คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5773/2534

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การซื้อขายที่ดินที่บุคคลได้รับสิทธิโดยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม เป็นการต้องห้ามตามพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2518 มาตรา 39 จึงเป็นโมฆะกรรมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 113 ในเขตปฏิรูปที่ดินบุคคลที่มิได้รับจัดสรรจากคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ไม่มีสิทธิแย่งการครอบครองผู้ที่ได้รับจัดสรรเพราะเมื่อผู้ได้รับจัดสรรที่ดินละทิ้งการครอบครองไป การครอบครองที่ดินก็กลับตกมาเป็นของสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมอีกครั้ง ซึ่งสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมมีอำนาจหน้าที่ที่จะจัดสรรให้เกษตรกรที่เหมาะสมได้รับต่อไป และพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2518 มาตรา 37 ห้ามมิให้ยกอายุความครอบครองขึ้นต่อสู้กับสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมในเรื่องที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์ที่สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมได้มาตามพระราชบัญญัติดังกล่าว.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินแปลงเลขที่ 17 ระวาง ส.ป.ก.ที่ 4 เอ็น 3 อี ตำบลลาดแค อำเภอชนแดน จังหวัดเพชรบูรณ์ โดยได้รับมรดกมาจากนายสมบัติ ศรีรัง สามีจำเลยใช้รถไถเข้าไปไถข้าวฟ่างที่โจทก์ปลูกไว้ตั้งแต่ต้นปีเสียหายหมดทั้งแปลง ขอให้บังคับจำเลยและบริวารออกไปจากที่ดินพิพาท และให้จำเลยใช้ค่าเสียหาย 50,000 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การว่า ที่ดินตามฟ้องเป็นของจำเลยซึ่งซื้อมาจากนายสมบัติ เมื่อซื้อแล้วจำเลยเข้าทำประโยชน์ตลอดมา จำเลยไม่ต้องรับผิดในความเสียหายของโจทก์เพราะจำเลยกระทำเพื่อป้องกันสิทธิครอบครองของจำเลย หากโจทก์เสียหายจริงก็ไม่เกิน 400 บาท จำเลยครอบครองติดต่อกันมาเกิน 1 ปี ฟ้องโจทก์ขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษากลับ ให้จำเลยและบริวารออกไปจากที่ดินแปลงเลขที่ 17 ระวาง ส.ป.ก.ที่ 4 เอ็น 3 อี ตำบลลาดแค อำเภอชนแดนจังหวัดเพชรบูรณ์ ห้ามเกี่ยวข้องกับที่ดินดังกล่าวอีกต่อไป และให้จำเลยใช้ค่าเสียหายจำนวน 18,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับกันว่าที่พิพาทเป็นที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินเดิมนายสมบัติ ศรีรัง สามีโจทก์เป็นผู้ได้รับสิทธิทำประโยชน์ในที่ดินจากสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมนายสมบัติถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 3 กันยายน 2524 โจทก์ได้แจ้งขอรับสิทธิในที่พิพาทสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมอนุมัติและออกบัตรประจำตัวเกษตรกรในเขตปฏิรูปที่ดินให้โจทก์แล้ว ปัญหามีว่าระหว่างโจทก์กับจำเลยใครจะมีสิทธิในที่พิพาทดีกว่ากัน จำเลยอ้างว่าซื้อที่พิพาทจากนายสมบัติแล้ว ก่อนที่จะพิจารณาข้อเท็จจริงว่าจำเลยซื้อที่พิพาทจากนายสมบัติและได้ครอบครองแล้วจริงหรือไม่สมควรพิจารณาปัญหาข้อกฎหมายเสียก่อนว่าการซื้อขายที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินจะขัดต่อพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2518 หรือไม่พระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2518 มาตรา 39บัญญัติว่า ที่ดินที่บุคคลได้รับสิทธิโดยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม จะทำการแบ่งแยกหรือโอนสิทธิในที่ดินนั้นไปยังผู้อื่นมิได้เว้นแต่เป็นการตกทอดทางมรดกแก่ทายาทโดยธรรม หรือโอนไปยังสถาบันเกษตรกร ฯลฯ ตามบทกฎหมายนี้เห็นได้ว่า นิติกรรมระหว่างนายสมบัติกับจำเลย (ถ้ามี) ก็เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งตามกฎหมาย จึงเป็นโมฆะกรรมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 113 ข้อเท็จจริงที่จำเลยอ้างจึงไม่มีผลบังคับในคดีนี้ จำเลยฎีกาต่อมาว่า โดยสัญญาซื้อขายดังกล่าวจำเลยได้เข้าครอบครองที่พิพาทแล้วจึงได้สิทธิตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1375 วรรคสอง โจทก์ต้องฟ้องร้องภายในปีหนึ่งนับแต่เวลาถูกแย่งการครอบครองน นั้น ตามพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2518 มาตรา 19(7) บัญญัติให้คณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมมีอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบในการกำหนดหลักเกณฑ์วิธีการ และเงื่อนไขในการคัดเลือกเกษตรกรและสถาบันเกษตรกรซึ่งจะมีสิทธิได้รับที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ฯลฯ ดังนี้จะเห็นได้ว่าบุคคลหรือเกษตรกรที่จะเข้ามาอยู่ในเขตปฏิรูปที่ดินได้ต้องได้รับการพิจารณาและอนุมัติจากคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมก่อน และตามมาตรา 37 ก็ห้ามมิให้ยกอายุความครอบครองขึ้นต่อสู้กับสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมในเรื่องที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์ที่สำนักงานการปฏิรูปที่ดินได้มาตามพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2518 โดยอาศัยบทบัญญัติดังกล่าวศาลฎีกาเห็นว่าในเขตปฏิรูปที่ดินนั้นบุคคลที่มิได้รับจัดสรรจากคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมไม่มีสิทธิแย่งการครอบครองผู้ที่ได้รับจัดสรรเพราะ เมื่อผู้ได้รับจัดสรรที่ดินและทิ้งการครอบครองไป การครอบครองที่ดินก็กลับตกมาเป็นของสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมใหม่ซึ่งสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมมีอำนาจหน้าที่ที่จะจัดให้เกษตรกรที่เหมาะสมได้รับต่อไป และไม่ปรากฏว่าคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมได้พิจารณาและอนุมัติให้จำเลยได้รับสิทธิในที่พิพาทประการใด แม้จะฟังว่าจำเลยแย่งการครอบครองจากโจทก์เกิน 1 ปีแล้วก็ตาม ก็ไม่ทำให้จำเลยมีสิทธิครอบครองที่พิพาทซึ่งเป็นที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินได้ จำเลยต้องออกจากที่พิพาทไป
พิพากษายืน.

Share