คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5753/2545

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ค่าเสียหายอันเป็นค่าเช่าที่จำเลยจะต้องชำระก่อนโจทก์บอกเลิกสัญญานั้น เมื่อโจทก์บอกเลิกสัญญาเช่าแก่จำเลยโดยชอบ และยึดรถยนต์ที่ให้เช่าคืนมาจากจำเลยสัญญาเช่าระหว่างโจทก์กับจำเลยย่อมสิ้นสุดลงในวันดังกล่าวแล้ว คู่สัญญาจำต้องให้อีกฝ่ายได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 วรรคหนึ่ง โจทก์จะอาศัยสัญญาเช่ามาฟ้องเรียกค่าเช่าที่จำเลยค้างชำระอีกมิได้ จะเรียกได้ก็แต่เพียงค่าที่จำเลยได้ใช้ประโยชน์จากรถยนต์ที่เช่ามาตลอดระยะเวลาที่จำเลยครอบครองรถยนต์อยู่ตามมาตรา 391 วรรคสามเท่านั้น ซึ่งการเช่ารถยนต์กรณีนี้เป็นการเช่าแบบลิสซิ่งโดยเมื่อครบกำหนดระยะเวลาเช่าแล้วโจทก์มีภาระผูกพันต้องให้จำเลยมีสิทธิเลือกซื้อรถยนต์ที่เช่าได้ในราคาถูกกว่าราคาในท้องตลาดเป็นการตอบแทน โจทก์เป็นแหล่งเงินทุนประกอบธุรกิจหากำไรจากการให้เช่ารถยนต์หรือให้เช่าซื้อ จึงน่าเชื่อว่าในการกำหนดค่าเช่าแบบลิสซิ่งโจทก์จะต้องคำนวณค่าเช่ารถยนต์และค่าดอกเบี้ยเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของค่าเช่าด้วย ดังนั้น ค่าเช่าที่โจทก์กำหนดไว้ในสัญญาเช่าแบบลิสซิ่งจึงน่าจะสูงกว่าค่าเช่าตามสัญญาเช่าแบบธรรมดา
ค่าเสียหายอันเป็นค่าเช่าที่จำเลยต้องชำระหลังจากโจทก์บอกเลิกสัญญานั้น แม้ตามสัญญาเช่าจะระบุไว้ว่า ถ้าจำเลยผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าตามกำหนด โจทก์มีสิทธิเรียกค่าทดแทนโดยถือว่าค่าเช่าทั้งหมดถึงกำหนดชำระ และโจทก์อาจฟ้องเรียกเงินค่าเช่าทั้งหมดและเงินอื่น ๆ ซึ่งถึงกำหนดชำระและซึ่งจะถึงกำหนดชำระในภายหน้าตามสัญญาเช่าก็ตาม แต่ข้อสัญญาดังกล่าวถือได้ว่าเป็นข้อสัญญาที่กำหนดความรับผิดในการที่จำเลยไม่ชำระหนี้ไว้ล่วงหน้าจึงมีลักษณะเป็นการกำหนดเบี้ยปรับ ถ้าหากกำหนดไว้สูงเกินส่วน ศาลอาจลดลงเป็นจำนวนที่พอสมควรได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 383
แม้สัญญาเช่าจะมีข้อความระบุไว้ว่าถ้าไม่มีการชำระเงินตามที่โจทก์เรียกร้องจำเลยจะต้องชำระดอกเบี้ยตามอัตราดอกเบี้ยในการผิดสัญญาที่กำหนดในตารางต่อท้าย และตารางต่อท้ายสัญญาเช่าได้ระบุอัตราดอกเบี้ยในการผิดสัญญาร้อยละ 21 ต่อปี ข้อตกลงดังกล่าวเป็นการกำหนดค่าเสียหายไว้ล่วงหน้าในกรณีจำเลยผิดนัดไม่ชำระหนี้แก่โจทก์ จึงมีลักษณะเป็นเบี้ยปรับ หากสูงเกินส่วนศาลย่อมมีอำนาจลดลงเป็นจำนวนพอสมควรได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 383 วรรคหนึ่ง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งห้าร่วมกันใช้ค่าเสียหายจำนวน 993,000 บาทแก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ

จำเลยทั้งห้าให้การ ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันในชั้นนี้ รับฟังเป็นยุติได้ว่าโจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทมหาชนจำกัด จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัด มีจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการซึ่งจะต้องร่วมรับผิดกับห้างจำเลยที่ 1 ในบรรดาหนี้ของจำเลยที่ 1 ตามกฎหมาย เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2537 จำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาเช่าแบบลิสซิ่ง รถยนต์ยี่ห้อเบนซ์ รุ่นเอส 280จำนวน 1 คัน หมายเลขทะเบียน 3 ศ – 3334 กรุงเทพมหานครจากโจทก์ มีกำหนด 6 เดือน โดยจำเลยที่ 1 ตกลงชำระค่าเช่าเดือนละ 79,300 บาท กับภาษีมูลค่าเพิ่มเดือนละ5,551 บาทแก่โจทก์ กำหนดชำระค่าเช่าทุกวันที่ 19 ของทุกเดือน เริ่มตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2537 เป็นต้นไป หากจำเลยที่ 1 มิได้กระทำผิดสัญญา จำเลยที่ 1 มีสิทธิเลือกซื้อรถยนต์ที่เช่าได้ในราคา 1,401,869.16 บาทตามสัญญาเช่าเอกสารหมาย จ.8 ในการทำสัญญาเช่าดังกล่าว จำเลยที่ 4 และที่ 5 ยอมตนเป็นผู้ค้ำประกันโดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมกับจำเลยที่ 1 ตามสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.9 และ จ.10 หลังจากจำเลยที่ 1 ทำสัญญา และได้รับรถยนต์ที่เช่าไปจากโจทก์แล้ว จำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าแก่โจทก์เพียง 32 เดือน รวมเป็นเงินจำนวน 2,537,600 บาท และจำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าแก่โจทก์ ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2540 เป็นต้นมา โจทก์จึงบอกเลิกสัญญาเช่าและยึดรถยนต์ที่ให้เช่าคืนจากจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2540 ต่อมาโจทก์ได้ประมูลขายรถยนต์คันดังกล่าวไปเป็นเงิน 2,420,000 บาท และคดีฟังยุติตามคำพิพากษาศาลล่างทั้งสองโดยที่คู่ความมิได้อุทธรณ์และฎีกาคัดค้านว่า โจทก์ได้มอบอำนาจให้นายเจษฎา เปรมอนันต์ ฟ้องคดีนี้โดยชอบ และคดีโจทก์ยังไม่ขาดอายุความ

มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ข้อแรกว่า โจทก์มีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากจำเลยทั้งห้าได้อีกหรือไม่และเพียงใด โดยโจทก์ฎีกาขอเรียกค่าเสียหายจากจำเลยแยกเป็น2 ส่วน ส่วนแรกเป็นค่าเสียหายอันเป็นค่าเช่าที่จำเลยค้างชำระก่อนโจทก์บอกเลิกสัญญาจำนวน 10 เดือน เป็นเงินเดือนละ 79,300 บาท รวมเป็นเงินจำนวน 793,000 บาท ส่วนที่ 2 เป็นค่าเสียหายอันเป็นค่าเช่าที่จำเลยจะต้องชำระหลังจากโจทก์บอกเลิกสัญญาแล้ว จำนวน 18 เดือน เป็นเงินเดือนละ 79,300 บาท รวมเป็นเงินจำนวน 1,427,400 บาท บวกด้วยราคารถยนต์ที่จำเลยมีสิทธิเลือกซื้อจำนวน 1,401,869.16 บาท รวมเป็นเงินจำนวน 2,829,269.16 บาท หักออกด้วยราคารถยนต์ที่ให้เช่าซึ่งโจทก์ประมูลขายได้ในราคา 2,420,000 บาท คงเหลือค่าเสียหายจำนวน 409,269.16 บาท แต่โจทก์ขอคิดค่าเสียหายส่วนที่ 2 นี้เพียง 200,000 บาท เห็นว่า เมื่อคดีฟังได้ว่าโจทก์บอกเลิกสัญญาเช่าแก่จำเลยที่ 1 โดยชอบและยึดรถยนต์ที่ให้เช่าคืนมาจากจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2540 สัญญาเช่าระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 ย่อมสิ้นสุดลงในวันดังกล่าวแล้ว คู่สัญญาจำต้องให้อีกฝ่ายได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 วรรคหนึ่ง โจทก์จะอาศัยสัญญาเช่ามาฟ้องเรียกค่าเช่าที่จำเลยที่ 1 ค้างชำระอีกมิได้ จะเรียกได้ก็แต่เพียงค่าที่จำเลยที่ 1 ได้ใช้ประโยชน์จากรถยนต์ที่เช่ามาตลอดระยะเวลาที่จำเลยที่ 1 ครอบครองรถยนต์อยู่ตามมาตรา 391 วรรคสาม เท่านั้น ศาลฎีกาเห็นว่าการเช่ารถยนต์กรณีนี้เป็นการเช่าแบบลิสซิ่งโดยเมื่อครบกำหนดระยะเวลาเช่าแล้วโจทก์มีภาระผูกพันต้องให้จำเลยที่ 1 มีสิทธิเลือกซื้อรถยนต์ที่เช่าได้ในราคาถูกกว่าราคาในท้องตลาดเป็นการตอบแทน โจทก์เป็นแหล่งเงินทุนประกอบธุรกิจหากำไรจากการให้เช่ารถยนต์หรือให้เช่าซื้อ จึงน่าเชื่อว่าในการกำหนดค่าเช่าแบบลิสซิ่งโจทก์จะต้องคำนวณค่าซื้อรถยนต์และค่าดอกเบี้ยเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของค่าเช่าด้วย ดังนั้น ค่าเช่าเดือนละ 79,300 บาท ที่โจทก์กำหนดไว้ในสัญญาเช่าแบบลิสซิ่งเอกสารหมาย จ.8 จึงน่าจะสูงกว่าค่าเช่าตามสัญญาเช่าแบบธรรมดา ที่โจทก์อ้างมาในฎีกาว่ารถยนต์รุ่นเดียวกับรถยนต์ที่โจทก์ให้จำเลยที่ 1 เช่า ในท้องตลาดจะเช่ากันไม่ต่ำกว่าเดือนละ 90,000 บาท นั้น เป็นข้ออ้างที่ไม่อาจรับฟังได้ เพราะในชั้นพิจารณาโจทก์ไม่มีพยานมาสืบให้เห็นเช่นนั้น เมื่อคำนึงถึงทางได้เสียของโจทก์แล้วปรากฏว่าโจทก์ได้รับเงินค่าเช่าแบบลิสซิ่งจากจำเลยที่ 1 รวม 32 เดือน รวมเป็นเงินจำนวนสูงถึง 2,537,600 บาทและโจทก์ไม่มีภาระผูกพันต้องขายรถยนต์ที่ให้เช่าแก่จำเลยที่ 1 ในราคาถูกกว่าท้องตลาดด้วยแล้ว จึงกำหนดค่าเสียหายส่วนแรกนี้ให้แก่โจทก์เป็นเงินจำนวน 200,000 บาท เท่านั้น สำหรับค่าเสียหายส่วนที่ 2 นั้น ศาลฎีกา เห็นว่า แม้ตามสัญญาเช่าเอกสารหมาย จ.8 ข้อ 18 จะระบุไว้ว่า ถ้าจำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าตามกำหนด โจทก์มีสิทธิเรียกค่าทดแทนโดยถือว่าค่าเช่าทั้งหมดถึงกำหนดชำระ และโจทก์อาจฟ้องเรียกเงินค่าเช่าทั้งหมดและเงินอื่น ๆ ซึ่งถึงกำหนดชำระและซึ่งจะถึงกำหนดชำระในภายหน้าตามสัญญาเช่าก็ตาม แต่ข้อสัญญาดังกล่าวถือได้ว่าเป็นข้อสัญญาที่กำหนดความรับผิดในการที่จำเลยที่ 1 ไม่ชำระหนี้ไว้ล่วงหน้า จึงมีลักษณะเป็นการกำหนดเบี้ยปรับถ้าหากกำหนดไว้สูงเกินส่วน ศาลอาจลดลงเป็นจำนวนที่พอสมควรได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 383 แม้จะเป็นที่เห็นได้ว่า การที่จำเลยที่ 1 ไม่ปฏิบัติตามสัญญาเช่าอันเป็นเหตุให้โจทก์ต้องบอกเลิกสัญญานั้น ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายเพราะไม่ได้รับเงินค่าเช่าอีก 18 เดือนจากจำเลยที่ 1 กับไม่ได้รับเงินค่าขายรถยนต์ที่จำเลยที่ 1 จะใช้สิทธิเลือกซื้อ รวมเป็นเงินจำนวน 2,829,269.16 บาท แต่โจทก์สามารถยึดรถยนต์ที่ให้เช่าคืนมาจากจำเลยที่ 1 ได้เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2540 และโจทก์ได้ประมูลขายรถยนต์คันดังกล่าวไปในราคา 2,420,000 บาท เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2541 ตามสำเนาใบเสร็จรับเงินเอกสารหมาย จ.12 เป็นการบรรเทาความเสียหายของโจทก์ส่วนหนึ่งซึ่งเมื่อนำมารวมกับค่าเช่าที่โจทก์ได้รับจากจำเลยที่ 1 ก่อนบอกเลิกสัญญาจำนวน 2,537,600 บาทจึงรวมเป็นเงินที่โจทก์ได้รับแล้วทั้งสิ้น 4,957,600 บาท และเมื่อนำมารวมกับค่าเสียหายส่วนแรกที่ศาลฎีกากำหนดข้างต้นอีก 200,000 บาท จึงรวมเป็นเงินที่โจทก์จะได้รับทั้งสิ้น5,157,600 บาท ได้ความจากคำเบิกความของนายเจษฎาผู้รับมอบอำนาจโจทก์ว่า รถยนต์ที่ให้เช่ามีราคาเงินสดจำนวน 3,738,317.76 บาท ซึ่งถือได้ว่าเป็นเงินลงทุนของโจทก์ เมื่อนำเงินลงทุนของโจทก์มาหักออกแล้ว โจทก์จะมีกำไรก่อนหักค่าใช้จ่ายอื่น ๆ เป็นเงินจำนวน 1,419,228.24 บาท นอกจากนี้หลังจากยึดรถยนต์ที่ให้เช่าคืนมาแล้ว นับถึงวันประมูลขายเป็นเวลา 1 ปี 2 เดือนเศษ โจทก์สามารถนำรถยนต์คันดังกล่าวออกให้เช่าหาผลกำไรได้อีกส่วนหนึ่ง ดังนี้ เมื่อพิเคราะห์ถึงทางได้เสียทุกอย่างของโจทก์แล้วศาลฎีกาเห็นว่าที่โจทก์เรียกค่าเสียหายส่วนที่ 2 นี้มาเป็นเงินอีก 200,000 บาท จึงสูงเกินส่วนเห็นสมควรกำหนดค่าเสียหายส่วนที่ 2 นี้ให้โจทก์เพียง 20,000 บาท รวมเป็นค่าเสียหายที่จำเลยที่ 1 จะต้องรับผิดต่อโจทก์ทั้งสิ้น 220,000 บาท จำเลยที่ 2 และที่ 3เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการห้างจำเลยที่ 1 ส่วนจำเลยที่ 4 และที่ 5 เป็นผู้ค้ำประกันโดยยอมรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 อย่างลูกหนี้ร่วม จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 จึงต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดใช้ค่าเสียหายจำนวนดังกล่าวแก่โจทก์ด้วย

มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ข้อสุดท้ายว่า โจทก์มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ในต้นเงินค่าเสียหายดังกล่าวจากจำเลยทั้งห้าตามที่โจทก์ฟ้องหรือไม่ ในปัญหาข้อนี้โจทก์ฎีกาอ้างว่า โจทก์มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยอัตราดังกล่าวโดยอาศัยสัญญาเช่าเอกสารหมาย จ.8 เห็นว่า แม้สัญญาเช่าดังกล่าวจะมีข้อความระบุไว้ในข้อ 18.04 ว่า ถ้าไม่มีการชำระเงินตามที่โจทก์เรียกร้อง จำเลยที่ 1 จะต้องชำระดอกเบี้ยตามอัตราดอกเบี้ยในการผิดสัญญาที่กำหนดในตารางต่อท้าย และตารางต่อท้ายสัญญาเช่าได้ระบุอัตราดอกเบี้ยในการผิดสัญญาร้อยละ 21 ต่อปี ข้อตกลงดังกล่าวเป็นการกำหนดค่าเสียหายไว้ล่วงหน้าในกรณีจำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระหนี้แก่โจทก์ จึงมีลักษณะเป็นเบี้ยปรับ หากสูงเกินส่วนศาลย่อมมีอำนาจลดลงเป็นจำนวนพอสมควรได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 383 วรรคหนึ่ง เช่นเดียวกัน ซึ่งศาลฎีกาได้คำนึงถึงทางได้เสียของโจทก์ตลอดจนภาวะตลาดการเงินในปัจจุบันแล้ว เห็นสมควรกำหนดให้โจทก์เรียกดอกเบี้ยจากเงินค่าเสียหายดังกล่าวในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี เท่านั้นที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่าโจทก์ได้รับประโยชน์และเงินค่าเสียหายเป็นจำนวนพอสมควรแล้ว จึงไม่กำหนดค่าเสียหายและดอกเบี้ยให้อีกและพิพากษายกฟ้องโจทก์มานั้น ยังไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน”

พิพากษากลับ ให้จำเลยทั้งห้าร่วมกันใช้ค่าเสียหายจำนวน 220,000 บาทแก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันถัดจากวันฟ้อง (วันที่ 15 ตุลาคม2541) จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

Share