คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5760/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตามสัญญากู้เงินฉบับพิพาทมีข้อตกลงว่า จำเลยทั้งสองจะต้องชำระหนี้เป็นรายเดือนทุก ๆ เดือน ภายในวันที่ 5 ของเดือนแต่ถึงอย่างไรก็ดีจำเลยทั้งสองจะต้องชำระหนี้ให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 19 พฤษภาคม 2541 และในตอนท้ายของสัญญายังระบุว่าไม่เป็นการตัดสิทธิของผู้ให้กู้ที่จะเรียกร้องให้ผู้กู้ชำระหนี้ตามสัญญาทั้งหมดหรือแต่บางส่วนก่อนกำหนดที่กล่าวมาก็ได้ตามแต่ผู้ให้กู้จะเห็นสมควร โดยมิพักต้องชี้แจงแสดงเหตุ กับมีข้อตกลงต่อท้ายสัญญาอีกว่า ถ้าผู้กู้ผิดไม่ชำระต้นเงินหรือดอกเบี้ยตามข้อตกลงแห่งสัญญากู้เงินฉบับพิพาทให้ถือว่าผู้กู้ผิดนัดทั้งหมดยินยอมให้คิดดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นในอัตราร้อยละ 13.5 ต่อปี หรือเท่ากับอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมที่ธนาคารพาณิชย์ จะสามารถเรียกเก็บจากผู้กู้ได้ตามประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทยที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้นตามการแก่กรณี ทั้งนี้จนกว่าผู้กู้จะชำระหนี้คืนให้แก่ธนาคารผู้ให้กู้เสร็จสิ้นเชิง ดังนั้น เมื่อจำเลยทั้งสองผิดนัดไม่ชำระหนี้ให้โจทก์ตามที่ได้ตกลงไว้ในข้อตกลง ต่อท้ายสัญญากู้เงินจึงฟังได้ว่าจำเลยทั้งสองเป็นฝ่ายผิดสัญญา โจทก์ ย่อมมีสิทธิฟ้องบังคับเอาแก่จำเลยทั้งสองได้ ส่วนการที่จำเลยทั้งสองชำระหนี้บางส่วนหลังจากที่ตกเป็นฝ่าย ผิดสัญญาแล้ว ก็เป็นสิทธิของโจทก์ที่จะรับชำระหนี้ได้ กรณีมิใช่การสละประโยชน์แห่งเงื่อนเวลาตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 192

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2531 จำเลยทั้งสองร่วมกันกู้ยืมเงินโจทก์จำนวน 500,000 บาท ยอมเสียดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 12.25 ต่อปี ตกลงผ่อนชำระต้นเงินและดอกเบี้ยเดือนละไม่น้อยกว่า 7,300 บาท ภายในวันที่ 5 ของเดือน หากผิดนัดยอมให้โจทก์คิดดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดตามประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทย กำหนดชำระหนี้ให้เสร็จสิ้นภายในวันที่19 พฤษภาคม 2541 โดยจำเลยทั้งสองได้จดทะเบียนจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 48758 พร้อมสิ่งปลูกสร้างไว้แก่โจทก์เป็นประกันจำเลยทั้งสองผิดนัดหลายครั้งจำเลยทั้งสองชำระหนี้ให้โจทก์ครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2533 จำนวน 20,000 บาทโจทก์หักชำระดอกเบี้ยแล้ว จำเลยทั้งสองยังค้างชำระต้นเงิน482,017.63 บาท และดอกเบี้ย 27,383.34 บาท โจทก์มีหนังสือทวงถามให้จำเลยทั้งสองชำระหนี้ไถ่ถอนจำนองแล้วจำเลยทั้งสองเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน913,133.59 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15.5 ต่อปีของต้นเงิน 482,017.63 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากไม่ชำระ ให้ยึดทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาด ถ้าได้เงินไม่พอชำระหนี้ ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสองออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์จนครบ
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 1 ได้ผ่อนชำระต้นเงินพร้อมดอกเบี้ยให้โจทก์แล้วประมาณ 500,000 บาท ยังเป็นหนี้ประมาณ 300,000 บาท จำเลยที่ 2 ไม่ได้ผิดสัญญา โจทก์ยังไม่มีสิทธินำคดีมาฟ้อง โจทก์เรียกดอกเบี้ยเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด และไม่เคยทวงถามให้ชำระหนี้ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน913,133.59 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15.5 ต่อปีของต้นเงิน 482,017.63 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากไม่ชำระให้ยึดทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดถ้าได้เงินไม่พอชำระหนี้ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสองออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์จนครบ
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยที่ 2ว่า จำเลยทั้งสองผิดสัญญาแล้วหรือไม่ จำเลยที่ 2 ฎีกาว่าจำเลยทั้งสองไม่ได้ผ่อนชำระเงินทุกเดือน การที่โจทก์ยอมรับเงินที่จำเลยทั้งสองชำระครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2533 ย่อมถือได้ว่าโจทก์ไม่ได้ถือเอาเงื่อนเวลาที่ให้จำเลยทั้งสองผ่อนชำระเงินทุก ๆ เดือนเป็นสาระสำคัญ จึงต้องถือเอาวันที่ 19 พฤษภาคม 2541 เป็นวันครบกำหนดชำระคืนต้นเงินพร้อมดอกเบี้ย เมื่อยังไม่ครบกำหนดตามสัญญากู้เงิน โจทก์จึงไม่มีสิทธินำคดีมาฟ้อง เห็นว่า ตามสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.2 ข้อ 2 และข้อ 3 มีความหมายว่า จำเลยทั้งสองจะต้องชำระหนี้เป็นรายเดือนทุก ๆ เดือนภายในวันที่ 5 ของเดือน แต่ถึงอย่างไรก็ดีจำเลยทั้งสองจะต้องชำระหนี้ให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 19 พฤษภาคม 2541 และในตอนท้ายของสัญญาข้อ 3 ยังระบุว่า ไม่เป็นการตัดสิทธิของผู้ให้กู้ที่จะเรียกร้องให้ผู้กู้ชำระหนี้ตามสัญญาทั้งหมดหรือแต่บางส่วนก่อนกำหนดที่กล่าวมาก็ได้ตามแต่ผู้ให้กู้จะเห็นสมควรโดยมิพักต้องชี้แจงแสดงเหตุ และมีข้อตกลงต่อท้ายสัญญาอีกว่าถ้าผู้กู้ผิดนัดไม่ชำระต้นเงินหรือดอกเบี้ยตามข้อ 2 และ ข้อ 3แห่งสัญญากู้เงินฉบับลงวันที่ 19 พฤษภาคม 2531 ให้ถือว่าผู้กู้ผิดนัดทั้งหมด ยินยอมให้คิดดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นในอัตราร้อยละ13.5 ต่อปี หรือเท่ากับอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมที่ธนาคารพาณิชย์จะสามารถเรียกเก็บจากผู้กู้ได้ตามประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทยที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้นตามการแก่กรณีทั้งนี้จนกว่าผู้กู้จะชำระหนี้คืนให้แก่ธนาคารผู้ให้กู้เสร็จสิ้นเชิง ดังนั้น เมื่อจำเลยทั้งสองผิดนัดไม่ชำระหนี้ให้โจทก์ตามที่ได้ตกลงไว้ในข้อตกลงต่อท้ายสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.2 จึงฟังได้ว่าจำเลยทั้งสองเป็นฝ่ายผิดสัญญา โจทก์มีสิทธิฟ้องบังคับเอาแก่จำเลยทั้งสองได้ และการที่จำเลยทั้งสองชำระหนี้บางส่วนหลังจากที่ตกเป็นฝ่ายผิดสัญญาแล้วก็เป็นสิทธิของโจทก์ที่จะรับชำระหนี้ได้ กรณีมิใช่การสละประโยชน์แห่งเงื่อนเวลาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 192
พิพากษายืน

Share