คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5788/2541

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ผู้ร้องสอดยื่นคำร้องสอดว่า ที่โจทก์ฟ้องจำเลยให้นำที่ดินสินสมรสระหว่างโจทก์จำเลยจำนวน 2 แปลงตามฟ้องออกขายแล้วนำเงินมาแบ่งกันคนละครึ่งนั้นความจริงผู้ร้องสอดมีส่วนร่วมในการซื้อที่ดินดังกล่าวมาตั้งแต่แรก ผู้ร้องสอดได้ซื้อทรัพย์สินดังกล่าวโดยกู้ยืมเงินจากบุคคลอื่นมาจ่ายค่าซื้อทรัพย์บางส่วนและบางส่วน ได้ใช้เงินส่วนตัวชำระไป เฉพาะส่วนของจำเลยและโจทก์นั้นรวมราคาทรัพย์สินทั้งสองรายการเป็นเงินไม่เกิน 100,000 บาท จึงขอร้องสอดเข้าเป็นคู่ความเพื่อให้ได้รับความรับรอง คุ้มครอง หรือบังคับตามสิทธิของตนที่มีอยู่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57(1)เมื่อคำร้องสอดเป็นคำฟ้องตามมาตรา 1(3) จึงต้องแสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาของโจทก์และคำขอบังคับทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้นตามมาตรา 172 แต่คำร้องสอดของผู้ร้องไม่มีคำขอให้ศาลบังคับ คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งในกรณีผู้ร้องสอดชนะคดีในประเด็นข้อพิพาท จึงไม่เป็นคำร้องสอดที่ชอบด้วยกฎหมายที่ศาลจะรับไว้พิจารณา แม้ตามคำร้องสอดระบุว่า โจทก์และจำเลยมีสิทธิในทรัพย์สินเพียง 100,000 บาท เท่านั้น การที่โจทก์มาฟ้องขอแบ่งกรรมสิทธิ์กับจำเลย โดยตีราคาทรัพย์สินเป็นเงิน1,600,000 บาท และขอแบ่งกรรมสิทธิ์เป็นเงิน 800,000 บาทคำร้องสอดดังกล่าวแสดงถึงสิทธิของผู้ร้องสอดว่าเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่โจทก์และจำเลยพิพาทกันคิดเป็นเงิน 1,500,000 บาท ก็ตาม ก็มิใช่คำขอบังคับตามความหมายในมาตรา 172 วรรคสอง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์และจำเลยจดทะเบียนหย่ากันโดยทำบันทึกการหย่าตกลงให้ขายที่ดินสินสมรส 2 แปลงตามโฉนดเลขที่ 93785 พร้อมสิ่งปลูกสร้าง และโฉนดเลขที่ 33199แล้วแบ่งเงินกันคนละครึ่ง แต่จำเลยเพิกเฉยไม่ปฏิบัติตามข้อตกลง ขอให้บังคับจำเลยขายที่ดินโฉนดเลขที่ 93785พร้อมสิ่งปลูกสร้างและที่ดินโฉนดเลขที่ 33199 ดังกล่าว ในราคา500,000 บาท และราคา 1,100,000 บาท ตามลำดับ แล้วแบ่งให้โจทก์เป็นเงิน 800,000 บาท หากไม่ขายให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลเป็นการแสดงเจตนา ถ้าไม่สามารถขายได้ให้จำเลยชำระค่าที่ดินให้โจทก์เป็นเงิน 800,000 บาท ให้จำเลยชำระค่าเสียหายในการครอบครองทรัพย์สินส่วนของโจทก์ถึงวันฟ้อง เป็นเงิน25,000 บาท และนับจากวันฟ้องเป็นต้นไปอีกเดือนละ 5,000 บาทจนกว่าจะแบ่งทรัพย์
จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ
ระหว่างพิจารณา นางไพลิน อาศรัยผู้ร้องสอดยื่นคำร้องสอดว่า ผู้ร้องสอดเป็นมารดาจำเลยและมีส่วนร่วมในการซื้อที่ดินตามฟ้อง 2 แปลงมาตั้งแต่แรก หาใช่เป็นของโจทก์และจำเลยเพียง 2 คนไม่ ทรัพย์ดังกล่าวเฉพาะส่วนของโจทก์และจำเลยมีราคาไม่เกิน 100,000 บาท ขอร้องสอดเข้าเป็นคู่ความเพื่อให้ได้รับความรับรอง คุ้มครอง หรือบังคับตามสิทธิของตนที่มีอยู่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57(1)ศาลชั้นต้นอนุญาต
โจทก์ยื่นคำให้การแก้คำร้องสอดว่า ผู้ร้องสอดไม่มีส่วนเป็นเจ้าของทรัพย์พิพาท โจทก์และจำเลยเป็นผู้ซื้อทรัพย์พิพาทเพียง 2 คน ขอให้ยกคำร้องขอของผู้ร้องสอด
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยขายที่ดินโฉนดเลขที่ 93785พร้อมสิ่งปลูกสร้างอาคารเลขที่ 224/158 ในราคาไม่ต่ำกว่า500,000 บาท และขายที่ดินโฉนดเลขที่ 33199 ในราคาไม่ต่ำกว่า1,100,000 บาท นำเงินแบ่งให้โจทก์ครึ่งหนึ่ง หากจำเลยไม่ขายให้นำทรัพย์สินดังกล่าวออกขายทอดตลาดนำเงินแบ่งให้โจทก์ครึ่งหนึ่ง คำขอของโจทก์นอกจากนี้ให้ยก และให้ยกคำร้องของผู้ร้องสอด
ผู้ร้องสอดและจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายกอุทธรณ์ผู้ร้องสอดและจำเลยให้คืนค่าธรรมเนียมศาลชั้นอุทธรณ์ทั้งหมดให้แก่ผู้ร้องสอดและจำเลย
ผู้ร้องสอดฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาผู้ร้องสอดว่าคำร้องสอดของผู้ร้องสอดชอบหรือไม่นั้น ปรากฏจากคำร้องสอดว่าที่โจทก์ฟ้องจำเลยให้นำที่ดินสินสมรสระหว่างโจทก์จำเลยจำนวน 2 แปลง ตามฟ้องออกขายแล้วนำเงินมาแบ่งกันคนละครึ่งนั้นความจริงผู้ร้องสอดมีส่วนร่วมในการซื้อที่ดินดังกล่าวมาตั้งแต่แรกผู้ร้องสอดได้ซื้อทรัพย์สินดังกล่าวโดยกู้ยืมเงินจากบุคคลอื่นมาจ่ายค่าซื้อทรัพย์บางส่วน และบางส่วนได้ใช้เงินส่วนตัวชำระไป เฉพาะส่วนของจำเลยและโจทก์นั้นรวมราคาทรัพย์สินทั้งสองรายการเป็นเงินไม่เกิน 100,000 บาท จึงขอร้องสอดเข้าเป็นคู่ความเพื่อให้ได้รับความรับรอง คุ้มครอง หรือบังคับตามสิทธิของตนที่มีอยู่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 57(1) ศาลฎีกาเห็นว่าตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งคำร้องสอดเป็นคำฟ้องตามมาตรา 1(3) ซึ่งมาตรา 172 วรรคสองบัญญัติว่า “คำฟ้องต้องแสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาของโจทก์และคำขอบังคับ ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้น” ศาลฎีกาเห็นว่า คำร้องสอดดังกล่าวไม่มีคำขอบังคับซึ่งหมายถึงขอให้ศาลบังคับคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งในกรณีผู้ร้องสอดชนะคดีในประเด็นข้อพิพาท แม้จะไม่ขาดหลักเกณฑ์อื่นตามที่กฎหมายบังคับ ก็ไม่ทำให้คำร้องสอดนั้นชอบด้วยกฎหมาย ผู้ร้องสอดฎีกาว่า ตามคำร้องสอดระบุว่า โจทก์และจำเลยมีสิทธิในทรัพย์สินเพียง 100,000 บาท เท่านั้น การที่โจทก์มาฟ้องขอแบ่งกรรมสิทธิ์กับจำเลย โดยตีราคาทรัพย์สินเป็นเงิน 1,600,000 บาทและขอแบ่งกรรมสิทธิ์เป็นเงิน 800,000 บาท จึงเห็นได้ว่าตามคำร้องสอดของผู้ร้องสอดแสดงถึงสิทธิของผู้ร้องสอดว่าผู้ร้องสอดเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่โจทก์และจำเลยพิพาทกันคิดเป็นเงิน 1,500,000 บาท นั้น ศาลฎีกาเห็นว่ามิใช่คำขอบังคับตามความหมายในมาตรา 172 วรรคสอง อันจะมีผลทำให้เป็นคำร้องสอดที่ชอบด้วยกฎหมายดังจำเลยอ้าง
พิพากษายืน

Share