คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4538/2549

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) โจทก์ต้องบรรยายว่าการกระทำทั้งหลายอันเป็นองค์ประกอบความผิดที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำความผิด ทั้งตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษฯ มาตรา 66 วรรคสอง (เดิม) บัญญัติว่า “ถ้ายาเสพติดให้โทษนั้นมีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์เกินหนึ่งร้อยกรัม” ซึ่งแสดงว่าปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ของยาเสพติดให้โทษเป็นการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำความผิด กรณีที่โจทก์ไม่บรรยายจึงถือว่า ไม่ปรากฏปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ จึงต้องห้ามพิพากษาให้ลงโทษฐานมียาเสพติดให้โทษที่คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ตามรายงานการตรวจพิสูจน์ที่โจทก์นำสืบตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคหนึ่ง เพราะเกินคำขอและมิได้กล่าวในฟ้อง ทั้งยังเป็นการรับฟังอันเป็นผลร้ายแก่จำเลยซึ่งไม่ชอบ จึงต้องลงโทษตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษฯ มาตรา 66 วรรคหนึ่ง (ที่แก้ไขใหม่) อันเป็นกฎหมายในส่วนที่เป็นคุณ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า วันที่ 24 พฤศจิกายน 2542 เวลากลางวัน จำเลยทั้งสามร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนอันเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 จำนวน 14,000 เม็ด น้ำหนัก 1,284.38 กรัม ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย และร่วมกันจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนดังกล่าวให้แก่ผู้มีชื่อที่ล่อซื้อในราคา 700,000 บาท โดยฝ่าฝืนต่อกฎหมายเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมจำเลยทั้งสามและยึดเมทแอมเฟตามีน จำนวน 14,000 เม็ด โทรศัพท์เคลื่อนที่ 3 เครื่อง รถยนต์ทะเบียน บก – 9614 ตราด และ 7 ธ – 4982 กรุงเทพมหานคร และธนบัตร 700,000 บาท ของเจ้าพนักงานที่จำเลยทั้งสามได้จากการจำหน่ายยาเสพติดให้โทษ เป็นของกลาง ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 มาตรา 66 และมาตรา 102 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 72 และมาตรา 33 และริบยาเสพติดให้โทษของกลาง
ระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้นจำเลยที่ 1 ถึงแก่ความตาย ศาลชั้นต้นมีคำสั่งจำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 1 ออกเสียจากสารบบความ
จำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 มีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคสอง (เดิม) และมาตรา 66 วรรคสอง (เดิม) ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 การกระทำของจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทให้ลงโทษบทหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ฐานมียาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและฐานจำหน่ายยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 มีอัตราโทษเท่ากัน จึงให้ลงโทษฐานจำหน่ายยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 จำคุกตลอดชีวิต จำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้การรับสารภาพชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลยที่ 2 และที่ 3 คนละ 33 ปี 8 เดือน (ที่ถูกต้องเป็น 33 ปี 4 เดือน) ริบยาเสพติดให้โทษของกลาง
จำเลยที่ 2 และที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 มีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง (เดิม) และมาตรา 66 วรรคหนึ่ง (ที่แก้ไขใหม่) ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 การกระทำของจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทให้ลงโทษบทหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ฐานมียาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและฐานจำหน่ายยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 มีอัตราโทษเท่ากันให้ลงโทษฐานจำหน่ายยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 จำคุกคนละ 15 ปี ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้ว คงจำคุกคนละ 10 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 (เดิม) และมาตรา 66 วรรคสอง (เดิม) หรือไม่ โจทก์นำสืบว่า เมทแอมเฟตามีน 14,000 เม็ด คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ 232.106 กรัม แต่โจทก์ไม่ได้บรรยายในคำฟ้องว่า คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้เท่าใด เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5) โจทก์ต้องบรรยายการกระทำทั้งหลายอันเป็นองค์ประกอบความผิดที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำความผิด ทั้งตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 66 วรรคสอง (เดิม) บัญญัติว่า “ถ้ายาเสพติดให้โทษนั้นมีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์เกินหนึ่งร้อยกรัม” ซึ่งแสดงว่าปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ของยาเสพติดให้โทษเป็นการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำความผิด กรณีที่โจทก์ไม่บรรยายจึงถือว่า ไม่ปรากฏปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ จึงต้องห้ามพิพากษาให้ลงโทษฐานมียาเสพติดให้โทษที่คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ตามรายงานการตรวจพิสูจน์ที่โจทก์นำสืบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคหนึ่ง เพราะเกินคำขอและมิได้กล่าวในฟ้อง ทั้งยังเป็นการรับฟังอันเป็นผลร้ายแก่จำเลยซึ่งไม่ชอบ จึงต้องลงโทษตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 66 วรรคหนึ่ง (ที่แก้ไขใหม่) อันเป็นกฎหมายในส่วนที่เป็นคุณที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษา ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share