คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 579/2549

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การกระทำความผิดฐานหลอกลวงหรือฉ้อโกงผู้เสียหายทั้งสิบและประชาชน โดยสภาพแห่งการกระทำเป็นการกระทำต่อบุคคลหลายคนซึ่งอาจกระทำต่อบุคคลเหล่านั้นต่างวาระกันได้ แต่ที่จะเป็นความผิดกรรมเดียวหรือหลายกรรมสำหรับความผิดฐานนี้ย่อมขึ้นอยู่กับลักษณะของการกระทำที่มีเจตนามุ่งกระทำเพื่อให้เกิดผลต่อผู้เสียหายหรือประชาชนเพียงครั้งเดียวหรือหลายครั้ง มิได้พิจารณาจากจำนวนของผู้เสียหายหรือประชาชนที่ถูกหลอกลวงแต่ละคนเพียงอย่างเดียว เมื่อข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสองหลอกลวงกู้ยืมเงินผู้เสียหายทั้งสิบเป็นคนละวันเวลาและในสถานที่ต่างกัน จะถือว่าจำเลยทั้งสองกระทำความผิด 10 กระทง หาได้ไม่ แต่การที่จำเลยทั้งสองหลอกลวงกู้ยืมเงินผู้เสียหายที่ 1 ที่ 4 ที่ 6 และที่ 7 กลุ่มหนึ่ง จากนั้นได้แบ่งแยกหน้าที่กันทำในลักษณะเดียวกันโดยจำเลยที่ 1 หลอกลวงกู้ยืมเงินผู้เสียหายที่ 2 ที่ 5 และนาง ม. กลุ่มหนึ่ง และจำเลยที่ 2 หลอกลวงกู้ยืมเงินผู้เสียหายที่ 3 ที่ 8 ที่ 9 ที่ 10 นาย ล. นางสาว ช. และนาย ช. อีกกลุ่มหนึ่ง เห็นได้ชัดว่าจำเลยทั้งสองได้กระทำการหลอกลวงผู้เสียหายและประชาชนต่างกลุ่มต่างเวลาและสถานที่กันโดยเจตนาให้เกิดผลต่อผู้เสียหายและประชาชนแต่ละกลุ่มแยกต่างหากจากกัน การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงเป็นความผิดหลายกรรม รวม 3 กระทง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตาม ป.อ. มาตรา 341, 343, 83, 91 พ.ร.ก. การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527 มาตรา 4, 5, 9, 12 ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนต้นเงินกู้ที่จำเลยทั้งสองฉ้อโกงไป 18,825,000 บาท แก่ผู้เสียหายทั้งสิบพร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมาย นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ และขอให้เรียงกระทงลงโทษจำเลยทั้งสองเป็นรายกระทงตามความผิดด้วย
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 341 ประกอบมาตรา 83 พ.ร.ก. การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527 มาตรา 4, 12 การกระทำของจำเลยทั้งสองต่อผู้เสียหายแต่ละคนถือว่าเป็นการกระทำกรรมเดียว แต่เป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทต้องลงโทษตาม พ.ร.ก. การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527 มาตรา 4, 12 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตาม ป.อ. มาตรา 90 และจำเลยทั้งสองกระทำต่อผู้เสียหายหลายคน จึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้เรียงกระทงลงโทษตาม ป.อ. มาตรา 91 ให้ลงโทษจำคุกจำเลยทั้งสองกระทงละ 5 ปี รวม 10 กระทง แต่เมื่อรวมความผิดทุกกระทงเข้าด้วยกันแล้ว คงให้ลงโทษจำคุกจำเลยทั้งสองมีกำหนดคนละ 20 ปี ตาม ป.อ. มาตรา 91 (2) จำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพชั้นจับกุมเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตาม ป.อ. มาตรา 78 หนึ่งในสี่ คงจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 15 ปี ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนเงินแก่ผู้เสียหายที่ 1 จำนวน 1,500,000 บาท ผู้เสียหายที่ 2 จำนวน 1,700,000 บาท ผู้เสียหายที่ 3 จำนวน 3,995,000 บาท ผู้เสียหายที่ 4 จำนวน 1,180,000 บาท ผู้เสียหายที่ 5 จำนวน 450,000 บาท ผู้เสียหายที่ 6 จำนวน 2,000,000 บาท ผู้เสียหายที่ 7 จำนวน 1,500,000 บาท ผู้เสียหายที่ 8 จำนวน 2,500,000 บาท ผู้เสียหายที่ 9 จำนวน 1,000,000 บาท และผู้เสียหายที่ 10 จำนวน 800,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้อง (วันที่ 9 กันยายน 2540) จนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาแก้เป็นว่า ไม่เรียงกระทงลงโทษจำเลยทั้งสอง แต่ให้ลงโทษจำคุกจำเลยทั้งสองเพียงกระทงเดียวมีกำหนดคนละ 5 ปี จำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตาม ป.อ. มาตรา 78 หนึ่งในสี่ คงจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 3 ปี 9 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันหลอกลวงกู้ยืมเงินผู้เสียหายที่ 1 ที่ 4 ที่ 6 และที่ 7 โดยอ้างว่าจะนำเงินที่กู้ยืมไปปล่อยให้ลูกค้าธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรกู้อีกต่อหนึ่งและจะได้ผลประโยชน์ตอบแทนเป็นดอกเบี้ยอัตราสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยให้กู้ยืมของสถาบันการเงิน นอกจากนี้จำเลยทั้งสองยังได้แบ่งหน้าที่กันไปหลอกลวงกู้ยืมเงินในลักษณะเดียวกันนี้ โดยจำเลยที่ 1 หลอกลวงกู้ยืมเงินผู้เสียหายที่ 2 ที่ 5 และนางมยุรี หงวนบุญมาก ส่วนจำเลยที่ 2 ไปหลอกลวงกู้ยืมเงินผู้เสียหายที่ 3 ที่ 8 ที่ 9 ที่ 10 นายหลี ขาวชม นางสาวชมพู ขาวชน และนายชุมพล ดีพลขันธ์ โดยผู้เสียหายแต่ละคนนำเงินมามอบให้แก่จำเลยทั้งสองคนละวันกัน ที่โจทก์ฎีกาว่าจำเลยทั้งสองหลอกลวงผู้เสียหายทีละคน การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงเป็นความผิดหลายกรรมนั้น เห็นว่า การกระทำความผิดฐานหลอกลวงหรือฉ้อโกงผู้เสียหายทั้งสิบและประชาชน โดยสภาพแห่งการกระทำเป็นการกระทำต่อบุคคลหลายคนซึ่งอาจกระทำต่อบุคคลเหล่านั้นต่างวาระกันได้ การกระทำที่จะเป็นความผิดกรรมเดียวหรือหลายกรรมสำหรับความผิดฐานนี้ ย่อมขึ้นอยู่กับลักษณะของการกระทำที่มีเจตนามุ่งกระทำเพื่อให้เกิดผลต่อผู้เสียหายหรือประชาชนเพียงครั้งเดียวหรือหลายครั้ง มิได้พิจารณาจากจำนวนของผู้เสียหายหรือประชาชนที่ถูกหลอกลวงแต่ละคนเพียงอย่างเดียวเป็นเครื่องชี้เจตนาของผู้กระทำ เมื่อข้อเท็จจริงที่รับฟังเป็นยุติไม่ได้ความชัดเจนว่าจำเลยทั้งสองหลอกลวงผู้เสียหายคนละวันเวลาและในสถานที่แตกต่างกันเพียงพอที่แสดงให้เห็นเจตนาที่ประสงค์จะให้เกิดผลแยกออกจากกัน การที่จำเลยทั้งสองหลอกลวงผู้เสียหายทั้งสิบและประชาชน จึงไม่อาจชี้ได้ว่าเป็นการกระทำความผิด 10 กระทง ดังที่โจทก์ฎีกา อย่างไรก็ตาม ความปรากฏว่าจำเลยทั้งสองได้หลอกลวงกู้ยืมเงินผู้เสียหายที่ 1 ที่ 4 ที่ 6 และที่ 7 กลุ่มหนึ่ง จากนั้นได้แบ่งแยกหน้าที่กันทำในลักษณะเดียวกัน โดยจำเลยที่ 1 หลอกลวงกู้ยืมเงินผู้เสียหายที่ 2 ที่ 5 และนางมยุรี กลุ่มหนึ่ง และจำเลยที่ 2 หลอกลวงกู้ยืมเงินผู้เสียหายที่ 3 ที่ 8 ที่ 9 ที่ 10 นายหลี นางสาวชมพู และนายชุมพล อีกกลุ่มหนึ่ง เช่นนี้ เห็นได้ชัดว่าจำเลยทั้งสองได้กระทำการหลอกลวงผู้เสียหายและประชาชนต่างกลุ่มต่างเวลาและสถานที่กันโดยเจตนาให้เกิดผลต่อผู้เสียหายและประชาชนแต่ละกลุ่มแยกต่างหากจากกัน อันนับว่าเป็นการกระทำต่างกรรมต่างวาระกัน การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงเป็นความผิดรวม 3 กระทง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน
พิพากษาแก้เป็นว่า การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นความผิดหลายกรรมรวม 3 กระทง ให้เรียงกระทงลงโทษตาม ป.อ. มาตรา 91 จำคุกกระทงละ 5 ปี รวมจำคุกจำเลยทั้งสองคนละ 15 ปี จำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตาม ป.อ. มาตรา 78 หนึ่งในสี่ คงจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 11 ปี 3 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7.

Share