คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4548/2562

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การสละสิทธิหรือใช้สิทธิในการอุทธรณ์หรือฎีกาและกระบวนพิจารณาที่เป็นไปในทางจำหน่ายสิทธิของคู่ความ ทนายความต้องได้รับมอบอำนาจจากตัวความโดยชัดแจ้ง ว. ทนายโจทก์ลงชื่อเป็นผู้อุทธรณ์ในคำฟ้องอุทธรณ์โดยใบแต่งทนายความมิได้ระบุให้ ว. มีอำนาจยื่นอุทธรณ์แทนโจทก์ จึงเป็นคำฟ้องอุทธรณ์ที่มีข้อบกพร่อง เท่ากับคำฟ้องอุทธรณ์ไม่มีลายมือชื่อโจทก์ ศาลชั้นต้นต้องสั่งให้โจทก์แก้ไขข้อบกพร่องเสียให้ถูกต้องก่อนตาม ป.วิ.พ. มาตรา 18 การที่ศาลชั้นต้นสั่งรับอุทธรณ์มาโดยไม่สั่งให้แก้ไขข้อบกพร่องจึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบตาม ป.วิ.พ. มาตรา 27 วรรคหนึ่ง ศาลอุทธรณ์ภาค 3 จึงชอบที่จะสั่งให้ศาลชั้นต้นจัดการแก้ไขข้อบกพร่องโดยให้โจทก์ลงชื่อในฐานะผู้อุทธรณ์ในคำฟ้องอุทธรณ์ให้ถูกต้องแล้วจึงดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายกอุทธรณ์ของโจทก์เสียทีเดียว เป็นการไม่ถูกต้องและไม่ชอบด้วยความยุติธรรม แต่เมื่อตามใบแต่งทนายความฉบับหลังโจทก์ได้แต่งตั้ง ว. เป็นทนายความให้มีสิทธิอุทธรณ์ฎีกาแทนโจทก์ได้ในชั้นฎีกานี้แล้วจึงเป็นกรณีที่โจทก์ได้แก้ไขข้อบกพร่องในชั้นยื่นคำฟ้องอุทธรณ์แล้ว จึงไม่ต้องดำเนินการในเรื่องนี้อีก

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 164,461 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 155,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายกอุทธรณ์โจทก์ คืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ทั้งหมดให้แก่โจทก์
โจทก์ฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงได้ความว่า เดิมโจทก์แต่งตั้งให้นางสาวน้ำอ้อย เป็นทนายความ โดยให้มีอำนาจดำเนินกระบวนพิจารณาไปในทางจำหน่ายสิทธิของโจทก์ได้ เช่น การยอมรับตามที่คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งเรียกร้อง การถอนฟ้อง การประนีประนอมยอมความ การสละสิทธิหรือใช้สิทธิในการอุทธรณ์ฎีกา หรือในการขอพิจารณาคดีใหม่ ปรากฏตามใบแต่งทนายความฉบับลงวันที่ 5 มิถุนายน 2560 นางสาวน้ำอ้อยดำเนินกระบวนพิจารณาต่าง ๆ ในศาลชั้นต้นแทนโจทก์ตลอดมาจนกระทั่งศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา ต่อมาในระหว่างระยะเวลายื่นอุทธรณ์ โจทก์แต่งตั้งให้นายวรพจน์ เป็นทนายความของโจทก์อีกคนหนึ่ง โดยในใบแต่งทนายความระบุว่า ให้มีอำนาจว่าต่าง แก้ต่าง ยื่นและหรือถอนคำคู่ความ ดำเนินกระบวนพิจารณาใด ๆ ไปในทางจำหน่ายสิทธิ การยอมรับตามที่คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งเรียกร้อง การประนีประนอมยอมความ การสละสิทธิหรือการขอให้พิจารณาคดีใหม่ ปรากฏตามใบแต่งทนายความฉบับลงวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2561 ต่อมานายวรพจน์ในฐานะทนายความยื่นอุทธรณ์คดีนี้แทนโจทก์ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า โจทก์ยื่นอุทธรณ์ภายในเวลาที่ศาลขยายให้ รับอุทธรณ์ของโจทก์ สำเนาให้จำเลยแก้ หลังจากจำเลยยื่นคำแก้อุทธรณ์ศาลชั้นต้นได้ส่งสำนวนไปยังศาลอุทธรณ์ภาค 3 เพื่อพิจารณาพิพากษา ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิจารณาแล้วพิพากษายกอุทธรณ์ของโจทก์ โดยเห็นว่า ตามใบแต่งทนายความฉบับลงวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2561 ไม่ได้ระบุให้นายวรพจน์มีอำนาจใช้สิทธิในการอุทธรณ์คดีได้ นายวรพจน์จึงไม่มีอำนาจที่จะดำเนินกระบวนพิจารณาใช้สิทธิในการอุทธรณ์คดีนี้แทนโจทก์ อุทธรณ์ของโจทก์ที่นายวรพจน์ลงลายมือชื่อเป็นผู้อุทธรณ์จึงเป็นคำฟ้องอุทธรณ์ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายกอุทธรณ์ของโจทก์นั้น เป็นการชอบหรือไม่ เห็นว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 62 บัญญัติไว้ว่า “ทนายความซึ่งคู่ความได้ตั้งแต่งนั้นมีอำนาจว่าความและดำเนินกระบวนพิจารณาใด ๆ แทนคู่ความได้ตามที่เห็นสมควรเพื่อรักษาผลประโยชน์ของคู่ความนั้น แต่ถ้ากระบวนพิจารณาใดเป็นไปในทางจำหน่ายสิทธิของคู่ความ เช่น การยอมรับตามที่คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งเรียกร้อง การถอนฟ้อง การประนีประนอมยอมความ การสละสิทธิ หรือใช้สิทธิในการอุทธรณ์หรือฎีกา หรือในการขอให้พิจารณาคดีใหม่ ทนายความไม่มีอำนาจที่จะดำเนินกระบวนพิจารณาเช่นว่านี้ได้โดยมิได้รับอำนาจจากตัวความโดยชัดแจ้ง อำนาจโดยชัดแจ้งเช่นว่านี้จะระบุให้ไว้ในใบแต่งทนายสำหรับคดีเรื่องนั้น…” เช่นนี้ การสละสิทธิหรือใช้สิทธิในการอุทธรณ์หรือฎีกาและกระบวนพิจารณาที่เป็นไปในทางจำหน่ายสิทธิของคู่ความจึงต้องได้รับมอบอำนาจจากตัวความโดยชัดแจ้ง ทนายความจึงจะมีอำนาจดำเนินกระบวนพิจารณาดังกล่าวแทนตัวความได้ ดังนั้น เมื่อตามใบแต่งทนายความฉบับลงวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2561 ที่โจทก์แต่งตั้งให้นายวรพจน์เป็นทนายความดำเนินคดีแทนโจทก์ มิได้ระบุให้นายวรพจน์มีอำนาจยื่นอุทธรณ์แทนโจทก์ นายวรพจน์จึงย่อมไม่มีอำนาจดำเนินกระบวนพิจารณาในส่วนนี้แทนโจทก์ได้ การที่นายวรพจน์ลงชื่อเป็นผู้อุทธรณ์ในคำฟ้องอุทธรณ์ โดยไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้มอบอำนาจให้ทำแทนได้และยื่นต่อศาลชั้นต้นนั้น เป็นคำฟ้องอุทธรณ์ที่มีข้อบกพร่อง เท่ากับคำฟ้องอุทธรณ์ไม่มีลายมือชื่อโจทก์ ศาลชั้นต้นจึงต้องสั่งให้โจทก์แก้ไขข้อบกพร่องเสียให้ถูกต้องก่อนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 18 การที่ศาลชั้นต้นสั่งรับอุทธรณ์มาโดยไม่สั่งให้แก้ไขข้อบกพร่องจึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 27 วรรคหนึ่ง ศาลอุทธรณ์ภาค 3 จึงชอบที่จะสั่งให้ศาลชั้นต้นจัดการแก้ไขข้อบกพร่อง โดยให้โจทก์ลงชื่อในฐานะผู้อุทธรณ์ในคำฟ้องอุทธรณ์ให้ถูกต้องแล้วจึงดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายกอุทธรณ์ของโจทก์เสียทีเดียวนั้น เป็นการไม่ถูกต้องและไม่ชอบด้วยความยุติธรรม ศาลฎีกามีอำนาจสั่งให้ศาลชั้นต้นดำเนินการแก้ไขข้อบกพร่องของโจทก์ดังกล่าวได้ แต่อย่างไรก็ดีตามใบแต่งทนายความฉบับลงวันที่ 3 กรกฎาคม 2561 โจทก์ได้แต่งตั้งนายวรพจน์เป็นทนายความให้มีสิทธิอุทธรณ์ฎีกาแทนโจทก์ได้ในชั้นฎีกานี้แล้ว จึงเป็นกรณีที่โจทก์ได้แก้ไขข้อบกพร่องในชั้นยื่นคำฟ้องอุทธรณ์แล้ว จึงไม่ต้องดำเนินการในเรื่องนี้อีก แต่เห็นสมควรย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิจารณาพิพากษาใหม่ เพื่อเป็นไปตามลำดับชั้นศาล ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 ให้ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิจารณาอุทธรณ์ของโจทก์แล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ ให้ศาลอุทธรณ์ภาค 3 รวมสั่งเมื่อมีคำพิพากษาใหม่

Share