คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 575/2550

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

โจทก์ยื่นอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้จำหน่ายคดีสำหรับจำเลยที่ 6 และยื่นคำร้องขออนุญาตยื่นอุทธรณ์โดยตรงต่อศาลฎีกา แม้ศาลชั้นต้นจะมิได้สั่งอนุญาตตามคำร้อง แต่การที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 6 ได้รับสำเนาคำร้องแล้วไม่คัดค้าน และศาลชั้นต้นมีคำสั่งในรายงานเจ้าหน้าที่ว่าให้รวบรวมถ้อยคำสำนวนส่งศาลฎีกา พอแปลได้ว่า ศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์ยื่นอุทธรณ์โดยตรงต่อศาลฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 223 ทวิ วรรคหนึ่ง แล้ว และแม้ว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 จะได้ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาที่ให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ชำระหนี้แก่โจทก์ก็ตาม แต่ก็เป็นปัญหาในคดีคนละส่วนไม่เกี่ยวข้องกัน อย่างไรก็ตาม ศาลอุทธรณ์ก็ได้มีคำสั่งให้จำหน่ายคดีเนื่องจากจำเลยที่ 2 และที่ 3 ทิ้งอุทธรณ์ไปแล้ว คดีตามอุทธรณ์ของโจทก์ในส่วนนี้จึงขึ้นมาสู่การพิจารณาของศาลโดยชอบ
โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 6 ในฐานะทายาทโดยธรรมของ ส. ซึ่งถึงแก่ความตายไปแล้วให้รับผิดตามสัญญาค้ำประกันที่ ส. ทำไว้กับโจทก์เพื่อประกันการชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 ที่มีต่อโจทก์ อันเป็นกรณีที่โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้กองมรดกของ ส. ฟ้องกองมรดกเพื่อบังคับสิทธิเรียกร้องตามสัญญาค้ำประกันดังกล่าว ซึ่งโจทก์จะบังคับสิทธิเรียกร้องต่อจำเลยที่ 6 หรือทายาทคนใดของ ส. ก็ได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1737 โจทก์มิได้ฟ้องจำเลยที่ 6 ให้รับผิดในฐานะส่วนตัว ดังนั้น แม้จำเลยที่ 6 จะถูกศาลล้มละลายกลางสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดก็ตาม แต่เมื่อไม่มีเจ้าหนี้รายใดฟ้องขอให้จัดการทรัพย์มรดกของ ส. ตาม พ.ร.บ.ล้มละลายฯ มาตรา 82 และศาลมิได้พิพากษาให้จัดการทรัพย์มรดกของ ส. ตามมาตรา 84 แห่ง พ.ร.บ. ดังกล่าวแล้ว เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ย่อมไม่มีอำนาจเข้ามาจัดการทรัพย์สินในกองมรดกของ ส. หรือเข้ามาต่อสู้คดีเกี่ยวกับทรัพย์สินในกองมรดกของ ส. แทนจำเลยที่ 6 ตาม พ.ร.บ.ล้มละลายฯ มาตรา 22 (1) (3) ได้ จำเลยที่ 6 จึงยังคงมีอำนาจต่อสู้คดีนี้ในฐานะทายาทโดยธรรมของ ส. ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีสำหรับจำเลยที่ 6 จึงเป็นการไม่ชอบ

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ชำระหนี้ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีแก่โจทก์ โดยให้จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ร่วมรับผิดในฐานะผู้ค้ำประกัน และให้จำเลยที่ 4 ที่ 5 และที่ 6 ร่วมรับผิดในฐานะทายาทโดยธรรมของนายสุกรี โพธิรัตนังกูร ผู้ค้ำประกันอีกผู้หนึ่งซึ่งถึงแก่ความตาย หากจำเลยทั้งหกไม่ชำระให้ยึดทรัพย์สินที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 จำนองเป็นประกันหนี้และทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งหกออกขายทอดตลาดชำระหนี้แก่โจทก์จนครบ จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การ จำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 ให้การต่อสู้คดี ระหว่างพิจารณา จำเลยที่ 5 ถูกศาลล้มละลายกลางสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2544 ในคดีหมายเลขแดงที่ 127/2544 เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 5 ยื่นคำแถลงไม่ขอเข้าว่าคดี โจทก์แถลงขอให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตามที่เห็นสมควร ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีสำหรับจำเลยที่ 5 ต่อมาวันที่ 28 มิถุนายน 2544 และวันที่ 31 กรกฎาคม 2544 จำเลยที่ 4 และที่ 6 ถูกศาลล้มละลายกลางสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดในคดีหมายเลขแดงที่ 391/2544 และคดีหมายเลขแดงที่ 607/2544 ตามลำดับ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 4 และเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 6 ยื่นคำแถลงไม่ขอเข้าว่าคดีและขอให้มีคำสั่งจำหน่ายคดีสำหรับจำเลยที่ 4 และที่ 6 โจทก์ไม่คัดค้านการขอให้จำหน่ายคดีสำหรับจำเลยที่ 4 แต่คัดค้านการขอให้จำหน่ายคดีสำหรับจำเลยที่ 6 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีสำหรับจำเลยที่ 4 ส่วนจำเลยที่ 6 นั้น ศาลชั้นต้นเห็นว่าเมื่อจำเลยที่ 6 ถูกศาลล้มละลายกลางสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด อำนาจในการจัดการการทรัพย์สินจึงตกอยู่แก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 และเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไม่ขอเข้าว่าคดีแทนจำเลยที่ 6 จึงมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีสำหรับจำเลยที่ 6 เช่นกัน ต่อมาศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันชำระหนี้แก่โจทก์
โจทก์อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้โจทก์ยื่นอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้จำหน่ายคดีสำหรับจำเลยที่ 6 และยื่นคำร้องขออนุญาตยื่นอุทธรณ์โดยตรงต่อศาลฎีกา แม้ศาลชั้นต้นจะมิได้สั่งอนุญาตตามคำร้อง แต่การที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 6 ได้รับสำเนาคำร้องแล้วไม่คัดค้าน และศาลชั้นต้นมีคำสั่งในรายงานเจ้าหน้าที่ว่าให้รวบรวมถ้อยคำสำนวนส่งศาลฎีกา พอแปลได้ว่า ศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์ยื่นอุทธรณ์โดยตรงต่อศาลฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ วรรคหนึ่ง แล้ว และแม้ว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 จะได้ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นที่พิพากษาให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ชำระหนี้แก่โจทก์ก็ตาม แต่ก็เป็นปัญหาในคดีคนละส่วนไม่เกี่ยวข้องกัน อย่างไรก็ตาม ศาลอุทธรณ์ก็ได้มีคำสั่งให้จำหน่ายคดี เนื่องจากจำเลยที่ 2 และที่ 3 ทิ้งอุทธรณ์ไปแล้ว คดีตามอุทธรณ์ของโจทก์ในส่วนนี้จึงขึ้นมาสู่การพิจารณาของศาลฎีกาโดยชอบ มีปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่าคำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้จำหน่ายคดีสำหรับจำเลยที่ 6 ชอบหรือไม่ เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 6 ในฐานะทายาทโดยธรรมของนายสุกรี โพธิรัตนังกูร ซึ่งถึงแก่ความตายไปแล้วให้รับผิดตามสัญญาค้ำประกันที่นายสุกรีทำไว้กับโจทก์เพื่อประกันการชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 ที่มีต่อโจทก์อันเป็นกรณีที่โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้กองมรดกของนายสุกรีฟ้องกองมรดกเพื่อบังคับสิทธิเรียกร้องตามสัญญาค้ำประกันดังกล่าว ซึ่งโจทก์จะบังคับสิทธิเรียกร้องต่อจำเลยที่ 6 หรือทายาทคนใดของนายสุกรีก็ได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1737 โจทก์มิได้ฟ้องจำเลยที่ 6 ให้รับผิดในฐานะส่วนตัว ดังนั้น แม้จำเลยที่ 6 จะถูกศาลล้มละลายกลางสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดก็ตาม แต่เมื่อไม่มีเจ้าหนี้รายใดฟ้องขอให้จัดการทรัพย์มรดกของนายสุกรีตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 82 และศาลมิได้พิพากษาให้จัดการทรัพย์มรดกของนายสุกรีตามมาตรา 84 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวแล้ว เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ย่อมไม่มีอำนาจเข้ามาจัดการทรัพย์สินในกองมรดกของนายสุกรี หรือเข้ามาต่อสู้คดีเกี่ยวกับทรัพย์สินในกองมรดกของนายสุกรีแทนจำเลยที่ 6 ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 22 (1) (3) ได้ จำเลยที่ 6 จึงยังคงมีอำนาจต่อสู้คดีนี้ในฐานะทายาทโดยธรรมของนายสุกรี ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีสำหรับจำเลยที่ 6 จึงเป็นการไม่ชอบ อุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้น”
พิพากษายกคำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้จำหน่ายคดีสำหรับจำเลยที่ 6 ให้ศาลชั้นต้นยกคดีของโจทก์สำหรับจำเลยที่ 6 ขึ้นพิจารณาแล้วมีคำพิพากษาต่อไป

Share