คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5759/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

สัญญาจ้างระหว่างโจทก์จำเลยฉบับแรกในส่วนที่เกี่ยวกับตั๋วเครื่องบินมีข้อความว่า “เริ่มต้นของสัญญานี้ ท่านไม่มีสิทธิได้รับตั๋วเครื่องบินไปกลับและจากบ้าน อย่างไรก็ดีเมื่อสัญญาฉบับ 1 ปีเต็ม ได้ตกลงกัน ปี 2539ท่านมีสิทธิได้รับตั๋วเครื่องบินชั้นประหยัดในการเดินทางแบบเที่ยวเดียว จำนวน4 ใบ จากภูเก็ตไปที่ใด ๆ สำหรับท่านและครอบครัวของท่านทันที นอกจากนั้นค่าธรรมเนียมในการขนย้ายทรัพย์สินของท่านไปภูเก็ต และจากภูเก็ตไปที่อื่นจะได้รับการชดใช้โดยรีสอร์ทในวงเงินสูงสุดเท่ากับเงินเดือนที่ท่านได้รับ 1 เดือน”โดยสัญญาจ้างฉบับแรกนี้ทำขึ้นเมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2538 มีระยะเวลาการจ้างตั้งแต่วันที่ 8 ตุลาคม 2538 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2538 ต่อมาจึงมีการทำสัญญาจ้างตามเอกสารหมาย จ.2 ขึ้นก่อนสัญญาจ้างฉบับแรกครบกำหนด โดยมีกำหนดระยะเวลาการจ้าง 1 ปี เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2538 ถึงวันที่30 พฤศจิกายน 2539 มีข้อความในตอนแรกว่า “ตามสัญญาจ้างของเรากับท่านฉบับลงวันที่ 26 ตุลาคม 2538 และอาศัยการตกลงด้วยวาจาโดยการอนุมัติของไคจ์แอนดรีเซ่น เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2538 ข้าพเจ้ามีความยินดีต่อสัญญาจ้างให้ท่านใหม่อีก 1 ปี…” ข้อความในสัญญาจ้างฉบับหลังดังกล่าวย่อมแสดงโดยชัดแจ้งว่าการทำสัญญาจ้างเอกสารหมาย จ.2 เป็นผลสืบเนื่องมาจากสัญญาจ้างฉบับแรกเมื่อสัญญาจ้างเอกสารหมาย จ.2 จำเลยที่ 1 ทำสัญญาจ้างโจทก์ต่อมีกำหนด1 ปี ซึ่งเป็นไปตามเงื่อนไขในสัญญาจ้างฉบับแรก ดังนี้ สิทธิของโจทก์ที่จะได้รับค่าตั๋วเครื่องบินและค่าขนย้ายสัมภาระก็ย่อมเกิดขึ้นทันทีเมื่อมีการทำสัญญาจ้างเอกสารหมาย จ.2 ตามที่ระบุไว้ในสัญญาจ้างฉบับแรก โดยไม่จำต้องระบุสิทธิของโจทก์ในเรื่องนี้ไว้ในสัญญาจ้างเอกสารหมาย จ.2 อีก และสิทธิของโจทก์ดังกล่าวจะลบล้างได้ก็โดยคู่กรณีตกลงกันยกเลิกเท่านั้น เมื่อไม่ปรากฏว่าตามสัญญาจ้างเอกสารหมาย จ.2 มีการยกเลิกสิทธิเกี่ยวกับค่าตั๋วเครื่องบินและค่าขนย้ายสัมภาระของโจทก์แต่อย่างใด จึงต้องถือว่าข้อตกลงในเรื่องดังกล่าวตามสัญญาจ้างฉบับแรก ยังคงมีผลผูกพันจำเลยทั้งสองให้ต้องปฏิบัติตามสัญญานั้นต่อไป แม้ว่าสัญญาจ้างฉบับแรกจะสิ้นสุดลงแล้วก็ตาม
พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 5 ให้คำนิยามคำว่า นายจ้างในทำนองเดียวกันกับที่บัญญัติไว้ในประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 2 เมื่อจำเลยที่ 2 เป็นผู้จัดการทั่วไปและมีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1 ย่อมมีฐานะเป็นนายจ้างของโจทก์ด้วยตามบทบัญญัติดังกล่าว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 ได้ แต่กิจการใดอันตัวแทนได้กระทำไปในขอบอำนาจของตัวแทนนั้นเป็นการกระทำของตัวการ จำเลยที่ 1ผู้เป็นตัวการจึงต้องผูกพันต่อบุคคลภายนอกในการกระทำของจำเลยที่ 2 ที่ได้กระทำไปภายในวัตถุประสงค์ของจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ไม่ต้องผูกพันรับผิดเป็นส่วนตัวต่อโจทก์ด้วย

Share