คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5723/2562

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตาม พ.ร.บ.การเดินอากาศ พ.ศ.2497 มาตรา 32 วรรคหนึ่ง บัญญัติไว้ว่า “ใบสำคัญการจดทะเบียนอากาศยานเป็นอันใช้ไม่ได้ เมื่อ …(1)…มีการเปลี่ยนแปลงสิทธิครอบครองอากาศยานนั้นในกรณีที่ผู้มีสิทธิครอบครองเป็นผู้จดทะเบียน…” และมาตรา 32 วรรคสอง บัญญัติว่า “ในกรณี (1) ถึง (5) ให้ผู้จดทะเบียนอากาศยานนั้นส่งคืนใบสำคัญการจดทะเบียนแก่พนักงานเจ้าหน้าที่โดยไม่ชักช้า” ดังนี้ เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์บอกเลิกสัญญาเช่าอากาศยานทั้ง 2 ลำ โดยชอบ จำเลยจึงมีหน้าที่ต้องส่งมอบอากาศยานทั้ง 2 ลำ คืนแก่โจทก์ พร้อมทั้งส่งคืนใบสำคัญการจดทะเบียนแก่พนักงานเจ้าหน้าที่และใบสำคัญการจดทะเบียนเป็นอันใช้ไม่ได้โดยผลของบทบัญญัติดังกล่าว โดยที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางหาจำต้องพิพากษาให้จำเลยถอนการจดทะเบียนอากาศยานพิพาททั้ง 2 ลำ ไม่
อนึ่ง ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 15,464,961.36 ดอลลาร์สหรัฐ พร้อมดอกเบี้ยนับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ และให้จำเลยชำระค่าขาดประโยชน์เป็นเงิน 760,000 ดอลลาร์สหรัฐ ต่อเดือน นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะส่งมอบอากาศยานและเอกสารอากาศยานคืนแก่โจทก์ จำเลยอุทธรณ์ขอให้ยกฟ้อง ทุนทรัพย์ชั้นอุทธรณ์จึงเป็นจำนวน 15,464,961.36 ดอลลาร์สหรัฐ เมื่อขณะยื่นฟ้องคดีต่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางโจทก์บรรยายฟ้องโดยคิดทุนทรัพย์ในอัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์สหรัฐ เท่ากับ 32.9610 บาท ซึ่งจำเลยไม่ได้โต้แย้งอัตราแลกเปลี่ยนตามคำฟ้องโจทก์ ทุนทรัพย์ที่พิพาทในชั้นอุทธรณ์จึงต้องคิดคำนวณตามอัตราแลกเปลี่ยนที่ใช้ในขณะฟ้องคดีดังกล่าว การที่จำเลยอุทธรณ์โดยคิดอัตราแลกเปลี่ยน ณ วันยื่นอุทธรณ์ในอัตรา 1 ดอลลาร์สหรัฐ เท่ากับ 33.5258 บาท และนำเงินค่าขาดประโยชน์ตามคำพิพากษาจำนวน 760,000 ดอลลาร์สหรัฐ มารวมคำนวณเป็นทุนทรัพย์ และเสียค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์จำนวน 693,954 บาท จึงไม่ถูกต้อง ให้คืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ส่วนที่ชำระเกินมานั้นแก่จำเลย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระค่าเช่าค้างชำระสำหรับอากาศยานเลขหมายชุด 24752 ระหว่างวันที่ 22 เมษายน 2556 ถึงวันที่ 22 มกราคม 2557 จำนวน 1,925,527.25 ดอลลาร์สหรัฐ และอากาศยานเลขหมายชุด 24753 ระหว่างวันที่ 10 กันยายน 2554 ถึงวันที่ 1 มกราคม 2557 จำนวน 2,070,000 ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเช่าเพิ่มเติมค้างชำระสำหรับอากาศยานเลขหมายชุด 24752 ระหว่างวันที่ 10 สิงหาคม 2554 ถึงวันที่ 22 มกราคม 2557 อันเป็นวันเลิกสัญญาจำนวน 6,272,058.44 ดอลลาร์สหรัฐ และอากาศยานเลขหมายชุด 24753 ระหว่างวันที่ 10 กันยายน 2554 ถึงวันที่ 1 มกราคม 2557 อันเป็นวันเลิกสัญญา จำนวน 4,389,032.95 ดอลลาร์สหรัฐ ดอกเบี้ยในอัตราร้อยละดอลลาร์สหรัฐ ไลบอร์ บวก 300 เบสิก พอยต์ (Dollar LIBOR plus 300 basis point) ต่อเดือน จากเงินค้างชำระตามสัญญาเช่าอากาศยานทั้ง 2 ลำ นับแต่วันที่ถึงกำหนดถึงวันฟ้องเป็นเงินจำนวน 537,277.29 ดอลลาร์สหรัฐ และดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงินจำนวน 14,656,618.64 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นยอดเงินรวมของค่าเช่าและค่าเช่าเพิ่มเติมค้างชำระของอากาศยานทั้ง 2 ลำ ข้างต้นนับจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระให้แก่โจทก์จนครบถ้วน ชำระค่าเสียหายจากการที่โจทก์ไม่สามารถใช้อากาศยานเลขหมายชุด 24753 ระหว่างวันที่ 2 มกราคม 2557 ถึงวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 จำนวน 271,065.43 ดอลลาร์สหรัฐ และค่าขาดประโยชน์ที่โจทก์ไม่สามารถใช้อากาศยานทั้ง 2 ลำ ได้เป็นเงิน 760,000 ดอลลาร์สหรัฐ ต่อเดือน นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจำเลยจะส่งมอบอากาศยานทั้ง 2 ลำ และเอกสารอากาศยานตามคำฟ้องคืนให้แก่โจทก์ ให้ส่งมอบอากาศยานเลขหมายชุด 24752 และ 24753 คืนให้แก่โจทก์ตามสภาพที่ระบุไว้ในสัญญาพร้อมส่งมอบเอกสารอากาศยานทั้ง 2 ลำ คืนแก่โจทก์ กับให้ถอนการจดทะเบียนอากาศยานทั้ง 2 ลำ ตามที่ได้จดทะเบียนไว้กับกรมการบินพลเรือน
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 15,464,961.36 ดอลลาร์สหรัฐ พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 14,656,618.64 ดอลลาร์สหรัฐ นับถัดจากวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2557 อันเป็นวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้จำเลยชำระค่าขาดประโยชน์ที่โจทก์ไม่สามารถใช้อากาศยานพิพาทเป็นเงิน 760,000 ดอลลาร์สหรัฐ ต่อเดือน นับถัดจากวันฟ้องไปจนกว่าจำเลยจะส่งมอบอากาศยานพิพาทและเอกสารอากาศยานคืนให้แก่โจทก์ ให้จำเลยส่งมอบอากาศยานพิพาท เลขหมายชุดอากาศยาน 24752 และ24753 พร้อมเอกสารอากาศยานคืนให้แก่โจทก์ ให้จำเลยถอนการจดทะเบียนอากาศยานพิพาททั้ง 2 ลำ ที่ได้จดทะเบียนไว้กับการบินพลเรือน (ที่ถูก กรมการบินพลเรือน) หากจำเลยไม่ปฏิบัติตาม ให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย กรณีชำระเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐเป็นเงินบาท ให้คิดอัตราแลกเปลี่ยนถัวเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ที่ขายให้แก่ลูกค้าในวันที่ใช้เงิน ถ้าไม่มีอัตราแลกเปลี่ยนในวันที่ใช้เงินจริง ให้ถือเอาวันสุดท้ายที่มีอัตราถัวเฉลี่ยเช่นว่าก่อนวันดังกล่าว ในกรณีธนาคารแห่งประเทศไทยแจ้งให้ทราบถึงอัตราแลกเปลี่ยนถัวเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ (อัตราอ้างอิง) ก็ให้ใช้อัตราดังกล่าวเป็นเกณฑ์คำนวณ ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ กำหนดค่าทนายความให้ 200,000 บาท
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้แย้งกันในชั้นอุทธรณ์รับฟังได้เป็นยุติว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดตามกฎหมายของราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์ตามหนังสือรับรองบริษัทพร้อมคำแปล จำเลยเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด โจทก์เช่าอากาศยานจำนวน 2 ลำ จากบริษัทแบ็คเตอร์ เอวิเอชั่น จำกัด คือ อากาศยาน โบอิ้ง รุ่น 767 – 300 อีอาร์ เลขหมายชุดของอากาศยาน 24752 และอากาศยาน โบอิ้ง รุ่น 767 – 300 อีอาร์ เลขหมายชุดของอากาศยาน 24753 ต่อมาโจทก์นำอากาศยานทั้ง 2 ลำ ดังกล่าวไปให้จำเลยเช่าต่อจากโจทก์ โดยจำเลยตกลงชำระค่าเช่าพื้นฐานและค่าเช่าเพิ่มเติมสำหรับอุปกรณ์และการบำรุงรักษาของอากาศยานทั้ง 2 ลำ หลังสิ้นสุดระยะเวลาตามสัญญาเช่าอากาศยาน จำเลยยังไม่ส่งมอบอากาศยานทั้ง 2 ลำ ดังกล่าวคืนโจทก์ตามสัญญา
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยข้อแรกมีว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ เห็นว่า คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องว่า โจทก์และจำเลยได้ตกลงทำสัญญาเช่าอากาศยานกัน โดยจำเลยตกลงเช่าอากาศยานเลขหมายชุด 24752 และ 24753 ไปจากโจทก์ ซึ่งจำเลยก็ให้การยอมรับว่าได้ตกลงทำสัญญาเช่าอากาศยานทั้ง 2 ลำ ดังกล่าวไปจากโจทก์จริง ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นที่ยุติว่าโจทก์และจำเลยทำสัญญาเช่าอากาศยานทั้ง 2 ลำ เมื่อโจทก์อ้างว่าจำเลยกระทำผิดสัญญา สัญญาดังกล่าวสิ้นสุดระยะเวลาลงแล้วแต่จำเลยยังคงครอบครองและไม่ส่งมอบอากาศยานทั้ง 2 ลำ คืนให้แก่โจทก์ จนภายหลังโจทก์มีหนังสือแจ้งบอกเลิกสัญญากับบอกกล่าวทวงถามให้จำเลยหยุดนำอากาศยานทั้ง 2 ลำ ขึ้นบินและส่งคืนโจทก์ กับให้ชำระค่าเช่าและค่าเช่าเพิ่มเติม แต่จำเลยเพิกเฉย ดังนี้ โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องให้จำเลยส่งมอบอากาศยานทั้ง 2 ลำ คืนได้โดยอาศัยสิทธิตามสัญญาเช่าอากาศยานดังกล่าว โดยไม่จำต้องพิจารณาว่าโจทก์หรือผู้ใดเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในอากาศยานทั้ง 2 ลำ ทั้งตามคำฟ้องของโจทก์ก็บรรยายไว้ชัดแจ้งอยู่แล้วว่าอากาศยานทั้ง 2 ลำ นั้น โจทก์เช่ามาจากบริษัทแบ็คเตอร์ เอวิเอชั่น จำกัด การฟ้องคดีนี้จึงไม่เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตดังที่จำเลยอุทธรณ์แต่อย่างใด ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องนั้นชอบแล้ว ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยข้อต่อไปมีว่า คำฟ้องโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่ เห็นว่า เมื่อพิจารณาคำฟ้องของโจทก์แล้ว โจทก์บรรยายถึงสัญญาเช่าอากาศยานทั้ง 2 ลำ โดยกล่าวอ้างถึงระยะเวลาการเช่าอากาศยานแต่ละลำจำนวน 36 เดือน ระบุถึงวันที่เริ่มต้นการเช่าอากาศยานแต่ละลำและวันสิ้นสุดระยะเวลาเช่า สำหรับอากาศยานเลขหมายชุด 24752 ที่มีการเปลี่ยนแปลงเวลาสิ้นสุดการเช่าเป็นวันที่ 22 มีนาคม 2556 นั้น โจทก์ก็ได้บรรยายไว้ชัดแจ้งแล้ว พร้อมทั้งบรรยายถึงอัตราค่าเช่าพื้นฐานและค่าเช่าเพิ่มเติมสำหรับอุปกรณ์และการบำรุงรักษาสำหรับอากาศยานแต่ละลำ กำหนดเวลาในการชำระค่าเช่าดังกล่าวในแต่ละเดือน รวมถึงอัตราดอกเบี้ยกรณีผิดนัดและข้อสัญญาที่เกี่ยวข้อง ซึ่งมีรายละเอียดอยู่ในสัญญาเช่าอากาศยานทั้ง 2 ลำ ที่โจทก์แนบสำเนาไว้ท้ายคำฟ้องอันถือเป็นส่วนหนึ่งของคำฟ้องด้วย และโจทก์ได้บรรยายถึงวันที่จำเลยเริ่มผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าพื้นฐานและค่าเช่าเพิ่มเติมสำหรับอากาศยานแต่ละลำ โดยแนบรายละเอียดตารางคำนวณดอกเบี้ยไว้ในเอกสารท้ายคำฟ้อง และได้แยกการคำนวณค่าเสียหายในส่วนที่โจทก์ไม่สามารถใช้อากาศยานแต่ละลำไว้โดยอ้างอิงถึงอัตราค่าเช่าพื้นฐานตามสัญญาและระยะเวลาการคำนวณไว้เป็นข้อต่างหากแล้ว ดังนี้ ย่อมถือได้ว่าคำบรรยายฟ้องดังกล่าวแสดงให้พอเข้าใจได้ถึงสภาพแห่งข้อหา ข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหา และคำขอบังคับ เป็นคำฟ้องที่ชอบด้วยกฎหมาย ตามข้อกำหนดคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2540 ข้อ 6 วรรคหนึ่ง ซึ่งออกตามความในพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 30 แล้ว ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยว่าคำฟ้องของโจทก์เป็นคำฟ้องที่ไม่เคลือบคลุมนั้นชอบแล้ว ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
ส่วนที่จำเลยอุทธรณ์ต่อไปทำนองว่า จำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์หรือไม่ เพียงใดนั้น ในข้อนี้ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยสรุปได้ความว่า จำเลยเช่าอากาศยานทั้ง 2 ลำ ตามคำฟ้องมาจากโจทก์ สิทธิและหน้าที่ของโจทก์และจำเลยจึงเป็นไปตามข้อกำหนดและเงื่อนไขที่ระบุในสัญญาดังกล่าว หลังจากโจทก์ส่งมอบอากาศยานทั้ง 2 ลำ ให้แก่จำเลยแล้ว จำเลยได้ครอบครองใช้ประโยชน์จากอากาศยานดังกล่าว โดยชำระค่าเช่าพื้นฐานและค่าเช่าเพิ่มเติมเรื่อยมาจนกระทั่งจำเลยผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าพื้นฐานและค่าเช่าเพิ่มเติม โจทก์จึงบอกเลิกสัญญาทั้ง 2 ฉบับ ซึ่งเป็นการใช้สิทธิตามสัญญาข้อ 13.2 หนังสือบอกเลิกสัญญาทั้ง 2 ฉบับ ดังกล่าวออกโดยผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์และมีผลในวันที่ 22 มกราคม 2557 และ 1 มกราคม 2557 ตามลำดับ ต่อมาวันที่ 28 มกราคม 2557 กรรมการผู้มีอำนาจของบริษัทจำเลยมีจดหมายอิเล็กทรอนิกส์พร้อมเอกสารแนบ ถึงโจทก์ยืนยันยอดค่าเช่าอากาศยานทั้ง 2 ลำ ที่ค้างชำระแก่โจทก์โดยขอผ่อนชำระและลดหย่อนหนี้ดังกล่าว จำเลยมิได้นำสืบหรือโต้แย้งเกี่ยวกับหน้าที่และจำนวนค่าเช่าพื้นฐานและค่าเช่าเพิ่มเติมตามคำฟ้องและทางนำสืบของโจทก์ ข้อเท็จจริงจึงรับฟังเป็นยุติว่าจำเลยมีหน้าที่ต้องชำระค่าเช่าพื้นฐานและค่าเช่าเพิ่มเติมตามที่โจทก์นำสืบ ซึ่งรวมถึงดอกเบี้ยและค่าเสียหายจากการที่โจทก์ไม่สามารถใช้อากาศยานทั้ง 2 ลำ ด้วย และเมื่อพิจารณาตารางคำนวณดอกเบี้ยแล้ว เห็นว่า มีการคำนวณค่าเช่าพื้นฐานและค่าเช่าเพิ่มเติมแยกกันเป็นรายเดือนสำหรับอากาศยานแต่ละลำโดยละเอียด ซึ่งตรงกับตารางคำนวณ เอกสารท้ายคำฟ้องหมายเลข 12 แต่จำเลยก็ไม่ได้โต้แย้งไว้ในคำให้การหรือถามค้านพยานโจทก์ว่าตารางคำนวณดอกเบี้ยดังกล่าวไม่ถูกต้องอย่างไร ทั้งเมื่อผู้รับมอบอำนาจโจทก์นำสืบว่าหลังจากโจทก์มีหนังสือบอกเลิกสัญญาและบอกกล่าวทวงถามไปยังจำเลยแล้ว กรรมการผู้มีอำนาจของบริษัทจำเลยมีจดหมายอิเล็กทรอนิกส์พร้อมเอกสารแนบยืนยันยอดค่าเช่าอากาศยานทั้ง 2 ลำ ที่ค้างชำระแก่โจทก์ จำเลยก็ไม่ได้ถามค้านพยานโจทก์หรือนำสืบโต้แย้งเกี่ยวกับความไม่ถูกต้องของยอดหนี้ที่จำเลยยืนยันตามจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ดังกล่าว พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมาในประเด็นนี้จึงมีน้ำหนักให้รับฟังได้มากกว่าพยานหลักฐานของจำเลย ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยในข้อนี้และพิพากษามานั้น ชอบแล้ว ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาตามฟ้อง ให้จำเลยถอนการจดทะเบียนอากาศยานพิพาททั้ง 2 ลำ ที่ได้จดทะเบียนไว้กับกรมการบินพลเรือน หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยนั้น เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติการเดินอากาศ พ.ศ.2497 มาตรา 32 วรรคหนึ่ง บัญญัติไว้ว่า “ใบสำคัญการจดทะเบียนอากาศยานเป็นอันใช้ไม่ได้ เมื่อ …(1)…มีการเปลี่ยนแปลงสิทธิครอบครองอากาศยานนั้นในกรณีที่ผู้มีสิทธิครอบครองเป็นผู้จดทะเบียน…” และมาตรา 32 วรรคสอง บัญญัติว่า “ในกรณี (1) ถึง (5) ให้ผู้จดทะเบียนอากาศยานนั้นส่งคืนใบสำคัญการจดทะเบียนแก่พนักงานเจ้าหน้าที่โดยไม่ชักช้า” ดังนี้ เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์บอกเลิกสัญญาเช่าอากาศยานทั้ง 2 ลำ โดยชอบ จำเลยจึงมีหน้าที่ต้องส่งมอบอากาศยานทั้ง 2 ลำ คืนแก่โจทก์ พร้อมทั้งส่งคืนใบสำคัญการจดทะเบียนแก่พนักงานเจ้าหน้าที่และใบสำคัญการจดทะเบียนเป็นอันใช้ไม่ได้โดยผลของบทบัญญัติดังกล่าว โดยที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางหาจำต้องพิพากษาให้จำเลยถอนการจดทะเบียนอากาศยานพิพาททั้ง 2 ลำ ไม่
อนึ่ง ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 15,464,961.36 ดอลลาร์สหรัฐ พร้อมดอกเบี้ยนับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ และให้จำเลยชำระค่าขาดประโยชน์เป็นเงิน 760,000 ดอลลาร์สหรัฐ ต่อเดือน นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะส่งมอบอากาศยานและเอกสารอากาศยานคืนแก่โจทก์ จำเลยอุทธรณ์ขอให้ยกฟ้อง ทุนทรัพย์ชั้นอุทธรณ์จึงเป็นจำนวน 15,464,961.36 ดอลลาร์สหรัฐ เมื่อขณะยื่นฟ้องคดีต่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางโจทก์บรรยายฟ้องโดยคิดทุนทรัพย์ในอัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์สหรัฐ เท่ากับ 32.9610 บาท ซึ่งจำเลยไม่ได้โต้แย้งอัตราแลกเปลี่ยนตามคำฟ้องโจทก์ ทุนทรัพย์ที่พิพาทในชั้นอุทธรณ์จึงต้องคิดคำนวณตามอัตราแลกเปลี่ยนที่ใช้ในขณะฟ้องคดีดังกล่าว การที่จำเลยอุทธรณ์โดยคิดอัตราแลกเปลี่ยน ณ วันยื่นอุทธรณ์ในอัตรา 1 ดอลลาร์สหรัฐ เท่ากับ 33.5258 บาท และนำเงินค่าขาดประโยชน์ตามคำพิพากษาจำนวน 760,000 ดอลลาร์สหรัฐ มารวมคำนวณเป็นทุนทรัพย์ และเสียค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์จำนวน 693,954 บาท จึงไม่ถูกต้อง ให้คืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ส่วนที่ชำระเกินมานั้นแก่จำเลย
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำขอที่ให้จำเลยถอนการจดทะเบียนอากาศยานทั้ง 2 ลำ ที่จดทะเบียนไว้กับกรมการบินพลเรือน นอกจากที่แก้ให้คงเป็นไปตามคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง คืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ส่วนที่ชำระเกินมาแก่จำเลย ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์แทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความให้ 100,000 บาท

Share