000 บาท ที่โจทก์ได้รับจากบริษัท อ. โดยอ้างว่าเป็นส่วนล้ำมูลค่าหุ้นจึงมีลักษณะเป็นเงินให้เปล่าหรือเงินช่วยเหลือแก่โจทก์ที่ได้รับจากบริษัท อ. ถือเป็นเงินได้พึงประเมินและเป็นรายได้เนื่องจากกิจการที่โจทก์ต้องนำมารวมคำนวณกำไรขาดทุนสุทธิ
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินตามหนังสือแจ้งภาษีเงินได้นิติบุคคลเลขที่ ภงด 73.1-01001010-25480613-002-00001 และคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ เลขที่ ภญ (อธ.2)/2/2551 พร้อมทั้งงดหรือลดเบี้ยปรับให้แก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษายกฟ้อง ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลย โดยกำหนด ค่าทนายความให้ 30,000 บาท
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังยุติโดยโจทก์และจำเลยมิได้อุทธรณ์ว่า เดิมโจทก์มีทุนจดทะเบียน 722,000,000 บาท แบ่งเป็นหุ้น 7,220,000 หุ้น มูลค่าหุ้นละ 100 บาท โจทก์มีผลประกอบการขาดทุนติดต่อกันหลายปี โจทก์มีผลขาดทุนสะสมเกินทุนมากกว่า 1,567,000,000 บาท โจทก์มีหนี้สินจำนวนมากและเป็นหนี้ธนาคารต่างประเทศรายหนึ่ง 30,219,000 ดอลลาร์สหรัฐ โจทก์ ธนาคารเจ้าหนี้ของโจทก์ และบริษัทอ๊อกซิเดนทอล เคมิคอล คอร์ปอเรชั่น จำกัด ทำสัญญาปลดเปลื้องและชดใช้หนี้ ธนาคารเจ้าหนี้ของโจทก์ตกลงที่จะปลดหนี้เดิมที่มีอยู่ 30,219,000 ดอลลาร์สหรัฐ ให้แก่โจทก์ โดยมีเงื่อนไขว่า บริษัทอ๊อกซิเดนทอล เคมิคอล คอร์ปอเรชั่น จำกัด ต้องนำเงิน 20,000,000 ดอลลาร์สหรัฐ มาให้แก่โจทก์เพื่อชำระหนี้ให้แก่ธนาคารเจ้าหนี้ของโจทก์ นางพรนภา ที่ปรึกษากฎหมายของโจทก์ในประเทศไทยให้คำแนะนำแก่โจทก์ว่า โจทก์ไม่สามารถเพิ่มทุนโดยการออกเป็นหุ้นสามัญทั้งหมดคิดเป็นมูลค่าหุ้น 20,000,000 ดอลลาร์สหรัฐ เพื่อจำหน่ายให้แก่บริษัทอ๊อกซิเดนทอล เคมิคอล คอร์ปอเรชั่น จำกัด ซึ่งเป็นนิติบุคคลต่างประเทศและเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของโจทก์อยู่แล้วตามเงื่อนไขที่ธนาคารเจ้าหนี้ของโจทก์กำหนดโดยไม่มีส่วนล้ำมูลค่าหุ้นได้ เพราะการดำเนินการดังกล่าวจะมีผลทำให้โจทก์มีสถานะกลายเป็นคนต่างด้าวตามพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542 ซึ่งต้องห้ามมิให้ประกอบกิจการบางประเภทที่กฎหมายบัญญัติและต้องห้ามมิให้ถือครองที่ดินตามประมวลกฎหมายที่ดิน และจะทำให้โจทก์ต้องมีความรับผิดต่อกฎหมายทั้งในทางแพ่งและทางอาญา โจทก์จึงทำตามคำแนะนำของนางพรนภาที่ปรึกษากฎหมายของโจทก์ โดยในการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ 2/2544 ผู้ถือหุ้นของโจทก์มีมติเป็นเอกฉันท์ให้เพิ่มทุนจดทะเบียนของโจทก์เพิ่มขึ้นอีก 1,000 หุ้น จากจำนวนหุ้นเดิม 7,220,000 หุ้น มูลค่าหุ้นละ 100 บาท เป็นจำนวนหุ้นทั้งสิ้น 7,221,000 หุ้น มูลค่าหุ้นละ 100 บาท โจทก์ตกลงขายและโอนธุรกิจทั้งหมดและทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องให้แก่บริษัทสยาม พีวีเอส เคมิคอลส์ จำกัด ในการประชุมสามัญประจำปีผู้ถือหุ้น ครั้งที่ 1/2544 ที่ประชุมผู้ถือหุ้นของโจทก์มีมติเป็นเอกฉันท์ให้ยืนยันมติที่ประชุมผู้ถือหุ้นครั้งก่อนที่ให้เพิ่มทุนจดทะเบียนของโจทก์เพิ่มขึ้นอีก 1,000 หุ้น ทั้งยังมีมติให้จำหน่ายหุ้นเพิ่มทุนทั้งหมดให้แก่บริษัทอ๊อกซิเดนทอล เคมิคอล คอร์ปอเรชั่น จำกัด ที่เป็นผู้ถือหุ้นเดิมของโจทก์ในราคาสูงกว่ามูลค่าหุ้นที่ตราไว้ โดยบริษัทอ๊อกซิเดนทอล เคมิคอล คอร์ปอเรชั่น จำกัด จะต้องชำระค่าหุ้นให้แก่โจทก์ 20,000,000 ดอลลาร์สหรัฐ สูงกว่าราคาหุ้นตามมูลค่าที่ตราไว้ 100,000 บาท มีผลทำให้เกิดส่วนล้ำมูลค่าหุ้น 906,296,000 บาท ตามหนังสือบริคณห์สนธิของโจทก์ ฉบับแก้ไขเพิ่มเติมโดยมติของที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น ครั้งที่ 2/2544 และที่ประชุมสามัญประจำปีผู้ถือหุ้น ครั้งที่ 1/2544 ในข้อ 3 (45) ที่ให้อำนาจโจทก์ออกหุ้นในราคาสูงกว่ามูลค่าของหุ้นที่กำหนดไว้ โจทก์จดทะเบียนการเพิ่มทุนกับกระทรวงพาณิชย์ วันเดียวกันบริษัทอ๊อกซิเดนทอล เคมิคอล คอร์ปอเรชั่น จำกัด ที่ประเทศสหรัฐอเมริกาชำระค่าหุ้นพร้อมส่วนที่โจทก์อ้างว่า เป็นส่วนล้ำมูลค่าหุ้นจำนวนดังกล่าวให้แก่โจทก์ ตามรายงานการขายเงินตราต่างประเทศให้ตัวแทนรับอนุญาตมูลค่าเกิน 5,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือเทียบเท่าและมิใช่ค่าสินค้า และโจทก์ชำระหนี้เงินกู้ 20,000,000 ดอลลาร์สหรัฐ ให้แก่ธนาคารเอบีเอ็น อัมโร ที่เครือรัฐออสเตรเลียผ่านตัวแทนรับอนุญาตธนาคารเอบีเอ็น อัมโร สำนักงานสาขากรุงเทพมหานคร โจทก์จดทะเบียนเลิกบริษัทและเลิกกิจการต่อเจ้าพนักงานของจำเลย โจทก์ได้รับหนังสือแจ้งภาษีเงินได้นิติบุคคล เลขที่ ภงด 73.1-01001010-25480613-002-00001 สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึงวันที่ 22 มิถุนายน 2544 ระบุว่า จากการตรวจสอบพบว่าในรอบระยะเวลาบัญชีดังกล่าว โจทก์จดทะเบียนเลิกกิจการและโอนกิจการทั้งหมดให้แก่บริษัทสยาม พีวีเอส เคมิคอลส์ จำกัด โดยโจทก์นำผลขาดทุนจากการจำหน่ายทรัพย์สิน 750,014,867.71 บาท มาคำนวณเป็นรายจ่ายไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ตามมาตรา 74 (1) (ค) แห่งประมวลรัษฎากร และบันทึกบัญชีส่วนล้ำมูลค่าหุ้น 906,296,000 บาท จากการเพิ่มทุน 1,000 หุ้น มูลค่าหุ้นเพียง 100,000 บาท เห็นว่า เงินส่วนล้ำมูลค่าหุ้นเป็นเงินให้เปล่าหรือเงินช่วยเหลือถือเป็นรายได้ที่ต้องนำมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล เมื่อปรับปรุงรายการตามผลการตรวจสอบแล้ว โจทก์มีกำไรสุทธิที่ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล 401,843,915.22 บาท คิดเป็นภาษีที่ต้องชำระ 120,553,174.57 บาท เบี้ยปรับ 120,553,174.57 บาท และเงินเพิ่มคำนวณถึงวันที่ 19 มิถุนายน 2548 จำนวน 77,756,797.66 บาท รวมภาษีที่ต้องชำระทั้งสิ้น 318,863,146 บาท โจทก์อุทธรณ์การประเมินโดยไม่เห็นด้วยกับการประเมินของเจ้าพนักงานประเมิน กรณีการออกหุ้นสามัญใหม่เพื่อเพิ่มทุนของกิจการที่ว่า ส่วนล้ำมูลค่าหุ้น 906,296,000 บาท เป็นเงินให้เปล่าหรือเงินช่วยเหลือที่โจทก์จะต้องนำมารวมเป็นรายได้เพื่อคำนวณเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลตามคำอุทธรณ์ คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์มีคำวินิจฉัยอุทธรณ์ว่า การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินชอบแล้ว ประเด็นขอให้งดเบี้ยปรับและเงินเพิ่มพิจารณาแล้วเห็นว่า เงินส่วนล้ำมูลค่าหุ้นที่บริษัทอ๊อกซิเดนทอล เคมิคอล คอร์ปอเรชั่น จำกัด จ่ายให้แก่โจทก์ถือเป็นเงินให้เปล่าหรือเงินช่วยเหลือ เมื่อพิจารณาตามพฤติการณ์การกระทำของโจทก์ เป็นการบิดเบือนข้อเท็จจริงเพื่อหลีกเลี่ยงการชำระภาษี กรณีไม่มีเหตุอันที่จะพิจารณางดหรือลดเบี้ยปรับให้ สำหรับเงินเพิ่มตามมาตรา 27 แห่งประมวลรัษฎากร ไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายให้งดหรือลดได้ จึงไม่สามารถพิจารณางดหรือลดได้ ให้ยกอุทธรณ์ซึ่งคัดค้านการประเมินของเจ้าพนักงานประเมิน โจทก์ไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยอุทธรณ์ จึงอุทธรณ์คำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ต่อศาลภาษีอากรกลาง
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า โจทก์ต้องนำเงิน 906,296,000 บาท ที่โจทก์ได้รับจากบริษัทอ๊อกซิเดนทอล เคมิคอล คอร์ปอเรชั่น จำกัด มารวมคำนวณกำไรขาดทุนสุทธิในรอบระยะเวลาบัญชีตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2544 ถึงวันที่ 22 มิถุนายน 2544 ตามการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์หรือไม่ ที่โจทก์อุทธรณ์โต้แย้งว่า ส่วนล้ำมูลค่าหุ้น 906,296,000 บาท เป็นส่วนหนึ่งของทุนโจทก์ หาใช่เงินช่วยเหลือหรือเงินกินเปล่าหรือให้เปล่าแก่โจทก์ ซึ่งถือเป็นรายได้ที่โจทก์ต้องนำมารวมคำนวณกำไรขาดทุนสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลไม่ เนื่องจากโจทก์ออกหุ้นเพิ่มทุนตามข้อกำหนดและเงื่อนไขของสัญญาปลดเปลื้องและชดใช้หนี้ เหตุที่โจทก์ต้องออกหุ้นเพิ่มทุนมาจากผลประกอบการของโจทก์ขาดทุนอย่างต่อเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจของโลกตกต่ำ ประกอบกับบริษัทอ๊อกซิเดนทอล เคมิคอล คอร์ปอเรชั่น จำกัด ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่และให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่โจทก์ตลอดมามีนโยบายที่จะมุ่งเน้นการดำเนินธุรกิจเฉพาะในประเทศสหรัฐอเมริกาและประสงค์ที่จะถอนการลงทุนออกจากบริษัทโจทก์ เป็นผลให้โจทก์ต้องตัดสินใจปิดกิจการ ขณะนั้นโจทก์เป็นหนี้เจ้าหนี้สถาบันการเงินต่างประเทศที่มีกลุ่มธนาคารเอบีเอ็น อัมโร เป็นเจ้าหนี้หลักประมาณ 30,000,000 ดอลลาร์สหรัฐ หากโจทก์ไม่ชำระหนี้โจทก์อาจต้องล้มละลาย แต่ด้วยเหตุผลที่บริษัทอ๊อกซิเดนทอล เคมิคอล คอร์ปอเรชั่น จำกัด ไม่ต้องการให้โจทก์ที่เป็นบริษัทลูกต้องล้มละลาย อันมีผลกระทบต่อชื่อเสียงในการประกอบธุรกิจ อาจมีปัญหาในการขอสินเชื่อจากสถาบันการเงินต่าง ๆ ในอนาคต โจทก์ ธนาคารเจ้าหนี้ของโจทก์และบริษัทอ๊อกซิเดนทอล เคมิคอล คอร์ปอเรชั่น จำกัด จึงทำการเจรจาประนอมหนี้ของโจทก์ หลังจากเจรจากันหลายเดือน ทั้งสามฝ่ายได้มีการทำสัญญาปลดเปลื้องและชดใช้หนี้ (Release and Settlement Agreement) สัญญาฉบับดังกล่าวมีเงื่อนไขกำหนดว่า ธนาคารเจ้าหนี้ของโจทก์จะทำการปลดหนี้ให้แก่โจทก์ในจำนวนต้นเงิน 30,219,000 ดอลลาร์สหรัฐ โดยโจทก์จะต้องชำระหนี้ 20,219,000 ดอลลาร์สหรัฐ เงินจำนวน 20,000,000 ดอลลาร์สหรัฐ จะถูกชำระจากเงินทุนของโจทก์ ซึ่งบริษัทอ๊อกซิเดนทอล เคมิคอล คอร์ปอเรชั่น จำกัด ในฐานะผู้ถือหุ้นจะต้องลงทุนเพิ่มเติม การเพิ่มทุนของโจทก์จึงไม่ใช่เป็นการได้รับเงินให้เปล่าจากผู้ถือหุ้น แต่เป็นการเพิ่มทุนในบริษัทโจทก์อย่างแท้จริง เพื่อนำเงินที่ได้รับจากการเพิ่มทุนไปชำระหนี้ตามเงื่อนไขและข้อกำหนดในการประนอมหนี้ตามสัญญาปลดเปลื้องและชดใช้หนี้นั้น เห็นว่า ปัญหานี้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1105 วรรคสอง บัญญัติว่า การออกหุ้นโดยราคาสูงกว่ามูลค่าของหุ้นที่ตั้งไว้นั้น หากว่าหนังสือบริคณห์สนธิให้อำนาจไว้ ก็ให้ออกได้ และในกรณีเช่นนั้น ต้องส่งใช้จำนวนที่ล้ำมูลค่าพร้อมกันไปกับการส่งใช้เงินคราวแรก และมาตรา 1202 วรรคสอง บัญญัติว่า ถ้าได้ออกหุ้นโดยคิดเอาราคาเกินกว่าที่ปรากฏในใบหุ้นเท่าใด จำนวนที่คิดเกินนี้ท่านให้บวกทบเข้าในทุนสำรองจนกว่าทุนสำรองจะมีจำนวนเท่าถึงที่กำหนดไว้ในวรรคก่อน แม้โจทก์สามารถออกหุ้นเพิ่มทุนโดยมีราคาสูงกว่ามูลค่าของหุ้นที่ตั้งไว้ได้ และส่วนล้ำมูลค่าหุ้นต้องนำไปบวกทบเข้าในทุนสำรองตามบทบัญญัติที่กล่าวมาข้างต้นก็ตาม แต่เมื่อพิจารณาถึงระยะเวลาในการทำสัญญาปลดเปลื้องและชดใช้หนี้ระหว่างโจทก์ ธนาคารเจ้าหนี้ของโจทก์และบริษัท อ๊อกซิเดนทอล เคมิคอล คอร์ปอเรชั่น จำกัด ข้อตกลงตามสัญญาดังกล่าวเกิดขึ้นภายหลังจากที่โจทก์เรียกประชุมผู้ถือหุ้น เพื่อมีมติเพิ่มทุนจดทะเบียนของโจทก์แก้ไขบริคณห์สนธิให้อำนาจโจทก์ออกหุ้นโดยราคาสูงกว่ามูลค่าของหุ้นที่ตั้งไว้ และให้จำหน่ายหุ้นเพิ่มทุนทั้งหมดให้แก่บริษัทอ๊อกซิเดนทอล เคมิคอล คอร์ปอเรชั่น จำกัด ที่เป็นผู้ถือหุ้นเดิมของโจทก์ในราคาสูงกว่ามูลค่าหุ้นที่ตราไว้ คำเบิกความของพยานโจทก์ทั้งสองจึงขัดแย้งกับเหตุการณ์หรือความเป็นจริงที่เกิดขึ้น และเมื่อพิจารณาสัญญาปลดเปลื้องและชดใช้หนี้ระหว่างโจทก์ ธนาคารเจ้าหนี้ของโจทก์และบริษัทอ๊อกซิเดนทอล เคมิคอล คอร์ปอเรชั่น จำกัด เป็นข้อตกลงที่ถูกทำขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์ให้บริษัทอ๊อกซิเดนทอล เคมิคอล คอร์ปอเรชั่น จำกัด ชำระหนี้บางส่วนให้แก่ธนาคารเจ้าหนี้ของโจทก์ เพื่อให้ธนาคารเจ้าหนี้ของโจทก์ปลดหนี้ให้แก่โจทก์ แต่การที่บริษัทอ๊อกซิเดนทอล เคมิคอล คอร์ปอเรชั่น จำกัด ชำระหนี้ให้แก่ธนาคารเจ้าหนี้ของโจทก์โดยตรง จะถือได้ว่าเป็นเงินให้เปล่าหรือเป็นการให้เงินช่วยเหลือแก่โจทก์อันเป็นประโยชน์อย่างอื่นที่โจทก์ได้รับ ซึ่งอาจคิดคำนวณได้เป็นเงินตามความหมายของเงินได้พึงประเมินที่กำหนดไว้ในมาตรา 39 แห่งประมวลรัษฎากร และเป็นรายได้เนื่องจากการประกอบกิจการตามมาตรา 65 วรรคหนึ่ง แห่งประมวลรัษฎากรที่โจทก์จะต้องนำเงินจำนวนดังกล่าวมารวมเป็นรายได้ในการคำนวณกำไรขาดทุนสุทธิในรอบระยะเวลาบัญชีพิพาท ดังนั้น เพื่อไม่ให้โจทก์ต้องรับภาระภาษีเงินได้นิติบุคคลจากเงิน 906,296,000 บาท ที่บริษัทอ๊อกซิเดนทอล เคมิคอล คอร์ปอเรชั่น จำกัด จ่ายชำระหนี้ให้แก่ธนาคารเจ้าหนี้ของโจทก์โดยตรง บุคคลทั้งสามฝ่ายจึงทำข้อตกลงให้โจทก์ต้องชำระหนี้ 20,219,000 ดอลลาร์สหรัฐ โดยเงิน 20,000,000 ดอลลาร์สหรัฐ จะถูกชำระจากเงินทุนในบริษัทโจทก์ ซึ่งบริษัทอ๊อกซิเดนทอล เคมิคอล คอร์ปอเรชั่น จำกัด ในฐานะผู้ถือหุ้นจะต้องลงทุนเพิ่มเติม และด้วยเหตุนี้โจทก์จึงใช้ขั้นตอนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เรียกประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นเพื่อเพิ่มทุนจดทะเบียนของโจทก์ขึ้นอีก 1,000 หุ้น จากจำนวนหุ้นเดิม 7,220,000 หุ้น ทั้งยังมีมติให้จำหน่ายหุ้นเพิ่มทุนดังกล่าวทั้งหมดให้แก่บริษัทอ๊อกซิเดนทอล เคมิคอล คอร์ปอเรชั่น จำกัด ผู้ถือหุ้นเดิมของโจทก์เพียงรายเดียวในราคาสูงกว่ามูลค่าหุ้นที่ตราไว้ โดยบริษัทอ๊อกซิเดนทอล เคมิคอล คอร์ปอเรชั่น จำกัด จะต้องชำระค่าหุ้นให้แก่โจทก์เป็นเงิน 20,000,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือ 906,396,000 บาท จากราคาหุ้นตามมูลค่าที่ตราไว้เป็นเงินเพียง 100,000 บาท มีผลทำให้เกิดส่วนล้ำมูลค่าหุ้น 906,296,000 บาท ตามหนังสือบริคณห์สนธิของโจทก์ ฉบับแก้ไขเพิ่มเติมโดยมติของที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น ครั้งที่ 2/2544 และที่ประชุมสามัญประจำปีผู้ถือหุ้น ครั้งที่ 1/2544 ข้อ 3 (45) ที่ให้อำนาจโจทก์ออกหุ้นในราคาสูงกว่ามูลค่าของหุ้นที่กำหนดไว้ ทั้งนี้ เพื่อแปลงรายได้ของโจทก์ให้กลายเป็นทุนของโจทก์เสียก่อน ที่จะนำไปชำระหนี้ให้แก่ธนาคารเจ้าหนี้ของโจทก์ การกระทำของโจทก์ที่กล่าวมาทั้งหมด จึงเป็นการสร้างขั้นตอนที่ซับซ้อนขึ้นมาก่อนที่จะมีการทำสัญญาปลดเปลื้องและชดใช้หนี้หรือเป็นการบิดเบือนข้อเท็จจริงเพื่อให้เงินส่วนล้ำมูลค่าหุ้น 906,296,000 บาท ที่โจทก์จะได้รับจากบริษัทอ๊อกซิเดนทอล เคมิคอล คอร์ปอเรชั่น จำกัด หลุดพ้นจากนิยามคำว่า เงินได้พึงประเมินหรือรายได้เนื่องจากการประกอบกิจการตามบทบัญญัติที่กล่าวมาข้างต้น เป็นผลให้ไม่เกิดภาระภาษีเงินได้นิติบุคคลจากเงินได้จำนวนดังกล่าวแก่โจทก์ ซึ่งท้ายที่สุดแล้วเงินจำนวนดังกล่าวที่โจทก์ได้รับจากบริษัทอ๊อกซิเดนทอล เคมิคอล คอร์ปอเรชั่น จำกัด จะถูกนำไปชำระหนี้ให้แก่ธนาคารเจ้าหนี้ของโจทก์เช่นกัน พฤติการณ์ของโจทก์ย่อมแสดงให้เห็นว่า สัญญาปลดเปลื้องและชดใช้หนี้ถูกทำขึ้นเพื่อหลีกเลี่ยงการเสียภาษีให้แก่จำเลย โจทก์จึงไม่ได้ออกหุ้นเพิ่มทุนแบบมีส่วนเกินมูลค่าหุ้นตามข้อกำหนดและเงื่อนไขของสัญญาปลดเปลื้องหรือชดใช้หนี้ แต่เป็นการทำสัญญาปลดเปลื้องหรือชดใช้หนี้ให้เป็นไปตามมติที่ประชุมผู้ถือหุ้นของโจทก์ตามแนวทางที่นางพรนภา ที่ปรึกษากฎหมายของโจทก์วางแผนไว้ ที่โจทก์อุทธรณ์โต้แย้งต่อมาว่า โจทก์มีความจำเป็นที่จะต้องเพิ่มทุนโดยมีส่วนล้ำมูลค่าหุ้น เพื่อไม่ให้เป็นการฝ่าฝืนบทบัญญัติของกฎหมายตามพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวตามความเห็นของนางพรนภา ที่ปรึกษากฎหมายของโจทก์นั้น เห็นว่า ปรากฏจากรายงานการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น ครั้งที่ 2/2544 นอกจากที่ประชุมมีมติให้เพิ่มทุนแล้วยังมีมติให้เลิกกิจการและตั้งผู้ชำระบัญชีด้วย แสดงให้เห็นว่า แม้โจทก์จะมีการเพิ่มทุนแล้วแต่โจทก์จะไม่ประกอบกิจการต่อไป การที่นางพรนภา ที่ปรึกษากฎหมายของโจทก์ได้แสดงความเห็นดังกล่าวและโจทก์ดำเนินการตามความเห็นของนางพรนภา จึงยังไม่มีเหตุผลให้ควรฟังได้ว่า โจทก์มีความจำเป็นที่จะต้องเพิ่มทุนโดยมีส่วนล้ำมูลค่าหุ้นเพื่อไม่ให้เป็นการฝ่าฝืนบทบัญญัติของพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542 และประมวลกฎหมายที่ดิน ซึ่งต่อมาโจทก์ก็ได้เลิกประกอบกิจการของโจทก์และขายทรัพย์สินของโจทก์ทั้งหมดให้แก่บริษัทสยาม พีวีเอส เคมิคอลส์ จำกัด ที่โจทก์อุทธรณ์โต้แย้งต่อมาอีกว่า การเพิ่มทุนทำได้แม้บริษัทประสบภาวะขาดทุน ในกรณีที่บริษัทประสบภาวะขาดทุนและกำลังจะเลิกกิจการ การขอกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงินย่อมเป็นไปไม่ได้ กฎหมายย่อมต้องเปิดโอกาสให้บริษัทสามารถระดมทุนเพิ่มเติมจากผู้ถือหุ้นโดยการเพิ่มทุนได้ และบทบัญญัติว่าด้วยกฎหมายบริษัทจำกัดไม่มีมาตราใด ห้ามมิให้บริษัทที่ประสบปัญหาขาดทุนหรือกำลังจะเลิกกิจการแล้วดำเนินการเพิ่มทุน ซึ่งหากโจทก์ต้องถูกสถาบันการเงินฟ้องจนล้มละลาย บริษัทอ๊อกซิเดนทอล เคมิคอล คอร์ปอเรชั่น จำกัด ผู้ถือหุ้นเกือบครึ่งหนึ่งของทุนจดทะเบียนโจทก์ย่อมต้องได้รับผลกระทบเกี่ยวกับการเสื่อมเสียชื่อเสียงทางธุรกิจเป็นอย่างมาก มีผลให้การขอกู้เงินจากสถาบันการเงินต่าง ๆ ทำได้ยากขึ้นและเสียดอกเบี้ยในอัตราที่สูงขึ้น จำเลยเองก็ยอมรับแนวความคิดเกี่ยวกับการที่บริษัทลูกหนี้จะต้องเพิ่มทุนเพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สินของบริษัทลูกหนี้ และบริษัทลูกหนี้ต้องจดทะเบียนเลิกกิจการและชำระบัญชีภายในระยะเวลาไม่เกิน 1 รอบระยะเวลาบัญชีตามคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป. 135/2551 นั้น เห็นว่า แม้ไม่มีกฎหมายห้ามมิให้บริษัทที่ประสบปัญหาการขาดทุนหรือกำลังจะเลิกกิจการแล้วดำเนินการเพิ่มทุน แต่โดยปกติของการเพิ่มทุนของบริษัทจะกระทำเพื่อเสริมสภาพคล่องทางการเงินหรือผู้ถือหุ้นต้องการให้บริษัทมีเงินทุนไปประกอบกิจการให้เจริญก้าวหน้าต่อไปหรือเพื่อหาผลประโยชน์ แม้จะมีการเพิ่มทุนเพื่อนำเงินทุนที่เพิ่มไปชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ของบริษัท แต่ก็เพื่อจะดำเนินกิจการของบริษัทต่อไปไม่ให้บริษัทต้องเลิกกิจการไป หากต่อมาบริษัทมีกำไรผู้ที่ซื้อหุ้นเพิ่มทุนจะได้รับผลประโยชน์ในรูปของเงินปันผล รวมทั้งทำให้มูลค่าหุ้นที่ซื้อไว้มีราคาสูงขึ้นตามสินทรัพย์ของบริษัทหรือราคาหุ้นทางบัญชีต่อหุ้นจะมีมูลค่าที่สูงขึ้น การที่โจทก์เพิ่มทุนโดยมีส่วนล้ำมูลค่าหุ้นเพื่อนำเงินส่วนล้ำมูลค่าหุ้นดังกล่าวไปชำระหนี้ก่อนที่โจทก์จะเลิกกิจการ จึงเป็นเรื่องที่ผิดปกติทั่วไปที่ผู้ถือหุ้นจะมีมติให้มีการเพิ่มทุนเพื่อให้กิจการของบริษัทดำเนินต่อไปได้ ส่วนที่บริษัทอ๊อกซิเดนทอล เคมิคอล คอร์ปอเรชั่น จำกัด จะเสื่อมเสียชื่อเสียงทางธุรกิจ หากโจทก์ต้องล้มละลายจึงเรียกให้โจทก์เพิ่มทุนเพื่อป้องกันโจทก์ล้มละลายนั้นก็ไม่สมเหตุสมผล เพราะบริษัทอ๊อกซิเดนทอล เคมิคอล คอร์ปอเรชั่น จำกัด มีเจตนาที่จะชำระหนี้ให้แก่ธนาคารเจ้าหนี้ของโจทก์อยู่แล้ว บริษัทอ๊อกซิเดนทอล เคมิคอล คอร์ปอเรชั่น จำกัด ที่อยู่ประเทศสหรัฐอเมริกาสามารถชำระหนี้ให้แก่ธนาคารเจ้าหนี้ของโจทก์ที่อยู่เครือรัฐออสเตรเลียได้โดยตรง ซึ่งสะดวกกว่าที่จะโอนเงินเข้ามาให้โจทก์ที่ประเทศไทยและโจทก์โอนเงินจากประเทศไทยไปยังเครือรัฐออสเตรเลีย และไม่ทำให้โจทก์ต้องล้มละลายเช่นกัน โดยไม่ต้องมาสร้างกรรมวิธีที่ยุ่งยากซับซ้อนตามที่นางพรนภา ที่ปรึกษากฎหมายของโจทก์แนะนำ นอกจากนี้ตามคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.135/2551 เรื่อง ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีการตัดมูลค่าหุ้นเพิ่มทุนที่ไม่ได้รับคืนจากการเลิกกิจการของบริษัทลูกหนี้มาถือเป็นรายจ่ายของบริษัท ซึ่งไม่ต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี (12) แห่งประมวลรัษฎากร ข้อ 1 บริษัทที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายของประเทศไทย และได้ถือหุ้นในบริษัทลูกหนี้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 25 ของหุ้นทั้งหมดที่มีสิทธิออกเสียงในบริษัทลูกหนี้ตั้งแต่การจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทลูกหนี้จนถึงการเพิ่มทุนเพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สินของบริษัทลูกหนี้ ข้อ 2 บริษัทลูกหนี้ได้จัดการเพิ่มทุนเพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สินของบริษัทลูกหนี้ และบริษัทตามข้อ 1 จะต้องเป็นเจ้าหนี้ของบริษัทลูกหนี้และต้องเป็นหนี้ที่จะกระทำการจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้ได้ตามมาตรา 65 ทวิ (9) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับกฎกระทรวง ฉบับที่ 186 (พ.ศ.2534) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้ ข้อ 3 บริษัทลูกหนี้ต้องจดทะเบียนเลิกกิจการและมีการชำระบัญชีภายในระยะเวลาไม่เกิน 1 รอบระยะเวลาบัญชีนับแต่รอบระยะเวลาบัญชีที่บริษัทลูกหนี้ทำการเพิ่มทุน ข้อ 4 บริษัทตามข้อ 1 มีสิทธินำมูลค่าหุ้นเพิ่มทุนที่ไม่ได้รับคืนจากบริษัทลูกหนี้ ซึ่งเป็นผลเสียหายจากการลงทุนมาถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิ เพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลในรอบระยะเวลาบัญชีที่บริษัทลูกหนี้จดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชีและถือเป็นรายจ่ายมีจำนวนไม่เกินมูลค่าหนี้ของบริษัทลูกหนี้ที่มีต่อบริษัทตามข้อ 1 ณ วันเพิ่มทุน โดยบริษัทตามข้อ 1 จะต้องไม่ได้รับเงินได้เนื่องจากการประกันหรือสัญญาคุ้มกันใด ๆ สำหรับผลเสียหายดังกล่าว ทั้งนี้ ตามมาตรา 65 ตรี (12) แห่งประมวลรัษฎากร ตามคำสั่งเป็นการให้สิทธิเจ้าหนี้ของบริษัทลูกหนี้ที่จะเลิกกิจการและเจ้าหนี้ต้องเป็นบริษัทที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย แต่กรณีพิพาทในคดีนี้โจทก์เป็นลูกหนี้และเจ้าหนี้ของโจทก์เป็นบริษัทที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ ส่วนบริษัทอ๊อกซิเดนทอล เคมิคอล คอร์ปอเรชั่น จำกัด เป็นผู้ถือหุ้น จึงไม่ได้เป็นไปตามเงื่อนไขของคำสั่งกรมสรรพากร จากพฤติการณ์ของโจทก์ที่กล่าวมาจะเห็นได้ว่าเงิน 906,296,000 บาท ที่โจทก์ได้รับจากบริษัทอ๊อกซิเดนทอล เคมิคอล คอร์ปอเรชั่น จำกัด โดยอ้างว่าเป็นส่วนล้ำมูลค่าหุ้นนั้น ไม่มีลักษณะที่ผู้ถือหุ้นจ่ายเงินซื้อหุ้นในลักษณะเป็นการลงทุนเพื่อหวังผลประโยชน์หรือแสวงหากำไรที่จะได้รับจากการดำเนินกิจการของบริษัทโจทก์ แต่มีลักษณะเป็นเงินที่ผู้ถือหุ้นจ่ายให้แก่โจทก์เพื่อให้โจทก์นำไปชำระหนี้แก่ธนาคารเจ้าหนี้ของโจทก์แล้ว โจทก์จำหน่ายทรัพย์สินให้แก่บริษัทสยาม พีวีเอส เคมิคอลส์ จำกัด ก่อนจดทะเบียนเลิกกิจการ จึงมีลักษณะเป็นเงินให้เปล่าหรือเงินช่วยเหลือแก่โจทก์ที่ได้รับจากบริษัทอ๊อกซิเดนทอล เคมิคอล คอร์ปอเรชั่น จำกัด ผู้ถือหุ้น ถือเป็นเงินได้พึงประเมินและเป็นรายได้เนื่องจากกิจการที่โจทก์ต้องนำมารวมคำนวณกำไรขาดทุนสุทธิในรอบระยะเวลาบัญชีตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2544 ถึงวันที่ 22 มิถุนายน 2544 เมื่อวินิจฉัยดังนี้แล้วอุทธรณ์ของโจทก์ในข้ออื่นไม่ว่า ส่วนล้ำมูลค่าหุ้นถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของทุน กฎหมายต่างประเทศก็ถือว่าส่วนล้ำมูลค่าหุ้นเป็นส่วนหนึ่งของทุน และมาตรฐานการบัญชีระหว่างประเทศและมาตรฐานการบัญชีสากลยอมรับหลักการที่ว่าบริษัทไม่ต้องนำเงินลงทุนที่ได้รับจากผู้ถือหุ้นมาเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลหรือไม่ ไม่จำต้องวินิจฉัยเพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนไป ดังนั้น การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ชอบแล้ว ที่ศาลภาษีอากรกลางวินิจฉัยว่า ตามพฤติการณ์แสดงว่าโจทก์ไม่มีเจตนาจะเพิ่มทุนจดทะเบียนเพื่อการประกอบธุรกิจตามปกติ แต่มีเจตนาอื่นแอบแฝง ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์แทนจำเลย โดยกำหนดค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ 30,000 บาท