คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 866/2540

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยที่3มีฐานะเป็นกระทรวงและมีสภาพเป็นนิติบุคคลการที่จะดำเนินการให้ได้มาซึ่งความประสงค์ของนิติบุคคลย่อมแสดงออกโดยผู้แทนของนิติบุคคลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา70วรรคสองคือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมการที่โจทก์ยื่นอุทธรณ์เงินค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืนต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมต้องถือว่าได้อุทธรณ์ต่อจำเลยที่3แล้วจำเลยที่3จึงมีหน้าที่วินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์หากรัฐมนตรีมิได้วินิจฉัยอุทธรณ์ให้เสร็จสิ้นภายใน60วันตามกำหนดเวลาที่ระบุไว้ในพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์พ.ศ.2530มาตรา25วรรคสองโจทก์มีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลได้ภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่พ้นกำหนดเวลาดังกล่าวตามมาตรา26วรรคหนึ่ง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินค่าทดแทนและค่าเสียหายจำนวน 2,979,040 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภท, ฝากประจำของธนาคารออมสิน จำกัดจากต้นเงิน 2,771,200 บาท นับจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จขอให้จำเลยทั้งสามขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกจากที่ดินของโจทก์ส่วนที่ไม่ถูกเวนคืนพร้อมมอบการครอบครองคืนโจทก์ กับให้ร่วมกันชำระค่าเสียหายเดือนละ 50,000 บาท จนกว่าจะส่งมอบที่ดินคืนโจทก์
จำเลยทั้งสามให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันชำระเงินจำนวน 2,875,500 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันที่ 2 มกราคม 2533 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์คำขอนอกจากนี้ให้ยก ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 1
โจทก์ จำเลย ที่ 2 และ ที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ พิพากษายืน
โจทก์ จำเลย ที่ 2 และ ที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 6396ตำบลคลองสามประเวศ (คลองประเวศบุรีรัมย์ฝั่งเหนือ)อำเภอลาดกระบัง (แสนแสบ) กรุงเทพมหานคร เมื่อ พ.ศ. 2522ได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดแนวทางหลวงที่จะสร้างทางหลวงแผ่นดินสายคลองตัน-หนองงูเห่า และทางแยกเข้าหนองงูเห่า ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2522 ที่ดินตามโฉนดของโจทก์ดังกล่าวอยู่ในบริเวณที่ที่จะถูกเวนคืนตามพระราชกฤษฎีกากำหนดแนวทางหลวงที่จะสร้างทางหลวงแผ่นดิน พ.ศ. 2522 ต่อมา พ.ศ. 2532จึงได้ออกพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ในท้องที่แขวงหัวหมากเขตบางกะปิ แขวงสวนหลวง แขวงประเวศ เขตพระโขนง และแขวงคลองสองต้นนุ่น แขวงคลองสามประเวศ แขวงลำปลาทิว เขตลาดกระบังกรุงเทพมหานคร เพื่อสร้างทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 343สายคลองตัน-ลาดกระบัว จำเลยที่ 3 ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อทำหน้าที่กำหนดราคาเบื้องต้นของอสังหาริมทรัพย์ที่จะต้องเวนคืนและจำนวนเงินค่าทดแทนที่จะให้แก่เจ้าของทรัพย์สินเนื่องในการสร้างหรือขยายทางหลวงหมายเลข 343ฯ ตามสำเนาคำสั่งเอกสารหมาย ล.6 คณะกรรมการดังกล่าวกำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินของโจทก์ที่ถูกเวนคืนตารางวาละ 100 บาท โดยอาศัยราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมของกรมที่ดินในปี 2522 ครั้นวันที่ 12 ธันวาคม 2532จำเลยที่ 1 ได้มีหนังสือแจ้งให้โจทก์ไปตกลงเงินค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืนจำนวนเนื้อที่ 1 งาน 13 ตารางวา จากนั้นวันที่22 ธันวาคม 2532 จำเลยที่ 1 ได้มีหนังสือแจ้งให้โจทก์ทราบว่าที่ดินของโจทก์ถูกเวนคืนจำนวน 7 ไร่ 3 งาน 95 ตารางวา และให้โจทก์ไปรับเงินค่าทดแทน 319,500 บาท แต่โจทก์ไม่ยอมไปรับจำเลยที่ 1 จึงนำเงินค่าทดแทนจำนวนดังกล่าวไปวางณ สำนักงานวางทรัพย์ โจทก์อุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมให้ตรวจสอบความถูกต้องของจำนวนเนื้อที่ดินและขอให้กำหนดเงินค่าทดแทนให้ใหม่ตามเอกสารหมาย จ.8 แต่จำเลยที่ 3 ไม่วินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์โดยอ้างว่าโจทก์ได้ฟ้องคดีต่อศาลขอให้จ่ายเงินค่าทดแทนเพิ่มขึ้นแล้ว
ปัญหาประการที่สองตามฎีกาของโจทก์และจำเลยที่ 2 และที่ 3เห็นสมควรวินิจฉัยรวมกันว่า โจทก์ได้ยื่นอุทธรณ์เงินค่าทดแทนต่อจำเลยที่ 3 แล้วหรือไม่ จำเลยที่ 3 มีหน้าที่ตามกฎหมายที่จะต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์หรือไม่ จำเลยทั้งสามได้กำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืนถูกต้องเป็นธรรมและชอบด้วยกฎหมายหรือไม่และโจทก์มีสิทธิเรียกเงินค่าทดแทนเพิ่มขึ้นพร้อมดอกเบี้ยหรือไม่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ฎีกาในเรื่องการอุทธรณ์เงินค่าทดแทนและการวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ว่า จำเลยที่ 3 เป็นกระทรวงและมีสภาพเป็นนิติบุคคลจึงไม่ใช่รัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชกฤษฎีกากำหนดแนวทางหลวงที่จะสร้างทางหลวงสายคลองตัน-หนองงูเห่าและทางแยกเข้าหนองงูเห่า พ.ศ. 2522 และพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 จึงถือว่าจำเลยที่ 3ไม่เคยได้รับอุทธรณ์ของโจทก์และไม่มีหน้าที่วินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์นั้น เห็นว่า จำเลยที่ 3 มีฐานะเป็นกระทรวงและมีสภาพเป็นนิติบุคคล การที่จะดำเนินการให้ได้มาซึ่งความประสงค์ของนิติบุคคลย่อมแสดงออกโดยผู้แทนของนิติบุคคลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 70 วรรคสอง คือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมดังนี้ การที่โจทก์ยื่นอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมตามเอกสารหมาย จ.8 ต้องถือว่าได้อุทธรณ์ต่อจำเลยที่ 3 จำเลยที่ 3จึงมีหน้าที่วินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ นอกจากนี้ตามนัยพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มาตรา 26 วรรคหนึ่งที่ว่า ในกรณีที่รัฐมนตรีได้วินิจฉัยอุทธรณ์ให้เสร็จสิ้นภายในกำหนดเวลาตามมาตรา 25 วรรคสอง ให้มีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลได้ภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่พ้นกำหนดเวลาดังกล่าว แสดงให้เห็นว่าถ้าจำเลยที่ 3 ไม่ได้วินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ในกำหนดเวลาแล้วโจทก์ก็มีสิทธินำคดีมาฟ้องศาลได้ ซึ่งจำเลยที่ 3 ก็ยอมรับถึงเหตุที่ไม่วินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ตามเอกสารหมาย จ.11 สำหรับการกำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืนถูกต้องเป็นธรรมและชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ และโจทก์มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนเพิ่มขึ้นหรือไม่ ที่ศาลอุทธรณ์กำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินให้โจทก์เพิ่มขึ้นตารางวาละ 1,000 บาท จึงเหมาะสมเป็นธรรมแก่โจทก์แล้วส่วนปัญหาเรื่องดอกเบี้ยเงินค่าทดแทนที่เพิ่มขึ้นนี้ จำเลยที่ 2และที่ 3 ฎีกาว่าโจทก์ไม่มีสิทธิได้รับดอกเบี้ยเงินค่าทดแทนที่เพิ่มขึ้นหรือหากได้รับโจทก์ก็มีสิทธิได้รับดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสินนับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ต้องมีการจ่ายเงินค่าทดแทนเพิ่มขึ้นซึ่งมีอัตราต่ำกว่าร้อยละ 6.5 ต่อปีนั้น เห็นว่าตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มาตรา 26 วรรคสามบัญญัติว่า ในกรณีที่รัฐมนตรีหรือศาลวินิจฉัยให้ชำระเงินค่าทดแทนเพิ่มขึ้นให้ผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทน ได้รับดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสินในจำนวนเงินที่เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ นับแต่วันที่ต้องมีการจ่ายหรือวางเงินค่าทดแทนนั้น จากบทบัญญัติดังกล่าวโจทก์จึงมีสิทธิได้รับดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสินในจำนวนเงินค่าทดแทนที่เพิ่มขึ้น ส่วนจะได้รับอัตราดอกเบี้ยเท่าใดต้องเป็นไปตามประกาศของธนาคารออมสินที่ประกาศอัตราดอกเบี้ยขึ้นลง ทั้งนี้ต้องไม่เกินอัตราร้อยละ7.5 ต่อปี เพราะโจทก์มิได้อุทธรณ์ฎีกาขอให้เพิ่มอัตราดอกเบี้ยจากที่ศาลชั้นต้นกำหนดแต่ที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ให้จำเลยที่ 2และที่ 3 ชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี คงที่จึงไม่ถูกต้องสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง ส่วนวันเริ่มต้นนับดอกเบี้ยนั้น เห็นว่าคดีนี้ปรากฏว่าไม่มีการตกลงทำสัญญาซื้อขายที่ดินที่ถูกเวนคืนตามมาตรา 10 จึงไม่มีวันที่ต้องมีการจ่ายเงินค่าทดแทนตามมาตรา 11ดังนั้น วันเริ่มต้นนับดอกเบี้ยจึงต้องนับแต่วันที่วางเงินค่าทดแทนตามมาตรา 26 วรรคสาม ข้อเท็จจริงได้ความว่า จำเลยที่ 1มีหนังสือลงวันที่ 2 มกราคม 2533 แจ้งการวางทรัพย์ให้โจทก์ผู้ถูกเวนคืนว่าจำเลยที่ 2 ได้นำเงินค่าทดแทนไปวางต่อสำนักงานวางทรัพย์ศาลจังหวัดมีนบุรีตั้งแต่วันที่ 4 มกราคม 2533ตามเอกสารหมาย จ.13 แล้ว โจทก์จึงมีสิทธิได้รับดอกเบี้ยในจำนวนเงินที่เพิ่มขึ้นดังกล่าวนับแต่วันที่วางเงินค่าทดแทนนั้นคือวันที่ 4 มกราคม 2533 มิใช่วันที่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ต้องมีการจ่ายเงินค่าทดแทนเพิ่มขึ้นดังที่จำเลยที่ 2 และที่ 3ฎีกา ฎีกาข้อนี้ของโจทก์และของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันชำระดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสินในจำนวนเงินค่าทดแทนที่ศาลให้จำเลยที่ 2 และที่ 3ชำระเพิ่มขึ้นนับแต่วันที่ 4 มกราคม 2533 เป็นต้นไป แต่ทั้งนี้ไม่เกินอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share