คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5793/2531

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ผู้เอาประกันชีวิตทราบก่อนทำสัญญาประกันชีวิตกับจำเลยว่าตนเป็นโรคพิษสุราเรื้อรังจนตับอักเสบแต่มิได้แจ้งให้จำเลยทราบซึ่งหากจำเลยทราบก็อาจเรียกเบี้ยประกันสูงขึ้นหรือไม่รับประกันชีวิตสัญญาประกันชีวิตจึงเป็นโมฆียะ จำเลยมีสิทธิบอกล้างได้โดยไม่ต้องคำนึงว่าผู้เอาประกันชีวิตตายหรือไม่ หรือตายด้วยเหตุใด ดังนั้นเมื่อผู้เอาประกันชีวิตถึงแก่ความตายแล้ว จำเลยจึงชอบที่จะบอกล้างสัญญาประกันชีวิตอันเป็นโมฆียะต่อโจทก์แล้ว ซึ่งเป็นผู้รับประโยชน์ตามสัญญาได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยจ่ายเงินตามสัญญาประกันชีวิตจำเลยให้การว่า จ. ผู้เอาประกันชีวิตไม่เปิดเผยข้อเท็จจริงให้จำเลยทราบว่าเป็นโรคพิษสุราเรื้อรัง หากจำเลยทราบจะไม่รับประกันชีวิตรายนี้ สัญญาจึงเป็นโมฆียะ จำเลยบอกล้างแล้วจึงตกเป็นโมฆียะ จำเลยไม่ต้องรับผิดชอบ ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยคืนเบี้ยประกันที่รับไปแล้ว คำขอนอกจากนี้ให้ยก โจทก์ทั้งสี่อุทธรณ์ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน โจทก์ทั้งสี่ฎีกา
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า มีการตรวจพบว่านายเจริญ พาดีป่วยเป็นโรคพิษสุราเรื้อรังจนตับอักเสบหลังจากที่ได้ทำสัญญาประกันชีวิตเพียงหนึ่งเดือนเศษ ซึ่งมิใช่เป็นโรคเจ็บป่วยเพียงเล็กน้อยตามฎีกาของโจทก์และวินิจฉัยว่า “เมื่อพิเคราะห์ถึงว่าโรคพิษสุราเรื้อรังนี้ มิได้เกิดขึ้นได้ในระยะเวลาอันสั้น เมื่อปรากฏว่านายเจริญ พาดี เป็นโรคพิษสุราเรื้อรังจนตับอักเสบแล้วย่อมเป็นที่เห็นได้ว่านายเจริญได้เป็นโรคนี้มานานแล้ว และนายเจริญ พาดี ได้รู้ถึงข้อเท็จจริงข้อนี้ก่อนทำสัญญาประกันชีวิตด้วย ซึ่งหากนายเจริญ พาดี ได้แถลงความจริงดังกล่าวให้จำเลยทราบจำเลยอาจให้เรียกเบี้ยประกันสูงขึ้นหรือบอกปัดไม่ยอมทำสัญญาประกันชีวิตรายนี้ก็ได้ สัญญาประกันชีวิตนี้จึงเป็นโมฆียะปัญหามีต่อไปตามฎีกาของโจทก์ว่า นายเจริญ พาดี ตายโดยถูกไฟดูดมิได้ถึงแก่ความตายโดยโรคซึ่งผู้ตายเคยป่วยและรักษาตัวที่โรงพยาบาลจำเลยจะมีสิทธิบอกล้างนิติกรรมสัญญาประกันชีวิตตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 865 หรือไม่ เห็นว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 865 นี้ มีความมุ่งหมายเพียงว่าหากข้อเท็จจริงที่ผู้เอาประกันชีวิตรู้อยู่แล้ว ละเว้นเสียไม่เปิดเผยข้อความจริงซึ่งอาจจะได้จูงใจผู้รับประกันภัยให้เรียกเบี้ยประกันภัยสูงขึ้นอีกหรือให้บอกปัดไม่ยอมทำสัญญา หรือว่ารู้อยู่แล้ว แถลงข้อความนั้นเป็นความเท็จแล้ว สัญญาดังกล่าวย่อมเป็นโมฆียะ และเมื่อเป็นโมฆียะแล้ว ผู้รับประกันภัยย่อมมีสิทธิที่จะบอกล้างนิติกรรมดังกล่าวได้โดยมิต้องคำนึงว่า ผู้เอาประกันภัยจะถึงแก่ความตายหรือไม่หรือด้วยเหตุใด จำเลยจึงมีสิทธิบอกล้างนิติกรรมสัญญาประกันชีวิตได้และเมื่อนายเจริญ พาดี ผู้เอาประกันชีวิตถึงแก่ความตายไปแล้วจำเลยจึงชอบที่จะบอกล้างนิติกรรมสัญญาต่อผู้รับประโยชน์อันได้แก่โจทก์ทั้งสี่ในคดีนี้ได้ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นมานั้นชอบแล้ว”
พิพากษายืน

Share