คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4479/2549

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 นำตัวจำเลยทั้งสามมาที่ศาลชั้นต้นเพื่อส่งตัวตามฟ้องของพนักงานอัยการโจทก์แล้ว น. ภริยาของจำเลยที่ 3 ได้มอบเงิน 300 บาท ให้แก่ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 เพื่อไปดำเนินการให้จำเลยทั้งสามไม่ต้องถูกนำตัวเข้าห้องควบคุม และผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 บอกให้จำเลยทั้งสามรออยู่บริเวณหน้าห้องควบคุมโดยมิได้ส่งตัวจำเลยทั้งสามให้แก่เจ้าพนักงานตำรวจประจำศาล การกระทำของผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 ดังกล่าว จึงเป็นการประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาล อันเป็นความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล
ความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลอยู่ในอำนาจของผู้พิพากษาศาลชั้นต้นที่จะพิจารณาพิพากษาคดีได้ตาม พระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 25 และ 26 และไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายห้ามมิให้ผู้พิพากษาที่สั่งให้เจ้าหน้าที่รายงานการกระทำความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลทำการไต่สวนพยานและพิพากษาคดีดังกล่าวด้วยตนเอง ทั้งไม่เข้ากรณีที่จะเป็นเหตุให้ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 คัดค้านผู้พิพากษาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 11 อีกด้วย

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2546 โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสามขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติการพนัน พ.ศ.2478 มาตรา 4, 5, 6, 10, 12, 14, 15 ขณะศาลชั้นต้นเรียกจำเลยทั้งสมเข้าสอบคำให้การ ปรากฏว่าจำเลยทั้งสามมิได้ถูกควบคุมตัวอยู่ในห้องควบคุมของศาล เมื่อสอบถามจำเลยทั้งสามได้ความว่าในวันเดียวกันเวลาประมาณ 12 นาฬิกา เจ้าพนักงานตำรวจประจำสถานีตำรวจภูธรอำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี ควบคุมตัวจำเลยทั้งสามมาที่ศาลชั้นต้นตามคำสั่งของพนักงานสอบสวน จำเลยทั้งสามมอบเงินคนละ 100 บาท ให้แก่เจ้าพนักงานตำรวจผู้นำตัวไปส่งแล้วเจ้าพนักงานตำรวจดังกล่าวบอกให้จำเลยทั้งสามรออยู่หน้าห้องควบคุม จนเวลาประมาณ 14 นาฬิกา จึงมีการเรียกชื่อไปให้ผู้พิพากษาสอบถามคำให้การ
ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้วมีคำสั่งว่า ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 ถึงที่ 3 เรียกรับเงินจากจำเลยทั้งสามเพื่อไม่ต้องนำตัวจำเลยทั้งสามเข้าห้องควบคุม เป็นการประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาลอันเป็นความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 31 (1), มาตรา 33 (ที่ถูกประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15) ลงโทษจำคุกคนละ 2 เดือน และปรับคนละ 500 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ไม่ชำระค่าปรับจัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30
ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 ถึงที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า ผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 และที่ 3 ไม่มีความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำสั่งศาลชั้นต้น
ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2546 เวลาประมาณ 12 นาฬิกา ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 นำตัวจำเลยทั้งสามไปที่ศาลชั้นต้นเพื่อส่งตัวตามฟ้องของโจทก์ในข้อหาร่วมกันเล่นการพนัน เมื่อไปถึงจำเลยทั้งสามได้นั่งรอเรียกตัวเพื่อพิจารณาคดีอยู่บริเวณหน้าห้องควบคุมของศาลโดยมิได้ถูกนำตัวเข้าไปในห้องควบคุม คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 ประการแรกว่า ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 กระทำความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลหรือไม่ นางจิรพรรณ คำดี ภริยาของจำเลยที่ 3 เบิกความยืนยันว่า เมื่อผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 ขับรถเข้าไปจอดในบริเวณศาลชั้นต้นแล้ว นางจิรพรรณซึ่งนั่งรถมาด้วยได้สอบถามผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 ว่าทำอย่างไรจำเลยทั้งสามจึงไม่ต้องเข้าห้องควบคุม ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 บอกว่าเหมือนเดิม ซึ่งนางจิรพรรณเข้าใจว่าต้องเสียเงินคนละ 100 บาท เนื่องจากจำเลยที่ 3 เคยถูกดำเนินคดีข้อหาสูดดมสารระเหย และเสียเงิน 100 บาท ให้เจ้าพนักงานตำรวจ เพื่อไม่ต้องเข้าห้องควบคุม นางจิรพรรณจึงมอบเงิน 300 บาท ให้ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 บอกให้จำเลยทั้งสามกับนางจิรพรรณรออยู่บริเวณริมรั้วหน้าห้องควบคุมและจำเลยทั้งสามเบิกความยืนยันทำนองเดียวกันว่านางจิรพรรณเก็บเงินจากจำเลยทั้งสามคนละ 100 บาท นำไปมอบให้แก่ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 เพื่อไม่ต้องถูกควบคุมตัวในห้องควบคุม และจำเลยทั้งสามได้รออยู่บริเวณริมรั้วหน้าห้องควบคุม จนกระทั่งมีเจ้าพนักงานตำรวจประจำศาลมาเรียกและนำตัวขึ้นไปที่หน้าห้องผู้พิพากษา ทั้งผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 ก็เบิกความเจือสมกับพยานเหล่านี้โดยยอมรับว่าได้รับเงินจากพวกของจำเลยทั้งสาม 300 บาท เพื่อไปดำเนินการไม่ให้จำเลยทั้งสามต้องเข้าห้องควบคุมจริง เพียงแต่อ้างว่าไม่ได้นำเงินจำนวนดังกล่าวไปมอบให้แก่ผู้ใดเท่านั้น ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่า เมื่อผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 นำตัวจำเลยทั้งสามมาที่ศาลชั้นต้นเพื่อส่งตัวตามฟ้องของโจทก์แล้ว นางจิรพรรณภริยาของจำเลยที่ 3 ได้มอบเงิน 300 บาท ให้แก่ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 เพื่อไปดำเนินการให้จำเลยทั้งสามไม่ต้องถูกนำตัวเข้าห้องควบคุม และผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 บอกให้จำเลยทั้งสามรออยู่บริเวณหน้าห้องควบคุมโดยมิได้ส่งตัวจำเลยทั้งสามให้แก่เจ้าพนักงานตำรวจประจำศาล การกระทำของผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 ดังกล่าว จึงเป็นการประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาล อันเป็นความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล ที่ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 ฎีกาอ้างว่าไม่ได้กระทำความผิดและเหตุไม่ได้เกิดในบริเวณศาลชั้นต้นนั้น ไม่มีน้ำหนักให้รับฟังได้ ส่วนที่ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 ฎีกาข้อต่อไปว่าผู้พิพากษาที่ให้นางพรทิพย์ แสงใส เจ้าหน้าที่ของศาลชั้นต้นรายงานความผิดของผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 ได้เป็นเจ้าของสำนวนทำการไต่สวนพยานและพิพากษาคดีด้วยตนเอง เป็นการไม่ชอบนั้น เห็นว่า กรณีนี้อยู่ในอำนาจของผู้พิพากษาศาลชั้นต้นที่จะพิจารณาพิพากษาคดีได้ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 25 และ 26 และไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายห้ามมิให้ผู้พิพากษาที่สั่งให้เจ้าหน้าที่รายงานการกระทำความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล ทำการไต่สวนพยานและพิพากษาคดีดังกล่าวด้วยตนเองแต่อย่างใด ทั้งไม่เข้ากรณีที่จะเป็นเหตุให้ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 คัดค้านผู้พิพากษาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 11 อีกด้วย ฎีกาของผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 ทุกข้อฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง คดีนี้ผู้ถูกกล่าวหาที่ 4 และที่ 5 ถูกกล่าวหาว่าร่วมกระทำความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลด้วย และศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าผู้ถูกกล่าวหาที่ 4 และที่ 5 ไม่มีส่วนร่วมในการกระทำความผิด แต่มิได้มีคำสั่งเกี่ยวกับผู้ถูกกล่าวหาที่ 4 และที่ 5 ไว้ในคำพิพากษาและศาลอุทธรณ์ภาค 1 มิได้แก้ไขในเรื่องนี้ ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง”
พิพากษาแก้เป็นว่า ผู้ถูกกล่าวหาที่ 4 และที่ 5 ไม่มีความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1.

Share