คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 58/2539

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตามหนังสือสัญญาจะซื้อขายที่ดินระหว่างโจทก์จำเลย แม้จะมีการกำหนดให้ชำระเงินเป็นงวด ๆ รวม 4 งวด โดยกำหนดวันชำระเงินแต่ละงวดไว้แน่นอนก็ตาม แต่สัญญาก็มีข้อความระบุว่าถ้าโจทก์จ่ายเงินในแต่ละงวดไม่ทันตามกำหนด โจทก์ยินยอมเสียดอกเบี้ยตามอัตราดอกเบี้ยของธนาคารให้จำเลยทั้งสอง และโจทก์จะต้องชำระเงินค่าซื้อที่ดินให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 31ธันวาคม 2532 หากโจทก์ชำระเงินค่าซื้อที่ดินไม่เสร็จภายในกำหนดดังกล่าวให้ถือว่าโจทก์ผิดสัญญา แสดงว่า ในการชำระเงินตามงวดที่ 1 ถึงงวดที่ 3คู่สัญญามิได้ถือเคร่งครัดว่าโจทก์จะต้องชำระเงินแต่ละงวดให้จำเลยตามกำหนดเวลาที่ระบุไว้ในสัญญา โดยคู่สัญญายอมให้โจทก์ชำระเงินแต่ละงวดล่าช้ากว่ากำหนดได้ เพียงแต่โจทก์ต้องเสียดอกเบี้ยให้จำเลยตามอัตราดอกเบี้ยของธนาคาร คงมีแต่เฉพาะงวดที่ 4 ซึ่งเป็นงวดสุดท้ายเท่านั้นที่โจทก์จะต้องชำระเงินค่าซื้อที่ดินทั้งหมดตามสัญญาพร้อมดอกเบี้ยให้จำเลยทั้งสองเนื่องจากการชำระเงินไม่ตรงตามงวด โดยโจทก์ต้องชำระให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 31ธันวาคม 2532 มิฉะนั้นถือว่าโจทก์ผิดสัญญา ดังนั้น การที่โจทก์มิได้ชำระเงินในงวดที่ 1 ถึงงวดที่ 3 ตามกำหนดเวลาจึงถือไม่ได้ว่าโจทก์ผิดสัญญา จำเลยทั้งสองจะบอกเลิกสัญญาแก่โจทก์เพราะเหตุนี้หาได้ไม่ และจำเลยทั้งสองไม่มีสิทธิที่จะกำหนดระยะเวลาขึ้นมาใหม่ แล้วบอกกล่าวให้โจทก์ชำระเงินภายในระยะเวลานั้น โดยแจ้งว่าหากโจทก์ไม่ชำระเงินภายในระยะเวลาที่กำหนดถือว่าโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญา อันจะเป็นผลให้จำเลยทั้งสองมีสิทธิบอกเลิกสัญญาแก่โจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 387 ได้ เพราะหนังสือสัญญาจะซื้อขายได้กำหนดเวลาชำระหนี้ทั้งหมดที่ค้างชำระไว้แน่นอนตายตัวแล้ว คือ ในวันที่ 31 ธันวาคม 2532การที่จำเลยทั้งสองมีหนังสือทวงถามโจทก์ให้ชำระเงินในงวดที่ 1 โดยกำหนดเวลาให้ชำระภายในวันที่ 23 มิถุนายน 2532 และโจทก์ได้รับหนังสือทวงถามของจำเลยทั้งสองแล้ว แต่โจทก์ไม่ชำระเงินให้จำเลยทั้งสองภายในกำหนดเวลาดังกล่าวก็ถือไม่ได้ว่าโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญา จำเลยทั้งสองไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญาแก่โจทก์เช่นนั้น การที่จำเลยทั้งสองมีหนังสือลงวันที่ 31 กรกฎาคม 2532 บอกเลิกสัญญาแก่โจทก์ จึงหาเป็นผลให้สัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสองเป็นอันเลิกกันไม่สัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสองยังคงมีผลผูกพันต่อกันอยู่ แต่การที่จำเลยทั้งสองมีหนังสือบอกเลิกสัญญาแก่โจทก์ทั้งที่โจทก์มิได้เป็นฝ่ายผิดสัญญา และจำเลยทั้งสองไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญาเช่นนี้ พฤติการณ์แสดงว่าจำเลยทั้งสองไม่ถือเอาประโยชน์แห่งเงื่อนไขเวลา ตามหนังสือสัญญาจะซื้อขายอีกต่อไป ดังนั้น กำหนดเวลาตามสัญญาที่ให้จำเลยทั้งสองไปโอนที่ดินพิพาทให้โจทก์ในวันที่ 31 ธันวาคม 2532 จึงถือว่าจำเลยทั้งสองได้สละประโยชน์แห่งเงื่อนเวลานั้นเสียแล้ว ตาม ป.พ.พ.มาตรา 154วรรคสอง เดิม เมื่อโจทก์ได้มีหนังสือลงวันที่ 4 ธันวาคม 2532 แจ้งให้จำเลยทั้งสองไปรับเงินค่าที่ดินพร้อมดอกเบี้ยและโอนที่ดินตามสัญญาให้แก่โจทก์ ณ สำนักงานที่ดินในวันที่ 15 ธันวาคม 2532 จำเลยทั้งสองได้รับหนังสือของโจทก์แล้ว ไม่ไปรับเงินค่าที่ดินพร้อมดอกเบี้ยและโอนที่ดินให้แก่โจทก์ตามกำหนดระยะเวลาดังกล่าว จำเลยทั้งสองจึงเป็นฝ่ายผิดสัญญาตั้งแต่วันที่ 15 ธันวาคม 2532 เป็นต้นไป โจทก์ฟ้องให้จำเลยทั้งสองปฏิบัติตามสัญญาได้
สัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสองเป็นสัญญาต่างตอบแทนระหว่างกัน การที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยทั้งสองจดทะเบียนโอนที่ดินให้แก่โจทก์ โดยไม่กำหนดให้โจทก์ชำระราคาที่ดินที่ค้างแก่จำเลยทั้งสองนั้น เป็นการไม่ชอบด้วยการชำระหนี้ตามสัญญาต่างตอบแทนตาม ป.พ.พ.มาตรา 369 และปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาจึงมีอำนาจพิพากษาให้โจทก์ชำระราคาที่ดินส่วนที่ค้างชำระแก่จำเลยทั้งสองได้

Share