คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2026/2537

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ค่าปรับที่โจทก์และจำเลยตกลงกำหนดกันไว้นั้น ถือได้ว่าเป็นเบี้ยปรับเพื่อการที่จะชดใช้หรือบรรเทาความเสียหายอันอาจจะมีหรือเกิดขึ้นไว้ล่วงหน้า ถ้าเบี้ยปรับนั้นสูงเกินส่วน ศาลจะลดลงเป็นจำนวนพอสมควรก็ได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 383 และข้อตกลงให้โจทก์ริบเอาผลงานที่จำเลยได้ทำไปแล้วโดยจำเลยจะเรียกร้องค่าตอบแทนและค่าเสียหายใด ๆ ไม่ได้ ก็เป็นข้อตกลงที่มีลักษณะเป็นการที่จำเลยให้สัญญาว่าจะทำการชำระหนี้อย่างอื่นที่มิใช่จำนวนเงินให้เป็นเบี้ยปรับแก่โจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 382 ถ้าเบี้ยปรับนี้สูงเกินส่วน ศาลมีอำนาจลดลงให้เหลือเป็นจำนวนพอสมควรตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 383 เช่นกันแม้สิทธิริบผลงานที่จำเลยทำไปแล้วเป็นสิทธิของโจทก์หลังจากโจทก์ บอกเลิกสัญญาแต่เมื่อถือว่าเป็นเบี้ยปรับเช่นเดียวกับค่าปรับ ศาลจึงนำมาเป็นข้อวินิจฉัยลดค่าปรับได้หากเห็นว่าโจทก์ จะได้รับเบี้ยปรับสูงเกินส่วน ตาม สัญญา จ้าง เหมา มี สาระ สำคัญ ว่า ถ้า จำเลย ทำ ผิด สัญญา ข้อหนึ่ง ข้อใด โจทก์ มี สิทธิ บอกเลิก สัญญา นี้ ได้ และ มี อำนาจจ้าง ผู้อื่น ทำงาน ต่อ จาก จำเลย ได้ ด้วย โดย จำเลย ยอม จ่าย เงินค่าจ้าง และ ค่าใช้จ่าย อื่นใด ตาม จำนวน ที่ โจทก์ ต้อง เสีย ไปโดย สิ้นเชิง และ ถ้า ผู้ว่าจ้าง บอกเลิก สัญญา แล้ว ผู้รับจ้าง ยอม ให้ เรียก ค่าเสียหาย อัน พึง มี ได้ อีก ด้วย ดังนั้น แม้ ยัง ไม่ ปรากฏ ว่า ผู้รับจ้าง ราย ใหม่ หลังจาก โจทก์ บอกเลิก สัญญา ได้ ทำการ ก่อสร้าง งาน ตาม สัญญา ต่อ จาก จำเลย จน งาน แล้ว เสร็จบริบูรณ์หรือไม่ แต่ ตาม ข้อความ ใน สัญญา จ้างเหมา นั้นเอง เห็นเจตนารมณ์ ได้ ว่า ถ้า หาก จำเลย ผิดสัญญา โจทก์ ย่อม มี สิทธิ ที่จะ จ้าง บุคคลอื่น ทำการ ก่อสร้าง งาน แทน จำเลย โดย จำเลย ต้องเสีย ค่าใช้จ่าย และ โจทก์ มีสิทธิ เรียก ค่าเสียหาย จาก การ ที่ ต้องเสีย ค่าจ้าง แพง กว่า เดิม โดย มิพัก ต้อง รอ ให้งาน ก่อสร้าง ที่กระทำ ภายหลัง ต้อง สำเร็จ เสียก่อน เพราะ เป็น ที่ เห็น ได้ชัดว่า เป็น ความเสียหาย อันเกิด จากการ ผิดสัญญา ของ จำเลย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ที่ 2 ร่วมกันชำระเงินจำนวน 2,268,039 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงิน 2,161,540 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์กับให้จำเลยที่ 3 ชำระเงินจำนวน520,730 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงิน 474,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2ได้ทำสัญญารับเหมาก่อสร้างดาดคอนกรีตคลองส่งน้ำ โดยมีจำเลยที่ 3 เป็นผู้ค้ำประกันการผิดสัญญาของจำเลยที่ 1ต่อโจทก์ดังฟ้องจริง จำเลยที่ 1 ได้ก่อสร้างได้งานคิดมูลค่าเป็นเงิน 3,034,540 บาท ได้ส่งมอบงานแก่โจทก์แล้วรวม 2 งวดและโจทก์ได้จ่ายค่าจ้างแล้ว เป็นเงิน 1,301,976 บาท คงค้างรับเป็นเงิน 1,732,564 บาท แต่เมื่อคิดหักจากผลงานที่เสียหายเนื่องจากน้ำท่วมเป็นเงิน 188,000 บาท แล้วคงเหลืองานที่โจทก์ยังไม่ได้ตรวจรับเป็นเงิน 1,544,564 บาท เท่าจำนวนที่โจทก์ระบุในคำฟ้อง จำเลยที่ 1 มิได้ปฏิบัติตามสัญญาตั้งแต่วันที่ 15 กรกฎาคม 2523 จนสิ้นสุดสัญญา เนื่องจากได้เกิดอุทกภัยน้ำท่วมในบริเวณที่ก่อสร้าง ทำให้จำเลยที่ 1 ไม่อาจปฏิบัติงานตามสัญญาได้อันเป็นเหตุสุดวิสัย เป็นพฤติการณ์ที่เกิดขึ้นภายหลังที่ได้ก่อหนี้ ซึ่งจำเลยที่ 1 ไม่ต้องรับผิดชอบและฟ้องโจทก์ขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 3 ให้การว่า จำเลยที่ 3 ได้ทำสัญญาค้ำประกันจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ดังฟ้องจริง การที่จำเลยที่ 1 ทำการก่อสร้างไม่เสร็จภายในกำหนดตามสัญญาเพราะโจทก์เป็นผู้สั่งระงับการก่อสร้างเนื่องจากเหตุอื่นอันไม่ได้กำหนดไว้ในสัญญาจำเลยที่ 1 ได้บอกเลิกสัญญาแก่โจทก์แล้ว สัญญาค้ำประกันจึงเป็นอันเลิกกัน โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 3 และโจทก์ได้ใช้สิทธิหักกลบลบหนี้ในเงินค่าก่อสร้างที่โจทก์ค้างชำระจำเลยที่ 1 กับเงินค้ำประกันจำนวน 474,000 บาทแล้ว ไม่มีหนี้ที่จำเลยที่ 1 จะต้องชำระอีก โจทก์ไม่ได้จ้างนางจริยา จันทวาราทำงานส่วนที่เหลือจากที่จำเลยที่ 1 ทำไปแล้วเป็นเงิน 2,990,000บาท หรือจ้างเหมาผู้ใดทำการก่อสร้างต่อแต่อย่างใด โจทก์จึงไม่เสียหาย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 2 ที่ 3 ร่วมกันชำระเงินจำนวน 474,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 19 กันยายน 2524 เป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งสองจะชำระเสร็จแก่โจทก์
โจทก์และจำเลยที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ที่ 2ร่วมกันชำระค่าปรับให้โจทก์เป็นเงิน 532,500 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ 19 กันยายน 2524เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จในจำนวนเงินดังกล่าว ให้จำเลยที่ 3ร่วมรับผิดชำระเป็นเงิน 474,000 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2525 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ดอกเบี้ยดังกล่าวคิดถึงวันฟ้องต้องไม่เกิน 46,730 บาท ตามที่โจทก์ขอ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัย
โจทก์ฎีกาข้อแรกว่า ศาลอุทธรณ์ต้องวินิจฉัยให้จำเลยที่ 1ที่ 2 ร่วมรับผิดในค่าปรับซึ่งเป็นสิทธิของโจทก์ก่อนบอกเลิกสัญญาเต็มจำนวนตามเงื่อนไขในสัญญาจ้างเหมาเอกสารหมาย จ.2ข้อ 19(1) จะนำสิทธิริบผลงานที่จำเลยที่ 1 ได้ทำไปแล้วตามสัญญาข้อ 21 อันเป็นสิทธิของโจทก์หลังจากโจทก์บอกเลิกสัญญามาเป็นข้อวินิจฉัยลดค่าปรับไม่ได้นั้น เห็นว่าค่าปรับที่โจทก์และจำเลยที่ 1 ตกลงกำหนดกันไว้นั้น ถือได้ว่าเป็นเบี้ยปรับเพื่อการที่จะชดใช้หรือบรรเทาความเสียหายอันอาจจะมีหรือเกิดขึ้นไว้ล่วงหน้าถ้าเบี้ยปรับนั้นสูงเกินส่วน ศาลจะลดลงเป็นจำนวนพอสมควรก็ได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 383 และข้อตกลงให้โจทก์ริบเอาผลงานที่จำเลยที่ 1ได้ทำไปแล้ว โดยจำเลยที่ 1 จะเรียกร้องค่าตอบแทนและค่าเสียหายใด ๆ ไม่ได้ ก็เป็นข้อตกลงที่มีลักษณะเป็นการที่จำเลยที่ 1 ให้สัญญาว่าจะทำการชำระหนี้อย่างอื่นที่มิใช่จำนวนเงินให้เป็นเบี้ยปรับแก่โจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 382 ถ้าเบี้ยปรับนั้นสูงเกินส่วน ศาลมีอำนาจลดลงให้เหลือเป็นจำนวนพอสมควรตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 383 เช่นกัน แม้สิทธิริบผลงานที่จำเลยที่ 1 ทำไปแล้วเป็นสิทธิของโจทก์ หลังจากโจทก์บอกเลิกสัญญา แต่เมื่อถือว่าเป็นเบี้ยปรับเช่นเดียวกับค่าปรับ ศาลจึงนำมาเป็นข้อวินิจฉัยลดค่าปรับได้ หากเห็นว่าโจทก์จะได้รับเบี้ยปรับสูงเกินส่วนซึ่งข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาถึงที่สุดในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 15438/2525 ที่คู่ความรับกันนั้น จำเลยที่ 1 มีผลงานที่ยังไม่ส่งมอบอีกเป็นมูลค่า 1,544,564 บาท ซึ่งตกเป็นกรรมสิทธิ์แก่โจทก์โดยไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้ชำระค่าจ้างในส่วนนี้ และศาลฎีกาได้ลดเบี้ยปรับในคดีดังกล่าวให้จำเลยที่ 1จำนวน 500,000 บาท โจทก์ได้รับผลงานมูลค่า 1,044,564 บาทจากจำเลยที่ 1 มาแล้วโดยไม่ต้องจ่ายค่าจ้าง ดังนั้น การที่ศาลอุทธรณ์ใช้ดุลพินิจลดค่าปรับรายวันตามสัญญาข้อ 19(1)ลงเหลือวันละ 2,500 บาท ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 383 โดยเมื่อคำนวณจากวันที่ล่วงเลยวันครบกำหนดตามสัญญาจนถึงวันบอกเลิกสัญญาเป็นเวลา 213 วัน เป็นเงินค่าปรับจำนวน 532,500 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนั้น ศาลฎีกาเห็นว่าชอบด้วยเหตุผลและประโยชน์ได้เสียของโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้แล้ว ไม่มีเหตุจะต้องแก้ไข
โจทก์ฎีกาต่อไปว่า โจทก์มีสิทธิเรียกร้องค่าจ้างที่แพงเพิ่มขึ้นจากการจ้างบุคคลอื่นทำการก่อสร้างงานแทนจำเลยที่ 1 แม้บุคคลอื่นจะทำการก่อสร้างงานแล้วเสร็จหรือไม่ก็ตาม เห็นว่า ตามสัญญาข้อ 5 ข้อ 6 มีสาระสำคัญว่าถ้าจำเลยที่ 1 ทำผิดสัญญาข้อหนึ่งข้อใด โจทก์มีสิทธิบอกเลิกสัญญานี้ได้ และมีอำนาจจ้างผู้อื่นทำงานต่อจากจำเลยที่ 1 ได้ด้วยโดยจำเลยที่ 1 ยอมจ่ายเงินค่าจ้าง ฯลฯ และค่าใช้จ่ายอื่นใดตามจำนวนที่โจทก์ต้องเสียไปโดยสิ้นเชิง นอกจากนี้ตามสัญญาข้อ 20(4) กำหนดไว้ว่า ถ้าผู้ว่าจ้างบอกเลิกสัญญาแล้วผู้รับจ้างยอมให้เรียกค่าเสียหายอันพึงมีได้อีกด้วย เห็นว่าแม้ข้อเท็จจริงยังไม่ปรากฏว่าผู้รับจ้างรายใหม่ หลังจากโจทก์บอกเลิกสัญญาได้ทำการก่อสร้างงานตามสัญญาต่อจากจำเลยที่ 1จนงานแล้วเสร็จบริบูรณ์หรือไม่ แต่ตามข้อความในสัญญาจ้างเหมาเอกสารหมาย จ.2 ข้อ 5 ข้อ 6 และข้อ 20(2)(4) นั้นเองเห็นเจตนารมณ์ได้ว่า ถ้าหากจำเลยที่ 1 ผิดสัญญา โจทก์ย่อมมีสิทธิที่จะจ้างบุคคลอื่นทำการก่อสร้างงานแทนจำเลยที่ 1โดยจำเลยที่ 1 ต้องเสียค่าใช้จ่าย และโจทก์มีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากการที่ต้องเสียค่าจ้างแพงกว่าเดิมโดยมิพักต้องรอให้งานก่อสร้างที่กระทำภายหลังต้องสำเร็จเสียก่อน เพราะเป็นที่เห็นได้ชัดว่าเป็นความเสียหายอันเกิดจากการผิดสัญญาของจำเลยที่ 1 เมื่อพิเคราะห์สำเนาหนังสือของโจทก์ที่ กษ 1101/8815 ลงวันที่ 2 สิงหาคม 2526 แสดงว่าภายหลังโจทก์บอกเลิกสัญญากับจำเลยที่ 1 โจทก์ได้ทำสัญญาจ้างนางจริยาก่อสร้างงานส่วนที่เหลือในอัตราค่าจ้าง 2,990,000 บาทซึ่งสูงกว่าราคางานที่จำเลยที่ 1 ก่อสร้างค้างอยู่1,893,460 บาท เป็นจำนวน 1,096,540 บาท แม้ไม่ปรากฏว่านางจริยาได้ลงมือก่อสร้างงานไปแล้วเพียงใด แต่เมื่อคำนึงถึงความเป็นไปของเศรษฐกิจ โจทก์ต้องได้รับความเสียหายอันควรได้รับชดใช้จากจำเลยที่ 1 รวมทั้งจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ ซึ่งตามพฤติการณ์ศาลฎีกาสมควรกำหนดค่าเสียหายให้โจทก์ได้รับชดใช้ในส่วนนี้จำนวน 500,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่19 กันยายน 2524
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ร่วมกันชำระค่าเสียหายเพิ่มเติมจากการผิดสัญญาเป็นเงิน 500,000 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ 19กันยายน 2524 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share