คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4905-4927/2545

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์เป็นรัฐวิสาหกิจรับโอนจำเลยซึ่งเป็นลูกจ้างประจำฝึกการบินพลเรือนในประเทศไทย กรมการบินพาณิชย์ มาเป็นพนักงานของโจทก์เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2536 ต่อมาโจทก์ออกข้อบังคับสถาบันการบินพลเรือนว่าด้วยสิทธิประโยชน์เกี่ยวกับค่าชดเชยของพนักงาน พ.ศ. 2539 ให้มีผลย้อนหลังไปใช้บังคับแก่จำเลยตั้งแต่วันดังกล่าวโดยมีบทเฉพาะกาลว่าพนักงานที่รับโอนมาจากกรมการบินพาณิชย์ เมื่อมีอายุครบหกสิบปีบริบูรณ์ให้มีสิทธิได้รับค่าชดเชยโดยนับระยะเวลาการทำงานต่อเนื่อง การที่โจทก์จ่ายค่าชดเชยให้แก่จำเลยที่ครบเกษียณอายุในวันที่ 30 กันยายน 2536 โดยเข้าใจว่าจำเลยมีสิทธิได้รับตามข้อบังคับข้างต้นซึ่งโจทก์เชื่อว่าเป็นระเบียบข้อบังคับที่ใช้บังคับได้ตามกฎหมาย ทั้งที่แท้จริงแล้วจำเลยไม่มีสิทธิได้รับเพราะการประกาศใช้ข้อบังคับฉบับนี้ไม่ได้รับความเห็นชอบจากกระทรวงการคลังและขัดต่อพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันการบินพลเรือน พ.ศ. 2535 ไม่มีผลใช้บังคับ จึงเป็นกรณีที่จำเลยได้รับค่าชดเชยเนื่องจากโจทก์กระทำเพื่อชำระหนี้โดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้ และเป็นทางทำให้โจทก์เสียเปรียบ จึงเป็นการได้รับมาในฐานลาภมิควรได้ ไม่ใช่กรณีจำเลยยึดถือค่าชดเชยไว้โดยไม่มีสิทธิอันจะทำให้โจทก์มีสิทธิติดตามเอาค่าชดเชยคืนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1336 โจทก์ชอบที่จะใช้สิทธิเรียกเอาค่าชดเชยคืนจากจำเลยได้ตามมาตรา 406 โดยโจทก์ต้องฟ้องคดีภายใน 1 ปี นับแต่โจทก์รู้ว่าตนมีสิทธิเรียกคืนตามมาตรา 419 เมื่อผู้ว่าการของโจทก์ซึ่งมีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ได้รับทราบหนังสือกระทรวงการคลังในวันที่ 21 พฤศจิกายน 2540 แจ้งว่าข้อบังคับสถาบันการบินพลเรือนฉบับข้างต้นประกาศใช้โดยไม่ได้รับความเห็นชอบจากกระทรวงการคลังและขัดต่อพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันการบินพลเรือน พ.ศ. 2535 ไม่มีผลใช้บังคับ โจทก์จ่ายค่าชดเชยให้แก่จำเลยเป็นการจ่ายให้แก่ผู้ไม่มีสิทธิได้รับ ถือได้ว่าโจทก์รู้ว่าตนมีสิทธิเรียกเอาค่าชดเชยคืนจากจำเลยตั้งแต่วันที่ 21 พฤศจิกายน 2540 โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2543 พ้นกำหนด 1 ปีแล้ว คดีจึงขาดอายุความ

ย่อยาว

คดีทั้งยี่สิบสามสำนวนนี้ ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งให้รวมพิจารณากับคดีหมายเลขดำที่ 4964/2543 ที่ 4968/2543 ที่ 4972/2543 ที่ 4987/2543 ที่ 4989/2543 และ ที่ 4991/2543 ของศาลแรงงานกลาง โดยให้เรียกจำเลย เรียงตามลำดับสำนวนว่า จำเลยที่ 1 ถึง จำเลยที่ 29 ระหว่างการพิจารณา โจทก์ถอนฟ้องจำเลยที่ 5 และทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับจำเลยที่ 1 ที่ 24 และ ที่ 26 ส่วนจำเลยที่ 9 และที่ 28 คู่ความไม่อุทธรณ์ คดีจึงขึ้นมาสู่ การพิจารณาของศาลฎีกาเฉพาะยี่สิบสามสำนวนนี้
โจทก์ทั้งยี่สิบสามสำนวนฟ้อง ขอให้บังคับจำเลยทั้งยี่สิบสามคืนเงินค่าชดเชยจำนวนตามฟ้องแต่ละสำนวนพร้อมดอกเบี้ยอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันผิดนัดไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 7 ที่ 8 ที่ 10 ถึงที่ 14 ที่ 16 ถึงที่ 23 ที่ 25 ที่ 27 และที่ 29 ให้การว่า จำเลยทั้งยี่สิบคนนี้ ได้รับเงินค่าชดเชยไปจากโจทก์โดยสุจริต คณะกรรมการโจทก์พิจารณาอนุมัติโดยชอบด้วยระเบียบปฏิบัติและ วิธีการตามกฎหมาย โจทก์จ่ายค่าชดเชยให้แก่จำเลยทั้งยี่สิบเนื่องจากจำเลยทั้งยี่สิบออกจากงานเพราะเหตุเกษียณอายุ ถือเป็นการชำระหนี้ตามอำเภอใจโดยรู้อยู่ว่าโจทก์ไม่มีความผูกพันที่จะต้องชำระ ในวันที่โจทก์ทวงถามให้ จำเลยทั้งยี่สืบคืนเงินนั้นเงินดังกล่าวไม่มีเหลืออยู่ที่จำเลยทั้งยี่สิบแล้ว จำเลยทั้งยี่สิบจึงไม่ต้องคืนตามประมวล กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 412 และโจทก์ไม่มีสิทธิเรียกค่าชดเชยคืนจากจำเลยทั้งยี่สิบตามประมวล กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 407 กรณีตามฟ้องไม่ต้องด้วยมาตรา 1336 โจทก์ฟ้องเรียกเงินคืนเกิน 1 ปี นับแต่ วันที่จำเลยแต่ละคนรับเงินค่าชดเชยไปจากโจทก์ จึงขาดอายุความแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 4 และที่ 6 ให้การว่า จำเลยทั้งสองคนมีสิทธิได้รับเงินค่าชดเชยจากโจทก์ตามข้อบังคับ สถาบันการบินพลเรือน ว่าด้วยสิทธิประโยชน์เกี่ยวกับค่าชดเชยของพนักงาน พ.ศ. 2539 พระราชกฤษฎีกา จัดตั้งสถาบันการบินพลเรือน พ.ศ. 2535 และระเบียบคณะกรรมการกิจการสัมพันธ์ (ที่ถูกระเบียบคณะกรรมการ รัฐวิสาหกิจสัมพันธ์) เรื่อง มาตรฐานของสิทธิประโยชน์ของพนักงานรัฐวิสาหกิจ การรับเงินค่าชดเชยของจำเลย ทั้งสองคนเป็นการรับโดยสุจริต จึงไม่ต้องคืนเงินดังกล่าว แก่โจทก์ และโจทก์ไม่มีสิทธิเรียกคืนเนื่องจากเป็น ลาภมิควรได้ (ที่ถูก เนื่องจากไม่เป็นลาภมิควรได้) โจทก์ฟ้องเรียกเงินค่าชดเชยคืนจากจำเลยทั้งสองเกิน 1 ปี นับแต่ วันที่จำเลยที่ 4 และจำเลยที่ 6 ได้รับเงิน คดีโจทก์จึงขาดอายุ ความแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 15 ให้การว่า จำเลยที่ 15 มีสิทธิได้รับเงินค่าชดเชยเนื่องจากทำงานกับโจทก์จนกระทั่งเกษียณอายุ โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกเงินค่าชดเชยคืนเนื่องจากเป็นลาภมิควรได้ (ที่ถูก ไม่เป็นลาภมิควรได้) และต่อมาโจทก์อ้างว่าไม่ได้รับความเห็นชอบจากกระทรวงการคลังอันเป็นการปฏิบัติไม่ถูกต้องเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2540 แต่โจทก์ฟ้องคดีเรียกเงินซึ่งเป็นลาภมิควรได้พ้นกำหนดเวลา 1 ปี นับแต่โจทก์ทราบหรือใช้สิทธิได้แล้ว คดีจึงขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้วพิพากษาให้จำเลยที่ 9 คืนเงินจำนวน 202,860 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 7 กรกฎาคม 2543 ซึ่งเป็นวันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และให้จำเลยที่ 28 คืนเงินจำนวน 67,140 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 3 มีนาคม 2543 ซึ่งเป็นวันผิดนัดไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้องต้องไม่เกินจำนวน 910.52 บาท ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ที่ 6 ถึงที่ 8 ที่ 10 ถึงที่ 23 ที่ 25 ที่ 27 และที่ 29
โจทก์ทั้งยี่สิบสามสำนวนอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ข้อแรกว่า โจทก์มีสิทธิ ติดตามเอาคืนเงินค่าชดเชยที่โจทก์จ่ายให้แก่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ที่ 6 ถึงที่ 8 ที่ 10 ถึงที่ 23 ที่ 25 ที่ 27 และที่ 29 หรือไม่ เห็นว่า คดีนี้โจทก์ได้จ่ายค่าชดเชยให้แก่จำเลยทั้งยี่สิบสามโดยเข้าใจว่าจำเลยทั้งยี่สิบสามมีสิทธิได้รับตามข้อบังคับสถาบันการบินพลเรือน ว่าด้วยสิทธิประโยชน์เกี่ยวกับค่าชดเชยของพนักงาน พ.ศ. 2539 เอกสารหมาย จ.3 ที่มีข้อกำหนดให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2536 ซึ่งโจทก์เชื่อว่าเป็นระเบียบข้อบังคับที่ใช้บังคับได้ตามกฎหมาย ทั้งที่แท้จริงแล้วจำเลยทั้งยี่สิบสามไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชยเพราะข้อบังคับดังกล่าวไม่ได้รับความเห็นชอบจากกระทรวงการคลัง และขัดต่อพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันการบินพลเรือน พ.ศ. 2535 มาตรา 38 ไม่มีผลใช้บังคับ การที่จำเลยทั้งยี่สิบสามได้รับค่าชดเชยจากโจทก์จึงเป็นการได้มาซึ่งทรัพย์สิ่งใดเพราะการที่โจทก์กระทำเพื่อชำระหนี้ โดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้ และเป็นทางทำให้โจทก์เสียเปรียบ จึงเป็นการได้รับค่าชดเชยมาในฐานลาภ มิควรได้ โจทก์ชอบที่จะใช้สิทธิเรียกให้จำเลยทั้งยี่สิบสามคืนค่าชดเชยที่รับมาให้แก่โจทก์ฐานลาภมิควรได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 406 กรณีดังกล่าวมิใช่กรณีที่จำเลยทั้งยี่สิบสามเอาทรัพย์สินของโจทก์ มายึดถือไว้โดยไม่มีสิทธิ โจทก์จึงไม่อาจใช้สิทธิติดตามเอาทรัพย์สินของตนคืนได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1336 อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ข้อสุดท้ายว่า คดีของโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ เห็นว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 419 บัญญัติให้ผู้เสียหายฟ้องคดีเพื่อเรียกคืนทรัพย์สินจากผู้ที่ได้รับทรัพย์สินฐานลาภมิควรได้ภายในกำหนดหนึ่งปีนับแต่เวลาที่ฝ่ายผู้เสียหายรู้ว่าตนมีสิทธิเรียกคืน มิใช่ภายในหนึ่งปีนับ แต่ผู้เสียหายประสงค์ใช้สิทธิเรียกคืนตามที่โจทก์อุทธรณ์ เมื่อข้อเท็จจริงยุติตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลางว่า โจทก์มีฐานะเป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย รองศาสตราจารย์ด๊อกเตอร์องค์การ อินทรัมพรรย์ ผู้ว่าการของโจทก์ซึ่งเป็น ผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ได้รับทราบหนังสือกระทรวงการคลังตามเอกสารหมาย จ.4 เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2540 แจ้งว่าข้อบังคับของโจทก์ที่ให้จ่ายค่าชดเชยแก่จำเลยทั้งยี่สิบสาม ตามเอกสารหมาย จ.3 ประกาศใช้โดยไม่ได้รับความเห็นชอบจากกระทรวงการคลังและขัดต่อพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันการบินพลเรือน พ.ศ. 2535 มาตรา 38 ไม่มีผลใช้บังคับ โจทก์จ่ายค่าชดเชยให้จำเลยทั้งยี่สิบสามจึงเป็นการจ่ายให้แก่ผู้ไม่มีสิทธิได้รับนั้น ถือว่าโจทก์ซึ่งเป็นผู้เสียหายรู้ว่าตนมีสิทธิเรียกค่าชดเชยคืนจากจำเลยทั้งยี่สิบสามตั้งแต่วันที่ 21 พฤศจิกายน 2540 เมื่อโจทก์ฟ้องคดีวันที่ 7 กรกฎาคม 2543 ซึ่งพ้นกำหนด 1 ปี นับแต่วันที่โจทก์รู้ว่ามีสิทธิเรียกค่าชดเชยคืนดังกล่าวแล้ว คดีของโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ที่ 6 ถึงที่ 8 ที่ 10 ถึงที่ 23 ที่ 25 ที่ 27 และที่ 29 จึงขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 419 ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษามานั้นชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น เช่นกัน
พิพากษายืน.

Share