คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5791/2555

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ป.วิ.อ. มาตรา 84 วรรคท้าย บัญญัติห้ามมิให้รับฟังถ้อยคำใด ๆ ที่ผู้ถูกจับให้ไว้ต่อเจ้าพนักงานผู้จับ หรือตำรวจในชั้นจับกุม ถ้าถ้อยคำนั้นเป็นคำรับสารภาพของผู้ถูกจับว่าตนได้กระทำความผิดนั้น กฎหมายห้ามมิให้รับฟังเป็นพยานหลักฐานเพื่อพิสูจน์ความผิดของผู้ถูกจับกุมเท่านั้น แต่มิได้ห้ามรับฟังเป็นพยานหลักฐานเพื่อพิสูจน์ความผิดของผู้ร่วมกระทำความผิดคนอื่น ดังนั้น คำให้การในชั้นจับกุมของจำเลยที่ 1 ที่ว่าจำเลยที่ 2 เป็นผู้จ้างให้ไปซื้อเมทแอมเฟตามีนที่ประเทศกัมพูชา และจำเลยที่ 2 เป็นผู้นัดสถานที่เพื่อรอรับเมทแอมเฟตามีนจากจำเลยที่ 1 ดังกล่าว จึงสามารถนำมารับฟังประกอบกับพยานหลักฐานอื่นของโจทก์ลงโทษจำเลยที่ 2 ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 65, 66, 102 พระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปราบผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 6, 10 พระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 มาตรา 18, 62 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 83, 84, 91 ริบของกลาง
จำเลยที่ 1 ให้การปฏิเสธ แต่ก่อนสืบพยานโจทก์ จำเลยที่ 1 ขอถอนคำให้การเดิมและให้การใหม่เป็นรับสารภาพตามฟ้อง
จำเลยที่ 2 ให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง และวรรคสาม (2), 65 วรรคสอง, 66 วรรคสาม ประกอบมาตรา 100/2 พระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 มาตรา 18 วรรคสอง, 62 วรรคหนึ่ง จำเลยที่ 2 มีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง และวรรคสาม (2), 65 วรรคสอง, 66 วรรคสาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 84 วรรคสอง ตอนต้น การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานนำเมทแอมเฟตามีนเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อจำหน่าย และฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานนำเมทแอมเฟตามีนเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อจำหน่าย ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำเลยที่ 1 ให้ข้อมูลที่สำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษต่อเจ้าพนักงานตำรวจ เห็นสมควรลงโทษจำเลยที่ 1 น้อยกว่าอัตราโทษขั้นต่ำที่กำหนดไว้ ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 100/2 ให้จำคุกตลอดชีวิต ฐานเป็นคนสัญชาติไทยออกไปและเข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่ยื่นรายการตามแบบและไม่ผ่านการตรวจอนุญาตของพนักงานเจ้าหน้าที่ ปรับ 500 บาท จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กระทงละกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบมาตรา 53 ฐานนำเมทแอมเฟตามีนเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อจำหน่าย จำคุก 25 ปี ฐานเป็นคนสัญชาติไทยออกไปและเข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่ยื่นรายการตามแบบและไม่ผ่านการตรวจอนุญาตของพนักงานเจ้าหน้าที่ ปรับ 250 บาท คงจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 25 ปี ปรับ 250 บาท จำเลยที่ 2 ฐานเป็นผู้ใช้ให้ผู้อื่นนำเมทแอมเฟตามีนเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อจำหน่าย และฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานเป็นผู้ใช้ให้ผู้อื่นนำเมทแอมเฟตามีนเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อจำหน่าย ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำเลยที่ 2 เป็นสมาชิกสภาเทศบาลซึ่งพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 10 บัญญัติให้ต้องระวางโทษเป็นสามเท่าของโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น แต่เมื่อความผิดฐานเป็นผู้ใช้ให้ผู้อื่นนำเมทแอมเฟตามีนเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อจำหน่าย จำเลยที่ 2 ต้องรับโทษเสมือนเป็นตัวการ ซึ่งมีระวางโทษประหารชีวิตสถานเดียวไม่อาจวางโทษเป็นสามเท่าได้ ทั้งไม่อาจนำมาตรา 10 แห่งบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวมาปรับด้วยได้อีก จึงให้ลงโทษประหารชีวิต จำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมและทางนำสืบเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้าง มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้จำเลยที่ 2 หนึ่งในสาม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบมาตรา 52 (1) คงจำคุกจำเลยที่ 2 ตลอดชีวิต หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ริบเมทแอมเฟตามีน และโทรศัพท์เคลื่อนที่ 2 เครื่อง ของกลาง คำขออื่นให้ยก
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 มาตรา 62 วรรคสอง จำเลยที่ 1 และที่ 2 มีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 66 วรรคสอง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 84 วรรคท้าย ห้ามมิให้รับฟังถ้อยคำใด ๆ ที่ผู้ถูกจับให้ไว้ต่อเจ้าพนักงานผู้จับกุมหรือตำรวจในชั้นจับกุม ถ้าถ้อยคำนั้นเป็นคำรับสารภาพของผู้ถูกจับว่าตนได้กระทำความผิดกฎหมายห้ามมิให้รับฟังถ้อยคำรับสารภาพของผู้ถูกจับเป็นพยานหลักฐานเพื่อพิสูจน์ความผิดของผู้ถูกจับกุมเท่านั้น แต่มิได้ห้ามรับฟังเป็นพยานหลักฐานเพื่อพิสูจน์ความผิดของผู้ร่วมกระทำความผิดคนอื่น สำหรับที่เจ้าพนักงานตำรวจแจ้งแก่จำเลยที่ 1 ว่า หากศาลเห็นว่าผู้กระทำความผิดให้ข้อมูลที่สำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 100/2 ศาลจะลงโทษผู้กระทำความผิดน้อยกว่าอัตราโทษขั้นต่ำได้ ก็เป็นเพียงการแจ้งให้จำเลยที่ 1 ทราบถึงโทษที่จะได้รับน้อยลงกว่าอัตราโทษตามกฎหมายหากจำเลยที่ 1 ให้ข้อมูลที่สำคัญต่อเจ้าพนักงาน มิใช่เรื่องการจูงใจให้จำเลยที่ 1 ให้การใส่ร้ายปรักปรำผู้อื่น ดังนั้น คำซัดทอดของจำเลยที่ 1 ที่ให้ไว้ต่อเจ้าพนักงานตำรวจผู้จับกุมตามบันทึกถ้อยคำกับบันทึกการจับกุม จึงรับฟังประกอบประจักษ์พยานโจทก์ทั้งสามปากได้ ที่จำเลยที่ 2 นำสืบต่อสู้ว่า วันเกิดเหตุจำเลยที่ 1 ขอยืมเงินจำเลยที่ 2 จำนวน 12,000 บาท จำเลยที่ 2 ไม่มีเงินจึงพาจำเลยที่ 1 ไปยืมเงินจากนายอาณัติหรือโต้ง แล้วจำเลยที่ 1 เดินทางไปเล่นการพนันในประเทศกัมพูชา ระหว่างที่จำเลยที่ 2 รับประทานอาหารกับเพื่อนที่ร้านอาหารน้องผิง จำเลยที่ 1 โทรศัพท์มาหาอ้างว่าจะเอาเงินมาคืน เมื่อจำเลยที่ 1 มาถึงได้กวักมือเรียกจำเลยที่ 2 จากโต๊ะอาหารให้เดินไปหาจำเลยที่ 1 แล้วจำเลยที่ 1 ยื่นวัตถุก้อนกลมพันด้วยเทปสีดำส่งให้จำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 เข้าใจว่าเป็นเงินที่นำมาคืนจึงรับไว้ แล้วมีเจ้าพนักงานตำรวจเข้ามาจับกุมจำเลยที่ 2 เห็นว่า จำเลยที่ 2 เป็นสมาชิกสภาเทศบาลตำบลจอมพระตั้งแต่ปี 2547 จำเลยที่ 2 ย่อมรู้ว่าความผิดที่ถูกจับกุมเป็นคดีที่มีอัตราโทษสูง หากจำเลยที่ 2 ไม่ได้กระทำความผิดจริงก็น่าจะปฏิเสธความผิดตั้งแต่ชั้นจับกุม ในชั้นสอบสวนจำเลยที่ 2 ก็มิได้ให้การยืนยันในรายละเอียดต่อพนักงานสอบสวนเช่นที่เบิกความต่อศาล ประกอบกับสิ่งของที่จำเลยที่ 1 ยื่นให้แก่จำเลยที่ 2 นั้น มีลักษณะเป็นวัตถุทรงกลมพันด้วยเทปสีดำ จำเลยที่ 2 น่าจะรีบเปิดดูว่าสิ่งของที่อยู่ภายในเป็นเงินจริงตามที่อ้างหรือไม่ ข้อนำสืบของจำเลยที่ 2 จึงมีน้ำหนักน้อย ไม่อาจหักล้างพยานโจทก์ได้ สำหรับฎีกาข้ออื่นของจำเลยที่ 2 นั้น แม้วินิจฉัยไปก็ไม่ทำให้ผลแห่งคดีเปลี่ยนแปลง จึงไม่จำต้องวินิจฉัย พยานหลักฐานของโจทก์มีน้ำหนักมั่นคง รับฟังได้โดยปราศจากความสงสัยว่า จำเลยที่ 2 กระทำความผิดจริง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษามานั้นชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า สำหรับจำเลยที่ 1 ความผิดฐานเป็นคนสัญชาติไทยเดินทางออกไปและเข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่ยื่นรายการตามแบบ และไม่ผ่านการตรวจอนุญาตของพนักงานเจ้าหน้าที่ เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3

Share