แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ทั้งสองฟ้องว่า โจทก์ทั้งสองเป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ร่วมกับบิดาจำเลยทั้งสี่ในที่ดินมีโฉนด โจทก์ทั้งสองกับบิดาจำเลยทั้งสี่ได้แยกกันครอบครองที่ดินตามส่วนของตนเป็นส่วนสัด เมื่อบิดาจำเลยทั้งสี่ตาย จำเลยทั้งสี่ได้รับมรดกที่ดินส่วนของบิดา โจทก์ทั้งสองต้องการจะขอแบ่งแยกที่ดินตามส่วน แต่จำเลยทั้งสี่ไม่ยินยอม จำเลยทั้งสี่ให้การยอมรับว่าโจทก์ทั้งสองถือกรรมสิทธิ์ร่วมกับบิดาในที่ดินมีโฉนดของบิดาจำเลยจริง แต่เป็นเรื่องบิดาจำเลยทั้งสี่กู้ยืมเงินโจทก์ทั้งสองไปจำนวน 40,000 บาทแล้วมอบที่ดินให้ทำกินต่างดอกเบี้ย ไม่ได้ยอมให้ครอบครองเป็นส่วนสัด กับฟ้องแย้งว่าโจทก์ทั้งสองกับบิดาจำเลยทั้งสี่มีข้อตกลงให้บิดาจำเลยทั้งสี่ซื้อที่ดินคืนเป็นเงิน50,000 บาท จำเลยทั้งสี่จะขอซื้อที่ดินคืนโจทก์ทั้งสองไม่ยินยอม โจทก์ทั้งสองให้การปฏิเสธฟ้องแย้งว่าโจทก์ทั้งสองไม่มีข้อตกลงกับบิดาจำเลยทั้งสี่ดังที่จำเลยทั้งสี่อ้าง ดังนี้ ตามฟ้องโจทก์และคำให้การต่อสู้คดีของจำเลยทั้งสี่เป็นคดีไม่มีทุนทรัพย์ เนื่องจากโจทก์ฟ้องขอให้จำเลยทั้งสี่แบ่งแยกที่ดินที่โจทก์ทั้งสองมีกรรมสิทธิ์ร่วม จำเลยทั้งสี่มิได้ให้การว่าที่ดินที่โจทก์ทั้งสองไม่มีกรรมสิทธิ์ร่วมอยู่ด้วย แต่เป็นของจำเลยทั้งสี่แต่อย่างใด เมื่อจำเลยทั้งสี่แพ้คดีในศาลชั้นต้น จำเลยทั้งสี่อุทธรณ์ขอให้ยกฟ้อง จึงเป็นอุทธรณ์ในคดีไม่มีทุนทรัพย์ ส่วนที่จำเลยทั้งสี่อุทธรณ์ขอให้บังคับคดีตามฟ้องแย้งโดยอ้างว่ามีข้อตกลงระหว่างโจทก์ทั้งสองกับบิดาจำเลยทั้งสี่ ให้บิดาจำเลยทั้งสี่มีสิทธิซื้อที่ดินพิพาทคืนในราคา 50,000 บาท ซึ่งโจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งปฏิเสธว่าไม่มีข้อตกลงดังกล่าว คดีตามฟ้องแย้งของจำเลยทั้งสี่กับคำให้การแก้ฟ้องแย้งของโจทก์จึงมีประเด็นข้อพิพาทว่ามีข้อตกลงให้บิดาจำเลยทั้งสี่ซื้อที่ดินพิพาทคืนจากโจทก์ทั้งสองในราคา 50,000 บาท หรือไม่ ถือเป็นคดีมีทุนทรัพย์และต้องถือเอาทุนทรัพย์ตามราคาที่ดินพิพาทไม่ใช่ถือเอาทุนทรัพย์ตามราคาในข้อตกลงที่ให้บิดาจำเลยทั้งสี่ซื้อที่ดินพิพาทคืน เมื่อได้ประเมินราคาที่ดินพิพาทเป็นเงิน1,000,000 บาท คดีตามฟ้องแย้งของจำเลยทั้งสี่ จึงเป็นคดีมีทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกาจำนวน 1,000,000 บาท แม้คำฟ้องของโจทก์จะบรรยายว่าที่ดินส่วนที่โจทก์ทั้งสองครอบครองไม่ตรงกับส่วนที่โจทก์ทั้งสองครอบครองตามแผนที่สังเขปท้ายฟ้อง แต่คำบรรยายฟ้องของโจทก์ก็ได้แสดงโดยชัดแจ้งพอเข้าใจแล้วว่าโจทก์ทั้งสองกับบิดาจำเลยทั้งสี่ถือกรรมสิทธิ์ร่วมกันในที่ดินมีโฉนดของบิดาจำเลยทั้งสี่โดยเป็นส่วนของโจทก์ทั้งสองคนละ 4,000 ส่วน ในจำนวนทั้งหมด 14,300 ส่วน และโจทก์อ้างว่าได้ครอบครองที่ดินเป็นส่วนสัดในที่ดินส่วนที่เป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ทั้งสองแล้ว หากเป็นความจริงตามฟ้องโจทก์ทั้งสองก็มีสิทธิฟ้องเรียกให้จำเลยทั้งสี่ซึ่งรับมรดกของบิดาแบ่งที่ดินให้โจทก์ทั้งสองตามสิทธิของโจทก์ทั้งสองได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1363 ส่วนโจทก์ทั้งสองจะได้รับส่วนแบ่งตามส่วนที่ได้ครอบครองหรือแบ่งตามส่วนในกรรมสิทธิ์ก็แล้วแต่ทางพิจารณาจะได้ความ ซึ่งมาตรา 1364ได้กำหนดวิธีการแบ่งทรัพย์สินระหว่างเจ้าของรวมไว้โดยชัดแจ้งแล้ว อีกทั้งตามคำให้การจำเลยทั้งสี่ก็ปรากฏว่าจำเลยทั้งสี่ให้การว่าบิดาจำเลยทั้งสี่ไม่เคยตกลงให้โจทก์ทั้งสองครอบครองที่ดินเป็นส่วนสัดตามแผนที่สังเขปท้ายฟ้อง แสดงว่าจำเลยทั้งสี่เข้าใจข้อหาตามฟ้องของโจทก์ฟ้องโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม โจทก์ทั้งสองนำสืบว่า บิดาจำเลยทั้งสี่ไม่เคยกู้ยืมเงินโจทก์ทั้งสอง โจทก์ทั้งสองได้ซื้อที่ดินมีโฉนดของบิดาจำเลยทั้งสี่คนละประมาณ 10 ไร่ ส่วนของโจทก์ที่ 1อยู่ทางทิศตะวันตก ส่วนของโจทก์ที่ 2 อยู่ทางทิศตะวันออกตามแผนที่สังเขปท้ายฟ้องเอกสารหมาย จ.1 บิดาจำเลยทั้งสี่ไม่มีเงินค่าธรรมเนียมจดทะเบียนแบ่งแยก จึงจดทะเบียนใส่ชื่อโจทก์ทั้งสองถือกรรมสิทธิ์รวมในโฉนดที่ดินตามบันทึกข้อตกลงเรื่องกรรมสิทธิ์รวมเอกสารหมาย ล.2 โดยไม่มีข้อตกลงให้บิดาจำเลยทั้งสี่ซื้อที่ดินคืน ดังนี้ แม้โจทก์จะมิได้บรรยายในคำฟ้องว่า โจทก์ทั้งสองได้ซื้อที่ดินมีโฉนดของบิดาจำเลยทั้งสี่ คงบรรยายฟ้องเพียงว่าโจทก์ทั้งสองกับบิดาจำเลยทั้งสี่เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วมกันในโฉนดที่ดินดังกล่าวก็ตาม แต่การนำสืบของโจทก์ทั้งสองดังกล่าวเป็นการนำสืบถึงที่มาของการได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์รวมของโจทก์ทั้งสองในที่ดินของบิดาจำเลยทั้งสี่ จึงเป็นข้อนำสืบเกี่ยวกับกรรมสิทธิ์รวมตามคำฟ้องของโจทก์หาใช่ข้อนำสืบนอกฟ้องนอกประเด็นไม่ ก. บิดาจำเลยทั้งสี่เจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินได้ทำบันทึกข้อตกลงเรื่องกรรมสิทธิ์รวมมีข้อความว่า ก.ตกลงยินยอมให้โจทก์ทั้งสองถือกรรมสิทธิ์รวมคนละ 4,000 ส่วนใน 14,300 ส่วน โดยโจทก์ทั้งสองตกลงให้ค่าตอบแทนแก่ ก.เป็นเงิน 40,000 บาท ต่อหน้าเจ้าพนักงานที่ดิน โดยเจ้าพนักงานที่ดินได้ลงชื่อแล้วประทับตราตำแหน่งไว้เป็นสำคัญในบันทึกข้อตกลงดังกล่าว และได้จดทะเบียนใส่ชื่อโจทก์ทั้งสองถือกรรมสิทธิ์รวมกับ ก. ตามส่วนที่ตกลงกันไว้ในสารบัญแก้ทะเบียนหลังโฉนดที่ดิน จึงต้องถือว่านิติกรรมการได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์รวมในอสังหาริมทรัพย์ได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนการได้มากับพนักงานเจ้าหน้าที่แล้ว โจทก์ทั้งสองจึงได้กรรมสิทธิ์รวมในที่ดินมีโฉนดของ ก. บิดาจำเลยทั้งสี่โดยบริบูรณ์ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1299 วรรคหนึ่งโจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นเจ้าของรวมจึงมีสิทธิเรียกให้แบ่งทรัพย์สินได้ตาม มาตรา 1363 การเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมตามกฎหมายนั้น ในระหว่างเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมด้วยกันเองอาจอ้างการครอบครองเป็นส่วนสัดตามที่ได้ตกลงต่อกันได้ ซึ่งเป็นเรื่องเกิดจากความยินยอมของเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมทุกฝ่ายพร้อมใจกันให้เป็นเช่นนั้น ขณะที่ ก. เจ้าของรวมคนหนึ่งยังไม่ตายก. กับโจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นเจ้าของรวมด้วยกันได้ตกลงแบ่งที่ดินกันเองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1364โดยให้โจทก์ทั้งสองครอบครองเนื้อที่ประมาณคนละ 10 ไร่และให้ส่วนของโจทก์ทั้งสองอยู่ด้านใต้ทางทิศตะวันตกและทิศตะวันออกตามแผนที่สังเขปท้ายฟ้องโจทก์ทั้งสองจึงมีสิทธิฟ้องจำเลยทั้งสี่ซึ่งเป็นทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกของก. ให้แบ่งที่ดินแก่โจทก์ทั้งสองเนื้อที่ประมาณคนละ10 ไร่ ตามแผนที่สังเขปท้ายฟ้องดังกล่าว จ.1 ตามที่บิดาจำเลยทั้งสี่และโจทก์ทั้งสองผู้เป็นเจ้าของรวมด้วยกันตกลงกันได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ทั้งสองกับบิดาจำเลยทั้งสี่เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วมกันในที่ดินโฉนดเลขที่ 1281 ตำบลอาษาอำเภอบ้านนา จังหวัดนครนายก เนื้อที่ 35 ไร่ 3 งาน โดยเป็นส่วนของโจทก์ทั้งสองคนละ 4,000 ส่วน ใน 14,300 ส่วน หรือคิดเป็นเนื้อที่ประมาณคนละ 10 ไร่ โจทก์ทั้งสองกับบิดาจำเลยทั้งสี่ต่างครอบครองทำกินในที่ดินส่วนของตนเป็นส่วนสัดโดยโจทก์ทั้งสองครอบครองส่วนด้านบน บิดาจำเลยทั้งสี่ครอบครองส่วนด้านล่าง ต่อมาบิดาจำเลยทั้งสี่ถึงแก่ความตายจำเลยทั้งสี่ได้รับมรดกและครอบครองที่ดินส่วนของบิดาโจทก์ทั้งสองประสงค์จะรังวัดแบ่งแยกขอออกโฉนดที่ดินส่วนของโจทก์ทั้งสอง จำเลยทั้งสี่ไม่ยอมให้มีการรังวัดแบ่งแยกเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ ขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่รังวัดแบ่งแยกที่ดินโฉนดดังกล่าวออกเป็นส่วนของโจทก์ทั้งสองตามแผนที่สังเขปท้ายฟ้อง เนื้อที่คนละประมาณ 10 ไร่ หากจำเลยทั้งสี่ไม่ยินยอม ขอให้มีคำสั่งให้เจ้าพนักงานที่ดินดำเนินการรังวัดแบ่งแยกและออกโฉนดที่ดินให้แก่โจทก์ทั้งสองตามส่วนดังกล่าว
จำเลยทั้งสี่ให้การและฟ้องแย้งว่า บิดาจำเลยทั้งสี่เคยทำบันทึกข้อตกลงยินยอมให้โจทก์ทั้งสองถือกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินตามโฉนดที่ดินที่โจทก์ฟ้องจริง แต่ไม่เคยตกลงยินยอมให้โจทก์ทั้งสองครอบครองที่ดินเป็นส่วนสัดตามแผนที่สังเขปท้ายฟ้อง ตามฟ้องบรรยายว่าโจทก์ทั้งสองครอบครองที่ดินส่วนด้านเหนือบิดาจำเลยทั้งสี่ครอบครองที่ดินส่วนด้านใต้แต่แผนที่สังเขปท้ายฟ้องกลับแสดงว่าโจทก์ทั้งสองครอบครองส่วนด้านใต้ บิดาจำเลยทั้งสี่ครอบครองที่ดินส่วนด้านเหนือจึงขัดแย้งกัน ไม่ชัดแจ้งว่าที่ดินส่วนที่โจทก์ทั้งสองครอบครองอยู่ตรงไหนแน่นอนฟ้องโจทก์จึงเคลือบคลุม เหตุที่โจทก์ทั้งสองเข้าครอบครองที่ดินในโฉนดที่ดินดังกล่าวเนื่องจากบิดาจำเลยทั้งสี่กู้ยืมเงินโจทก์ทั้งสองจำนวน 40,000 บาท แล้วให้โจทก์ทั้งสองเข้าทำกินในที่ดินพิพาทต่างดอกเบี้ย โดยมีข้อตกลงให้บิดาจำเลยทั้งสี่ซื้อที่ดินพิพาทคืนได้ในราคา 50,000 บาทต่อมาจำเลยทั้งสี่ขอซื้อที่ดินพิพาทคืน แต่โจทก์ทั้งสองไม่ยินยอม ขอให้ยกฟ้อง และบังคับให้โจทก์ทั้งสองขายที่ดินพิพาทคืนให้จำเลยทั้งสี่ในราคา 50,000 บาท
โจทก์ทั้งสองให้การแก้ฟ้องแย้งว่า บิดาจำเลยทั้งสี่ไม่เคยกู้ยืมเงินโจทก์ทั้งสองแล้วมอบที่ดินพิพาทให้ทำกินต่างดอกเบี้ย โจทก์ทั้งสองไม่เคยตกลงให้บิดาจำเลยทั้งสี่ซื้อที่ดินพิพาทคืนในราคา 50,000 บาท แต่บิดาจำเลยทั้งสี่ตกลงให้โจทก์ทั้งสองเข้าถือกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินพิพาทด้วยการให้ที่มีค่าตอบแทน ขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า ฟ้องโจทก์ไม่เคลือบคลุม ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์ทั้งสองเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์รวมกับบิดาจำเลยทั้งสี่ในโฉนดที่ดินตามฟ้อง โดยโจทก์ทั้งสองครอบครองที่ดินส่วนล่างทางด้านทิศตะวันออกและทิศตะวันตกคนละ 10 ไร่ เป็นส่วนสัด พิพากษาให้จำเลยทั้งสี่จดทะเบียนแบ่งแยกที่ดินโฉนดเลขที่ 1281 ให้แก่โจทก์ทั้งสองตามส่วนที่โจทก์ทั้งสองครอบครองแต่ไม่เกินคนละ 10 ไร่ หากจำเลยทั้งสี่ไม่ไปจดทะเบียนแบ่งแยก ให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสี่คำขออื่นให้ยก ยกฟ้องแย้ง
จำเลยทั้งสี่อุทธรณ์ขอให้ยกฟ้องโจทก์และบังคับคดีตามฟ้องแย้ง
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
จำเลยทั้งสี่ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จำเลยทั้งสี่ฎีกาข้อแรกว่า ฟ้องโจทก์คดีนี้เป็นคดีมีทุนทรัพย์ ในชั้นศาลชั้นต้นโจทก์ยื่นฟ้องโดยเสียค่าขึ้นศาลอย่างคดีไม่มีทุนทรัพย์ จำเลยทั้งสี่แพ้คดีในศาลชั้นต้น จึงอุทธรณ์ขอให้ยกฟ้องและบังคับคดีตามฟ้องแย้งคือขอให้บังคับโจทก์ทั้งสองยอมให้จำเลยทั้งสี่ซื้อที่ดินคืนในราคา 50,000 บาท และจำเลยทั้งสี่ได้เสียค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ในทุนทรัพย์จำนวน 50,000 บาท ศาลอุทธรณ์สั่งให้จำเลยทั้งสี่เสียค่าขึ้นศาลทั้งสองฐานะอย่างคดีมีทุนทรัพย์ตามราคาที่ดินที่โจทก์ทั้งสองครอบครอง จำเลยทั้งสี่ได้ประเมินราคาที่ดินที่โจทก์ทั้งสองครอบครองรวม 20 ไร่ เป็นเงิน1,000,000 บาท และได้เสียค่าขึ้นศาลในชั้นอุทธรณ์และฎีกาทั้งสองฐานะเป็นเงินศาลละ 50,000 บาท จำเลยทั้งสี่เห็นว่าคดีนี้เป็นคดีมีทุนทรัพย์ตามฟ้องแย้งของจำเลยทั้งสี่เพียง50,000 บาท เท่ากับจำนวนเงินที่โจทก์ตกลงยอมให้บิดาจำเลยซื้อที่ดินพิพาทคืน จำเลยทั้งสี่อุทธรณ์และฎีกาขอให้บังคับคดีตามฟ้องแย้งจึงต้องเสียค่าขึ้นศาลตามฟ้องแย้งเพียงศาลละ1,250 บาท ขอให้ศาลฎีกาสั่งให้คืนค่าขึ้นศาลตามฟ้องแย้งที่เสียเกินในชั้นอุทธรณ์และฎีกาด้วย เห็นว่า คดีนี้โจทก์ทั้งสองฟ้องว่า โจทก์ทั้งสองเป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ร่วมกับบิดาจำเลยทั้งสี่ในที่ดินมีโฉนดของบิดาจำเลยทั้งสี่ โดยเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ทั้งสองคนละ 4,000 ส่วน ในจำนวนทั้งหมด14,300 ส่วน โจทก์ทั้งสองกับบิดาจำเลยทั้งสี่ได้แยกกันครอบครองที่ดินตามส่วนของตนเป็นส่วนสัด เมื่อบิดาจำเลยทั้งสี่ตาย จำเลยทั้งสี่ได้รับมรดกที่ดินส่วนของบิดา โจทก์ทั้งสองต้องการจะขอแบ่งแยกที่ดินตามส่วน แต่จำเลยทั้งสี่ไม่ยินยอมจำเลยทั้งสี่ไม่ได้ให้การปฏิเสธกรรมสิทธิ์รวมของโจทก์ทั้งสองแต่กลับให้การยอมรับว่าโจทก์ทั้งสองถือกรรมสิทธิ์ร่วมกับบิดาในที่ดินมีโฉนดของบิดาจำเลยจริง แต่เป็นเรื่องบิดาจำเลยทั้งสี่กู้ยืมเงินโจทก์ทั้งสองไปจำนวน 40,000 บาท แล้วมอบที่ดินให้ทำกินต่างดอกเบี้ยไม่ได้ยอมให้ครอบครองเป็นส่วนสัด กับฟ้องแย้งว่าโจทก์ทั้งสองกับบิดาจำเลยทั้งสี่มีข้อตกลงให้บิดาจำเลยทั้งสี่ซื้อที่ดินคืนเป็นเงิน 50,000 บาท จำเลยทั้งสี่มีความประสงค์จะขอซื้อที่ดินคืน โจทก์ทั้งสองไม่ยินยอมโจทก์ทั้งสองให้การปฏิเสธฟ้องแย้งว่า โจทก์ทั้งสองไม่มีข้อตกลงกับบิดาจำเลยทั้งสี่ดังที่จำเลยทั้งสี่อ้าง โจทก์ทั้งสองได้กรรมสิทธิ์ร่วมกับบิดาจำเลยทั้งสี่ในที่ดินด้วยความยินยอมของบิดาจำเลยทั้งสี่โดยมีค่าตอบแทน ดังนี้ ตามฟ้องโจทก์และคำให้การต่อสู้คดีของจำเลยทั้งสี่เป็นคดีไม่มีทุนทรัพย์เนื่องจากโจทก์ฟ้องขอให้จำเลยทั้งสี่แบ่งแยกที่ดินที่โจทก์ทั้งสองมีกรรมสิทธิ์ร่วมอยู่ด้วยให้โจทก์ทั้งสองตามส่วน และจำเลยทั้งสี่มิได้ให้การว่าที่ดินที่โจทก์ทั้งสองขอแบ่งแยกไม่ใช่ที่ดินที่โจทก์ทั้งสองมีกรรมสิทธิ์ร่วมอยู่ด้วยแต่เป็นของจำเลยทั้งสี่แต่อย่างใด ดังนั้น ที่โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสี่และเสียค่าขึ้นศาลอย่างคดีไม่มีทุนทรัพย์จึงชอบแล้ว เมื่อจำเลยทั้งสี่แพ้คดีในศาลชั้นต้น จำเลยทั้งสี่อุทธรณ์ขอให้ยกฟ้อง จึงเป็นอุทธรณ์ในคดีไม่มีทุนทรัพย์ด้วย จำเลยทั้งสี่ต้องเสียค่าขึ้นศาลในชั้นอุทธรณ์ส่วนนี้เพียง 200 บาท ที่จำเลยทั้งสี่เสียค่าขึ้นศาลในชั้นอุทธรณ์ส่วนนี้เป็นเงิน 25,000 บาท โดยประเมินราคาที่ดินพิพาทเป็นเงิน 1,000,000 บาทและถือเป็นทุนทรัพย์ตามคำสั่งศาลอุทธรณ์ภาค 1 นั้นจึงไม่ถูกต้อง ต้องคืนค่าขึ้นศาลในชั้นอุทธรณ์ส่วนนี้แก่จำเลยทั้งสี่เป็นเงิน 24,800 บาท
ส่วนที่จำเลยทั้งสี่อุทธรณ์ขอให้บังคับคดีตามฟ้องแย้งโดยอ้างว่ามีข้อตกลงระหว่างโจทก์ทั้งสองกับบิดาจำเลยทั้งสี่ให้บิดาจำเลยทั้งสี่มีสิทธิซื้อที่ดินพิพาทคืนในราคา 50,000 บาทซึ่งโจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งปฏิเสธว่าไม่มีข้อตกลงดังกล่าวคดีตามฟ้องแย้งของจำเลยทั้งสี่กับคำให้การแก้ฟ้องของโจทก์จึงมีประเด็นข้อพิพาทว่า มีข้อตกลงให้บิดาจำเลยทั้งสี่ซื้อที่ดินพิพาทคืนจากโจทก์ทั้งสองในราคา 50,000 บาท หรือไม่ถือเป็นคดีมีทุนทรัพย์และต้องถือเอาทุนทรัพย์ตามราคาที่ดินพิพาทไม่ใช่ถือเอาทุนทรัพย์ตามราคาในข้อตกลงที่ให้บิดาจำเลยทั้งสี่ซื้อที่ดินพิพาทคืน เมื่อได้ประเมินราคาที่ดินพิพาทเป็นเงิน1,000,000 บาท คดีตามฟ้องแย้งของจำเลยทั้งสี่จึงเป็นคดีมีทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกาจำนวน 1,000,000 บาท ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 สั่งให้ถือราคาที่ดินพิพาทเป็นทุนทรัพย์ในชั้นอุทธรณ์และให้จำเลยทั้งสี่เสียค่าขึ้นศาลในชั้นอุทธรณ์ตามฟ้องแย้งเป็นเงิน 25,000 บาท ชอบแล้ว จึงไม่มีค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ในส่วนนี้คืนให้แก่จำเลยทั้งสี่ ส่วนคดีตามฟ้องโจทก์และคำให้การต่อสู้คดีของจำเลยทั้งสี่ซึ่งเป็นคดีไม่มีทุนทรัพย์จำเลยฎีกาขอให้ยกฟ้อง จำเลยทั้งสี่ต้องเสียค่าขึ้นศาลในชั้นฎีกาเพียง 200 บาท ที่จำเลยทั้งสี่เสียค่าขึ้นศาลในชั้นฎีกาส่วนนี้เป็นเงิน 25,000 บาท จึงเกินมาต้องคืนแก่จำเลยทั้งสี่เป็นเงิน 24,800 บาท
คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปตามฎีกาจำเลยทั้งสี่ต่อไปว่าคำฟ้องโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่ เห็นว่า แม้คำฟ้องของโจทก์จะบรรยายว่าที่ดินส่วนที่โจทก์ทั้งสองครอบครองไม่ตรงกับส่วนที่โจทก์ทั้งสองครอบครองตามแผนที่สังเขปท้ายฟ้อง แต่คำบรรยายฟ้องของโจทก์ก็ได้แสดงโดยชัดแจ้งพอเข้าใจแล้วว่าโจทก์ทั้งสองกับบิดาจำเลยทั้งสี่ถือกรรมสิทธิ์ร่วมกันในที่ดินมีโฉนดของบิดาจำเลยทั้งสี่โดยเป็นส่วนของโจทก์ทั้งสองคนละ 4,000 ส่วน ในจำนวนทั้งหมด 14,300 ส่วน และโจทก์อ้างว่าได้ครอบครองที่ดินเป็นส่วนสัดในที่ดินส่วนที่เป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ทั้งสองแล้ว หากเป็นความจริงตามฟ้อง โจทก์ทั้งสองก็มีสิทธิฟ้องเรียกให้จำเลยทั้งสี่ซึ่งรับมรดกของบิดาแบ่งที่ดินให้โจทก์ทั้งสองตามสิทธิของโจทก์ทั้งสองได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1363 ส่วนโจทก์ทั้งสองจะได้รับส่วนแบ่งตามส่วนที่ได้ครอบครองหรือแบ่งตามส่วนในกรรมสิทธิ์ก็แล้วแต่ทางพิจารณาจะได้ความ ซึ่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1364 ได้กำหนดวิธีการแบ่งทรัพย์สินระหว่างเจ้าของรวมไว้โดยชัดแจ้งแล้ว อีกทั้งตามคำให้การของจำเลยทั้งสี่ก็ปรากฏว่าจำเลยทั้งสี่ให้การว่าบิดาจำเลยทั้งสี่ไม่เคยตกลงให้โจทก์ทั้งสองครอบครองที่ดินเป็นส่วนสัดตามแผนที่สังเขปท้ายฟ้อง แสดงว่าจำเลยทั้งสี่เข้าใจข้อหาตามฟ้องของโจทก์ ฟ้องโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปมีว่า โจทก์ทั้งสองนำสืบนอกฟ้องนอกประเด็นหรือไม่ ข้อนี้โจทก์ทั้งสองนำสืบว่า บิดาจำเลยทั้งสี่ไม่เคยกู้ยืมเงินโจทก์ทั้งสอง โจทก์ทั้งสองได้ซื้อที่ดินโฉนดของบิดาจำเลยทั้งสี่คนละประมาณ 10 ไร่ ส่วนของโจทก์ที่ 1อยู่ทางทิศตะวันตก ส่วนของโจทก์ที่ 2 อยู่ทางทิศตะวันออกตามแผนที่สังเขปท้ายฟ้องเอกสารหมาย จ.1 บิดาจำเลยทั้งสี่ไม่มีเงินค่าธรรมเนียมจดทะเบียนแบ่งแยก จึงจดทะเบียนใส่ชื่อโจทก์ทั้งสองถือกรรมสิทธิ์รวมในโฉนดที่ดินตามบันทึกข้อตกลงเรื่องกรรมสิทธิ์รวมเอกสารหมาย ล.2 โดยไม่มีข้อตกลงให้บิดาจำเลยทั้งสี่ซื้อที่ดินคืน เห็นว่า แม้โจทก์จะมิได้บรรยายในคำฟ้องว่า โจทก์ทั้งสองได้ซื้อที่ดินมีโฉนดของบิดาจำเลยทั้งสี่คงบรรยายฟ้องเพียงว่าโจทก์ทั้งสองกับบิดาจำเลยทั้งสี่เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วมกันในโฉนดที่ดินดังกล่าวก็ตาม แต่การนำสืบของโจทก์ทั้งสองดังกล่าวเป็นการนำสืบถึงที่มาของการได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์รวมของโจทก์ทั้งสองในที่ดินของบิดาจำเลยทั้งสี่จึงเป็นข้อนำสืบเกี่ยวกับกรรมสิทธิ์รวมตามคำฟ้องของโจทก์หาใช่ข้อนำสืบนอกฟ้องนอกประเด็นไม่
ปัญหาต่อไปมีว่า โจทก์ทั้งสองมีสิทธิขอแบ่งแยกที่ดินพิพาทหรือไม่ ปัญหานี้ตามพยานหลักฐานที่โจทก์ทั้งสองนำสืบโดยจำเลยทั้งสี่ไม่ได้ปฏิเสธได้ความว่า เมื่อ พ.ศ. 2517นายเกียว แซ่โค้ว บิดาจำเลยทั้งสี่เจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินได้ทำบันทึกข้อตกลงเรื่องกรรมสิทธิ์รวมตามเอกสารหมาย ล.2มีข้อความว่า นายเกียตกลงยินยอมให้โจทก์ทั้งสองถือกรรมสิทธิ์รวมคนละ 4,000 ส่วน ใน 14,300 ส่วน โดยโจทก์ทั้งสองให้ค่าตอบแทนแก่นายเกียเป็นเงิน 40,000 บาท ต่อหน้าเจ้าพนักงานที่ดินโดยเจ้าพนักงานที่ดินได้ลงชื่อแล้วประทับตราตำแหน่งไว้เป็นสำคัญในบันทึกข้อตกลงดังกล่าว และได้จดทะเบียนใส่ชื่อโจทก์ทั้งสองถือกรรมสิทธิ์รวมกับนายเกียตามส่วนที่ตกลงกันไว้ในสารบัญแก้ทะเบียนหลังโฉนดที่ดินเอกสารหมาย ล.1 แล้ว ดังนี้ จึงต้องถือว่านิติกรรมการได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์รวมในอสังหาริมทรัพย์ของโจทก์ทั้งสองได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนการได้มากับพนักงานเจ้าหน้าที่แล้ว โจทก์ทั้งสองจึงได้กรรมสิทธิ์รวมในที่ดินมีโฉนดของนายเกียบิดาจำเลยทั้งสี่โดยบริบูรณ์ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1299 วรรคหนึ่ง โจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นเจ้าของรวมจึงมีสิทธิเรียกให้แบ่งทรัพย์สินได้ตามมาตรา 1363 ปัญหาต่อไปจึงมีว่า จะแบ่งที่ดินตามโฉนดที่ดินของนายเกียให้โจทก์ทั้งสองอย่างไร เห็นว่า การเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมตามกฎหมายนั้น ในระหว่างเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมด้วยกันเองอาจอ้างการครอบครองเป็นส่วนสัดตามที่ได้ตกลงต่อกันได้ซึ่งเป็นเรื่องเกิดจากความยินยอมของเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมทุกฝ่ายพร้อมใจกันให้เป็นเช่นนั้น จากคำเบิกความของพยานโจทก์และจำเลยทั้งสี่แสดงว่าขณะที่นายเกียเจ้าของรวมคนหนึ่งยังไม่ตายนายเกียกับโจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นเจ้าของรวมด้วยกันได้ตกลงแบ่งที่ดินกันเองตามมาตรา 1364 โดยให้โจทก์ทั้งสองครอบครองเนื้อที่ประมาณคนละ 10 ไร่ และให้ส่วนของโจทก์ทั้งสองอยู่ด้านใต้ทางทิศตะวันตกและทิศตะวันออกตามแผนที่สังเขปท้ายฟ้องเอกสารหมายจ.1 แล้ว โจทก์ทั้งสองจึงมีสิทธิฟ้องจำเลยทั้งสี่ซึ่งเป็นทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกของนายเกียให้แบ่งที่ดินแก่โจทก์ทั้งสองเนื้อที่ประมาณคนละ 10 ไร่ ตามแผนที่สังเขปท้ายฟ้องเอกสารหมายจ.1 ได้ ดังที่บิดาจำเลยทั้งสี่และโจทก์ทั้งสองผู้เป็นเจ้าของรวมด้วยตกลงกันไว้
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยข้อสุดท้ายมีว่า โจทก์ทั้งสองได้ตกลงกับบิดาจำเลยทั้งสี่ให้บิดาจำเลยทั้งสี่ซื้อที่ดินพิพาทคืนในราคา 50,000 บาท หรือไม่ ข้อนี้ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อเท็จจริงแล้วกรณีไม่น่าเชื่อว่าโจทก์ทั้งสองจะตกลงให้ซื้อคืนในราคาดังกล่าวได้โดยไม่มีกำหนดเวลา พยานหลักฐานของจำเลยทั้งสี่ยังไม่มีน้ำหนักและเหตุผลพอให้รับฟังได้ว่าโจทก์ทั้งสองได้ตกลงให้บิดาจำเลยทั้งสี่ซื้อที่ดินพิพาทคืนในราคา 50,000 บาท จำเลยทั้งสี่ในฐานะทายาทของบิดาจำเลยทั้งสี่จึงไม่อาจขอให้บังคับโจทก์ทั้งสองขายที่ดินพิพาทคืนให้จำเลยทั้งสี่ในราคา 50,000 บาทตามฟ้องแย้งได้
พิพากษายืน แต่ให้คืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์สำหรับข้อพิพาทตามฟ้องโจทก์เป็นเงิน 24,800 บาท และคืนค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาสำหรับข้อพิพาทตามฟ้องโจทก์เป็นเงิน 24,800 บาทแก่จำเลยทั้งสี่