คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 580/2535

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ตามคำร้องลงวันที่ 24 ตุลาคม 2534 ของโจทก์ขอให้เพิกถอน คำสั่งอนุญาตให้ถอนฟ้อง อ้างว่า พ.และท. ได้พ้นจากตำแหน่งกรรมการของโจทก์ตามมติของที่ประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นเมื่อวันที่8 กรกฎาคม 2534 แต่ตามหนังสือรับรองของนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทฯเอกสารท้ายฟ้อง ซึ่งออกเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2534 ปรากฏว่า พ.และท.ยังเป็นกรรมการของโจทก์อยู่ ทั้งในคำร้องของโจทก์ดังกล่าวก็หาได้อ้างว่าได้มีการจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงกรรมการของ โจทก์ภายหลังจากวันที่ 22 กรกฎาคม 2534 ไม่ เมื่อข้ออ้างตามคำร้อง ของโจทก์ที่ว่า พ.และท. พ้นจากตำแหน่งกรรมการของโจทก์ตั้งแต่วันที่8 กรกฎาคม 2534 ฟังไม่ได้เพราะขัดต่อหนังสือรับรองของ นายทะเบียนเช่นนี้แล้ว ศาลก็ชอบที่จะสั่งยกคำร้องของโจทก์ดังกล่าว เสียได้โดยไม่จำต้องไต่สวนเสียก่อน.

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องขอให้จำเลยซึ่งเคยเป็นลูกจ้างของโจทก์ให้ส่งมอบรถยนต์ที่โจทก์มอบให้จำเลยใช้ในระหว่างเป็นลูกจ้างของโจทก์คืนให้แก่โจทก์พร้อมค่าเสียหาย จำเลยให้การต่อสู้คดีและฟ้องแย้งขอให้โจทก์รับจำเลยกลับเข้าทำงานต่อไป ระหว่างสืบพยานโจทก์โจทก์โดยนายพยัพ ศรีกาญจนาและหม่อมราชวงศ์ทินศักดิ์ ศักดิเดชภาณุพันธ์ กรรมการได้ยื่นคำร้องลงวันที่ 18 ตุลาคม 2534 ว่าโจทก์ไม่ประสงค์จะดำเนินคดีกับจำเลยอีกต่อไป ขอถอนฟ้อง จำเลยรับสำเนาคำฟ้องแล้วไม่คัดค้าน ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องจำหน่ายคดีออกจากสารบบความ ต่อมาโจทก์ยื่นคำร้องลงวันที่ 24 ตุลาคม2534 ว่า โจทก์ไม่มีเจตนาถอนฟ้อง นายพยัพและหม่อมราชวงศ์ทินศักดิ์กระทำโดยไม่มีอำนาจเพราะที่ประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นของโจทก์ได้มีมติให้บุคคลทั้งสองพ้นจากตำแหน่งกรรมการของโจทก์ไปแล้ว ขอให้ศาลเพิกถอนคำสั่งที่อนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้อง แล้วดำเนินคดีต่อไป
ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งให้ยกคำร้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “โจทก์อุทธรณ์ข้อแรกว่าคำร้องขอถอนฟ้องของโจทก์ ฉบับลงวันที่ 18 ตุลาคม 2534 ไม่มีผลผูกพันโจทก์ นั้น เห็นว่า ตามหนังสือรับรองของนายทะเบียนสำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานคร ที่โจทก์แนบมาท้ายฟ้องปรากฏว่า นายพยัพ ศรีกาญจนา และหม่อมราชวงศ์ทินศักดิ์ ศักดิเดช ภาณุพันธ์เป็นกรรมการของโจทก์ และจำนวนกรรมการที่ลงชื่อผูกพันโจทก์ได้ คือกรรมการสองคนลงลายมือชื่อร่วมกันและประทับตราสำคัญของโจทก์ ดังนั้นคำร้องขอถอนฟ้องของโจทก์ลงวันที่ 18 ตุลาคม 2534 ซึ่งมีนายพยัพศรีกาญจนา และหม่อมราชวงศ์ทินศักดิ์ ศักดิเดช ภาณุพันธ์ กรรมการของโจทก์สองคนลงลายมือชื่อพร้อมทั้งประทับตราสำคัญของโจทก์จึงมีผลผูกพันโจทก์ อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
โจทก์อุทธรณ์อีกข้อหนึ่งว่า การที่ศาลแรงงานกลางสั่งยกคำร้องลงวันที่ 24 ตุลาคม 2534 ของโจทก์ที่ขอให้ศาลแรงงานกลางเพิกถอนคำสั่งอนุญาตให้ถอนฟ้องโดยศาลแรงงานกลางไม่ทำการไต่สวนคำร้องเสียก่อนไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะในคำร้องของโจทก์ดังกล่าวได้อ้างไว้แล้วว่า ที่ประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นของโจทก์ได้มีมติให้นายพยัพและหม่อมราชวงศ์ทินศักดิ์พ้นจากตำแหน่งกรรมการของโจทก์แล้วศาลแรงงานกลางชอบที่จะไต่สวนให้ได้ข้อเท็จจริงดังกล่าวเสียก่อนเห็นว่า ตามคำร้องลงวันที่ 24 ตุลาคม 2534 ของโจทก์อ้างว่า นายพยัพและหม่อมราชวงศ์ทินศักดิ์ได้พ้นจากตำแหน่งกรรมการของโจทก์ตามมติของที่ประชุมใหญ่ ผู้ถือหุ้นเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2534 แต่ตามหนังสือรับรองของนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานคร เอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 1 ซึ่งออกเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2534 ปรากฏว่านายพยัพและหม่อมราชวงศ์ทินศักดิ์ยังเป็นกรรมการของโจทก์อยู่ หาได้พ้นจากตำแหน่งตั้งแต่วันที่ 8 กรกฎาคม 2534 ดังโจทก์อ้างไม่ ทั้งในคำร้องของโจทก์ดังกล่าวก็หาได้อ้างว่าได้มีการจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงกรรมการของโจทก์ภายหลังจากวันที่ 22 กรกฎาคม 2534แต่อย่างใดไม่ เมื่อข้ออ้างตามคำร้องของโจทก์ลงวันที่ 24 ตุลาคม2534 ที่ว่านายพยัพและหม่อมราชวงศ์ทินศักดิ์พ้นจากตำแหน่งกรรมการของโจทก์ตั้งแต่วันที่ 8 กรกฎาคม 2534 ฟังไม่ได้เพราะขัดต่อหนังสือรับรองของนายทะเบียนตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 1 เช่นนี้แล้ว ศาลก็ชอบที่จะสั่งยกคำร้องของโจทก์ดังกล่าวเสียได้โดยไม่จำต้องไต่สวนเสียก่อน ดังนั้น ที่ศาลแรงงานกลางสั่งยกคำร้องของโจทก์โดยไม่ทำการไต่สวนก่อนจึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน.

Share