คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5763/2539

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

โจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้จำเลยชำระค่าทดแทนที่ดินส่วนที่ยังขาดอยู่ตามประกาศคณะกรรมการแก้ไขราคาเบื้องต้นจึงเป็นกรณีที่ขอให้บังคับจำเลยปฏิบัติตามประกาศคณะกรรมการดังกล่าวหาใช่กรณีที่โจทก์ไม่พอใจจำนวนเงินค่าทดแทนที่คณะกรรมการดังกล่าวกำหนดซึ่งต้องอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีภายใน60วันตามมาตรา25วรรคหนึ่งแห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์พ.ศ.2530ที่แก้ไขใหม่ไม่โจทก์ทั้งสองจึงมีอำนาจฟ้อง

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสองฟ้องว่า จำเลยจ่ายค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืนให้โจทก์ขาดไปขอบังคับให้จำเลยชำระเงิน 1,161,533.90 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงิน 1,048,395 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสอง
จำเลยให้การว่า โจทก์ทั้งสองไม่มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนที่ดินเพิ่มตามฟ้องทั้งโจทก์มิได้อุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยภายใน 60 วัน นับแต่รับเงินค่าทดแทนการเวนคืนที่ดินของโจทก์จึงเสร็จเด็ดขาดแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์
โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “โจทก์ทั้งสองฎีกาข้อเดียวว่า โจทก์ทั้งสองมิได้โต้แย้งค่าทดแทนที่จำเลยกำหนดให้โจทก์เพราะได้ยุติไปแล้วแต่โจทก์ทั้งสองฟ้องคดีนี้เพื่อเรียกค่าทดแทนที่โจทก์ทั้งสองสมควรจะได้รับเพิ่มขึ้น ตามประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติฉบับที่ 44 ไม่ใช่เป็นการเรียกร้องค่าทดแทนตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มาตรา 25วรรคหนึ่ง จึงไม่ต้องตกอยู่ภายใต้เงื่อนเวลาตามที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัย โจทก์ทั้งสองมีอำนาจฟ้องได้เห็นว่า ข้อเท็จจริงยุติตามที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัย โดยโจทก์ทั้งสองมิได้ฎีกาโต้แย้งว่าโจทก์ทั้งสองเป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 2374 แขวงสี่พระยา เขตบางรักกรุงเทพมหานคร เนื้อที่ 37 ตารางวา พร้อมบ้านทาวน์เฮาส์เลขที่ 49ซึ่งปลูกสร้างอยู่บนที่ดินดังกล่าว ต่อมามีพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน ในท้องที่อำเภอปากเกร็ดอำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี และเขตบางเขน เขตดุสิตเขตพญาไท เขตปทุมวัน เขตบางรัก เขตยานนาวา เขตห้วยขวางเขตบางกะปิ เขตพระโขนง กรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2530 เพื่อสร้างทางพิเศษสายแจ้งวัฒนะ-บางโคล่ และสายพญาไท-ศรีนครินทร์ตามเอกสารหมาย จ.11 หรือ ล.1 ออกใช้บังคับ และที่ดินกับบ้านทาวน์เฮ้าส์ของโจทก์ทั้งสองถูกเวนคืนตามพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวทั้งหมด ซึ่งโจทก์ทั้งสองได้ตกลงซื้อขายที่ดินและสิ่งปลูกสร้างกับจำเลยในกรณีที่ไม่อาจตกลงกันได้ในเรื่องจำนวนเงินค่าทดแทนเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2533 โดยตกลงยอมรับเงินค่าทดแทนตามที่คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นและจำนวนเงินค่าทดแทนอสังหาริมทรัพย์ที่จะต้องเวนคืนกำหนดให้ไปก่อนคือที่ดินตารางวาละ 50,000 บาท คิดเป็นเงิน 1,850,000 บาทบ้านทาวน์เฮาส์รั้วคอนกรีต ต้นไม้ และพื้นคอนกรีต เป็นเงิน1,429,697.01 บาท รวมเป็นเงินค่าทดแทนทั้งสิ้น 3,279,697.01 บาทและขอสงวนสิทธิอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยไว้ตามเอกสารหมาย จ.1 หรือ ล.2 ต่อมาวันที่ 25 กันยายน 2533โจทก์ที่ 1 ได้ทำหนังสืออุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเพื่อขอให้จำเลยจ่ายเงินค่าทดแทนเพิ่ม ตามหนังสืออุทธรณ์เอกสารหมายจ.13 หรือ ล.3 ครั้นวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2534 มีประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติฉบับที่ 44 เรื่อง การแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ ออกประกาศใช้บังคับมีสาระสำคัญให้รัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชกฤษฎีกาโดยอนุมัติของคณะรัฐมนตรีมีอำนาจสั่งให้คณะกรรมการที่ตั้งไว้เดิมหรือคณะกรรมการที่แต่งตั้งขึ้นใหม่ แก้ไขราคาของอสังหาริมทรัพย์หรือราคาเบื้องต้นสำหรับที่ดินที่คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นและจำนวนเงินค่าทดแทนอสังหาริมทรัพย์ที่จะต้องเวนคืนกำหนดไว้เดิมและประกาศไปแล้วซึ่งไม่เป็นธรรมเสียใหม่ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติได้ และให้ถือว่าราคาของอสังหาริมทรัพย์ที่แก้ไขแล้วเป็นราคาซื้อขายที่ตกลงกันใหม่แทนราคาเดิมตามประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติฉบับที่ 44 เอกสารหมาย จ.14 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยได้แต่งตั้งคณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นและจำนวนเงินค่าทดแทนเพื่อทำหน้าที่แก้ไขราคาเบื้องต้นและจำนวนเงินค่าทดแทนอสังหาริมทรัพย์ที่จะต้องเวนคืนขึ้น ตามเอกสารหมาย ล.9 คณะกรรมการดังกล่าวได้กำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการแก้ไขราคาเบื้องต้นแล้วรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยมีหนังสือไปยังเลขาธิการคณะรัฐมนตรีเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรี ตามเอกสารหมาย ล.5 และคณะรัฐมนตรีเห็นชอบด้วยตามหนังสือสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ฉบับลงวันที่23 กันยายน 2534 เอกสารหมาย จ.2 หรือ ล.6 ต่อมาคณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นและจำนวนเงินค่าทดแทนเพื่อทำหน้าที่แก้ไขราคาเบื้องต้นได้ประชุมและออกประกาศแก้ไขราคาค่าทดแทนตามรายงานการประชุมเอกสารหมาย ล.7 และประกาศคณะกรรมการแก้ไขราคาเบื้องต้นเอกสารหมาย ล.8 กำหนดว่า ที่ดินของโจทก์ทั้งสองได้เงินค่าทดแทนเพิ่มขึ้น 156.67 เปอร์เซ็นต์ คิดเป็นเงินเพิ่มอีก 2,898,395 บาท รวมเป็นค่าทดแทนทั้งสิ้น 4,748,395 บาท และสิ่งปลูกสร้างได้ค่าทดแทนเพิ่ม 32.68 เปอร์เซ็นต์ คิดเป็นเงิน1,893,750.94 บาท รวมเป็นเงิน 6,642,145.94 บาท และจำเลยมีหนังสือลงวันที่ 25 สิงหาคม 2535 เชิญโจทก์ที่ 1 ให้ไปรับเงินค่าทดแทนที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเพิ่ม ตามเอกสารหมาย จ.5โดยกำหนดเงินค่าทดแทนเพิ่มสำหรับที่ดิน 1,850,000 บาท และสิ่งปลูกสร้าง 466,443.93 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 2,316,443.93 บาทโจทก์ทั้งสองรับเงินจำนวนดังกล่าวไปแล้วเมื่อวันที่ 9 กันยายน2535 ตามบันทึกการรับเงินค่าทดแทนทรัพย์สินเพิ่มเอกสารหมาย จ.9หรือ ล.10 ต่อมาเมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2536 โจทก์ที่ 1 มีหนังสือขอความเป็นธรรมต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ตามเอกสารหมายจ.4 เห็นว่าตามมาตรา 10 ทวิ แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมใหม่โดยประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ฉบับที่ 44 ข้อ 2 ให้อำนาจรัฐมนตรีโดยอนุมัติของคณะรัฐมนตรีมีอำนาจสั่งให้คณะกรรมการตามมาตรา 9 หรือคณะกรรมการที่แต่งตั้งขึ้นใหม่ตามหลักเกณฑ์ในมาตรา 9 แก้ไขราคาของอสังหาริมทรัพย์หรือราคาเบื้องต้น สำหรับที่ดินที่คณะกรรมการได้กำหนดและประกาศไปแล้วเสียใหม่ได้ และให้ถือว่าราคาของอสังหาริมทรัพย์ที่แก้ไขใหม่แล้วเป็นราคาซื้อขายที่ตกลงกันใหม่แทนราคาเดิมและราคาเบื้องต้นที่แก้ไขแล้วเป็นราคาเบื้องต้นที่คณะกรรมการกำหนดตามมาตรา 9 และตามมาตรา 25 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 ซึ่งแก้ไขใหม่โดยประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ฉบับที่ 44 ข้อ 3 กำหนดให้ผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนตามมาตรา 18 ซึ่งไม่พอใจในราคาของอสังหาริมทรัพย์หรือจำนวนเงินค่าทดแทนที่คณะกรรมการกำหนดตามมาตรา 10 ทวิ มีสิทธิอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีได้ภายใน 60 วัน นับแต่วันได้รับหนังสือจากเจ้าหน้าที่หรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากเจ้าหน้าที่ให้มารับเงินค่าทดแทนดังกล่าวแต่คดีนี้โจทก์พอใจในจำนวนเงินค่าทดแทนที่ดินที่คณะกรรมการกำหนดตามมาตรา 10 ทวิให้โจทก์เพิ่มขึ้นอีก 156.67 เปอร์เซ็นต์ คิดเป็นเงินเพิ่ม2,898,395 บาท รวมเป็นค่าทดแทนที่ดินทั้งสิ้น 4,748,395 บาทตามรายงานการประชุมคณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นและจำนวนเงินค่าทดแทนเพื่อทำหน้าที่แก้ไขราคาเบื้องต้นเอกสารหมาย ล.7และประกาศคณะกรรมการแก้ไขราคาเบื้องต้นเอกสารหมาย ล.8แต่จำเลยจ่ายค่าทดแทนที่ดินให้โจทก์ทั้งสองเพิ่มเพียง 100เปอร์เซ็นต์ คิดเป็นเงินเพียง 1,850,000 บาท โจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้จำเลยชำระค่าทดแทนที่ดินส่วนที่ยังขาดอยู่ตามประกาศคณะกรรมการดังกล่าว จึงเป็นกรณีที่โจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้บังคับจำเลยปฏิบัติตามประกาศคณะกรรมการดังกล่าวหาใช่กรณีที่โจทก์ทั้งสองไม่พอใจจำนวนเงินค่าทดแทนที่คณะกรรมการดังกล่าวกำหนดอันจะต้องอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีภายใน 60 วัน ตามมาตรา 25 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 ไม่ โจทก์ทั้งสองจึงมีอำนาจฟ้อง เมื่อจำเลยยังค้างชำระค่าทดแทนที่ดินตามประกาศคณะกรรมการดังกล่าวอีก 1,048,395 บาท จึงมีหน้าที่ต้องชำระให้โจทก์ทั้งสอง ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกฟ้องนั้นไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ทั้งสองฟังขึ้น”
พิพากษากลับ ให้จำเลยชำระเงินค่าทดแทน 1,048,395 บาทแก่โจทก์ทั้งสอง พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสินแต่ไม่เกินอัตราร้อยละ7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันที่ 9 กันยายน 2535อันเป็นวันที่โจทก์ทั้งสองรับเงินค่าทดแทนเพียงบางส่วน จนกว่าจะชำระเสร็จ ทั้งนี้ดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 9 กันยายน 2535 คิดถึงวันฟ้องไม่เกิน 113,138.90 บาท

Share