แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
คดีก่อนผู้ร้องร้องขอแสดงกรรมสิทธิ์ที่ดินเฉพาะส่วนในโฉนด ที่ดินที่ผู้คัดค้านมีชื่อ ถือกรรมสิทธิ์ ผู้ร้องได้แนบแผนที่สังเขปแสดงรูปลักษณะของที่ดินที่ผู้ร้องได้ครอบครองมาท้ายคำร้องด้วย ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าผู้ร้องได้ครอบครองที่ดินแปลงตามคำร้องขอจนได้กรรมสิทธิ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382 คดีนี้ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ที่ดินเนื้อที่ 6 ไร่ 83 ตารางวา ซึ่งอยู่ตรงกลางหลังจากแบ่งแยกให้แก่ผู้ร้องกับ ว. ไปแล้วเป็นที่ดินที่ผู้ร้องได้ครอบครองอยู่ในขณะที่ยื่นคำร้องขอในคดีก่อน เมื่อที่พิพาทในคดีนี้เป็นที่ดินแปลงเดียวกันกับที่ดินที่ผู้ร้องขอแสดงกรรมสิทธิ์และศาลได้มีคำสั่งถึงที่สุดแล้วว่าผู้ร้องได้กรรมสิทธิ์ในคดีก่อน การที่ผู้ร้องมายื่นคำร้องขอเป็นคดีนี้จึงเป็นการรื้อร้องอีกในประเด็นที่ศาลได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกันกับคดีก่อน กรณีเป็นฟ้องซ้ำ แม้จะไม่มีฝ่ายใดยกขึ้นแต่เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนศาลยกขึ้นวินิจฉัยเองได้.
ย่อยาว
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอว่า ผู้ร้องได้ครอบครองเป็นเจ้าของที่ดินเนื้อที่ประมาณ 60 ไร่ ต่อจากบิดามารดาซึ่งถึงแก่ความตายไปนาน 20ปีเศษแล้ว โโยความสงบและโดยเปิดเผยติดต่อกันมาจนถึงวันยื่นคำร้องขอเมื่อ พ.ศ. 2522 ผู้ร้องยื่นคำขอต่อเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดฉะเชิงเทราให้รังวัดออกโฉนดที่ดินดังกล่าวทั้งหมดให้แก่ผู้ร้องปรากฏว่าที่ดินที่ผู้ร้องครอบครองบางส่วนที่ดินอยู่ในโฉนดที่ดินเลขที่ 1417 ตำบลบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา เจ้าพนักงานที่ดินจึงได้ออกโฉนดที่ดินเฉพาะส่วนที่ไม่ทับที่ดินในโฉนดที่ดินเลขที่ 1417ดังกล่าวให้แก่ผู้ร้องเป็นเนื้อที่ 44 ไร่เศษ ต่อมาในปีเดียวกันนั้นเอง ผู้ร้องได้ยื่นคำร้องขอต่อศาลชั้นต้น ให้สั่งแสดงกรรมสิทธิ์ที่ดินเฉพาะส่วนที่ผู้ร้องครอบครองในโฉนดที่ดินเลขที่ 1417 ดังกล่าวโดยคำนวณเนื้อที่ว่ามีจำนวน 6 ไร่ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า ผู้ร้องได้กรรมสิทธิ์ที่ดินเนื้อที่ 6 ไร่ ในโฉนดที่ดินเลขที่ 1417 โดยการครอบครอง ปรากฏตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 178/2522 ของศาลชั้นต้นและเจ้าพนักงานที่ดินได้แบ่งแยกที่ดินตามคำสั่งศาลชั้นต้นดังกล่าวเนื้อที่ 6 ไร่ ให้แก่ผู้ร้องโดยออกโฉนดที่ดินใหม่เป็นโฉนดเลขที่9457 คำบลปะกง อำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา จากการรังวัดเพื่อแบ่งแยกที่ดินในโฉนดที่ดินเลขที่ 1417 ให้แก่ผู้ร้องตาคำสั่งศาลชั้นต้นดังกล่าวแล้วนั้น ปรากฏว่า ยังคงเหลือที่ดินในโฉนดที่ดินเลขที่ 1417 เนื้อที่สุทธิอีก 6 ไร่ 83 ตารางวา ซึ่งมีชื่อผู้คัดค้านเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ ที่ดินที่เหลืออยู่ทั้งหมดนี้ผู้ร้องเป็นผู้ครอบครองอยู่เช่นกัน แต่เนื่องจากผู้ร้องคำนวณเนื้อที่ดินที่ครอบครองอยู่ตามความเป็นจริงผิดพลาดไป เป็นเหตุให้ยื่นคำร้องขอแสดงกรรมสิทธิ์ในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 1417 ที่เหลืออยู่อีก 6 ไร่ 83ตารางวา นี้ ผู้ร้องได้ครอบครองอย่างเป็นเจ้าของโดยความสงบ และโดยเปิดเผยติดต่อกันตลอดมาจนถึงวันยื่นคำร้องขอเป็นเวลา 20 ปีเศษโดยไม่มีผู้ใดโต้แย้งกรรมสิทธิ์ของผู้ร้อง ผู้ร้องจึงได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 แล้วขอให้ศาลไต่สวนและมีคำสั่งว่า ผู้ร้องได้กรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่ 1417 ตำบลบางปะกง อำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา โดยการครอบครองตามกฎหมาย
ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านว่า ผู้คัดค้านเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่ 1417 ตำบลบางปะกง อำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา เนื้อที่ 6 ไร่ 83 ตารางวา ได้ครอบครองทำประโยชน์โดยสุจริต เสียค่าตอบแทนและได้ทำนิติกรรมจดทะเบียนโดยสุจริต ผู้ร้องไม่เรจครอบครองที่ดินดังกล่าว เจ้าพนักงานที่ดินได้ออกโฉนดที่ดินให้แก่ผู้ร้องไปตามแนวเขตและเนื้อที่ตามคำร้องขอแสดงกรรมสิทธิ์ของผู้ร้องในคดีหมายเลขแดงที่ 178/2522 ตามคำสั่งของศาลชั้นต้นทุกประการ ผู้ร้องไม่ได้คำนวณเนื้อที่ที่ครอบครองผิดพลาดไปตามที่กล่าวอ้าง การที่ผู้ร้องมายื่นคำร้องขอเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตและไม่ชอบด้วยกฏหมาย โดยปกปิดความจริง
ศาลชั้นต้นดำเนินคดีอย่างคดีมีข้อพิพาทแล้วพิพากษายกฟ้องโจทก์
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า เดิมที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 1417มีเนื้อที่ประมาณ 19 ไร่ 3 งาน 46 ตารางวา ผู้คัดค้านได้ซื้อจากนายบุญเหลือ ทองดี เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2521 ต่อมาวันที่ 12มีนาคม 2523 ผู้ร้องได้ยื่นคำร้องขอต่อศาลชั้นต้นว่า ผู้ร้องได้ครอบครองที่ดินบางส่วนของโฉนดที่ดินดังกล่าวตามรูปที่ดินที่ระบายด้วยสีแดงในแผนที่ท้ายคำร้องขอ คำนวณเนื้อที่ได้ 6 ไร่ โดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ ติดต่อกันเป็นเวลาเกินกว่า 10 ปีขอให้มีคำสั่งว่าที่ดินเฉพาะส่วนในโฉนดที่ดินดังกล่าวตามแผนที่ท้ายคำร้องขอระบายด้วยสีแดงเนื้อที่ 6 ไร่ ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ร้องศาลชั้นต้นไต่สวนแล้วมีคำสั่งลงวันที่ 31 พฤษภาคม 2522 ว่าผู้ร้องได้ครอบครองที่ดินแปลงตามคำร้องขอ จำนวน 6 ไร่ ด้วยความสงบ เปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของติดต่อกันมาเป็นเวลา 15 ปี ที่ดินดังกล่าวจึงตกเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ร้องตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382และให้แจ้งคำสั่งให้เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดฉะเชิงเทราทราบคำสั่งถึงที่สุดปรากฏตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 178/2522 ของศาลชั้นต้น ต่อมาเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2525 นายวิจิตร์ แสงจันทร์ได้ยื่นคำร้องขอต่อศาลชั้นต้น ขอให้มีคำสั่งว่าที่ดินเฉพาะส่วนในโฉนดที่ดินดังกล่าวทางทิศใต้เนื้อที่ 7 ไร่ 3 งาน ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของนายวิจิตร์ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งเมื่อวันที่ 8 มิถุนายน2526 ว่าที่ดินเฉพาะส่วนในโฉนดที่ดินดังกล่าว เนื้อที่ 7 ไร่ 3 งานตกเป็นกรรมสิทธิ์ของนายวิจิตร์ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1382 ให้แจ้งคำสั่งไปยังเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดฉะเชิงเทราคำสั่งถึงที่สุด ปรากฏตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 425/2525 ของศาลชั้นต้น หลังจากนั้น ผู้ร้องและนายวิจิตร์ได้ขอให้เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดฉะเชิงเทราทำการรังวัดแบ่งแยกที่ดินส่วนของตนตามคำสั่งศาลชั้นต้น เจ้าพนักงานที่พินจังหวัดฉะเชิงเทราได้ดำเนินการแบ่งแยกที่ดินให้แก่ผู้ร้องเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ทางด้านทิศเหนือ เนื้อที่6 ไร่ แล้วออกโฉนดที่ดินเลขที่ 9457 ให้แก่ผู้ร้อง และแบ่งแยกที่ดินให้แก่นายวิจิตร์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ทางด้านทิศใต้ เนื้อที่ 7 ไร่2 งาน 63 ตารางวา แล้วออกโฉนดที่ดินเลขที่ 9487 ให้แก่นายวิจิตร์คงเหลือที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่ 1417 ซึ่งผู้คัดค้านมีชื่อถือกรรมสิทธิ์อยู่ตรงกลาง เนื้อที่ 6 ไร่ 83 ตารางวา อันเป็นที่พิพาทในคดีนี้แล้ววินิจฉัยต่อไปว่า “ศาลฎีกาโดยที่ประชุมใหญ่มีมติว่าพิเคราะห์แล้ว เห็นว่าสำนวนคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 178/2522 ของศาลชั้นต้น ซึ่งผู้ร้องร้องขอแสดงกรรมสิทธิ์ที่ดินเฉพาะส่นในโฉนดที่ดินเลขที่ 1417 ตำบลบางปะกง (บางปะกงบน) อำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา ที่ผู้คัดค้านมีชื่อถือกรรมสิทธิ์นั้น ผู้ร้องได้แนบแผนที่สังเขปแสดงรูปลักษณะของที่ดินที่ผู้ร้องได้ครอบครองมาท้ายคำร้องขอด้วย และศาลชั้นต้นก็ได้วินิจฉัยว่า ผู้ร้องได้ครอบครองที่ดินแปลงตามคำร้องขอจนได้กรรมสิทธิ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1382 ครั้นผู้ร้องมายื่นคำร้องขอในคดีนี้ก็กล่าวในคำร้องขอว่าที่ดินเนื้อที่ 6 ไร่ 83 ตารางวาซึ่งอยู่ตรงกลาง หลังจากแบ่งแยกให้แก่ผู้ร้องกับนายวิจิตร์ไปแล้ว เป็นที่ดินที่ผู้ร้องได้ครอบครองอยู่ในขณะที่ยื่นคำร้องขอตามสำรวนคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 178/2522 ของศาลชั้นต้น เมื่อที่พิพาทในคดีนี้เป็นที่ดินแปลงเดียวกันกับที่ดินที่ผู้ร้องร้องขอแสดงกรรมสิทธิ์และศาลได้มีคำสั่งถึงที่สุดแล้วว่าผู้ร้องได้กรรมสิทธิ์ ตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 178/2522 ของศาลชั้นต้น ฉะนั้น ที่ผู้ร้องมายื่นคำร้องขอเป็นคดีนี้อีก จึงเป็นการรื้อร้องเพื่อให้ศาลวินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกันกับคดีก่อนนั่นเอง ถือว่าเป็นการฟ้องซ้ำ ปัญหานี้ แม้จะไม่มีฝ่ายใดยกขึ้นว่ากล่าว แต่เป็นข้อกฏหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนศาลยกขึ้นวินิจฉัยเองได้”
พิพากษายืน.