คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5797/2545

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จดหมายที่จำเลยทั้งห้าทำขึ้นฉบับแรกเป็นจดหมายที่เขียนถึง ส. โดยเฉพาะเจาะจงไม่ประสงค์จะให้บุคคลอื่นล่วงรู้ และไม่มีข้อความพาดพิงถึงผู้เสียหายว่าร่วมกับ ส. ขโมยเศษทองแดงสายไฟฟ้าชำรุดของห้างฯ ไปขาย ไม่อาจถือว่าจำเลยทั้งห้าใส่ความผู้เสียหายต่อบุคคลที่สาม ข้อความในจดหมายฉบับแรกนี้จึงไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท แต่จดหมายฉบับหลังที่จำเลยทั้งห้าเขียนถึง ว. ล. และ บ. แจ้งให้ทราบว่า ส. ขโมยเศษทองแดงสายไฟฟ้าชำรุดของห้าง ฟ. ไปขายให้แก่ผู้อื่นโดยผู้เสียหายมีส่วนรู้เห็นร่วมด้วย อันเป็นการกล่าวหา ส. กับผู้เสียหายเช่นเดียวกับถ้อยคำในเทปบันทึกเสียงที่ยืนยันว่า ผู้เสียหายร่วมกับ ส. ขโมยเศษทองแดงสายไฟฟ้าชำรุดของห้าง ฟ. ไปขายให้แก่ผู้อื่น ซึ่งข้อความในจดหมายฉบับหลังและเทปบันทึกเสียงฝ่าฝืนต่อความจริง ย่อมเป็นการใส่ความบุคคลทั้งสอง ทำให้เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชัง แม้จำเลยทั้งห้าจะส่งจดหมายและเทปดังกล่าวไปให้ ส. ซึ่งถูกใส่ความด้วย แต่ในส่วนที่เกี่ยวกับผู้เสียหายก็ต้องถือว่า ส. เป็นบุคคลที่สาม จำเลยทั้งห้าจึงมีความผิดฐานหมิ่นประมาท

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 83, 326ริบจดหมายและเทปบันทึกเสียงของกลาง

จำเลยทั้งห้าให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งห้ามีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326, 83 ปรับคนละ 5,000 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30

จำเลยทั้งห้าอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ริบจดหมายกับเทปบันทึกเสียงของกลางด้วยและทำลายเสีย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

จำเลยทั้งห้าฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า นายวีระ วนาฤทธิกุล ผู้เสียหายเป็นบุตรนางเสาวลักษณ์ วนาฤทธิกุล ซึ่งเป็นหุ้นส่วนในห้างหุ้นส่วนจำกัดสายไฟไทยอุตสาหกรรม ร่วมกับนายวิสันต์หรือเกี๊ยก โกวิทสิทธินันท์ นายเลี้ยงหรือหก แซ่ลี้หรือลีลาธุวานนท์ และนายบุญชัยหรือบุ้ง ลีลารัศมีพาณิชย์ ประกอบกิจการผลิตสายไฟฟ้าขณะเกิดเหตุผู้เสียหายซึ่งเป็นหุ้นส่วนและทำงานเป็นหัวหน้าฝ่ายบุคคลอยู่ในโรงงานผลิตสายไฟฟ้าของห้างดังกล่าวซึ่งจำเลยทั้งห้าเป็นพนักงาน เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2540 จำเลยทั้งห้าได้ร่วมกันจัดทำจดหมาย 2 ฉบับ และเทปบันทึกเสียงถ้อยคำพูดส่งไปยังนางเสาวลักษณ์ มีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยทั้งห้าว่า ข้อความตามจดหมายและเทปบันทึกเสียงดังกล่าวหมิ่นประมาทผู้เสียหายหรือไม่ และการที่จำเลยทั้งห้าส่งจดหมายดังกล่าวไปยังนางเสาวลักษณ์เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทผู้เสียหายหรือไม่ เห็นว่า จดหมายที่จำเลยทั้งห้าทำขึ้นและส่งไปยังนางเสาวลักษณ์มีอยู่ด้วยกัน2 ฉบับ แยกต่างหากจากกัน ฉบับแรกเป็นจดหมายที่จำเลยทั้งห้าเขียนถึงนางเสาวลักษณ์โดยเฉพาะเจาะจงไม่ประสงค์จะให้บุคคลอื่นล่วงรู้และไม่มีข้อความพาดพิงถึงผู้เสียหายว่าร่วมกับนางเสาวลักษณ์ขโมยเศษทองแดงสายไฟฟ้าชำรุดของห้างหุ้นส่วนจำกัดสายไฟไทยอุตสาหกรรมไปขาย ไม่อาจถือได้ว่าจำเลยทั้งห้าใส่ความผู้เสียหายต่อบุคคลที่สาม ข้อความในจดหมายฉบับแรกจึงไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท แต่จดหมายฉบับหลังก็ระบุว่าเป็นจดหมายที่จำเลยทั้งห้าเขียนถึงนายวิสันต์หรือเกี๊ยก นายเลี้ยงหรือหกและนายบุญชัยหรือบุ้งซึ่งเป็นหุ้นส่วนในห้างหุ้นส่วนจำกัดสายไฟไทยอุตสาหกรรมแจ้งให้ทราบว่านางเสาวลักษณ์ได้ขโมยเศษทองแดงสายไฟฟ้าชำรุดของห้างดังกล่าวไปขายให้แก่นายประสานโดยผู้เสียหายมีส่วนรู้เห็นร่วมด้วย อันเป็นการกล่าวหานางเสาวลักษณ์และผู้เสียหายเช่นเดียวกับถ้อยคำในเทปบันทึกเสียงตามที่ปรากฏในบันทึกถอดคำจากเทปบันทึกเสียง ซึ่งยืนยันว่าผู้เสียหายร่วมกับนางเสาวลักษณ์ขโมยเศษทองแดงสายไฟฟ้าชำรุดของห้างหุ้นส่วนจำกัดสายไฟไทยอุตสาหกรรม ไปขายให้แก่นายประสาน ข้อความในจดหมายฉบับหลังและเทปบันทึกเสียงกล่าวหาว่านางเสาวลักษณ์และผู้เสียหายร่วมกันขโมยทรัพย์สินของห้างหุ้นส่วนจำกัดสายไฟไทยอุตสาหกรรม โดยฝ่าฝืนต่อความเป็นจริงย่อมเป็นการใส่ความบุคคลทั้งสอง ทำให้เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชัง แม้จำเลยทั้งห้าจะส่งจดหมายและเทปบันทึกเสียงดังกล่าวไปให้นางเสาวลักษณ์ซึ่งถูกใส่ความด้วย ในส่วนที่เกี่ยวกับผู้เสียหายก็ต้องถือว่านางเสาวลักษณ์เป็นบุคคลที่สาม จำเลยทั้งห้าจึงมีความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยทั้งห้าฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share