คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5812/2533

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์เป็นเพียงผู้ยื่นคำขอประทานบัตรเท่านั้น ซึ่งอธิบดีมีอำนาจสั่งยกคำขอประทานบัตรเสียได้ โจทก์จึงยังไม่มีสิทธิเข้าไปกระทำการใด ๆ แก่พื้นที่และไม่มีสิทธิครอบครอง แร่ที่มีอยู่ในเขตพื้นที่ตามคำขอยังเป็นสมบัติของรัฐอยู่ ถ้ามีผู้มาขุดแร่ต้องถือว่ารัฐเป็นผู้เสียหายโดยตรง โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้ถือคำขอประทานบัตรทำเหมืองแร่ดีบุกซึ่งกรมทรัพยากรธรณีได้รังวัดกำหนดเขตคำขอประทานบัตร และประกาศไปแล้ว โจทก์มีสิทธิเข้าไปยึดถือครอบครองและห้ามมิให้ผู้ใดเข้าทำลายหรือทำให้เสื่อมสถาพ และโจทก์มีสิทธิที่จะได้ประทานบัตรก่อนบุคคลอื่น จำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ ๓ กระทำการในทางการที่จ้าง กับจำเลยที่ ๒ ในฐานะส่วนตัวและตัวแทนของจำเลยที่ ๓ ได้ควบคุมและสั่งการให้คนงานบุกรุกเข้ามาในเขตพื้นที่คำขอประทานบัตรของโจทก์ แล้วขุดกระสะแร่บริเวณที่มีสิน แร่อุดมสมบูรณ์ไป เนื้อที่ที่เหลือเป็นบริเวณที่มีแร่น้อยไม่สามารถเหมืองแร่ในเชิงพาณิชย์ ขอให้จำเลยทั้งสามใช้ค่าเสียหาย ๑,๐๐๐,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์
จำเลยที่ ๑ ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ให้การว่า จำเลยที่ ๑ ไม่ใช่ลูกจ้างหรือพนักงานของจำเลยที่ ๑ จำเลยที่ ๓ ไม่เคยมอบหมายให้ผู้อื่นกระทำการตามที่โจทก์ฟ้องโจทก์ไม่ใช่ผู้ที่ได้รับความเสียหายตามพระราชบัญญัติแร่
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงได้ความว่า โจทก์ยื่นคำขอประทานบัตรทำเหมืองแร่แต่ยังมิได้รับประทานบัตร ระหว่างดำเนินการของพนักงานเจ้าหน้าที่มีผู้มาขุดแร่ในพื้นที่คำขอประทานบัตร ปัญหาว่าโจทก์จะมีอำนาจฟ้องผู้เข้ามาขุดแร่ได้หรือไม่
พิเคราะห์แล้ว พระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. ๒๕๑๐ มาตรา ๔๓ บัญญัติว่า”ห้ามมิให้ผู้ใดทำเหมืองในที่ใดไม่ว่าที่ซึ่งทำเหมืองนั้นจะเป็นสิทธิของบุคคลใดหรือไม่เว้นแต่จะได้รับประทานบัตรชั่วคราวหรือประทานบัตร” และมาตรา ๔ บัญญัติว่า “ทำเหมือง” หมายความว่าการกระทำแก่พื้นที่ไม่ว่าจะเป็นที่บกหรือที่น้ำเพื่อให้ได้มาซึ่งแร่ฯลฯ ศาลฎีกาเห็นว่าโจทก์เป็นเพียงผู้ยื่นคำขอประทานบัตรเท่านั้นซึ่งอธิบดีมีอำนาจสั่งยกคำขอประทานบัตรเสียได้ตามมาตรา ๔๗ โจทก์ยังไม่มีสิทธิเข้าไปกระทำการใด ๆ แก้พื้นที่และไม่มีสิทธิครอบครองแร่ที่มีอยู่ในเขตพื้นที่ตามคำขอยังเป็นสมบัติของรัฐอยู่ ถ้ามีผู้มีขุดแร่ต้องถือว่ารัฐเป็นผู้เสียหายโดยตรง โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องประเด็นอื่นไม่จำต้องวินิจฉัย ศาลล่างทั้งสองพิพากษาชอบแล้วฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน.

Share