แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
แม้จำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นนิติบุคคลคนละบริษัท แต่ทั้งสองบริษัทก็ประกอบกิจการรับขนส่งสินค้าทางอากาศเพื่อบำเหน็จทางการค้าปกติเหมือนกัน ใช้คำว่า DHL เป็นส่วนหนึ่งของชื่อทางการค้าและการบริการด้วยกัน ศ.ลูกจ้างของจำเลยที่ 3 มีหน้าที่ติดต่อประสานงานระหว่างลูกค้าติดตามและตรวจสอบเกี่ยวกับการขนส่งสินค้าของจำเลยที่ 3 บริษัท ฟ. ผู้รับตราส่ง เป็นลูกค้าประจำของจำเลยที่ 3 และมีบัญชีลูกค้าอยู่กับจำเลยที่ 3 เพื่อเรียกเก็บค่าบริการและตามใบรับขนของทางอากาศของสินค้าตามฟ้อง ได้ระบุว่า ค่าระวางการขนส่งสินค้าครั้งนี้ให้เรียกเก็บจากบัญชีของบริษัท ฟ. ย่อมหมายความว่าจำเลยที่ 3 มีหน้าที่เรียกเก็บเงินค่าระวางขนส่งสินค้าตามฟ้องจากบริษัท ฟ. แทนจำเลยที่ 2 และตามใบรับขนของทางอากาศ จำเลยที่ 2 ผู้ขนส่งมีหน้าที่นำสินค้าตามฟ้องไปส่งให้แก่บริษัท ฟ. ที่อำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี หากสินค้าไม่สูญหาย จำเลยที่ 3 จะติดต่อกับบริษัท ฟ. ว่าจะให้จำเลยที่ 3 ดำเนินพิธีศุลกากรและนำของไปส่งมอบให้บริษัทหรือไม่ หรือบริษัทจะส่งตัวแทนไปดำเนินพิธีศุลกากรเพื่อออกของเอง การระบุชื่อที่อยู่ของบริษัทมิได้หมายความว่าจำเลยที่ 3 จะต้องนำสินค้าไปมอบให้แก่บริษัท ฟ. แต่ก็ไม่ปรากฏว่า จำเลยที่ 2 ผู้ขนส่งจะมอบหมายให้ผู้ใดเป็นตัวแทนในประเทศไทยขนส่งสินค้าไปมอบให้แก่บริษัท ฟ. นอกจากจำเลยที่ 3 ซึ่งให้บริการเป็นเครือข่ายเดียวกัน การที่จำเลยที่ 3 ได้มีการมอบหมายให้มีการตรวจสอบคลังสินค้าของจำเลยที่ 3 ว่ามีการขนส่งสินค้าดังกล่าวมาที่ประเทศไทยแล้วหรือไม่ ย่อมเป็นข้อบ่งชี้ว่าการขนส่งสินค้าจากบริษัทในเครือข่าย DHL จากต่างประเทศอาจนำเข้ามาเก็บไว้ในคลังสินค้าของจำเลยที่ 3 เพื่อจัดส่งให้แก่ผู้รับสินค้าหรือผู้รับตราส่งต่อไปและการมอบหมายให้ น. พนักงานของจำเลยที่ 3 รับผิดชอบเกี่ยวกับการส่งสินค้าตามฟ้อง แสดงว่าจำเลยที่ 3 มีหน้าที่ดูแลสินค้าที่ทางจำเลยที่ 2 ส่งมายังผู้รับตราส่งในประเทศไทยเช่นกัน นอกจากนี้ตามไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ที่ น. มีถึงบริษัท ฟ. แจ้งว่าจะไม่เรียกเก็บค่าระวางขนส่งสินค้าตามฟ้องจากบริษัท ฟ. เนื่องจากสินค้าสูญหายไปหมดและ ศ.ก็เบิกความรับว่า การเรียกร้องค่าเสียหายของสินค้าต้องเสนอให้แก่จำเลยที่ 3 และจำเลยที่ 3 จะเป็นผู้จ่ายค่าเสียหายให้ โดยไม่มีการส่งใบเรียกร้องค่าเสียหายไปให้จำเลยที่ 2 ที่สาธารณรัฐอิตาลี จำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงมีส่วนได้เสียร่วมกันในการประกอบกิจการขนส่งสินค้าตามฟ้อง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินจำนวน 731,567.15 บาท พร้อมดอกเบี้ยถึงวันฟ้อง 39,234.05 บาท รวมเป็นเงิน 770,801.20 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงินจำนวน 731,567.15 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสามให้การขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างการพิจารณา บริษัทเอซ ไอเอ็นเอ โอเวอร์ซีส์ อินชัวรันซ์ จำกัด ได้ยื่นคำร้องว่า ผู้ร้องได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยในประเทศไทย และได้รับโอนบรรดากิจการ ทรัพย์สิน หนี้สินและความรับผิดชอบตามสัญญาประกันภัยของโจทก์ขอเข้าเป็นโจทก์ร่วม ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำสั่งให้บริษัทเอซ ไอเอ็นเอ โอเวอร์ซีส์ อินชัวรันซ์ จำกัด เข้าเป็นคู่ความแทนที่โจทก์
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันชำระเงินจำนวน 731,567.15 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวนดังกล่าวนับแต่วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2550 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้อง (วันที่ 29 ตุลาคม 2550) ต้องไม่เกินจำนวน 39,234.05 บาท ให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันชำระค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความให้ 15,000 บาท ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ให้เป็นพับ
จำเลยที่ 3 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด จดทะเบียนที่ประเทศออสเตรเลีย ประกอบธุรกิจรับประกันวินาศภัยทุกประเภท มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่ประเทศออสเตรเลีย โจทก์เข้ามาตั้งสำนักงานสาขาประกอบธุรกิจรับประกันวินาศภัยในประเทศไทย โดยมอบอำนาจให้นางสาวฟ้า เป็นผู้จัดการสาขาในประเทศไทย มีอำนาจบริหารงานของโจทก์ในประเทศไทยและมีอำนาจฟ้องร้องดำเนินคดีแทนโจทก์ด้วย จำเลยที่ 2 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดตามกฎหมายของสาธารณรัฐอิตาลี จำเลยที่ 3 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดตามกฎหมายไทย จำเลยที่ 2 และที่ 3 ประกอบกิจการรับขนส่งสินค้าทางอากาศเพื่อบำเหน็จเป็นทางการค้าปกติ โจทก์รับประกันภัยความเสียหายหรือสูญหายของสินค้าไว้จากบริษัทฟาบริเนท จำกัด ผู้เอาประกันภัย ในการขนส่งจากโรงงานของผู้เอาประกันในประเทศไทยไปยังประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก และจากประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกมายังโรงงานของผู้เอาประกันภัยในประเทศไทย โดยมีความคุ้มครองการขนส่งระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2549 ถึง 1 มกราคม 2550 จำนวนเงินเอาประกันภัยสำหรับสินค้าทั่วไปไม่เกิน 40,000,000 บาทต่อเที่ยว และจำนวนเงินเอาประกันภัยสำหรับสินค้าแต่ละเที่ยวให้คำนวณจากมูลค่าสินค้าตามใบกำกับสินค้าหรืออินวอยซ์ บวกร้อยละ 10 ของมูลค่าสินค้า เมื่อประมาณกลางเดือนตุลาคม 2549 บริษัทฟาบริเนท จำกัด ได้สั่งซื้อสินค้าประเภทอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ตามใบกำกับสินค้าเลขที่ 1900018768 ในราคา 9,840 ดอลลาร์สหรัฐ และเลขที่ 1900018769 ในราคา 8,132 ดอลลาร์สหรัฐ จากบริษัทอะวาเน็กซ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด ซึ่งอยู่ในสาธารณรัฐอิตาลี ต่อมาบริษัทอะวาเน็กซ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด ได้ว่าจ้างจำเลยที่ 2 ให้ขนส่งสินค้าจากสาธารณรัฐอิตาลีโดยทางเครื่องบินมาส่งมอบให้กับบริษัทฟาบริเนท จำกัด ในประเทศไทย เมื่อจำเลยที่ 2 ได้รับสินค้าครบถ้วนโดยบรรจุไว้ในกล่อง 1 กล่อง และอยู่ในสภาพเรียบร้อยแล้ว ซึ่งบริษัทอะวาเน็กซ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด ได้สำแดงสินค้าเพื่อทำการขนส่งไว้ว่ามีราคา 17,972 ดอลลาร์สหรัฐ จำเลยที่ 2 จึงได้ออกใบรับขนทางอากาศให้แก่บริษัทอะวาเน็กซ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด ต่อมาปรากฏว่ากล่องสินค้าและสินค้าภายในกล่องสูญหายไปทั้งหมดในระหว่างการขนส่งของจำเลยที่ 2 บริษัทฟาบริเนท จำกัด ทราบว่าสินค้าสูญหายไปประมาณเดือนพฤศจิกายน 2549 จึงได้เรียกร้องค่าสินค้าไปยังจำเลยที่ 3 จำเลยที่ 3 มีไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ตอบกลับมาว่า สินค้าสูญหายจริงระหว่างการขนส่ง แต่ไม่ยอมชดใช้ค่าเสียหาย บริษัทฟาบริเนท จำกัด จึงเรียกร้องมายังโจทก์ โจทก์ได้ชำระค่าสินไหมทดแทนให้แก่บริษัทฟาบริเนท จำกัด เป็นมูลค่าสินค้า 17,972 ดอลลาร์สหรัฐ บวกร้อยละ 10 ตามมูลค่าในใบกำกับสินค้าเป็นเงินรวม 19,769.20 ดอลลาร์สหรัฐ หรือ 731,567.15 บาท โดยคำนวณจากอัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์สหรัฐ เท่ากับ 37.0054 บาท
ปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 3 ว่า จำเลยที่ 3 เป็นผู้ขนส่งสินค้าตามฟ้องร่วมกับจำเลยที่ 2 หรือไม่ เห็นว่า แม้จำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นนิติบุคคลคนละบริษัทกัน แต่ทั้งสองบริษัทก็ประกอบกิจการรับขนส่งสินค้าทางอากาศเพื่อบำเหน็จทางการค้าปกติเหมือนกัน ใช้คำว่า DHL เป็นส่วนหนึ่งของชื่อทางการค้าและการบริการด้วยกัน นายศรายุทธลูกจ้างของจำเลยที่ 3 มีหน้าที่ติดต่อประสานงานระหว่างลูกค้าติดตามและตรวจสอบเกี่ยวกับการขนส่งสินค้าของจำเลยที่ 3 พยานจำเลยที่ 3 เบิกความตอบทนายโจทก์ถามค้านว่า บริษัทฟาบริเนท จำกัด เป็นลูกค้าประจำของจำเลยที่ 3 และมีบัญชีลูกค้าอยู่กับจำเลยที่ 3 เพื่อเรียกเก็บค่าบริการและตามใบรับขนทางอากาศของสินค้าตามฟ้องได้ระบุว่า ค่าระวางการขนส่งสินค้าครั้งนี้ให้เรียกเก็บจากบัญชีลูกค้าเลขที่ 962038657 ซึ่งเป็นบัญชีของบริษัทฟาบริเนท จำกัด ผู้รับตราส่ง ย่อมหมายความว่าจำเลยที่ 3 มีหน้าที่เรียกเก็บเงินค่าระวางขนส่งสินค้าตามฟ้องจากบริษัทฟาบริเนท จำกัด แทนจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 ผู้ขนส่งมีหน้าที่นำสินค้าตามฟ้องไปส่งให้แก่บริษัทฟาบริเนท จำกัด ผู้รับตราส่งยังที่อยู่ของบริษัทฟาบริเนท จำกัด ที่จังหวัดปทุมธานี แต่นายศรายุทธเบิกความตอบคำถามค้านของทนายโจทก์ว่า หากสินค้าไม่สูญหาย จำเลยที่ 3 จะติดต่อกับบริษัทฟาบริเนท จำกัด ว่าจะให้จำเลยที่ 3 ดำเนินพิธีศุลกากรและนำของไปส่งมอบให้ที่บริษัทหรือไม่ หรือบริษัทจะส่งตัวแทนไปดำเนินพิธีศุลกากรเพื่อออกของเอง การระบุชื่อที่อยู่ของบริษัทมิได้หมายความว่าจำเลยที่ 3 จะต้องนำสินค้าไปมอบให้แก่บริษัทฟาบริเนท จำกัด แต่นายศรายุทธก็มิได้อธิบายว่า จำเลยที่ 2 ผู้ขนส่งจะมอบหมายให้ผู้ใดเป็นตัวแทนในประเทศไทยขนส่งสินค้าไปมอบให้แก่บริษัทฟาบริเนท จำกัด นอกจากจำเลยที่ 3 ซึ่งให้บริการเป็นเครือข่ายเดียวกัน การที่จำเลยที่ 3 ได้มีการมอบหมายให้นายศุภวิทย์ตรวจสอบคลังสินค้าของจำเลยที่ 3 ว่ามีการส่งสินค้ามาที่ประเทศไทยแล้วหรือไม่ ย่อมเป็นข้อบ่งชี้ว่าการขนส่งสินค้าจากบริษัทในเครือข่าย DHL จากต่างประเทศอาจนำเข้ามาเก็บไว้ในคลังสินค้าของจำเลยที่ 3 เพื่อจัดส่งให้แก่ผู้รับสินค้าหรือผู้รับตราส่งต่อไป และการมอบหมายให้นางสาวนุชจารี พนักงานของจำเลยที่ 3 รับผิดชอบเกี่ยวกับการส่งสินค้าตามฟ้อง แสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 3 มีหน้าที่ดูแลสินค้าที่ทางจำเลยที่ 2 ส่งมายังผู้รับตราส่งในประเทศไทยเช่นกัน นอกจากนี้ตามไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ที่นางสาวนุชจารีมีถึงบริษัทฟาบริเนท จำกัด แจ้งว่าจะไม่เรียกเก็บค่าระวางขนส่งสินค้าตามฟ้องจากบริษัทฟาบริเนท จำกัด เนื่องจากสินค้าสูญหายไปหมด และนายศรายุทธก็เบิกความรับว่า การเรียกร้องค่าเสียหายของสินค้าต้องเสนอให้แก่จำเลยที่ 3 และจำเลยที่ 3 จะเป็นผู้จ่ายค่าเสียหายให้ โดยไม่มีการส่งใบเรียกร้องค่าเสียหายไปให้จำเลยที่ 2 ที่สาธารณรัฐอิตาลี อันแสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 มีส่วนได้เสียร่วมกันในการประกอบกิจการขนส่งสินค้าตามฟ้อง ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นผู้ขนส่งประกอบกิจการขนส่งสินค้าร่วมกันและพิพากษาให้ร่วมกันรับผิดต่อโจทก์ชอบแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยที่ 3 ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ