คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 552/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องให้จำเลยคืนเงินค่าภาษีการค้าที่โจทก์มอบให้ไปชำระแก่กรมสรรพากรแทนแต่จำเลยไม่นำไปชำระเป็นการฟ้องเพื่อใช้สิทธิติดตามเอาทรัพย์ของโจทก์คืนจากจำเลยผู้ไม่มีสิทธิยึดถือทรัพย์ของโจทก์ไว้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1336ซึ่งไม่มีกำหนดเวลาให้เจ้าของทรัพย์ใช้สิทธิเช่นนี้เว้นแต่จะถูกจำกัดด้วยอายุความได้สิทธิส่วนเงินค่าจ้างที่โจทก์ฟ้องเรียกคืนนั้นเป็นการฟ้องเรียกเงินคืนจากจำเลยที่รับเงินไปจากโจทก์แล้วผิดสัญญาไม่กระทำการที่จ้างมิใช่ฟ้องเรียกค่าเสียหายในมูลละเมิดกรณีนี้ไม่มีกฎหมายบัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะจึงใช้อายุความ10ปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา193/30

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า ประมาณปลายปี 2528 โจทก์ว่าจ้างจำเลยที่ 1ทำบัญชีภาษีการค้าและงบดุล และมีหน้าที่รับเงินค่าภาษีการค้าของโจทก์ไปชำระให้แก่กรมสรรพากรด้วย ตกลงคิดค่าจ้างเดือนละ1,500 บาท ระหว่างเดือนมิถุนายน 2533 ถึงเดือนมีนาคม 2535จำเลยที่ 1 มอบหมายให้จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1ไปรับเงินค่าภาษีการค้าจากโจทก์รวม 20 ครั้ง เป็นเงิน 633,080.69บาท เพื่อนำไปชำระให้แก่กรมสรรพากร และรับเงินค่าจ้างทำบัญชีตามข้อตกลงอีกจำนวน 33,000 บาท รวมทั้งสิ้นเป็นเงิน 666,080.69 บาทครั้นเดือนตุลาคม 2535 โจทก์ได้รับแจ้งจากกรมทะเบียนการค้าและกรมสรรพากรว่าโจทก์มิได้ยื่นบัญชีงบดุลตั้งแต่ปี 2533และมิได้ชำระภาษีการค้ามาตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2533 โจทก์ตรวจสอบพบว่าจำเลยที่ 1 มิได้ทำบัญชีให้โจทก์ และมิได้นำเงินค่าภาษีการค้าที่รับจากโจทก์ไปชำระ โดยจำเลยทั้งสองร่วมกันเบียดบังยักยอกเงินค่าภาษีการค้าไปใช้เป็นประโยชน์ส่วนตนซึ่งเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ จึงต้องคืนเงินค่าภาษีการค้าที่รับไปจากโจทก์ และเนื่องจากจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาไม่จัดทำบัญชี และไม่ยื่นชำระภาษีการค้าให้ จึงเป็นการผิดสัญญา ไม่มีสิทธิรับเงินค่าจ้างจากโจทก์ ต้องคืนให้โจทก์เช่นกัน โจทก์ขอคิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีสำหรับต้นเงิน 633,080.69 บาท นับแต่วันที่ 20 มีนาคม 2535 เป็นต้นไปจนถึงวันฟ้องเป็นเงิน 72,457.95บาท รวมกับต้นเงินเป็นเงินจำนวน 705,538.64 บาท โจทก์ทวงถามแล้วจำเลยทั้งสองเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ชดใช้เงินจำนวน 738,538.64 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีในต้นเงิน 666,080.69 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้จำเลยที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 1 ชดใช้เงินจำนวน705,538.64 บาทแก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีในต้นเงิน 633,080 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 1 ให้การว่า จำเลยที่ 2 ไม่ได้เป็นลูกจ้างจำเลยที่ 1จำเลยที่ 1 ไม่เคยมอบหมายให้จำเลยที่ 2 ไปเก็บเงินค่าภาษีการค้าและค่าจ้างทำบัญชีของโจทก์ จำเลยที่ 2 มีอาชีพเป็นทนายความที่มาร่วมใช้สำนักงานของจำเลยที่ 1 โจทก์กับจำเลยที่ 1 ตกลงค่าจ้างทำบัญชีเพียงเดือนละ 1,000 บาท เท่านั้น จำเลยที่ 1เลิกรับจ้างทำบัญชีมาตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2533 โดยบอกกล่าวให้โจทก์ทราบล่วงหน้า ส่วนจำเลยที่ 2 ออกไปจากสำนักงานของจำเลยที่ 1 ตั้งแต่เดือนมกราคม 2533 การที่จำเลยที่ 2 ไปรับเงินค่าภาษีการค้าและค่าจ้างทำบัญชีจากโจทก์ เป็นเรื่องที่โจทก์ตกลงกับจำเลยที่ 2 เอง จำเลยที่ 1 ทักท้วงเรื่องที่โจทก์ยังคงสั่งจ่ายเช็คค่าภาษีการค้าในนามของจำเลยที่ 1 เพื่อให้จำเลยที่ 2รับไป เพราะจำเลยที่ 1 ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องด้วยแล้ว ในระยะแรกโจทก์เพิกเฉย เป็นเหตุให้จำเลยที่ 2 นำเช็คดังกล่าวมาแลกเงินจากจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 1 มิได้รับประโยชน์ใด ๆ ทั้งสิ้นภายหลังโจทก์มิได้สั่งจ่ายเช็คในนามของจำเลยที่ 1 อีกด้วยเหตุดังกล่าวจำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ตามฟ้องและฟ้องโจทก์ขาดอายุความ 1 ปี ในมูลละเมิด
จำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 723,538.64 บาทแก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน651,080.69 บาท นับแต่วันฟ้อง (วันที่ 12 ตุลาคม 2536)เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ในหนี้ดังกล่าวแก่โจทก์เป็นเงินจำนวน 705,538.64 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 633,480 บาทนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลย ที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ พิพากษายืน
จำเลย ที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีเกี่ยวกับจำเลยที่ 2 คงยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์โดยคู่ความมิได้ฎีกาโต้แย้งว่า เมื่อปลายปี 2528 โจทก์ว่าจ้างจำเลยที่ 1 ทำบัญชีการค้า บัญชีงบดุล และนำส่งภาษีการค้าต่อกรมสรรพากรแทนโจทก์ โดยคิดค่าจ้างเดือนละ 1,500 บาทจำเลยที่ 2 เป็นทนายความประจำสำนักงานปิยมิตรทนายความและการบัญชีของจำเลยที่ 1 นับแต่เดือนพฤษภาคม 2533 เป็นต้นมา จำเลยที่ 1งดทำบัญชีให้แก่โจทก์ แต่ปรากฏว่าในระหว่างเดือนมิถุนายน 2533ถึงเดือนมีนาคม 2535 จำเลยที่ 2 เป็นผู้ไปรับเงินจากโจทก์รวม20 ครั้ง เป็นเงินค่าภาษีการค้าจำนวน 633,080.69 บาทและค่าจ้างจำนวน 33,000 บาท โดยไม่ได้นำเงินส่งเป็นค่าภาษีการค้าและยื่นบัญชีงบดุลประจำปี 2533 ต่อกระทรวงพาณิชย์แทนโจทก์
มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ว่า จำเลยที่ 1จะต้องรับผิดชดใช้เงินคืนแก่โจทก์ตามฟ้องหรือไม่เพียงใดศาลฎีกาวินิจฉัยข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ขณะที่โจทก์สั่งจ่ายเช็คให้แก่จำเลยที่ 1 ทั้ง 10 ฉบับดังกล่าวจำเลยที่ 1 ยังไม่ได้บอกเลิกสัญญาแก่โจทก์ เมื่อจำเลยที่ 1 รับเช็คของโจทก์มาเรียกเก็บเงินโดยงดเว้นไม่กระทำการที่จ้าง จำเลยที่ 1จึงได้ชื่อว่าเป็นฝ่ายผิดสัญญา ต้องคืนเงินตามเช็คทั้ง 10 ฉบับแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยตามฟ้อง สำหรับเงินส่วนที่จำเลยที่ 2รับไปจากโจทก์นับแต่ครั้งที่ 11 เป็นต้นไปนั้น เป็นเช็คที่โจทก์สั่งจ่ายให้จำเลยที่ 2 โดยตรงและบางฉบับเป็นเช็คผู้ถือกรณีมีเหตุผลและน้ำหนักเชื่อได้ว่าจำเลยที่ 1 เพิ่งบอกเลิกสัญญาแก่โจทก์นับแต่นั้นเป็นต้นมา ทางนำสืบของโจทก์ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 มีส่วนเกี่ยวข้องกับการรับเงินตามเช็คดังกล่าวแต่อย่างใดเป็นเรื่องที่จำเลยที่ 2 กระทำไปโดยลำพังเป็นการส่วนตัวจำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์เกี่ยวกับเงินส่วนนี้ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดต่อโจทก์รวมถึงเงินส่วนนี้ด้วยนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย
ปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปว่า คดีโจทก์ขาดอายุความแล้วหรือไม่เห็นว่า โจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 1 คืนเงินค่าภาษีการค้าที่โจทก์มอบให้ไปชำระแก่กรมสรรพากรแทน แต่จำเลยที่ 1 ไม่นำไปชำระเป็นการฟ้องเพื่อใช้สิทธิติดตามเอาทรัพย์ของโจทก์คืนจากจำเลยที่ 1 ผู้ไม่มีสิทธิยึดถือทรัพย์ของโจทก์ไว้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1336 ซึ่งไม่มีกำหนดเวลาให้เจ้าของทรัพย์ใช้สิทธิเช่นนี้ เว้นแต่จะถูกจำกัดด้วยอายุความใช้สิทธิ ส่วนเงินค่าจ้างที่โจทก์ฟ้องเรียกคืนนั้น เป็นการฟ้องเรียกเงินคืนจากจำเลยที่ 1 ที่รับเงินไปจากโจทก์แล้วผิดสัญญาไม่กระทำการที่จ้างมิใช่ฟ้องเรียกค่าเสียหายในมูลละเมิด กรณีนี้ไม่มีกฎหมายบัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงใช้อายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 แต่โจทก์ฟ้องคดีนี้ยังไม่เกิน10 ปี คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 คืนเงินแก่โจทก์จำนวน202,745.88 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันที่ 20 มีนาคม 2535 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share