คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3947/2533

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ที่ดินของจำเลยอยู่ชิดผนังตึกของโจทก์ จำเลยชอบที่จะใช้ประโยชน์ในที่ดินของตนได้ จำเลยได้สร้างคันหินคอนกรีตกับกำแพงซ้อนคันหินและหลังคาในที่ดินของจำเลย ซึ่งแม้จะปิดช่องหน้าต่างของโจทก์แต่มิได้รุกล้ำที่ดินโจทก์ อาคารของโจทก์ก็สร้างผนังตึกชิดติดแนวเขตที่ดินจำเลย ซึ่งโจทก์ย่อมคาดหมายได้ว่าฝาผนังตึกของโจทก์ย่อมมีสภาพเหมือนเป็นกำแพงรั้วกั้นเขตที่ดินโจทก์และจำเลยจำเลยย่อมใช้ประโยชน์จากฝาผนังตึกนี้ได้ โจทก์ไม่มีสิทธิที่จะเปิดหน้าต่างรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของจำเลย และไม่มีสิทธิเปิดช่องทางเดินผ่านไปยังที่ดินของจำเลย การที่จำเลยได้ทำการก่อสร้างดังกล่าว แม้จะทำให้โจทก์ไม่สามารถเปิดหน้าต่างชั้นลอยด้านที่ติดกับที่ดินของจำเลยและไม่สามารถใช้ช่องทางผ่านเข้าออกสู่ที่ดินของจำเลยได้ ก็ไม่เป็นการทำละเมิดต่อโจทก์ และไม่เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต แม้การก่อสร้างของจำเลยจะไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่ ก็เป็นเรื่องที่เจ้าหน้าที่จะดำเนินการตามกฎหมายไม่เกี่ยวกับโจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่132394 พร้อมสิ่งปลูกสร้างอาคารพาณิชย์ เลขที่ 3/51 ถนนสุขุมวิท 71 แขวงพระโขนง โดยซื้อมาจากนายสาธิต เลิศกิจจาเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2521 จำเลยเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 9344, 132400 ถึง 132403 แขวงพระโขนง เมื่อโจทก์ซื้ออาคารพาณิชย์เลขที่ 3/51 พร้อมที่ดินโฉนดเลขที่ 132394 นั้นชั้นล่างของอาคารพาณิชย์มีประตูเปิดออกสองทาง คือด้านหน้าออกด้านถนนสุขุมวิท 71 และด้านข้างทางทิศตะวันออกออกสู่ที่ดินโฉนดเลขที่ 9344 ซึ่งขณะนั้นยังเป็นของนายสาธิต เลิศกิจจาอยู่นายสาธิต เลิศกิจจา แสดงเจตนาไว้ต่อผู้ซื้อที่ดินและตึกแถวของตนว่า ที่ดินดังกล่าวเว้นไว้เป็นที่จอดรถและทางเข้าออกสำหรับเจ้าของอาคารพาณิชย์ที่ซื้อจากนายสาธิต เลิศกิจจา รวมทั้งโจทก์ด้วยให้ใช้ประโยชน์ร่วมกัน อาคารพาณิชย์ของโจทก์ทางด้านที่ติดกับที่ดินโฉนดเลขที่ 9344 นี้ มีชั้นลอย และชั้นสูงขึ้นไปยังมีหน้าต่างเปิดรับลม และแสงสว่างอีกด้วย ต่อมาประมาณเดือนสิงหาคม 2527 จำเลยได้ก่อสร้างคันหินคอนกรีตกว้างประมาณ 2 เมตร ยาวประมาณ 16 เมตรหนาประมาณ 20 เซนติเมตร และสร้างกำแพงสูงประมาณ 40 เซนติเมตรซ้อนบนคันหินดังกล่าวตลอดแนว จำเลยได้ใช้เหล็กแผ่นตีปิดกั้นทางเข้าออกอาคารพาณิชย์ของโจทก์ด้านที่จะออกสู่ที่ดินโฉนดเลขที่9344 ซึ่งใช้เป็นที่จอดรถและทางเข้าที่จอดรถร่วมกัน จำเลยยังสร้างหลังคาเป็นเพิงคลุมช่องทางดังกล่าวโดยส่วนหลังคาไปปิดช่องหน้าต่างชั้นลอยด้านข้างของอาคารพาณิชย์ของโจทก์จนไม่สามารถเปิดออกรับอากาศให้ถ่ายเทดังปกติได้ ขอให้ศาลพิพากษาให้จำเลยรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างที่จำเลยทำขึ้นออกไปให้พ้นทางเข้าอาคารของโจทก์และให้รื้อหลังคาที่จำเลยทำขึ้นปิดกั้นหน้าต่างของโจทก์ ให้โจทก์สามารถปิดเปิดหน้าต่างได้ดังเดิม ถ้าจำเลยไม่ยอมรื้อให้โจทก์มีสิทธิรื้อโดยจำเลยเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย จำเลยให้การว่า จำเลยเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 9344, 132400 ถึง 132403แขวงพระโขนง โจทก์ซื้ออาคารพร้อมที่ดินจากเจ้าของที่ดินเดิมที่ปลูกขายจำนวนหลายหลัง อาคารทุกอาคารมีประตูทางออกด้านหน้าถนนสุขุมวิท 71 เพียงทางเดียวที่โจทก์อ้างว่าอาคารของโจทก์ด้านทิศตะวันออกมีทางออกสู่ที่ดินโฉนดที่ 9344 ไม่เป็นความจริงเพราะทางดังกล่าวไม่ใช่ถนนหรือทางสาธารณะ แต่เป็นที่ดินอันเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลย อย่างไรก็ตามหากอาคารของโจทก์มีประตูด้านข้างโจทก์ก็ทำขึ้นใช้ชั่วคราวโดยจำเลยมิได้รู้เห็นด้วย นายสำรวยวีระกุล และนายสำราญ วีระกุล ผู้ขายที่ดินให้แก่จำเลยไม่เคยบอกให้จำเลยทราบว่าที่ดินโฉนดเลขที่ 9344 ใช้เป็นที่จอดรถและเป็นทางเข้าออกที่จอดรถสำหรับเจ้าของอาคารพาณิชย์ที่ซื้อจากนายสาธิตเลิศกิจจา จำเลยก่อสร้างในที่ดินของจำเลยจึงไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์ อาคารของโจทก์ปลูกเต็มเนื้อที่ฝาผนังตึกจึงต้องทึบ ไม่มีหน้าต่าง โจทก์ก่อสร้างหน้าต่างจึงขัดกับพระราชบัญญัติควบคุมอาคารพ.ศ. 2522 โจทก์ได้รับแสงสว่างจากประตูหน้าต่างด้านหน้าอาคารโจทก์อย่างเพียงพอแล้ว ขอให้ยกฟ้อง ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายกอุทธรณ์โจทก์โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “โจทก์ฎีกาว่า ในคำฟ้องของโจทก์ได้กล่าวอ้างพาดพิงถึงทางสาธารณะไว้แล้ว ข้อที่โจทก์อุทธรณ์ว่า ถนนซอยข้างตึกแถวของโจทก์เป็นทางสาธารณะ จึงเป็นประเด็นไม่ใช่นอกประเด็นตามที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัย นั้น เห็นว่า โจทก์ได้บรรยายฟ้องว่าที่ดินโฉนดเลขที่ 9344 เดิมเป็นของนายสาธิตนายสาธิตได้แสดงเจตนาไว้ต่อผู้ซื้อที่ดินและตึกแถวของตนว่า ให้ใช้เป็นที่จอดรถและทางเข้าออกสำหรับเจ้าของอาคารรวมทั้งโจทก์ด้วยให้ใช้ประโยชน์ร่วมกันคำฟ้องมิได้ระบุว่านายสาธิตให้ประชาชนทั่วไปใช้ร่วมด้วยอันเป็นทางสาธารณะ คำฟ้องของโจทก์จึงมิได้กล่าวถึงว่าถนนซอยข้างตึกแถวของโจทก์เป็นทางสาธารณะแต่อย่างใด ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าอุทธรณ์ของโจทก์เกี่ยวกับทางสาธารณะเป็นเรื่องนอกฟ้องนอกประเด็นจึงชอบแล้วฎีกาข้อนี้ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น แต่ปัญหาว่าจำเลยได้ก่อสร้างคันหินคอนกรีตปิดกั้นในที่ดินของตนตามแนวยาวทางทิศตะวันออกของอาคารพาณิชย์ของโจทก์ ทำให้โจทก์เข้าออกทางประตูด้านติดที่ดินของจำเลยไม่ได้ทั้งจำเลยได้สร้างหลังคาปิดช่องหน้าต่างของโจทก์จนไม่สามารถเปิดออกรับอากาศให้ถ่ายเทตามปกติได้ เป็นการละเมิดหรือไม่นั้น ศาลอุทธรณ์มิได้วินิจฉัยให้ ศาลฎีกาเห็นควรวินิจฉัยเองโดยไม่ต้องย้อนสำนวน เห็นว่า ที่ดินโฉนดเลขที่ 9344 ซึ่งอยู่ชิดกับฝาผนังตึกของโจทก์ เป็นของจำเลย จึงชอบที่จำเลยจะใช้ประโยชน์ในที่ดินของจำเลยได้ คันหินคอนกรีตกับกำแพงซ้อนคันหินและหลังคาที่ปิดช่องหน้าต่างของโจทก์จำเลยก็สร้างอยู่ในที่ดินของจำเลยมิได้รุกล้ำที่ดินของโจทก์แต่อย่างใดอาคารของโจทก์ก็ปรากฏว่าได้สร้างผนังตึกชิดติดแนวเขตที่ดินจำเลยซึ่งโจทก์ย่อมคาดหมายได้ว่าฝาผนังตึกของโจทก์ย่อมมีสภาพเหมือนเป็นกำแพงรั้วกั้นเขตที่ดินโจทก์และจำเลยซึ่งจำเลยย่อมใช้ประโยชน์จากฝาผนังตึกนี้ได้โจทก์ไม่มีสิทธิที่จะเปิดหน้าต่างรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของจำเลยและไม่มีสิทธิเปิดช่องทางเดินผ่านไปยังที่ดินของจำเลย นายชูศักดิ์ นาคนุกูล หัวหน้าเขตพระโขนงก็เบิกความว่า การก่อสร้างตึกแถวชิดกำแพงตึกแถวผู้อื่นเจ้าหน้าที่ไม่อนุญาตให้สร้างส่วนหนึ่งส่วนใดของตึกรุกล้ำเข้าไปในที่ดินข้างเคียง และไม่อนุญาตให้เปิดช่องทางผ่านเข้าไปยังที่ดินติดต่อกันนั้น ดังนั้น แม้จำเลยจะได้ทำการก่อสร้างดังที่กล่าวมาข้างต้น ทำให้โจทก์ไม่สามารถเปิดหน้าต่างชั้นลอยด้านที่ติดกับที่ดินของจำเลย และไม่สามารถใช้ช่องทางผ่านเข้าออกสู่ที่ดินของจำเลยได้ การกระทำของจำเลยก็ไม่เป็นการทำละเมิดต่อโจทก์ และไม่เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตแม้การก่อสร้างของจำเลยจะไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่ก็เป็นเรื่องที่เจ้าหน้าที่จะดำเนินการตามกฎหมาย ไม่เกี่ยวกับโจทก์แต่อย่างใด คดีไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาข้ออื่นต่อไป”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้อง

Share