คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 810/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เงินภาษีอากรจำนวน 50,677,905.41 บาท ที่โจทก์คืนให้แก่จำเลยที่ 1 ก่อนตรวจสอบตามคำร้องขอคืนเงินภาษีอากร โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ มีข้อตกลงว่า หากผลการตรวจสอบปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ผู้ขอคืนภาษีอากรต้องเสียภาษี แต่จำเลยที่ 1 ไม่ชำระภาษีอากรตามการแจ้งการประเมินหรือสั่งให้ชำระหรือชำระไม่ครบถ้วนภายในกำหนดเวลาตามกฎหมายแล้วไม่ว่าจะมีการอุทธรณ์หรือมีการโต้แย้งหรือไม่ก็ตาม จำเลยที่ 2 ยอมชำระให้จนครบถ้วนทันที การคืนเงินภาษีอากรจำนวนดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 1 จึงมิใช่การคืนให้โดยเด็ดขาด แต่เป็นการคืนโดยมีเงื่อนไขว่า หากผลการตรวจสอบปรากฏว่า จำเลยที่ 1 ไม่มีสิทธิได้รับคืนเงินภาษีอากรจำนวนดังกล่าว จำเลยที่ 1 ต้องคืนเงินภาษี-อากรที่ได้รับไปให้แก่โจทก์ ปรากฏว่าเมื่อการตรวจสอบเสร็จสิ้น เจ้าพนักงานของโจทก์เห็นว่า จำเลยที่ 1 ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2530 เกินกว่าภาษีเงินได้นิติบุคคลที่ถูกหักไว้ ณ ที่จ่าย เป็นเหตุให้ไม่มีสิทธิได้รับคืนเงินภาษีอากรจำนวน 50,677,905.51 บาท ที่ได้รับคืนไป โจทก์ได้ทวงถามให้จำเลยทั้งสองคืนเงินจำนวนดังกล่าวแก่โจทก์แล้ว จำเลยทั้งสองไม่คืนให้จึงตกเป็นผู้ผิดนัด โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องให้จำเลยที่ 1 คืนเงินภาษีอากรที่จำเลยที่ 1ขอคืนไปจากโจทก์โดยไม่มีสิทธิได้ และมีอำนาจฟ้องให้จำเลยที่ 2 รับผิดต่อโจทก์ตามสัญญาค้ำประกัน
ปรากฏตามคำฟ้องว่า โจทก์มิได้ฟ้องเรียกเงินภาษีอากรที่จำเลยที่ 1 ต้องชำระตามหนังสือแจ้งการประเมินซึ่งยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์แต่อย่างใด แต่เป็นการฟ้องให้จำเลยที่ 1คืนเงินภาษีอากรที่ขอคืนก่อนตรวจสอบ โดยจำเลยที่ 1 มีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันตามหนังสือค้ำประกันตามระเบียบกรมสรรพากร ว่าด้วยการคืนเงินภาษีอากร พ.ศ.2529 ข้อ 15.2 ข. โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองได้แม้ว่าคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์จะยังมิได้มีคำวินิจฉัยอุทธรณ์ก็ตาม
โจทก์มิได้ฟ้องเรียกให้จำเลยที่ 1 ชำระภาษีอากรตามหนังสือแจ้งการประเมิน แต่เป็นกรณีที่โจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 1 คืนเงินภาษีอากรที่ขอคืนก่อนตรวจสอบ โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ตามหนังสือค้ำประกัน เมื่อเจ้าพนักงานของโจทก์ตรวจสอบเสร็จสิ้นแล้ว จำเลยที่ 1 ยังต้องชำระภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2530 เกินกว่าภาษีเงินได้นิติบุคคลที่ถูกหักไว้ ณ ที่จ่าย เมื่อปรากฏว่าโจทก์ได้มีหนังสือลงวันที่ 12 ตุลาคม2536 แจ้งให้จำเลยที่ 1 นำเงินภาษีอากรจำนวน 50,677,905.41 บาท มาคืนโจทก์ภายใน 30 วัน นับแต่วันได้รับหนังสือดังกล่าว จำเลยที่ 1 ได้รับหนังสือเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2536 จำเลยที่ 1 จึงมีสิทธินำเงินจำนวนดังกล่าวไปคืนโจทก์ภายในวันที่ 13 พฤศจิกายน 2536 เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่ชำระภายในกำหนดเวลาดังกล่าว โจทก์จึงมีสิทธิเรียกดอกเบี้ยจากเงินภาษีอากรที่จำเลยที่ 1 รับคืนไปจากโจทก์จำนวน 50,677,905.41 บาท ได้ในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 14 พฤศจิกายน 2536 เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จตาม ป.พ.พ.มาตรา224 มิใช่นับแต่วันที่ 14 ตุลาคม 2536 หรือวันที่จำเลยที่ 1 รับเงินจำนวนดังกล่าวคืนไปจากโจทก์
ส่วนจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ค้ำประกันจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ตามสัญญาค้ำประกันมีข้อความยอมผูกพันตนเป็นผู้ค้ำประกันจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์เป็นเงิน 50,677,905.41 บาท พร้อมทั้งเงินเพิ่ม ดังนี้คำว่าเงินเพิ่ม นั้นป.รัษฎากรบัญญัติไว้ในมาตรา 27 กรณีบุคคลใดไม่เสียหรือนำส่งภาษีภายในกำหนดเวลาต้องเสียเงินเพิ่มอีกร้อยละ 1.5 ต่อเดือน หรือเศษของเดือน…และมาตรา 27 ทวิ ให้ถือว่าเงินเพิ่มเป็นเงินภาษี ดังนั้น เงินเพิ่ม จึงมิใช่ดอกเบี้ยเมื่อกรณีพิพาทในคดีนี้ไม่มีเงินเพิ่มตามสัญญาค้ำประกันได้ระบุจำนวนเงินที่จำเลยที่ 2ต้องรับผิด จึงไม่ใช่การค้ำประกันอย่างไม่มีจำกัด ตาม ป.พ.พ.มาตรา 683 จำเลยที่ 2 จึงคงรับผิดในวงเงิน 50,677,905.41 บาท แต่เนื่องจากเป็นหนี้เงินจำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดชดใช้ดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันผิดนัด ตามป.พ.พ.มาตรา 224 เมื่อโจทก์มีหนังสือลงวันที่ 15 ธันวาคม 2536 แจ้งให้จำเลยที่ 2 ทราบว่าการตรวจสอบภาษีอากรเสร็จสิ้นแล้ว ผลการตรวจสอบจำเลยที่ 1ต้องส่งคืนเงินภาษีอากรที่รับคืนเกินไปและให้จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ค้ำประกันจำเลยที่ 1 นำเงินจำนวน 50,677,905.41 บาท ไปชำระแก่โจทก์ จำเลยที่ 2 ได้รับหนังสือบอกกล่าวเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2536 แล้วไม่ชำระ จึงตกเป็นผู้ผิดนัดโจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงินจำนวนดังกล่าวได้ตั้งแต่วันที่ 21 ธันวาคม 2536 เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จ

Share