คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5763/2541

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

รถยนต์โดยสารของโจทก์ได้เกิดอุบัติเหตุมีผู้โดยสารตกจากรถของโจทก์ จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าพนักงานตำรวจมีฐานะ เป็นผู้ช่วยพนักงานสอบสวนได้กระทำการโดยนำรถคันที่เกิดเหตุ มาจอดไว้ที่ริมถนนหน้าสถานีตำรวจเพื่อมิให้กีดขวาง ทางจราจรตามคำสั่งของพนักงานสอบสวน ต่อมาอุปกรณ์ในรถของโจทก์สูญหายในขณะอยู่ในความครอบครองดูแลของ พนักงานสอบสวน เหตุละเมิดซึ่งทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายได้เกิดขึ้นแล้ว หากแต่มิได้เกิดขึ้นในขณะอยู่ในความรับผิดชอบของจำเลยที่ 1 แต่เกิดขึ้นในขณะอยู่ในความรับผิดชอบของพนักงานสอบสวน การที่พนักงานสอบสวนมีคำสั่งยึดรถเนื่องจากรถที่สั่งยึดเกิดอุบัติเหตุ จึงเป็นการปฏิบัติราชการตามหน้าที่ในฐานะผู้แทนของจำเลยที่ 2 เมื่อพนักงานสอบสวนนำรถไปจอดอยู่ที่ฝั่งตรงข้ามสถานีตำรวจโดยมิได้จัดให้มีผู้ดูแลรักษาตามสมควร เป็นเหตุให้อุปกรณ์ในรถสูญหายไปบางส่วน จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นนิติบุคคลจึงต้องรับผิด ต่อโจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 76 ไม่ว่าผู้แทนของโจทก์ที่ก่อให้เกิดความเสียหายนั้นจะเป็น จำเลยที่ 1 หรือพนักงานสอบสวน จำเลยที่ 2 ก็ปฏิเสธ ความรับผิดไม่ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ยถึงวันฟ้องจำนวน 79,762.85 บาท และดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 74,198 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การว่า จำเลยที่ 1 ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์เพราะขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 1 เป็นเพียงนายตำรวจฝึกหัดปฏิบัติงานเท่านั้น มิได้เป็นพนักงานสอบสวนตามกฎหมาย และพนักงานสอบสวนมีอำนาจยึดรถยนต์คันเกิดเหตุได้ตามพระราชบัญญัติจราจรทางบกเนื่องจากผู้ขับรถยนต์ของโจทก์ขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับบาดเจ็บสาหัส แล้วหลบหนีไม่แสดงตัวและแจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่อีกทั้งพนักงานสอบสวนได้ใช้ความระมัดระวังดูแลรถโดยนำมาเก็บรักษาไว้ใกล้กับสถานีตำรวจนครบาลลุมพินีโดยจอดไว้ริมถนนฝั่งตรงข้ามกับสถานีตำรวจ นอกจากนั้นยังได้แจ้งให้โจทก์ส่งพนักงานของโจทก์มาตรวจสอบและถอดอุปกรณ์ของรถในส่วนที่จะสูญหายง่ายไป แต่พนักงานของโจทก์ไม่ถอดอุปกรณ์ในส่วนที่จะสูญหายง่ายออกไปให้หมดและมิได้ปิดล็อกรถไว้ ความเสียหายจึงเกิดจากความประมาทของพนักงานโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 74,198บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 1นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 เฉพาะข้อกฎหมายว่า เมื่อศาลอุทธรณ์ฟังว่าจำเลยที่ 1 ผู้แทนมิได้เป็นผู้กระทำละเมิดต่อโจทก์แล้วจะต้องยกฟ้องจำเลยที่ 2 ด้วยหรือไม่ ซึ่งในการวินิจฉัยข้อกฎหมายจะต้องถือข้อเท็จจริงซึ่งฟังเป็นยุติในศาลอุทธรณ์ว่า เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2535 รถยนต์โดยสารของโจทก์คันหมายเลขทะเบียน 11 – 9642 กรุงเทพมหานครได้เกิดอุบัติเหตุมีผู้โดยสารตกจากรถของโจทก์ จำเลยที่ 1เป็นเจ้าพนักงานตำรวจมีฐานะเป็นผู้ช่วยพนักงานสอบสวนได้กระทำการโดยนำรถคันที่เกิดเหตุมาจอดไว้ที่ริมถนนหน้าสถานีตำรวจนครบาลลุมพินี เพื่อมิให้กีดขวางทางจราจรตามคำสั่งของพนักงานสอบสวนพันตำรวจโทอุดมวิทย์ เนียมอินทร์ เป็นพนักงานสอบสวนในขณะนั้นและเป็นผู้มีคำสั่งยึดรถของโจทก์ไว้ ต่อมาอุปกรณ์ในรถของโจทก์สูญหายในขณะอยู่ในความครอบครองดูแลของพนักงานสอบสวน จำเลยที่ 1มิได้ประมาทเลินเล่อจึงไม่ต้องรับผิดในมูลละเมิด เห็นว่า เหตุละเมิดซึ่งทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายได้เกิดขึ้นแล้ว หากแต่มิได้เกิดขึ้นในขณะอยู่ในความรับผิดชอบของจำเลยที่ 1 แต่เกิดขึ้นในขณะอยู่ในความรับผิดชอบของพันตำรวจโทอุดมวิทย์ซึ่งเป็นพนักงานสอบสวน การที่พนักงานสอบสวนมีคำสั่งยึดรถเนื่องจากรถที่สั่งยึดเกิดอุบัติเหตุ จึงเป็นการปฏิบัติราชการตามหน้าที่ในฐานะผู้แทนของจำเลยที่ 2 เมื่อพนักงานสอบสวนนำรถไปจอดอยู่ที่ฝั่งตรงข้ามสถานีตำรวจนครบาลลุมพินีโดยมิได้จัดให้มีผู้ดูแลรักษาตามสมควร เป็นเหตุให้อุปกรณ์ในรถสูญหายไปบางส่วน จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นนิติบุคคลจึงต้องรับผิดต่อโจทก์ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 76 ไม่ว่าผู้แทนของโจทก์ที่ก่อให้เกิดความเสียหายนั้นจะเป็นจำเลยที่ 1 หรือพันตำรวจโทอุดมวิทย์หรือพนักงานสอบสวนคนอื่น จำเลยที่ 2 ก็ปฏิเสธความรับผิดไม่ได้
พิพากษายืน

Share