คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 21/2540

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยที่2กับที่3ต่างเป็นข้าราชการในสังกัดของจำเลยที่1ได้ยึดรถยนต์พิพาทของโจทก์เป็นของกลางถือเป็นการปฏิบัติหน้าที่อย่างหนึ่งตามระเบียบข้อบังคับและคำสั่งที่ได้รับมอบหมายจากจำเลยที่1และมีฐานะเป็นผู้แทนของจำเลยที่1จำเลยที่1มีหน้าที่กำกับดูแลการปฏิบัติงานของจำเลยที่2กับที่3มิให้เกิดความเสียหายส่วนจำเลยที่2กับที่3มีหน้าที่ต้องดูแลรักษาทรัพย์ของกลางเหมือนเช่นวิญญูชนพึงดูแลทรัพย์สินของตนเมื่อประมาทเลินเล่อไม่ได้ดูแลรักษาตามสมควรเป็นเหตุให้รถยนต์พิพาทสูญหายจึงเป็นการกระทำละเมิดในฐานะปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้แทนของจำเลยที่1ซึ่งเป็นนิติบุคคลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา76วรรคหนึ่งจำเลยที่1จึงต้องร่วมกับจำเลยที่2กับที่3รับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนความเสียหายแก่โจทก์จะอ้างว่าตนไม่มีอำนาจในการยึดสิ่งของในคดีอาญามาปฏิเสธความรับผิดชอบของตนไม่ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของรถยนต์โดยสารประเภทไม่ประจำทางจำเลยที่ 1 มีฐานะเป็นนิติบุคคลโดยเป็นหน่วยงานราชการสังกัดกระทรวงมหาดไทย จำเลยที่ 2 กับที่ 3 เป็นผู้ใต้บังคับบัญชาของจำเลยที่ 1 ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 2 กับที่ 3 เป็นพนักงานสอบสวนประจำสถานีตำรวจนครบาลนางเลิ้ง ซึ่งเป็นหน่วยราชการของจำเลยที่ 1โดยจำเลยที่ 2 มีตำแหน่งเป็นสารวัตรใหญ่เป็นผู้บังคับบัญชาประจำสถานีตำรวจนครบาลนางเลิ้ง เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2535 เวลา6.10 นาฬิกา เกิดอุบัติเหตุรถยนต์โดยสาร หมายเลขทะเบียน 30-2387กรุงเทพมหานคร ของโจทก์พลิกคว่ำที่บริเวณสะพานลอยยมราชหน้าโรงพยาบาลมิชชั่น ถนนพิษณุโลก แขวงจิตรลดา เขตดุสิตกรุงเทพมหานคร เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บ จำเลยที่ 3ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ร้อยเวรสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลนางเลิ้งได้รับแจ้งเหตุและได้รับแจ้งคำร้องทุกข์ไว้เป็นคดีจราจร พร้อมทั้งยึดรถยนต์โดยสารดังกล่าวของโจทก์ไว้เป็นของกลางของสถานีตำรวจนครบาลนางเลิ้ง จำเลยที่ 2 กับที่ 3 ในฐานะพนักงานสอบสวนจึงมีหน้าที่ตามกฎหมายต้องใช้ความระมัดระวังดูแลทรัพย์สินที่ยึดมาให้อยู่ในสภาพที่เรียบร้อยตามเดิมและส่งมอบทรัพย์สินของกลางคืนให้แก่เจ้าของโดยเร็วเมื่อดำเนินการเสร็จสิ้นแล้ว แต่จำเลยที่ 2 กับที่ 3 ปฏิบัติหน้าที่ราชการด้วยความประมาทเลินเล่อปราศจากความระมัดระวังได้ปล่อยปละละเลยไม่ใช้ความระมัดระวังดูแลรักษารถยนต์ของโจทก์ให้ปลอดภัยอยู่ในสภาพเรียบร้อยดังเดิมตามอำนาจหน้าที่อันพึงต้องกระทำเป็นเหตุให้รถยนต์ของโจทก์สูญหายไปขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันหรือแทนกันส่งมอบรถยนต์โดยสารหมายเลขทะเบียน 30-2387 กรุงเทพมหานคร คืนแก่โจทก์ในสภาพเรียบร้อยหากส่งมอบคืนไม่ได้ให้ชดใช้ราคาแทนเป็นเงิน 1,050,000 บาทและให้จำเลยทั้งสามร่วมกันหรือแทนกันชดใช้ค่าขาดประโยชน์เป็นเงิน227,500 บาท และค่าขาดประโยชน์ในอัตราเดือนละ 45,500 บาทนับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจำเลยทั้งสามจะส่งมอบรถยนต์คืนให้แก่โจทก์หรือชดใช้ราคา
จำเลยทั้งสามให้การในทำนองเดียวกันว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 กับที่ 3 ในฐานะส่วนตัว เพราะการปฏิบัติหน้าที่ของจำเลยที่ 2 กับที่ 3 อันเป็นเหตุพิพาทจำเลยที่ 2 กระทำในหน้าที่ในฐานะสารวัตรใหญ่ ส่วนจำเลยที่ 3 กระทำในหน้าที่ราชการในฐานะพนักงานสอบสวน จำเลยที่ 2 กับที่ 3 เป็นข้าราชการในสังกัดของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 2 กับที่ 3จำเลยที่ 1 มิได้กระทำละเมิดต่อโจทก์ เหตุที่เกิดมิได้เกิดจากความจงใจหรือประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 2 กับที่ 3 เนื่องจากจำเลยที่ 2 กับที่ 3 มิได้ยึดรถยนต์โดยสารหมายเลขทะเบียน 30-2387กรุงเทพมหานครของโจทก์ไว้เป็นของกลางในคดีของสถานีตำรวจนครบาลนางเลิ้ง จำเลยที่ 3 จึงเพียงแต่แจ้งอายัดการต่อภาษีประจำปีต่อนายทะเบียนกรมการขนส่งทางบกกรุงเทพมหานคร เพื่อมิให้มีการจำหน่ายจ่ายโอนหรือเปลี่ยนแปลงสภาพรถจนกว่าจะได้มีการตรวจสภาพรถและได้มีการเจรจาค่าเสียหายกันเรียบร้อยแล้วเท่านั้น และในระหว่างนั้นจำเลยที่ 3 ได้แจ้งให้โจทก์และตัวแทนโจทก์ทราบเพื่อให้โจทก์จัดหาคนมาเฝ้าดูแลรักษาทรัพย์สินในรถและรถยนต์ของโจทก์เองจำเลยที่ 3 ได้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความระมัดระวังตามวิสัยและพฤติการณ์แล้ว ส่วนจำเลยที่ 2 ในฐานะสารวัตรใหญ่ของสถานีตำรวจนครบาลนางเลิ้งก็ไม่มีหน้าที่รับผิดชอบควบคุมดูแลรักษารถยนต์ของโจทก์เพราะมิได้มีการยึดรถยนต์ของโจทก์ไว้เป็นของกลางขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันส่งมอบรถยนต์โดยสารคันหมายเลขทะเบียน 30-2387 กรุงเทพมหานคร คืนโจทก์ตามสภาพขณะที่ยึด หากส่งมอบคืนให้ไม่ได้ให้ใช้ราคาแทนเป็นเงิน 400,000 บาทให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีในต้นเงิน 400,000 บาท นับตั้งแต่วันที่ 6 มิถุนายน 2535จนกว่าจะชำระเสร็จหรือส่งมอบรถยนต์คืนแก่โจทก์ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสามไม่ต้องร่วมกันชำระดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งสามฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า โจทก์เป็นเจ้าของรถยนต์โดยสารไม่ประจำทางหมายเลขทะเบียน30-2387 กรุงเทพมหานคร ตามสำเนาหนังสือแสดงการจดทะเบียนรถเอกสารหมาย จ.6 เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2535 เวลา 6.10 นาฬิการถยนต์ของโจทก์เกิดอุบัติเหตุพลิกคว่ำที่บริเวณสะพานลอยยมราชเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บ อุบัติเหตุครั้งนี้อยู่ในเขตท้องที่รับผิดชอบของสถานีตำรวจนครบาลนางเลิ้ง ขณะเกิดเหตุมีจำเลยที่ 3 ซึ่งรับราชการในตำแหน่งพนักงานสอบสวนเข้าเวรปฏิบัติหน้าที่เป็นสารวัตรสอบสวนประจำสถานีตำรวจดังกล่าว โดยมีจำเลยที่ 2 ดำรงตำแหน่งสารวัตรใหญ่เป็นผู้บังคับบัญชาและเป็นหัวหน้าประจำสถานีตำรวจดังกล่าวทำหน้าที่เป็นหัวหน้าพนักงานสอบสวนซึ่งมีหน้าที่เก็บรักษารถของกลางโดยจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 เป็นข้าราชการในสังกัดของจำเลยที่ 1 หลังเกิดเหตุแล้วมีการเคลื่อนย้ายรถยนต์ของโจทก์จากจุดที่เกิดเหตุไปจอดที่ริมถนนห่างออกไปประมาณ100 เมตร และจอดอยู่ ณ ที่ดังกล่าวจนกระทั่งได้สูญหายไป โดยในระหว่างนั้นจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 ยังคงรับราชการในตำแหน่งเดิมประจำสถานีตำรวจนครบาลนางเลิ้ง
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสามประการแรกมีว่าจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 ได้ร่วมกันยึดรถยนต์พิพาทของโจทก์แล้วรถยนต์พิพาทได้สูญหายไปเพราะความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 ที่ไม่ดูแลรักษาให้ดีหรือไม่ โจทก์มีนางสาวอรุณี และใจดี นายยุทธ ลิมป์ศิระ นายสมาน มีสุวรรณและนางสาวจินตนา พิทักษ์วงษ์ เบิกความยืนยันว่า หลังจากรถยนต์ของโจทก์ที่พลิกคว่ำถูกยกขึ้นให้ตั้งตามปกติแล้วเห็นมีกระดาษปิดไว้ด้านหลังรถมีข้อความว่าเป็นของกลางของสถานีตำรวจนครบาลนางเลิ้งต่อมานางสาวอรุณี และนายยุทธเป็นตัวแทนของโจทก์ไปขอรถยนต์พิพาทคืน จำเลยที่ 3 ไม่ยอมคืนให้โดยอ้างว่าต้องให้โจทก์ดำเนินการติดต่อตกลงเรื่องค่าเสียหายกับผู้เสียหายให้เรียบร้อยเสียก่อนและเมื่อโจทก์ตกลงชดใช้ค่าปลงศพแก่ญาติผู้ตายและค่าเสียหายแก่ผู้บาดเจ็บที่สถานีตำรวจนครบาลนางเลิ้ง จำเลยที่ 3 ได้ทำบันทึกข้อตกลงเกี่ยวกับค่าสินไหมทดแทนให้ตามเอกสารหมาย จ.3 และจ.4 แต่แจ้งให้นางสาวอรุณีและนายยุทธทราบว่า ต้องยึดรถยนต์พิพาทไว้ก่อนจะคืนให้เมื่อสอบปากคำผู้บาดเจ็บเสร็จก่อน และจำเลยที่ 3 ได้ร่างหนังสือขอรับรถคืน ตามเอกสารหมาย จ.9ให้นายยุทธเก็บไว้เป็นตัวอย่างเพื่อให้โจทก์ทำหนังสือมายื่นขอรับรถยนต์พิพาทคืนไปชั่วคราว และต่อมาโจทก์ได้ยื่นหนังสือขอรับรถยนต์พิพาทคืนอีก จำเลยที่ 3 ก็บอกว่าจะนำรถยนต์พิพาทไปตรวจสภาพและจะเสนอเรื่องให้จำเลยที่ 2 พิจารณาเพื่อให้โจทก์รับรถยนต์พิพาทคืนไปชั่วคราว แต่จำเลยที่ 3 ก็ไม่ดำเนินการให้จนรถยนต์พิพาทสูญหายไปเห็นว่า พยานโจทก์ทั้งสี่ปากเบิกความสอดคล้องต้องกันทั้งยังมีพยานเอกสารมาอ้างอิงต่อศาลโดยเฉพาะเอกสารหมาย จ.9 ซึ่งจำเลยที่ 3 ร่างข้อความขอรับรถยนต์พิพาทคืนให้นายยุทธไว้เป็นตัวอย่าง เพื่อให้โจทก์ทำหนังสือมายื่นขอรับรถยนต์พิพาทคืนไปชั่วคราวเป็นหลักฐานแสดงให้เห็นแน่ชัดว่า จำเลยที่ 3 ต้องยึดรถยนต์พิพาทเอาไว้ระหว่างการสอบสวน ข้อที่จำเลยที่ 3 เบิกความว่าไม่ได้ยึดรถยนต์พิพาทไว้เป็นของกลางแต่ใช้วิธีอายัดและลงบันทึกไว้ในรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีตามเอกสารหมาย ล.1 ไว้ว่าเป็นการอายัดนั้น ปรากฏว่าตรงคำ “อายัด” มีรอยแก้ไขเป็นข้อพิรุธน่าสงสัย ทั้งในบรรทัดถัดมามีข้อความว่าเป็นของกลาง ซึ่งเป็นข้อความที่สืบเนื่องและสอดคล้องกับคำว่ายึดนั่นเอง และที่จำเลยที่ 3เบิกความต่อไปว่า เหตุที่ไม่ยึดรถยนต์พิพาทไว้เป็นของกลางเนื่องจากเคลื่อนย้ายไม่สะดวกไม่มีสถานที่เก็บรักษาและได้มอบให้โจทก์ดูแลรักษาเองนั้นจำเลยที่ 3 ก็ไม่ได้ลงบันทึกประจำวันไว้ อันเป็นการฝ่าฝืนระเบียบเกี่ยวกับคดี ตามเอกสารหมาย ล.2 ในลักษณะ 15บทที่ 9 ข้อ 3 วรรคหนึ่ง ที่ระบุให้พนักงานสอบสวนบันทึกถึงเหตุผลที่ไม่ยึดรถของกลางรวมทั้งพฤติการณ์แห่งเรื่องไว้ให้ปรากฏในบันทึกประจำวันด้วย ทั้งเมื่อโจทก์ให้ตัวแทนมาติดต่อขอรับรถยนต์พิพาทคืนไปเก็บรักษาเองจำเลยที่ 3 ก็ไม่ยอมคืนให้ นอกจากนี้สิบตำรวจโทสราวุธ โค้วสมจีน พยานจำเลยทั้งสามก็เบิกความว่าเมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2535 จำเลยที่ 3 ได้แจ้งให้พยานติดต่อนำรถยกไปยกรถยนต์พิพาทของโจทก์ที่พลิกคว่ำอีกครั้งหนึ่งเพื่อนำไปเก็บไว้ในสถานที่ที่ดูแลรักษาได้ และได้เบิกความตอบทนายโจทก์ถามค้านว่าจำเลยที่ 3 สั่งให้พยานติดต่อรถยกเพื่อยกรถยนต์พิพาทไปเก็บรักษา ณ ที่ทำการชั่วคราวของสถานีตำรวจนครบาลนางเลิ้งวังปารุสกวัน ซึ่งหากจำเลยที่ 3 ไม่ได้ยึดรถยนต์พิพาทไว้เป็นของกลางแล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องสั่งให้สิบตำรวจโทสราวุธติดต่อรถยกมาทำการยกรถยนต์พิพาทอีก คำเบิกความของจำเลยที่ 3จึงไม่น่าเชื่อถือ พยานหลักฐานของจำเลยทั้งสามที่นำสืบมาจึงมีน้ำหนักน้อยกว่าพยานหลักฐานของโจทก์ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่ารถยนต์พิพาทได้สูญหายไประหว่างที่จำเลยที่ 3 ยึดไว้เป็นของกลาง และจำเลยที่ 2 มีหน้าที่เก็บรักษารถยนต์พิพาทของกลางโดยจำเลยที่ 2และจำเลยที่ 3 ไม่จัดการนำรถยนต์พิพาทของกลางมาเก็บรักษาไว้ที่สถานีตำรวจหรือสถานที่อื่นและมิได้ใช้ความระมัดระวังดูแลรถยนต์พิพาทเหมือนเช่นวิญญูชนพึงดูแลรักษาทรัพย์สินของตนเป็นเหตุให้รถยนต์พิพาทสูญหายไป จึงถือเป็นความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 และการกระทำดังกล่าวเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหายจึงเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสามประการที่สองมีว่าจำเลยที่ 1 จะต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 หรือไม่เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 ต่างก็เป็นข้าราชการในสังกัดของจำเลยที่ 1 การที่จำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3ยึดรถยนต์พิพาทของโจทก์เป็นของกลางก็เป็นการปฏิบัติหน้าที่อย่างหนึ่งตามระเบียบข้อบังคับและคำสั่งที่ได้รับมอบหมายจากจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 1 มีหน้าที่กำกับดูแลการปฏิบัติงานของจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 ให้เป็นไปตามระเบียบและคำสั่งเพื่อมิให้เกิดความเสียหาย เมื่อจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 ยึดรถยนต์พิพาทไว้เป็นของกลางในคดีความผิดต่อพระราชบัญญัติจราจรทางบกฯ ซึ่งมีคนตายและได้รับบาดเจ็บ ในกรณีนี้เป็นการปฏิบัติหน้าที่อย่างหนึ่งและมีฐานะเป็นผู้แทนของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3จึงมีหน้าที่ดูแลรักษาทรัพย์ของกลางเหมือนเช่นวิญญูชนถึงดูแลทรัพย์สินของตน แต่เมื่อจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 ไม่ได้ดูแลรักษารถยนต์พิพาทของกลางตามสมควร เป็นเหตุให้รถยนต์พิพาทสูญหายกรณีจึงเป็นการกระทำละเมิดในฐานะปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้แทนของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นนิติบุคคล ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 76 วรรคหนึ่ง จำเลยที่ 1 จึงต้องร่วมกับจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 รับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนความเสียหายแก่โจทก์ด้วยจะอ้างว่าตนไม่มีอำนาจในการยึดสิ่งของในคดีอาญามาปฏิเสธความรับผิดของตนไม่ได้”
พิพากษายืน

Share