แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ภาษีหัก ณ ที่จ่ายนั้น ประมวลรัษฎากร มาตรา 3 จตุทศ,50,52ให้บุคคลผู้มีหน้าที่จ่ายเงินได้พึงประเมินหักภาษีเงินได้ทุกคราวที่มีการจ่ายเงินได้พึงประเมินเกี่ยวกับค่าจ้างและนำส่งณ ที่ว่าการอำเภอภายใน 7 วัน จำเลยที่ 1 ผู้มีหน้าที่จ่ายเงินได้พึงประเมินต้องหักภาษีทุกคราวที่มีการจ่าย ถ้าจำเลยที่ 1มิได้หักและนำส่งเงินภาษีให้ถูกต้อง จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดร่วมกับโจทก์ที่ 1 ผู้มีเงินได้พึงประเมินด้วยตามมาตรา 54 แห่งประมวลรัษฎากร เช่นนี้ ย่อมเห็นได้ว่าเงินภาษีหัก ณ ที่จ่ายถ้าจำเลยที่ 1 เป็นผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินให้โจทก์ที่ 1 โดยตรงจำเลยที่ 1 มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่ายในคราวที่จ่ายและนำส่งให้ถูกต้อง แต่เงินซึ่งได้จากการบังคับคดีสำหรับค่าจ้างที่ค้างชำระเจ้าพนักงานบังคับคดีเป็นผู้จ่ายให้โจทก์ที่ 1 กรณีเช่นนี้ถือว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีจ่ายเงินได้พึงประเมินให้โจทก์ที่ 1แทนจำเลยที่ 1 เท่ากับจำเลยที่ 1 เป็นผู้จ่ายเอง จำเลยที่ 1ย่อมมีสิทธิจะขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีกักเงินภาษีหัก ณ ที่จ่ายไว้ได้ เพื่อจะได้ส่งเป็นเงินภาษีต่อไป การหักภาษี ณ ที่จ่ายต้องหักทุกคราวที่มีการจ่าย เมื่อจ่ายเงินได้พึงประเมินในคราวใดเป็นจำนวนเท่าใด ก็ต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายสำหรับเงินได้พึงประเมินในการจ่ายในคราวนั้น แต่จำนวนเงินที่จำเลยที่ 1 ขอให้กักไว้เป็นภาษี ณ ที่จ่ายในคดีนี้ จำเลยที่ 1คิดจากเงินได้พึงประเมินทั้งหมดที่จำเลยที่ 1 จ่ายให้แก่โจทก์ที่ 1รวมทั้งค่าจ้างที่จ่ายไปก่อนแล้ว แต่จำเลยที่ 1 มิได้หักภาษีไว้ดังนั้นจะเอาเงินได้พึงประเมินที่จ่ายไปก่อนแล้วมาคิดหักเป็นภาษีในคราวนี้ด้วยย่อมไม่ชอบ จำเลยที่ 1 คงมีสิทธิขอหักภาษี ณ ที่จ่ายเฉพาะเงินได้พึงประเมินเกี่ยวกับค่าจ้างสำหรับการจ่ายในคราวนี้เท่านั้น เงินดอกเบี้ยของค่าจ้างมิใช่ค่าจ้างที่จะหักภาษี ณ ที่จ่ายอย่างค่าจ้างได้.
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันใช้เงินค่าจ้างแรงงานจำนวน 765,960 บาท พร้อมทั้งดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ที่ 1 ศาลแรงงานกลางออกคำบังคับและหมายบังคับคดีเจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการบังคับคดีและรายงานว่าได้อายัดเงินค่ารับเหมาก่อสร้างซึ่งจำเลยที่ 1 มีสิทธิได้รับจากกรมชลประทานตามคำขอของโจทก์ที่ 1 และกรมชลประทานได้ส่งเงินในส่วนที่จะเอาชำระหนี้ โจทก์ที่ 1 จำนวน 817,184 บาท ต่อมาจำเลยที่ 1 แถลงว่าเงินที่โจทก์ที่ 1 จะได้รับเป็นค่าจ้างของโจทก์ที่ 1 นั้นจำเลยที่ 1 จะต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายเพื่อส่งกรมสรรพากรคิดเป็นเงิน279,819.20 บาท ขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีอายัดเงินดังกล่าวเพื่อจำเลยที่ 1 จะได้นำไปชำระภาษี ณ กรมสรรพากรต่อไป โจทก์ที่ 1 แถลงว่า จำเลยที่ 1 ไม่มีสิทธิที่จะขออายัดเงินดังกล่าวเพราะเป็นเงินคนละส่วนกับที่จำเลยที่ 1 กล่าวอ้างและเป็นเงินคนละปีภาษีกันด้วย เจ้าพนักงานบังคับคดีแจ้งคำแถลงของโจทก์ที่ 1ให้จำเลยที่ 1 ทราบและให้ยื่นคำร้องต่อศาลภายใน 8 วัน ต่อมาจำเลยที่ 1 ได้ยื่นคำร้องคัดค้านคำแถลงของโจทก์ที่ 1 ศาลแรงงานกลางนัดพร้อม ในวันนัดพร้อมจำเลยที่ 1 แถลงขอให้ศาลแรงงานกลางกักเงินจำนวนดังกล่าวและขอรับเงินจำนวนดังกล่าวไปชำระเป็นภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายของโจทก์ที่ 1 ที่กรมสรรพากรต่อไป โจทก์ที่ 1แถลงคัดค้านว่าจำเลยที่ 1 ไม่มีสิทธิขอให้กักเงินจำนวนดังกล่าวขอให้ศาลแรงงานกลางยกคำขอของจำเลยที่ 1 และขอรับเงินจำนวน537,364.80 บาท ซึ่งจำเลยที่ 1 ไม่โต้แย้ง ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งให้เจ้าพนักงานบังคับคดีส่งเงินที่กรมชลประทานส่งมาตามคำสั่งอายัดมาศาลและเบิกจ่ายเงินจำนวน 537,364.80 บาท ให้โจทก์ที่ 1 และให้ไต่สวนว่าเฉพาะเงินจำนวน 279,819.20 บาท ที่จำเลยที่ 1 จะขอกักไว้และขอรับไปเพื่อชำระเป็นภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายของโจทก์ที่ 1 ได้หรือไม่ระหว่างรอไต่สวน โจทก์ที่ 1 ยื่นคำร้องอ้างว่าศาลแรงงานไม่มีอำนาจสั่งและเงินดังกล่าวตกเป็นสิทธิแก่โจทก์ที่ 1 แล้ว ขอให้งดการไต่สวนและยกคำขอของจำเลยที่ 1ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งให้ยกคำร้องของโจทก์ที่ 1 ดังกล่าว ในวันไต่สวนโจทก์ที่ 1 และจำเลยที่ 1 แถลงรับข้อเท็จจริงอันเกี่ยวกับการเป็นลูกจ้างและเงินค่าจ้างที่จ่ายให้แก่กัน ตลอดถึงภริยาและบุตรของโจทก์ที่ 1 ที่หักค่าลดหย่อนภาษีได้ ศาลแรงงานกลางจึงงดการไต่สวน
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้วมีคำสั่งให้ยกคำขอของจำเลยที่ 1
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติตามคำพิพากษาของศาลแรงงานกลางว่า จำเลยที่ 1 ได้จ่ายค่าจ้างให้โจทก์ที่ 1 ไปก่อนแล้วบางส่วน โดยจำเลยที่ 1 มิได้หักภาษี ณ ที่จ่ายไว้ และในการจ่ายเงินคราวนี้จ่ายเป็นเงินค่าจ้างตามคำพิพากษา 765,960 บาท ส่วนเงินที่กรมชลประทานส่งมา817,184 บาท เกินกว่าจำนวนค่าจ้างตามคำพิพากษา เพราะจำเลยที่ 1ต้องรับผิดดอกเบี้ยด้วย เงินที่เกินมาจึงเป็นดอกเบี้ยของเงินค่าจ้างจำเลยที่ 1 ขอให้กักเงินค่าภาษีหัก ณ ที่จ่ายจำนวน 279,819.20 บาทโดยคิดภาษีเงินได้ของโจทก์ที่ 1 จากค่าจ้างทั้งหมดที่จำเลยที่ 1ได้จ่ายให้โจทก์ที่ 1 ไปแล้ว กับที่จะจ่ายตามคำพิพากษาคราวนี้รวมทั้งดอกเบี้ยของเงินที่จะต้องรับผิดด้วย
ข้อต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 มีว่า จำเลยที่ 1จะขอกักเงินที่กรมชลประทานส่งมาให้เจ้าพนักงานบังคับคดีตามคำสั่งอายัด และขอรับเงินดังกล่าวไปเพื่อชำระภาษีเงินได้ของโจทก์ที่ 1ซึ่งจำเลยที่ 1 ต้องหัก ณ ที่จ่ายได้หรือไม่ เห็นว่า ตามข้อเท็จจริงที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยดังกล่าว เงินจำนวน 279,819.20 บาทที่พิพาทกัน จำเลยที่ 1 ขอให้กักไว้เป็นค่าภาษีหัก ณ ที่จ่าย โดยคิดจากเงินค่าจ้างซึ่งเป็นเงินได้พึงประเมินของโจทก์ที่ 1 ทั้งหมดแต่มีเงินค่าจ้างซึ่งเป็นเงินได้พึงประเมินบางส่วน จำเลยที่ 1ได้จ่ายให้โจทก์ที่ 1 ไปก่อนแล้ว แต่จำเลยที่ 1 ไม่ได้หักภาษี ณ ที่จ่ายไว้ เกี่ยวกับภาษีหัก ณ ที่จ่ายตามประมวลรัษฎากรมาตรา 3 จตุทศ, 50, 52 ให้บุคคลผู้มีหน้าที่จ่ายเงินได้พึงประเมินหักภาษีเงินได้ทุกคราวที่มีการจ่ายเงินได้พึงประเมินเกี่ยวกับค่าจ้าง และนำส่ง ณ ที่ว่าการอำเภอภายใน 7 วัน จำเลยที่ 1ผู้มีหน้าที่จ่ายเงินได้พึงประเมินต้องหักภาษีทุกคราวที่มีการจ่ายถ้าจำเลยที่ 1 มิได้หักและนำส่งเงินภาษีให้ถูกต้อง จำเลยที่ 1ต้องรับผิดร่วมกับโจทก์ที่ 1 ด้วย ตามมาตรา 54 แห่งประมวลรัษฎากรจึงเห็นได้ว่าเงินภาษีหัก ณ ที่จ่ายถ้าจำเลยที่ 1 เป็นผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินให้โจทก์ที่ 1 โดยตรง จำเลยที่ 1 มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่ายในคราวที่จ่ายและนำส่งให้ถูกต้อง แต่เงินรายนี้เป็นการบังคับคดีสำหรับค่าจ้างที่ค้างชำระ เจ้าพนักงานบังคับคดีเป็นผู้จ่ายให้โจทก์ที่ 1 กรณีเช่นนี้ถือว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีจ่ายเงินได้พึงประเมินให้โจทก์ที่ 1 แทนจำเลยที่ 1 เท่ากับจำเลยที่ 1 เป็นผู้จ่ายเอง จำเลยที่ 1 จึงมีสิทธิจะขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีกักเงินภาษีหัก ณ ที่จ่ายไว้ได้ เพื่อจะได้ส่งเป็นเงินภาษีต่อไป แต่การที่จะหักเงินภาษี ณ ที่จ่ายต้องหักทุกคราวที่มีการจ่าย เมื่อจ่ายเงินได้พึงประเมินในคราวใดเป็นจำนวนเท่าใด ก็ต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายสำหรับเงินได้พึงประเมินในการจ่ายในคราวนั้น สำหรับจำนวนเงินที่ให้กักไว้เป็นภาษีหักณ ที่จ่ายในคดีนี้เป็นเงิน 279,819.20 บาท จำเลยที่ 1 คิดจากเงินได้พึงประเมินทั้งหมดที่จำเลยที่ 1 จ่ายให้แก่โจทก์ที่ 1ซึ่งรวมทั้งค่าจ้างที่จ่ายไปก่อนแล้วแต่จำเลยที่ 1 มิได้หักภาษีไว้ดังนั้นจะ เอาเงินได้พึงประเมินที่จ่ายไปก่อนแล้วมาคิดหักเป็นภาษีในคราวนี้ด้วยย่อมไม่ชอบ จำเลยที่ 1 คงมีสิทธิขอหักภาษี ณ ที่จ่ายเฉพาะเงินได้พึงประเมินเกี่ยวกับค่าจ้างสำหรับการจ่ายในคราวนี้เท่านั้น ปรากฏว่าการจ่ายเงินค่าจ้างในคดีนี้มีเพียง 765,960 บาทนอกนั้นเป็นดอกเบี้ยซึ่งมิใช่ค่าจ้างที่จำเลยที่ 1 จะหักภาษีณ ที่จ่ายอย่างค่าจ้างได้ เงินได้พึงประเมินจำนวน 765,960 บาทจะเป็นภาษีหัก ณ ที่จ่ายของโจทก์ที่ 1 จำนวนเท่าใด จำเลยที่ 1มิได้คิดรายละเอียดไว้ คงมีแต่ขอให้กักภาษี ณ ที่จ่าย เพื่อจำเลยที่ 1 นำส่งกรมสรรพากรเป็นเงิน 279,819.20 บาท แต่เงินภาษีส่วนนี้คิดจากเงินได้พึงประเมินซึ่งเป็นค่าจ้างที่จ่ายไปในคราวอื่นและดอกเบี้ยด้วย จึงเป็นจำนวนภาษีหัก ณ ที่จ่ายไม่ถูกต้อง จำเลยที่ 1มีสิทธิจะขอให้หักภาษี ณ ที่จ่ายได้ในจำนวนเงินได้พึงประเมินสำหรับค่าจ้าง 765,960 บาท โดยให้คิดตามวิธีการหักภาษี ณ ที่จ่ายสำหรับโจทก์ที่ 1 ที่ประมวลรัษฎากรกำหนดไว้เท่านั้น อุทธรณ์จำเลยที่ 1 ฟังขึ้นเฉพาะส่วนนี้
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้หักภาษี ณ ที่จ่ายได้ โดยให้คิดจากเงินได้พึงประเมิน 765,960 บาท นอกจากที่แก้คงเป็นไปตามคำสั่งศาลแรงงานกลาง.