คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 578/2538

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เดิมโจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่1และที่2ร่วมกันหรือจำเลยที่1เชิดจำเลยที่2ออกแสดงเป็นตัวแทนจ้างจำเลยที่3ขับรถยนต์บรรทุกซึ่งมีป้ายชื่อ”โรงสีชัยเจริญ4″อันเป็นชื่อกิจการค้าโรงสีซึ่งจำเลยที่1และที่2มีผลประโยชน์ร่วมกันติดอยู่ที่หลังคาหน้ารถโดยเปิดเผยการที่โจทก์ขอแก้ไขคำฟ้องโดยเพิ่มข้อความว่าโรงสีชัยเจริญ4 เป็นโรงสีข้าวในกิจการของห้างหุ้นส่วนโรงสีไฟชัยเจริญซึ่งจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลที่สำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทจังหวัดพิจิตรซึ่งจำเลยที่1และที่2เป็นหุ้นส่วนโดยจำเลยที่2เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการเข้าไปนั้นข้อความที่ขอแก้ไขเกี่ยวข้องกับฟ้องเดิมทั้งโจทก์ขอแก้ไขก่อนวันสืบพยานเป็นกรณีที่โจทก์ขอแก้ไขคำฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา179และมาตรา180โจทก์จึงมีสิทธิแก้ไขคำฟ้องได้ ค่าเสียหายที่โจทก์ต้องพิการและทนทุกข์ทรมานเป็นความเสียหายที่มิใช่ตัวเงินอย่างหนึ่งโจทก์มีสิทธิเรียกร้องได้ตามมาตรา446 ขณะเกิดเหตุจำเลยที่1เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รถยนต์บรรทุกคันเกิดเหตุและจำเลยที่1กับห้างหุ้นส่วนจำกัดโรงสีไฟชัยเจริญร่วมกันประกอบการขนส่งเพื่อหาผลประโยชน์ร่วมกันจำเลยที่3เป็นลูกจ้างและกระทำละเมิดในทางการที่จ้างของห้างหุ้นส่วนจำกัดโรงสีไฟชัยเจริญ และจำเลยที่2เป็นหุ้นส่วนประเภทไม่จำกัดความรับผิดจึงต้องร่วมรับผิดในบรรดาหนี้ของห้างหุ้นส่วนโดยไม่จำกัดจำนวนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1077(2)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของและผู้ครอบครองรถยนต์บรรทุกหมายเลขทะเบียน 80-0972 พิจิตรโดยได้รับอนุญาตให้ประกอบการขนส่งส่วนบุคคลจากนายทะเบียนขนส่งจังหวัดพิจิตรจำเลยที่ 2 ในฐานะส่วนตัวและในฐานะหุ้นส่วนผู้จัดการห้างหุ้นส่วนจำกัดโรงสีไฟชัยเจริญ ห้างหุ้นส่วนจำกัดโรงสีไฟชัยเจริญโดยความยินยอมของจำเลยที่ 1 ได้ร่วมกับจำเลยที่ 1 ครอบครองรถคันดังกล่าวทำการขนส่งในกิจการโรงสีข้าวซึ่งจำเลยที่ 1 และที่ 2 และห้างหุ้นส่วนจำกัดโรงสีไฟชัยเจริญมีผลประโยชน์ร่วมกันจ้าง หรือจำเลยที่ 1 เชิดจำเลยที่ 2ออกแสดงเป็นตัวแทนจ้างจำเลยที่ 3 เป็นผู้ขับรถคันดังกล่าวซึ่งมีป้ายชื่อ “โรงสีชัยเจริญ 4” ติดที่หลังคารถโดยเปิดเผยโรงสีชัยเจริญ 4 เป็นโรงสีข้าวในกิจการของห้างหุ้นส่วนจำกัดโรงสีไฟชัยเจริญซึ่งจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลมีจำเลยที่ 1 เป็นหุ้นส่วน และจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการจำเลยที่ 4 เป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์บรรทุกเลขทะเบียน80-0972 พิจิตร โดยยอมรับผิดใช้ค่าเสียหายในนามของจำเลยที่ 1ผู้เอาประกันภัย เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2528 จำเลยที่ 3ขับรถยนต์บรรทุกเลขทะเบียน 80-0972 พิจิตร ซึ่งจำเลยที่ 1 และที่ 2ร่วมกันครอบครองมีผลประโยชน์ร่วมกันในการใช้รถคันดังกล่าวทำการขนส่งส่วนบุคคลไปตามถนนวิภาวดีรังสิตจากกรุงเทพมหานครมุ่งไปทางจังหวัดพิจิตร อันเป็นการกระทำในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 1 และที่ 2 และห้างหุ้นส่วนจำกัดโรงสีไฟชัยเจริญเมื่อจำเลยที่ 3 ขับรถอยู่ระหว่างหลักกิโลเมตรที่ 28 ถึง 29ตำบลคูคต อำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี จำเลยที่ 3 ขับรถด้วยความเร็วสูงโดยประมาทปราศจากความระมัดระวังเมื่อใกล้จะถึงทางแยกก็ไม่ลดความเร็วลง และได้เปลี่ยนช่องเดินรถจากซ้ายสุดมาทางขวาขวางช่องเดินรถที่ นางสาวบุญช่วย ตระกูบรังสิ ขับอยู่ในช่องเดินรถทางขวาชิดเกาะกลางถนนมุ่งหน้าไปทิศทางเดียวกันเป็นเหตุให้รถที่จำเลยที่ 3 ขับชนรถที่ นางสาวบุญช่วยขับเสียหายทั้งคัน และนางสาวบุญช่วยได้รับบาดเจ็บ โจทก์นั่งคู่กับนางสาวบุญช่วยได้รับอันตรายแก่กายถึงสาหัส โจทก์เสียค่ารักษาพยาบาลเป็นเงิน 100,000 บาท เสียค่าพาหนะไปโรงพยาบาลและค่าจ้างสำหรับผู้ดูแลโจทก์ระหว่างช่วยเหลือตัวเองไม่ได้เป็นเงิน2,000 บาทเสียค่าซื้อรถเข็นและไม้ค้ำยันเป็นเงิน 8,000 บาท แขนซ้ายและขาซ้ายใช้การไม่ได้ตามปกติ ทำให้โจทก์กลายเป็นคนพิการไปตลอดชีวิตได้รับความทุกข์ทรมานทั้งร่างกายและจิตใจ โจทก์คิดค่าเสียหายส่วนนี้เป็นเงิน 100,000 บาท โจทก์มีอาชีพค้าขาย มีร้านค้า 2 แห่ง ต้องเสียรายได้ไปเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 6 เดือนคิดเป็นเงิน 30,000 บาท รวมเป็นค่าเสียหายทั้งสิ้นเป็นเงิน 240,000 บาท และดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันละเมิดถึงวันฟ้องเป็นเงิน 17,500 บาท รวมทั้งสิ้นเป็นเงิน 257,500 บาท จำเลยที่ 1และที่ 2 ต้องร่วมรับผิดในผลแห่งการละเมิดของจำเลยที่ 3จำเลยที่ 4 ต้องร่วมรับผิดในฐานะผู้รับประกันภัยค้ำจุน ขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงิน 257,500 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ให้การ และจำเลยที่ 1 ที่ 2แก้ไขคำให้การว่า จำเลยที่ 1 ไม่ได้เชิดจำเลยที่ 2 เป็นตัวแทนจ้างจำเลยที่ 3 เป็นคนขับรถยนต์บรรทุกเลขทะเบียน 80-0972 พิจิตรเพื่อกิจการค้าของห้างหุ้นส่วนจำกัดโรงสีชัยเจริญ จำเลยที่ 3ไม่ได้เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 และไม่ได้กระทำการในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 1 แต่จำเลยที่ 3 เป็นลูกจ้างของห้างหุ้นส่วนจำกัดโรงสีชัยเจริญ โดยมีจำเลยที่ 1 เป็นผู้ถือหุ้น และจำเลยที่ 2เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ รถคันดังกล่าวจำเลยที่ 1 นำไปลงทุนเข้าหุ้นเมื่อจำเลยที่ 1 ส่งมอบรถให้แล้ว ห้างหุ้นส่วนจำกัดโรงสีไฟชัยเจริญได้นำป้ายชื่อ “โรงสีชัยเจริญ 4” ติดไว้ที่รถเพื่อให้บุคคลทั่วไปทราบว่าเป็นรถเพื่อใช้ในกิจการค้าของห้างหุ้นส่วนจำกัดโรงสีไฟชัยเจริญ จำเลยที่ 3 เป็นผู้ขับรถคันดังกล่าวไปในทางการที่จ้างของห้างหุ้นส่วนดังกล่าวซึ่งเป็นนายจ้างของจำเลยที่ 3 จำเลยที่ 2 เป็นเพียงผู้กระทำการแทนห้างหุ้นส่วนดังกล่าวเท่านั้นไม่ใช่นายจ้างจำเลยที่ 3 เมื่อโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 จำเลยที่ 4 ในฐานะผู้รับประกันภัยค้ำจุนรถจากจำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ หากจะต้องรับผิดก็รับผิดแทนจำเลยที่ 1 เท่านั้น เหตุที่รถชนกันเป็นเพราะความประมาทของนางสาวบุญช่วย ไม่ใช่เพราะความประมาทของจำเลยที่ 3หากจะฟังว่าเป็นความผิดหรือประมาทของจำเลยที่ 3 นางสาวบุญช่วยก็มีส่วนประมาทจึงต้องร่วมรับผิดด้วย ค่ารักษาพยาบาลที่โจทก์เรียกร้องไม่ควรเดิน 50,000 บาท เพราะโจทก์ไม่ได้บาดเจ็บมากมายค่าพาหนะและค่าจ้างผู้ดูแลระหว่างที่โจทก์ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้นั้นโจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องค่ารถเข็นและไม้ค้ำยันราคาไม่เกิน2,000 บาท ค่าทุพพลภาพและค่าทุกข์ทรมานโจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องเพราะโจทก์ไม่ได้ทุพพลภาพ ค่าขาดประโยชน์จะมีอยู่จริงหรือไม่ไม่ทราบ รวมค่าเสียหายโจทก์ไม่ควรเกิน 52,000 บาทสำหรับจำเลยที่ 4 หากจะรับผิดก็ไม่เกิน 50,000 บาท ตามเงื่อนไขกรมธรรม์ประกันภัย ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 3 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน 220,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ 1 กันยายน 2528 จนกว่าได้ชำระเสร็จ และให้จำเลยที่ 4 ร่วมรับผิดในจำนวนเงินดังกล่าวเพียง 50,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยที่ 1 และที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกาว่า คำร้องขอแก้ไขคำฟ้องของโจทก์มิใช่เป็นการเพิ่มเติมฟ้องให้บริบูรณ์และไม่เกี่ยวกับฟ้องเดิมนั้น เห็นว่า เดิมโจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1และที่ 2 ร่วมกัน หรือจำเลยที่ 1 เชิดจำเลยที่ 2 ออกแสดงเป็นตัวแทนจ้างจำเลยที่ 3 ขับรถยนต์บรรทุกเลขทะเบียน 80-0972 พิจิตรซึ่งมีป้ายชื่อ “โรงสีชัยเจริญ 4” อันเป็นชื่อกิจการค้าโรงสีซึ่งจำเลยที่ 1 และที่ 2 มีผลประโยชน์ร่วมกันติดอยู่ที่หลังคาหน้ารถโดยเปิดเผยการที่โจทก์ขอแก้ไขคำฟ้องโดยเพิ่มข้อความว่าโรงสีชัยเจริญ 4 เป็นโรงสีข้าวในกิจการของห้างหุ้นส่วนโรงสีไฟชัยเจริญซึ่งจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลที่สำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทจังหวัดพิจิตร ซึ่งจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นหุ้นส่วน โดยจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ เข้าไปนั้น ข้อความที่ขอแก้ไขจึงเกี่ยวกับฟ้องเดิมทั้งโจทก์ขอแก้ไขก่อนวันสืบพยาน จึงเป็นกรณีที่โจทก์ได้แก้ไขคำฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 179 และมาตรา 180 แล้วจึงมีสิทธิแก้ไขคำฟ้องได้
ที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกาว่า ค่าเสียหายที่ศาลอุทธรณ์กำหนดให้แก่โจทก์สูงเกินความเป็นจริงนั้น เห็นว่า โจทก์ได้จ่ายเงินค่ารักษาพยาบาลจริง ที่ศาลอุทธรณ์กำหนดค่ารักษาพยาบาลให้โจทก์100,000 บาทเหมาะสมแล้ว สำหรับค่าพาหนะและค่าจ้างคนดูแลโจทก์ระหว่างที่ช่วยตัวเองไม่ได้จำนวน 2,000 บาท และค่ารถเข็นและไม้ค้ำยันจำนวน 8,000 บาทรวมเป็นเงิน 10,000 บาท นั้นเชื่อว่า ค่าใช้จ่ายดังกล่าวเป็นสิ่งจำเป็นและโจทก์ได้จ่ายไปจริงที่ศาลอุทธรณ์กำหนดให้เท่าที่โจทก์ขอมานั้นเหมาะสมแล้วส่วนค่าเสียหายที่โจทก์ต้องพิการและทุนทุกข์ทรมานนั้นเป็นความเสียหายที่มิใช่ตัวเงินอย่างหนึ่ง โจทก์มีสิทธิเรียกร้องได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 446 เมื่อพิเคราะห์ตามพฤติการณ์แห่งคดีและการเจ็บป่วยของโจทก์แล้วเห็นว่าที่ศาลอุทธรณ์กำหนดให้เป็นเงิน 80,000 บาท เหมาะสมแล้วส่วนค่าขาดประโยชน์ทำมาหาได้จำนวน 30,000 บาท นั้นศาลอุทธรณ์กำหนดค่าเสียหายส่วนนี้เป็นเงิน 30,000 บาท เหมาะสมแล้วเช่นกัน รวมเป็นเงินค่าเสียหายทั้งสิ้น 220,000 บาท ค่าสินไหมทดแทนที่โจทก์ได้รับตามศาลอุทธรณ์กำหนดให้นั้นชอบแล้ว
ประการสุดท้ายที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกาว่า จำเลยที่ 1และที่ 2 ไม่ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 3 เพราะจำเลยที่ 3ไม่ได้เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 และที่ 2 นั้น เห็นว่า ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 1 ยังเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รถยนต์บรรทุกคันเกิดเหตุจำเลยที่ 1 และห้างหุ้นส่วนจำกัดโรงสีไฟชัยเจริญร่วมกันประกอบการขนส่งเพื่อหาผลประโยชน์ร่วมกัน เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยที่ 3 เป็นลูกจ้างและกระทำละเมิดในทางการที่จ้างของห้างหุ้นส่วนจำกัดโรงสีไฟชัยเจริญ จำเลยที่ 1 จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 3 ด้วย สำหรับจำเลยที่ 2 นั้นเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของห้างหุ้นส่วนจำกัดโรงสีไฟชัยเจริญ และเป็นหุ้นส่วนประเภทไม่จำกัดความรับผิด ซึ่งต้องร่วมรับผิดในบรรดาหนี้ของห้างหุ้นส่วนโดยไม่จำกัดจำนวนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1077(2) จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 3 ด้วยเช่นกัน
พิพากษายืน

Share