คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 712/2550

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

โจทก์บรรยายฟ้องในข้อ 1 ใจความว่า ด้วย ร.ม.ต.ว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์การเกษตร อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 47 และมาตรา 75 แห่ง พ.ร.บ.ป่าไม้ฯ ออกประกาศกระทรวงเกษตรให้กำหนดเขตควบคุมการแปรรูปไม้ตลอดเขตท้องที่ทุกจังหวัดและโจทก์บรรยายฟ้องข้อ 2 ใจความว่า ก. ภายในเขตควบคุมการแปรรูปไม้ดังกล่าวในฟ้องข้อ 1 จำเลยทั้งหกร่วมกันตั้งโรงงานแปรรูปไม้ขึ้นที่บริเวณไม่มีเลขที่บ้าน หมู่ที่ 2 ตำบลหนองย่างทอย อำเภอศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์ โดยร่วมกันตั้งโรงงานทำเป็นสถานที่ขึ้นเพื่อทำการแปรรูปไม้ไผ่ซางโดยใช้เครื่องจักรกล ได้แก่แท่นเครื่องแปรรูปไม้ไผ่ซาง 4 แท่น แท่นเครื่องตัดไม้ไผ่ซางมีใบเลื่อยพร้อมมอเตอร์ 3 เครื่อง และตาชั่ง 1 เครื่อง เป็นเครื่องมือเครื่องใช้ภายในโรงงาน ที่ใช้ทำการเลื่อยแปรรูปไม้ไผ่ซางให้เปลี่ยนรูป เปลี่ยนขนาด แปรเปลี่ยนสภาพไปจากเดิม ทั้งนี้โดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ และไม่มีเหตุอันควรได้รับยกเว้นตามกฎหมาย ข. จำเลยทั้งหกได้บังอาจร่วมกันทำไม้ภายในเขตป่าฝั่งซ้ายของแม่น้ำป่าสัก ในท้องที่ตำบลหนองย่างทอย อำเภอศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์ อันเป็นเขตป่าสงวนแห่งชาติ โดยได้ร่วมกันนำไม้ไผ่ซางที่มีอยู่ภายในเขตป่าสงวนแห่งชาติดังกล่าวมาผ่าเลื่อยให้เปลี่ยนรูป เปลี่ยนขนาด แปรเปลี่ยนสภาพไปจากเดิม อันเป็นการกระทำให้เกิดการเสื่อมเสียแก่สภาพป่าสงวนแห่งชาติ ทั้งนี้ โดยจำเลยทั้งหกไม่ได้รับสัมปทานและมิได้รับการยกเว้นตามกฎหมาย โดยโจทก์มิได้บรรยายฟ้องว่าจำเลยทั้งหกร่วมกันทำการแปรรูปไม้หรือกระทำด้วยประการอื่นใดแก่ไม้ อันเป็นการทำให้ไม้เปลี่ยนรูปและขนาดไปจากเดิมโดยมิได้รับอนุญาตภายในเขตควบคุมการแปรรูปไม้ อันเป็นองค์ประกอบความผิดฐานแปรรูปไม้ภายในเขตควบคุมการแปรรูปไม้โดยไม่ได้รับอนุญาตตามมาตรา 48 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.ป่าไม้ฯ อันเป็นความผิดคนละฐานซึ่งมีองค์ประกอบความผิดแตกต่างจากความผิดฐานตั้งโรงงานแปรรูปไม้ภายในเขตควบคุมการแปรรูปไม้ และความผิดฐานทำไม้ภายในเขตป่าสงวนแห่งชาติที่โจทก์ได้บรรยายฟ้องมา ดังนั้น เมื่อโจทก์มิได้บรรยายข้อเท็จจริงและรายละเอียดแห่งการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยทั้งหกร่วมกันกระทำความผิดฐานแปรรูปไม้ภายในเขตควบคุมการแปรรูปไม้โดยไม่ได้รับอนุญาตมาในฟ้อง ฟ้องของโจทก์จึงเป็นฟ้องที่บรรยายข้อเท็จจริงขาดองค์ประกอบความผิดตาม ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) แม้คำขอท้ายฟ้องจะระบุบทมาตราให้ลงโทษมาด้วย ศาลก็ไม่อาจลงโทษจำเลยในข้อหาความผิดฐานนี้ได้ต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคหนึ่ง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2545 เวลากลางวัน จำเลยทั้งหกร่วมกันกระทำความผิดต่อกฎหมายหลายกรรมต่างกัน กล่าวคือ จำเลยทั้งหกร่วมกันตั้งโรงงานแปรรูปไม้ขึ้นเพื่อทำการแปรรูปไม้ไผ่ซาง โดยใช้เครื่องจักรกล ได้แก่ แท่นเครื่องแปรรูปไม้ไผ่ซาง 4 แท่น แท่นเครื่องตัดไม้ไผ่ซางมีใบเลื่อยพร้อมมอเตอร์ 3 เครื่อง ตาชั่ง 1 เครื่อง เป็นเครื่องมือเครื่องใช้ภายในโรงงานที่ใช้ทำการเลื่อยแปรรูปไม้ไผ่ซางให้เปลี่ยนรูป เปลี่ยนขนาด แปรเปลี่ยนสภาพไปจากเดิมโดยไม่ได้รับอนุญาต และไม่มีเหตุอันควรได้รับยกเว้นตามกฎหมาย ที่บริเวณไม่มีเลขที่บ้าน หมู่ที่ 2 ตำบลหนองย่างทอย อำเภอศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์ ซึ่งอยู่ในเขตควบคุมการแปรรูปไม้ และจำเลยทั้งหกร่วมกันทำไม้ภายในเขตป่าฝั่งซ้ายของแม่น้ำป่าสัก ท้องที่ตำบลหนองย่างทอย อำเภอศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์ อันเป็นเขตป่าสงวนแห่งชาติโดยร่วมกันนำไม้ไผ่ซางที่มีอยู่ภายในเขตป่าสงวนแห่งชาติมาผ่าเลื่อยให้เปลี่ยนรูป เปลี่ยนขนาด แปรเปลี่ยนสภาพไปจากเดิม อันเป็นการกระทำให้เกิดการเสื่อมเสียแก่สภาพป่าสงวนแห่งชาติ โดยจำเลยทั้งหกไม่ได้รับสัมปทานและมิได้รับการยกเว้นตามกฎหมาย เหตุทั้งหมดเกิดที่ตำบลหนองย่างทอย อำเภอศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์ เจ้าพนักงานจับกุมจำเลยทั้งหกได้พร้อมด้วยแท่นเครื่องแปรรูปไม้ไผ่ซาง 4 แท่น แท่นเครื่องตัดไม้มีใบเลื่อยจำนวน 1 แท่น พร้อมมอเตอร์ 3 เครื่อง ตาชั่ง 1 เครื่อง ไม้ไผ่ซางที่แปรรูปแล้ว 750 กิโลกรัม และไม้ไผ่ซางที่ยังไม่ได้แปรรูป 55 ลำ ที่จำเลยทั้งหกร่วมกันใช้เป็นเครื่องมือเครื่องใช้อุปกรณ์ และที่ได้มาจากการกระทำความผิดดังกล่าวเป็นของกลาง ขอให้ลงโทษจำเลยทั้งหกตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 83, 91 พระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 11, 48, 73, 74, 74 ทวิ, 74 จัตวา พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 มาตรา 4, 6, 9, 14, 31, 35 ริบของกลาง ให้จำเลยทั้งหกและบริวารออกจากป่าสงวนแห่งชาติ และจ่ายสินบนนำจับแก่ผู้นำจับตามกฎหมาย
จำเลยทั้งหกให้การปฏิเสธ ระหว่างพิจารณาจำเลยทั้งหกขอถอนคำให้การเดิมและให้การใหม่ปฏิเสธเฉพาะข้อหาทำในเขตป่าสงวนแห่งชาติ โดยรับว่าร่วมกันแปรรูปไม้แต่มิได้กระทำภายในเขตควบคุมการแปรรูปไม้ ส่วนข้อหาตั้งโรงงานแปรรูปไม้ จำเลยทั้งหกมิได้ให้การ ถือว่าจำเลยทั้งหกยังคงให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งหกมีความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 48 วรรคหนึ่ง, 73 วรรคสอง ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 ฐานร่วมกันแปรรูปไม้โดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุกคนละ 3 ปี และปรับคนละ 100,000 บาท จำเลยทั้งหกให้การรับสภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกคนละ 1 ปี 6 เดือน และปรับคนละ 50,000 บาท ริบของกลาง หากไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ให้จำเลยทั้งหกจ่ายเงินสินบนนำจับแก่ผู้นำจับกึ่งหนึ่งของจำนวนเงินค่าปรับตามคำพิพากษา ข้อหาและคำขออื่นให้ยก
จำเลยทั้งหกอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งหกไม่มีความผิดฐานร่วมกันแปรรูปไม้ในเขตควบคุมการแปรรูปไม้โดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ไม่ให้จ่ายสินบนนำจับ แต่ให้ริบของกลางเว้นแต่ไม้ไผ่ซางที่แปรรูปแล้วและที่ยังไม่ได้แปรรูปตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 74 ทวิ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า โจทก์บรรยายฟ้องครบองค์ประกอบความผิดฐานแปรรูปไม้ภายในเขตควบคุมการแปรรูปไม้โดยไม่ได้รับอนุญาตหรือไม่ เห็นว่า คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องในข้อ 1 ใจความว่า ด้วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์การเกษตร อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 47 และมาตรา 75 แห่งพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 ออกประกาศกระทรวงเกษตรให้กำหนดเขตควบคุมการแปรรูปไม้ตลอดเขตท้องที่จังหวัดทุกจังหวัด และโจทก์บรรยายฟ้องข้อ 2 ใจความว่า ก. ภายในเขตควบคุมการแปรรูปไม้ดังกล่าวในฟ้องข้อ 1 จำเลยทั้งหกร่วมกันตั้งโรงงานแปรรูปไม้ขึ้นที่บริเวณไม่มีเลขที่บ้าน หมู่ที่ 2 ตำบลหนองย่างทอย อำเภอศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์ โดยร่วมกันตั้งโรงงานทำเป็นสถานที่ขึ้นเพื่อทำการแปรรูปไม้ไผ่ซาง โดยใช้เครื่องจักรกลได้แก่ แท่นเครื่องแปรรูปไม้ไผ่ซาง 4 แท่น แท่นเครื่องตัดไม้ไผ่ซางมีใบเลื่อยพร้อมมอเตอร์ 3 เครื่อง และตาชั่ง 1 เครื่อง เป็นเครื่องมือเครื่องใช้ภายในโรงงานที่ใช้ทำการเลื่อยแปรรูปไม้ไผ่ซางให้เปลี่ยนรูป เปลี่ยนขนาด แปรเปลี่ยนสภาพไปจากเดิม ทั้งนี้โดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ และไม่มีเหตุอันควรได้รับยกเว้นตามกฎหมาย ข. จำเลยทั้งหกได้บังอาจร่วมกันทำไม้ภายในเขตป่าฝั่งซ้ายของแม่น้ำป่าสัก ในท้องที่ตำบลหนองย่างทอย อำเภอศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์ อันเป็นเขตป่าสงวนแห่งชาติ โดยได้ร่วมกันนำไม้ไผ่ซางที่มีอยู่ภายในเขตป่าสงวนแห่งชาติดังกล่าวมาผ่า เลื่อย ให้เปลี่ยนรูป เปลี่ยนขนาด แปรเปลี่ยนสภาพไปจากเดิม อันเป็นการกระทำให้เกิดการเสื่อมเสียแก่สภาพป่าสงวนแห่งชาติ ทั้งนี้ โดยจำเลยทั้งหกไม่ได้รับสัมปทานและมิได้รับการยกเว้นตามกฎหมาย โดยโจทก์มิได้บรรยายฟ้องว่า จำเลยทั้งหกร่วมกันทำการแปรรูปไม้หรือกระทำด้วยประการอื่นใดแก่ไม้อันเป็นการทำให้ไม้เปลี่ยนรูปและขนาดไปจากเดิมโดยมิได้รับอนุญาตภายในเขตควบคุมการแปรรูปไม้ อันเป็นองค์ประกอบความผิดฐานแปรรูปไม้ภายในเขตควบคุมการแปรรูปไม้โดยไม่ได้รับอนุญาต ตามมาตรา 48 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 อันเป็นความผิดคนละฐานซึ่งมีองค์ประกอบความผิดต่างจากความผิดฐานตั้งโรงงานแปรรูปไม้ภายในเขตควบคุมการแปรรูปไม้ และความผิดฐานทำไม้ภายในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ที่โจทก์ได้บรรยายฟ้องมา ดังนั้น เมื่อโจทก์มิได้บรรยายข้อเท็จจริงและรายละเอียดแห่งการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยทั้งหกร่วมกันกระทำความผิดฐานแปรรูปไม้ภายในเขตควบคุมการแปรรูปไม้โดยไม่ได้รับอนุญาตมาในฟ้อง ฟ้องของโจทก์จึงเป็นฟ้องที่บรรยายข้อเท็จจริงขาดองค์ประกอบความผิดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5) แม้คำขอท้ายฟ้องจะระบุบทมาตราให้ลงโทษมาด้วย ศาลก็ไม่อาจลงโทษจำเลยในข้อหาความผิดฐานนี้ได้ ต้องห้ามตามประมวลวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคหนึ่ง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 วินิจฉัยมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง คดีนี้ศาลอุทธรณ์ภาค 6 ไม่ได้สั่งริบไม้ไผ่ซางที่แปรรูปแล้วและที่ยังไม่ได้แปรรูปของกลางแต่ไม่ได้ส่งคืนของกลางดังกล่าวแก่เจ้าของ ศาลฎีกาจึงเห็นสมควรให้คืนของกลางดังกล่าวแก่เจ้าของ”
พิพากษายืน แต่ให้คืนไม้ไผ่ซางที่แปรรูปแล้วและที่ยังไม่ได้แปรรูปของกลางตามฟ้องให้แก่เจ้าของ

Share