แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
ประเด็นเรื่องสิทธิครอบครองที่พิพาท จำเลยไม่ได้อุทธรณ์จึงยุติไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น แม้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยในประเด็นเรื่องนี้ก็ถือไม่ได้ว่าเป็นข้อที่ว่ากล่าวกันมาในศาลอุทธรณ์ จำเลยทั้งสองได้แสดงโดยชัดแจ้งถึงอำนาจครอบครอง โจทก์ทราบเหตุที่โจทก์ถูกโต้แย้งการครอบครอง ครั้งแรกตั้งแต่ปี 2520 และครั้งที่สองที่จำเลยไปขอออก น.ส.3 เมื่อปี 2521 และโจทก์ไปแจ้งแก่เจ้าพนักงานที่ดินอีกเมื่อปี 2524 เมื่อนับระยะเวลาที่โจทก์ทราบเหตุแห่งการแย่งการครอบครองจนถึงวันฟ้องจึงเป็นเวลาเกินหนึ่งปีตาม ป.พ.พ. มาตรา 1375 วรรคสอง ดังนี้ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอบังคับให้จำเลยทั้งสองและบริวารออกไปจากที่ดินของโจทก์ ห้ามไม่ให้จำเลยทั้งสองและบริวารเกี่ยวข้องในที่ดินแปลงนี้ต่อไป
จำเลยทั้งสองให้การว่า จำเลยได้ครอบครองทำประโยชน์ในที่พิพาทโดยสงบ เปิดเผย เจตนาเป็นเจ้าของต่อเนื่องตลอดมาเกือบ 10 ปีแล้วและรวมเวลาที่นายยูโซ๊ะเข้าครอบครองด้วยจนถึงปัจจุบันเป็นเวลาเกิน 20 ปี จำเลยทั้งสองขอตัดฟ้องว่า โจทก์ทราบถึงการถูกแย่งการครอบครอง โจทก์ไม่ฟ้องภายใน 1 ปี โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ที่ดินพิพาทเนื้อที่ประมาณ 8 ไร่ เป็นที่ดินส่วนหนึ่งของที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เลขที่ 363 ตั้งอยู่ตำบลเฉลิม อำเภอระแงะจังหวัดนราธิวาส เนื้อที่ 25 ไร่เศษตามเอกสารหมาย จ.1 มีชื่อโจทก์เป็นเจ้าของ โดยได้รับการยกให้จากนางแมะเต๊ะ ปะเกยะปา มารดาเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2515 จำเลยทั้งสองเป็นฝ่ายครอบครองที่พิพาทดังกล่าวโดยจำเลยที่ 1 เป็นภรรยาของนายยูโซ๊ะ จำเลยที่ 2เป็นบุตรของนายยูโซ๊ะ กับภรรยาคนแรก นายยูโซ๊ะเป็นพี่ร่วมบิดามารดาเดียวกันกับโจทก์ นางแมะเต๊ะและนายยูโซ๊ะถึงแก่กรรมเดือนธันวาคม2516 และมกราคม 2517 ตามลำดับ
คดีนี้มีประเด็นข้อพิพาทในศาลชั้นต้นสองประเด็นคือ ประเด็นข้อแรกว่า โจทก์หรือจำเลยทั้งสองมีสิทธิครอบครองที่พิพาท ประเด็นข้อที่สองว่า โจทก์ฟ้องคดีเพื่อเอาคืนการครอบครองจากจำเลยทั้งสองภายในกำหนดระยะเวลาตามกฎหมายหรือไม่ ศาลชั้นต้นวินิจฉัยในประเด็นแรกฟังว่า ที่พิพาทโจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครอง ส่วนในประเด็นข้อที่สองโจทก์มิได้ฟ้องจำเลยทั้งสองภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์อุทธรณ์เฉพาะประเด็นข้อพิพาทข้อที่สองเรื่องอำนาจฟ้องโจทก์ จำเลยทั้งสองมิได้อุทธรณ์ในประเด็นแรกเช่นกัน ดังนั้น ประเด็นข้อพิพาทข้อแรกที่ศาลชั้นต้นฟังว่า ที่พิพาทโจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองจึงยุติ คงมีประเด็นที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 จะวินิจฉัยตามอุทธรณ์โจทก์เพียงว่าโจทก์ได้ฟ้องเพื่อเอาคืนการครอบครองจากจำเลยทั้งสองภายในกำหนดระยะเวลาตามกฎหมายหรือไม่ แต่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ดำเนินกระบวนพิจารณาไม่ชอบโดยวินิจฉัยประเด็นข้อพิพาทที่ฟังเป็นยุติแล้วและวินิจฉัยตรงกันข้ามกับศาลชั้นต้นว่า ที่พิพาทจำเลยทั้งสองเป็นผู้มีสิทธิครอบครองประเด็นเรื่องอำนาจฟ้องยังมิได้วินิจฉัยและพิพากษายกฟ้องในผลโจทก์ฎีกาเรื่องสิทธิครอบครองที่พิพาทและเรื่องอำนาจฟ้อง ศาลฎีกาได้พิเคราะห์แล้วสำหรับฎีกาประเด็นแรกเรื่องสิทธิครอบครองที่พิพาทนั้นได้ยุติไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นแล้ว และถือมิได้ว่าเป็นข้อที่ว่ากล่าวกันมาในศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัยให้ส่วนประเด็นเรื่องอำนาจฟ้องนั้นโดยที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ยังมิได้พิจารณาศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยในประเด็นดังกล่าวโดยไม่ย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยเสียก่อน ศาลฎีกาเห็นว่าจากคำเบิกความของตัวโจทก์เองว่า เมื่อปี 2520 โจทก์ไปแจ้งความกับตำรวจชื่อมนัส เมฆารัฐ ที่สถานีตำรวจภูธรอำเภอระแงะว่าจำเลยบุกรุกเป็นเนื้อที่ 9 ไร่ ในเนื้อที่ 9 ไร่ ดังกล่าวนั้น เป็นที่พิพาทประมาณ 8 ไร่ และจำเลยได้บุกรุกเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 1 ไร่เจ้าหน้าที่ตำรวจเรียกจำเลยมาพบ จำเลยนำเอกสารหมาย ล.1, ล.2และ ล.3 มาแสดง เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงไม่ดำเนินคดีข้อหาบุกรุกต่อมาโต๊ะอีหม่ามไกล่เกลี่ยให้จำเลยคืนที่พิพาทที่เกินไป 1 ไร่จำเลยก็ยินยอม นอกจากนั้นยังได้ความจากนายสมบัติ สิงคิวิบูลย์เจ้าพนักงานที่ดินพยานจำเลยซึ่งมิได้มีสาเหตุอื่นใดกับโจทก์จึงเป็นพยานคนกลางที่มีน้ำหนักว่าเมื่อปี 2521 จำเลยมาขอออก น.ส.3โจทก์คัดค้าน ได้เรียกมาไกล่เกลี่ย ฝ่ายจำเลยแสดงหลักฐานที่คณะกรรมการกลางอิสลามแบ่งตามหลักศาสนาถูกต้องแล้ว คือ เอกสารหมายล.1, ล.2 และ ล.3 โจทก์ดูเอกสารที่จำเลยนำแสดงแล้วว่าจะไปตรวจสอบแต่โจทก์ก็เงียบไป เมื่อปี 2524 โจทก์มาแจ้งกับนายสมบัติอีกว่าจำเลยบุกรุก ได้แนะนำให้ไปแจ้งกับพนักงานสอบสวน เห็นว่า จำเลยทั้งสองได้แสดงโดยชัดแจ้งถึงอำนาจครอบครอง โจทก์เองก็ทราบเหตุที่โจทก์ถูกโต้แย้งการครอบครองครั้งแรกตั้งแต่ปี 2520 และครั้งที่สองที่จำเลยไปขอออก น.ส.3 เมื่อปี 2521 และโจทก์ไปแจ้งแก่นายสมบัติอีกเมื่อปี 2524 เมื่อนับระยะเวลาที่โจทก์ทราบเหตุแห่งการแย่งการครอบครองจนถึงวันฟ้องจึงเป็นเวลาเกินหนึ่งปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1375 วรรคสอง โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยกับศาลล่างทั้งสองในผล”
พิพากษายืน.