แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ลูกจ้างมีเจตนาฝ่าฝืนระเบียบของนายจ้างหรือไม่ เป็นปัญหาข้อเท็จจริง
ข้อความในใบปลิวเป็นแต่แถลงผลการเจรจา และขอให้ต่อสู้ต่อไปไม่เป็นการผิดระเบียบที่จะเลิกจ้าง
ย่อยาว
ผู้ร้องยื่นคำร้องต่อศาลแรงงานกลางขอให้ศาลอนุญาตให้บริษัทผู้ร้องปลด ม. ออกจากงานโดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย ม. แถลงคัดค้านว่าผู้ร้องไม่มีสิทธิร้องให้เลิกจ้าง ศาลแรงงานกลางสั่งยกคำร้อง ผู้ร้องอุทธรณ์คำสั่งต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ผู้ร้องอุทธรณ์ว่า ผู้คัดค้านได้กระทำการแจกใบปลิวภายในโรงงาน มีเจตนาฝ่าฝืนระเบียบของบริษัทผู้ร้อง เป็นการกระทำผิดระเบียบของบริษัทผู้ร้อง บริษัทผู้ร้องมีสิทธิเลิกจ้าง ศาลฎีกาเห็นว่า อุทธรณ์ของผู้ร้องอ้างว่าผู้คัดค้านกระทำผิดระเบียบของบริษัทผู้ร้องนั้นสืบเนื่องมาจากผู้คัดค้านได้แจกใบปลิวภายในโรงงาน มีเจตนาฝ่าฝืนระเบียบของบริษัทผู้ร้อง เป็นการโต้เถียงข้อเท็จจริงที่ศาลแรงงานกลางฟังมาว่าผู้คัดค้านได้แจกใบปลิวในบริเวณโรงงานและไม่มีเจตนาฝ่าฝืนระเบียบของบริษัทผู้ร้องอุทธรณ์ของผู้ร้องเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ต้องห้ามตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 54 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
อุทธรณ์ของผู้ร้องอีกข้อหนึ่งว่า ข้อความในใบปลิวตอนท้ายเป็นการปลุกปั่นยั่วยุให้เพื่อนร่วมงานกระทำมิดีมิร้ายต่อทรัพย์สินของบริษัท เป็นความผิดตามระเบียบของบริษัทผู้ร้องข้อ 16.33 ศาลฎีกาเห็นว่า ข้อความตอนท้ายที่ผู้ร้องอุทธรณ์คงหมายถึงข้อความที่มีว่า “ความเจ็บ ความผิดหวังคือพลังที่ร่วมกันต่อสู้ไปเพื่อชัยชนะ” เมื่อพิจารณาข้อความดังกล่าว ซึ่งมีอยู่ท้ายคำแถลงการณ์ฉบับที่ 1 สหภาพแรงงานเหล็กไทย – อินเดีย ประกอบกับข้อความในแถลงการณ์หรือใบปลิวดังกล่าวทั้งหมดแล้ว ยังไม่มีข้อความตอนใดที่แสดงให้เป็นได้ว่าเป็นการปลุกปั่นยั่วยุเพื่อนร่วมงานให้กระทำผิดมิดีมิร้ายต่อทรัพย์สินของบริษัทผู้ร้องตามอุทธรณ์ของผู้ร้อง แม้ข้อความบางตอนจะแข็งกร้าวไปบ้าง แต่แถลงการณ์ดังกล่าวก็เป็นการแถลงของ สหภาพแรงงานเหล็กไทย – อินเดีย ให้คนงานทราบถึงผลของการเจรจาเรื่องโบนัสกับบริษัทผู้ร้องและขอให้รวมกันต่อสู้ไปตามสิทธิอันชอบธรรมที่คนงานควรจะได้ รวมทั้งขอความคิดเห็นต่าง ๆ คำแถลงการณ์ดังกล่าวยังไม่ผิดระเบียบของบริษัทของบริษัทผู้ร้องข้อ 16.33 ซึ่งมีว่า “สร้างหลักฐานปลอมใส่ร้ายป้ายสีหรือทำให้เกิดการเข้าใจผิดต่อเพื่อนร่วมงานต่อบริษัท หรือต่อผลผลิตของบริษัท”
พิพากษายืน