แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ฟ้องให้ชำระเงินกู้ จำเลยให้การว่าไม่เคยเซ็นสัญญากู้ให้โจทก์ ไม่เคยกรอกหรือยินยอมให้กรอกข้อความในสัญญาที่ฟ้องลายเซ็นในสัญญาไม่ใช่ของจำเลยเป็นคำให้การปฏิเสธทั้งความถูกต้องแท้จริงแห่งเอกสารและว่าหนี้นั้นไม่สมบูรณ์เมื่อคดีได้ความว่าลายมือชื่อเป็นของจำเลยแต่จำเลยมิได้เขียนข้อความเป็นสัญญากู้ จำเลยไม่ต้องรับผิด
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2494 จำเลยได้กู้เงินของโจทก์ไป 100,000 บาท โดยจำเลยสัญญาว่าจะนำต้นเงินพร้อมทั้งดอกเบี้ยชั่งละหนึ่งบาทต่อเดือนมาชำระคืนให้แก่โจทก์ภายในวันที่ 20 เมษายน 2495 นอกนั้นจำเลยยังได้ออกเช็คของธนาคารมณฑล จำกัด หมายเลขที่ A 512095 สั่งจ่ายเงิน 100,000 บาท ในวันที่ 20 เมษายน 2495 ให้แก่โจทก์อีก 1 ฉบับ โดยจำเลยรับรองว่าเช็คฉบับนี้สามารถนำไปขึ้นเงินตามกำหนดเวลาที่สั่งจ่ายไว้ได้อย่างแน่นอน ตามสำเนาหมายเลข 1 และ 2 ท้ายฟ้อง เมื่อหนี้รายนี้ถึงกำหนดชำระแล้วโจทก์ได้นำเช็คฉบับนี้ไปขึ้นเงิน ณ ธนาคารมณฑล จำกัดในวันที่ 21 เมษายน 2495 แต่รับเงินไม่ได้ เจ้าหน้าที่ธนาคารบันทึกว่า “โปรดติดต่อผู้สั่งจ่าย” ดังสำเนาหมายเลข 3 โจทก์เตือนให้จำเลยนำเงินชำระให้แก่โจทก์ จำเลยก็เพิกเฉยเสีย และจำเลยยังมิได้ชำระดอกเบี้ยให้แก่โจทก์เลย ค้างดอกเบี้ยถึงวันฟ้องเป็นเวลา 1 ปี 2 เดือน 24 วัน เป็นดอกเบี้ย 17,500 บาท ขอให้พิพากษาบังคับจำเลยชำระต้นเงินและดอกเบี้ยรวม 117,500 บาทและดอกเบี้ยร้อยละ 7 1/2 ต่อปี ของต้นเงิน 100,000 บาท ตั้งแต่วันยื่นฟ้อง (14 กรกฎาคม 2495) จนกว่าจำเลยจะชำระหนี้เสร็จสิ้น
จำเลยให้การปฏิเสธฟ้องโจทก์ว่า ไม่เป็นความจริงทั้งสิ้นโจทก์จำเลยไม่เคยรู้จักหรือเห็นหน้า หรือเคยติดต่อในเรื่องการเงินแต่ประการใด จำเลยไม่เคยเซ็นสัญญากู้หมาย 1 ให้แก่โจทก์และไม่เคยกรอกข้อความตามที่ปรากฏในสัญญาหมายเลข 1 แต่อย่างใดข้อความที่กรอกลงในสัญญานั้นเป็นเท็จทั้งสิ้น สัญญาที่โจทก์นำมาฟ้องเป็นสัญญาที่ทำปลอมขึ้นเพื่อเป็นหลักฐานเรียกร้องเงินตามเช็คหมาย 2 เท่านั้น การกรอกข้อความลงในสัญญานั้นมิได้รับความรู้เห็น และยินยอมจากจำเลยแต่ประการใด และจำเลยอ้างฐานที่อยู่ตามที่โจทก์อ้างว่าลงชื่อในสัญญากู้นั้น โจทก์ได้เอกสารหมาย 1 มาในครอบครองโดยไม่สุจริตลายเซ็นในสัญญาไม่ใช่ลายเซ็นอันแท้จริงของจำเลยและจำเลยงดใช้และเซ็นชื่อพาสนา ชูโต ตั้งแต่สามีวายชนม์แล้วตั้งแต่ 5 มิถุนายน 2492 จำเลยได้เซ็นชื่อพาสนา ผดุงทะเบียนกิจตลอดมาจนกระทั่งบัดนี้สัญญาหมายเลข 1 ไม่สมบูรณ์เกี่ยวกับเรื่องเช็คเลขที่ A 512095 นั้นจำเลยออกให้แก่นางถวิล คุปตารักษ์ตามคำขอร้อง เพื่อเอาไปแสดงสำหรับการค้าเท่านั้น และจะไม่นำไปขึ้นเงิน หรือมอบให้แก่ผู้ใดเป็นอันขาด แทนเช็ค 2 ฉบับที่นำมาคืนและขอให้ออกเช็คให้ใหม่ตามที่เคยเชื่อและปฏิบัติกัน คือเป็นคนที่เคยคุ้นเคยกันมานานแล้ว ได้เคยขอยืมเช็คลงวันล่วงหน้าไปหลายคราวว่าเพื่อเอาไปแสดงให้เขาดูว่าตนจะได้เงินตามเช็คนั้น ๆ แล้วก็นำเช็คมาคืนให้ ครั้งหลังเมื่อปลายเดือนพฤศจิกายน 2494 ขอยืมเช็คจำนวนเงิน80,000 บาท แต่ขอให้เขียนเช็ค 2 ฉบับจำเลยได้ออกเช็คให้ไปฉบับละ 40,000 บาท คือเช็คที่ ก. เอ. 084998 ลงวันที่ 5 มิถุนายน 2495 และที่ ก. เอ. 084999 ลงวันที่ 5 มีนาคม 2495 ของ ธนาคารไทยพาณิชย์ และจำเลยได้หมายเหตุไว้ในต้นขั้วว่านางถวิลคุปตารักษ์ ยืม ครั้นกลางเดือนธันวาคม 2494 ล่วงแล้วนางถวิลนำเช็ค 2 ฉบับนั้นมาคืน ขอให้ออกเช็คใหม่เป็นจำนวน 100,000 บาทจำเลยจึงได้ออกเช็คธนาคารมณฑลเลขที่ เอ. 512095 ลงวันที่ล่วงหน้า 20 เมษายน 2495 เป็นจำนวนเงิน 100,000 บาท มอบให้ไปและได้หมายเหตุไว้ในต้นขั้วเช็คว่า คุณถวิล คุปตารักษ์ ยืมเช็คนางถวิลไม่ได้นำเช็คมาคืน จึงเมื่อวันที่ 12 เมษายน 2495 จำเลย ไปที่ธนาคารมณฑลบอกอายัดเช็คนั้นไว้ ขออย่าให้จ่ายเพราะเป็นเช็คยืมไป เมื่อจำเลยทราบจากธนาคารว่ามีคนมาขึ้นเงิน แต่ธนาคารไม่ได้จ่ายให้ โจทก์ก็หาได้ไปติดต่อกับจำเลยไม่ ต่อมานางถวิลไปหาจำเลยขอเปลี่ยนเช็คใหม่ว่าเช็คอยู่ที่เขา (คือคนที่เอาไป) เขียนจ่ายแทนให้ใหม่จะเอามาคืนแต่จำเลยไม่ยอมออกเช็คให้ใหม่ ต่อมาได้รับโนติ๊สจากโจทก์ให้ชำระเงินตามเช็คหมาย 2 นี้ โจทก์กับนางถวิลได้สมคบกันฉ้อโกงจำเลย ขอให้ยกฟ้อง
ต่อมาวันที่ 22 กันยายน 2495 โจทก์ยื่นคำร้องขอเพิ่มเติมคำขอท้ายคำฟ้อง ขอให้จำเลยใช้ค่าทนายความแทนโจทก์ด้วย
ศาลแพ่งพิจารณาแล้วเห็นว่า คำให้การของจำเลย ๆ ปฏิเสธลายเซ็นชื่อในหนังสือสัญญากู้ที่โจทก์ฟ้องว่า ไม่ใช่ลายเซ็นอันแท้จริงของจำเลย และในวันชี้สองสถานก็คงยืนยันว่า จำเลยไม่ได้ลงชื่อในหนังสือกู้ที่โจทก์นำมาฟ้องอยู่นั่นเอง โจทก์มีผู้เชี่ยวชาญลงความเห็นยืนยันว่าเป็นลายมือชื่อของจำเลย ชั้นสืบพยานจำเลยจำเลยก็ไม่เถียงเรื่องลายเซ็นชื่อในช่องผู้กู้ ทั้งมีพยานรับว่าลายเซ็นผู้กู้ในหนังสือกู้เป็นลายมือชื่อของจำเลยจริงเข้ามาด้วยคงเถียงอยู่แต่ลายมือชื่อฆ่าอากรแสตมป์แห่งเดียวเท่านั้นที่ไม่ใช่ลายมือชื่อจำเลย เมื่อฟังว่าจำเลยได้ลงลายมือชื่อในช่องผู้กู้โจทก์มีหลักฐานครบถ้วนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 653 ฟังได้ว่าจำเลยทำหนังสือกู้เงินโจทก์ไปจริงที่จำเลยจะนำสืบแสดงว่ามีผู้ลอบเอาลายมือชื่อของจำเลยที่เซ็นทิ้งไว้ไปทำเป็นหนังสือกู้รายนี้ขึ้นหาได้ไม่ เพราะนอกประเด็นข้อต่อสู้ และเหตุผลไม่น่าเชื่อและจำเลยไม่ได้ให้การต่อสู้ทำนองว่า โจทก์เอาลายมือชื่อจำเลยไปกรอกข้อความเอาเอง ที่จะสืบหักล้างพยานเอกสารตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94 และตามคำพิพากษาฎีกาที่ 235/2496 ระหว่างนายแทน ค้าผล โจทก์ นายแหร่ม เขียวมรกต จำเลย และเชื่อว่าลายมือชื่อฆ่าอากรแสตมป์เป็นลายมือชื่อของจำเลยจำเลยจะนำสืบว่าไม่ได้กู้เงินหรือไม่ได้รับเงินตามหนังสือกู้นั้นหาได้ไม่เป็นการนำสืบเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสาร ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94 (ข) และคำพิพากษาฎีกาที่ 799/2493 ระหว่าง นางแถม แจ่มจันทร์ โจทก์ นายพวง ชำแก้ว จำเลย พิพากษาให้จำเลยใช้ต้นเงิน 100,000 บาท แก่โจทก์กับดอกเบี้ยชั่งละ 1 บาทต่อเดือน นับแต่วันกู้จนถึงวันฟ้อง กับดอกเบี้ยร้อยละ 7 ครึ่ง ต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จสิ้น และให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมกับค่าทนายความ 1,500 บาท แทนโจทก์ด้วย
จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ได้ฟังทนายคู่ความแถลงการณ์และประชุมปรึกษาเห็นว่า ในเรื่องหนังสือสัญญากู้หมาย จ.1 ที่โจทก์อ้างมาเป็นหลักฐานการกู้เงินรายนี้ จำเลยให้การปฏิเสธทั้งลายเซ็นและข้อความที่กรอกในหนังสือสัญญานี้ ต่อสู้ว่าเป็นหนังสือสัญญาที่ทำปลอมขึ้นตลอดทั้งข้อความที่กรอกว่าเป็นเท็จทั้งสิ้น การกรอกข้อความมิได้รับรู้เห็นและยินยอมจากจำเลยแต่ประการใด ทั้งยังให้การต่อสู้ด้วยว่าจำเลยได้งดการใช้ชื่อว่า พาสนา ชูโต มาตั้งแต่พ.ศ.2492 แล้ว เป็นหน้าที่ของโจทก์จะต้องนำสืบข้อเท็จจริงทั้งหมดพยานโจทก์ในเรื่องการกู้เงินนั้นคงมีคำโจทก์กับนางสมถวิล คุปตารักษ์ซึ่งรวมความว่าจำเลยกับนางสมถวิลได้เคยติดต่อเรื่องเงินกันมาสิบกว่าปีแล้ว แต่จำเลยกับโจทก์ไม่เคยรู้จักกันมาก่อน ในปลายเดือนมีนาคม 2494 จำเลยมาหานางสมถวิลขอยืมเงินหนึ่งแสนบาท นางสมถวิล ไม่มีเงิน จำเลยให้นางสมถวิลไปหาตามเพื่อนฝูง ต่อมาวันที่ 1 เมษายน 2494 โจทก์ซึ่งขณะนั้นรับราชการอยู่ที่กรมทหารจังหวัดราชบุรีได้ไปหานางสมถวิลที่บ้านในจังหวัดพระนคร นางสมถวิลได้ถามโจทก์ว่ามีเงินให้กู้บ้างใหมและบอกว่าขอกู้ให้เพื่อน คือ คุณพาสนา ชูโตเมียพระผดุงทะเบียนกิจบ้านอยู่ลาดหญ้า กู้อย่างช้าไม่เกิน 1 ปี เงินหนึ่งแสนบาทให้ดอกเบี้ยชั่งละ 1 บาท ส่วนที่ดินกับตึกที่ถนนลาดหญ้าของจำเลยกำลังบอกขายอยู่ไม่อยากให้คนซื้อรู้ว่าเอามาประกัน โจทก์ว่า ถ้าไว้ใจได้จะคิดดูก่อนอีก 4-5 วัน จะมีจดหมายตอบให้ทราบ เงินนี้ทีแรกโจทก์ตั้งใจจะเอาไปซื้อรถลากไม้ที่ราชบุรีแต่น้ำท่วมป่าเสียจึงได้จดหมายตอบไปยังนางสมถวิลว่าให้กู้หนึ่งแสนบาท และนัดทำหนังสือสัญญากู้กันในวันที่ 21 เมษายน 2494 เวลาระหว่าง 17.00-18.00 นาฬิกา ครั้นถึงกำหนดนัดโจทก์ได้ไปที่บ้านนางสมถวิลรออยู่ราว 10 นาที จำเลยก็ไปถึง นางสมถวิลได้พูดซ้อมความเข้าใจกับจำเลยว่า จำเลยขอกู้เงินหนึ่งแสนบาท ให้ดอกเบี้ยชั่งละ 1 บาท ต่อเดือน มีกำหนด 1 ปี ทำหนังสือสัญญากู้ 1 ฉบับจ่ายเช็คล่วงหน้าให้ 1 ฉบับ โจทก์ได้พูดว่าเช็คที่จะออกให้ นั้นไม่ต้องลงชื่อผู้รับ ให้เป็นเช็คเงินสด และไม่ต้องขีดคร่อมเพราะโจทก์ไม่มีเงินฝากที่ธนาคาร โจทก์ได้หยิบหนังสือสัญญากู้ซึ่งโจทก์ได้พิมพ์ด้วยพิมพ์ดีดมาจากบ้านที่จังหวัดราชบุรีแล้ว ให้นางสมถวิลส่งให้จำเลยดูข้อความจำเลยอ่านแล้วพูดว่าดีแล้วและให้โจทก์กรอกข้อความ โจทก์ได้ถามข้อความและกรอกตามถ้อยคำที่จำเลยบอก จำเลยอ่านดูว่าถูกต้อง แล้วจำเลยได้เซ็นชื่อในหนังสือสัญญากู้โจทก์ส่งอากรแสตมป์ให้นางสมถวิล ๆ ส่งให้จำเลยปิดในหนังสือสัญญากู้และขีดฆ่าอากรแสตมป์ นางสมถวิลเซ็นชื่อเป็นพยานโจทก์เซ็นชื่อผู้ให้กู้ โจทก์ส่งธนบัตรให้นางสมถวิลมอบแก่จำเลย แล้วจำเลยก็เขียนเช็คให้ และจำเลยพูดว่าเซ็นนามสกุลในเช็คว่าผดุงทะเบียนกิจ เพราะได้เปิดบัญชีกับธนาคารมณฑลไว้อย่างนั้น ถ้าไม่เขียนอย่างนั้นแล้วจะไปรับเงินไม่ได้ นอกจากนี้โจทก์นำสืบนายพันตำรวจเอก จำรัส ฟอลเลต ผู้ชำนาญว่า ลายเซ็นชื่อพาสนาชูโตในหนังสือสัญญากู้ช่องผู้กู้ และที่ขีดฆ่าอากรแสตมป์นั้นเป็นลายเซ็นคนเดียวกับลายเซ็นชื่อพาสนา ผดุงทะเบียนกิจ ในเช็คแต่หม่อมราชวงศ์ถ้วนเท่านึก ปราโมช พยานโจทก์ ซึ่งเป็นผู้ช่วยสมุหบัญชีธนาคารมณฑล จำกัด มีหน้าที่ตรวจลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายในเช็ค เมื่อมีผู้มาขึ้นเงินด้วยเบิกความว่า ลายเซ็นชื่อในหนังสือสัญญากู้ที่ช่องผู้กู้ กับที่ขีดฆ่าอากรแสตมป์ไม่ใช่ลายเซ็นของคนคนเดียวกัน ฝ่ายจำเลยนอกจากนำสืบว่าไม่ได้กู้เงินจากโจทก์ และอ้างฐานที่อยู่ที่จังหวัดนครราชสีมาในวันที่โจทก์ว่าจำเลยได้รับเงินจากโจทก์นั้น ได้นำสืบนายพันตำรวจโทเอ็จ ณ ป้อมเพ็ชร์ ผู้ชำนาญว่า ลายเซ็นในช่องผู้กู้กับลายเซ็นขีดฆ่าอากรแสตมป์ในหนังสือสัญญากู้ไม่ใช่ลายเซ็นชื่อของคนเดียวกัน แต่ลายเซ็นในช่องผู้กู้กับลายเซ็นในเช็คเชื่อว่าเป็นลายเซ็นของคนเดียวกัน สีหมึกในหนังสือสัญญากับสีหมึกในเช็คไม่เหมือนกัน สีหมึกในเช็คเข้มกว่าสีหมึกที่เซ็นในหนังสือสัญญากู้ สีหมึกในเช็คและต้นขั้วมีสีอย่างเดียวกัน และยังมีพยานที่เคยเห็นลายเซ็นชื่อจำเลยอีกหลายคนยืนยันว่า ลายเซ็นฆ่าอากรแสตมป์ในสัญญากู้ไม่ใช่ลายเซ็นของจำเลย กับมีพยานผู้ที่เคยติดต่อกับจำเลยมาตั้งแต่พ.ศ. 2492 ว่า จำเลยใช้ชื่อว่า พาสนา ผดุงทะเบียนกิจ ไม่ได้ใช้ชื่อว่าพาสนา ชูโต จำเลยเบิกความว่า ใช้ชื่อว่านางผดุงทะเบียนกิจตามบรรดาศักดิ์ของสามี ครั้นทางราชการเลิกบรรดาศักดิ์ จำเลยใช้ชื่อว่า นางพาสนา ชูโต สามีตายเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2492จำเลยใช้ชื่อว่า นางพาสนา ผดุงทะเบียนกิจ ตลอดมาไม่ได้ใช้ชื่อว่าพาสนา ชูโต อีกเลย ลายเซ็นในหนังสือสัญญากู้หมาย จ.1 ในช่องผู้กู้คล้ายลายเซ็นจำเลย รับรองไม่ได้ว่าใช่หรือไม่ และก็ไม่กล้าปฏิเสธว่าไม่ใช่ แต่ส่วนลายเซ็นฆ่าอากรแสตมป์นั้น จำเลยยืนยันว่าไม่ใช่ลายเซ็นของจำเลย และว่าเมื่อครั้งยังใช้ชื่อว่า พาสนา ชูโต นั้นเคยขอให้นางสมถวิลหาเงินให้ บางทีจำเลยก็เซ็นชื่อของจำเลยทิ้งไว้แต่ก็จำไม่ได้แน่ว่าจะได้เขียนชื่อไว้ในหนังสือสัญญากู้เปล่า ๆ ให้นางสมถวิลไว้เพื่อให้นางสมถวิลหาเงินให้บ้างหรือไม่บ้านที่จำเลยเคยอยู่ที่ถนนลาดหญ้านั้นเป็นของนางจิ้มลิ้ม จำเลยเช่าอยู่ไม่ใช่ของจำเลย เวลาที่โจทก์หาว่า จำเลยทำหนังสือสัญญากู้นั้นจำเลยย้ายไปอยู่ที่ถนนเอกมัยแล้ว และบ้านที่ถนนลาดหญ้านางจิ้มลิ้มก็ได้ขายให้แก่คนอื่นไป จำเลยไม่เคยแสดงว่าบ้านที่ถนนลาดหญ้าเป็นของจำเลย ศาลอุทธรณ์เห็นพ้องกับศาลชั้นต้นเชื่อว่าลายมือชื่อในช่องผู้กู้เป็นลายเซ็นของจำเลย แต่ตามคำให้การของจำเลยได้ต่อสู้มาโดยแจ้งชัดว่านอกจากลายมือชื่อแล้วข้อความที่กรอกนั้นเป็นเท็จทั้งสิ้น มิได้รับความรู้เห็นและยินยอมจากจำเลยแต่ประการใด ทั้งกล่าวต่อสู้ว่าได้งดใช้ลายเซ็นชื่อพาสนา ชูโตมาตั้งแต่ พ.ศ. 2492 แล้ว และต่อสู้ว่า เป็นสัญญาที่ทำปลอมขึ้นเพื่อใช้เป็นหลักฐานเรียกร้องเงินตามเช็ค สัญญากู้นี้ไม่สมบูรณ์จึงมีข้อที่จะต้องพิจารณาถึงเหตุผลในข้อเหล่านี้ด้วยว่า ได้มีการปลอมข้อความอื่น ๆ นอกจากลายมือชื่ออีกด้วยหรือไม่ หาใช่เป็นข้อนอกประเด็นไม่การกู้ยืมเงินจะสมบูรณ์ก็ต่อเมื่อผู้กู้ยืมได้รับเงินไปแล้ว ส่วนเอกสารนั้นเมื่อมีการตกเติมหรือเขียนเพิ่มขึ้นใหม่แม้แต่บางส่วนก็ขึ้นชื่อว่าได้มีการปลอมขึ้นและเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ข้อความที่ตกเติมหรือเพิ่มเติมขึ้นนั้นย่อมใช้บังคับไม่ได้เป็นโมฆะอยู่ในตัว ข้อเท็จจริงในข้อนี้ควรฟังได้ประการใด สมควรพิจารณาพฤติการณ์ต่าง ๆ ที่อ้างอิงประกอบกับเช็คที่โจทก์อ้างประกอบนั้นด้วย ลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายในเช็คใช้ชื่อว่า พาสนา ผดุงทะเบียนกิจ และจำเลยมีพยานผู้ที่เคยเกี่ยวข้องกับจำเลยตั้งแต่ พ.ศ. 2492 มายืนยันว่าเคยเห็นจำเลยใช้ชื่อแต่ว่า พาสนา ผดุงทะเบียนกิจ ไม่ได้ใช้ชื่อว่าพาสนา ชูโต หนังสือสัญญาที่โจทก์อ้างว่า จำเลยได้ทำให้และกู้เงินโจทก์ไปตามฟ้องนั้น ใช้ชื่อและเซ็นชื่อผู้กู้ว่า พาสนา ชูโต จึงไม่ตรงกับชื่อที่จำเลยเซ็นในเช็ค ซึ่งตามปกติน่าจะใช้ชื่อหรือเซ็นชื่อเช่นเดียวในคราวเดียวกัน ตามข้ออุทธรณ์ของจำเลยที่กล่าวมาเป็นเชิงว่าเอาลายเซ็นชื่อพาสนา ชูโต ซึ่งจำเลยได้เซ็นไว้ครั้งใช้ชื่อว่าพาสนา ชูโต มากรอกข้อความ ก็มีมูลอาจเป็นได้อยู่ และอยู่ในประเด็นตามที่จำเลยให้การต่อสู้ว่า การกรอกข้อความลงในสัญญามิได้รับความรู้เห็นยินยอมจากจำเลยแต่ประการใด เป็นสัญญาทำปลอมขึ้นเพื่อเป็นหลักฐานเรียกเงินตามเช็คที่โจทก์อ้างการเขียนหนังสือสัญญากู้ว่าจำเลยชื่อพาสนา ชูโต ก็เพราะจำเลยบอกให้เขียนเช่นนั้นส่วนที่จำเลยเซ็นเช็คว่า พาสนา ผดุงทะเบียนกิจ เพราะจำเลยเปิดบัญชีกับธนาคารใช้ชื่อไว้อย่างนั้น ถ้าไม่เขียนอย่างนั้นจะไปรับเงินไม่ได้นั้น ซึ่งถ้าเช่นนั้นก็จะต้องเป็นกรณีว่าขณะนั้นจำเลยใช้ชื่อว่า พาสนา ชูโต แต่ใช้ชื่อการเบิกเงินจากธนาคารคนละอย่างกับที่ใช้อยู่ในขณะนั้น นามบัตรของจำเลยที่โจทก์อ้างเป็นพยานเอกสารหมาย จ.7 และจ.8 ก็ใช้ว่า พาสนา ผดุงทะเบียนกิจ เป็นข้อแสดงให้เห็นว่า ขณะนั้นจำเลยใช้ชื่อว่า นางพาสนา ผดุงทะเบียนกิจหาได้ใช้ชื่อว่า พาสนา ชูโต ไม่ ศาลอุทธรณ์ไม่เชื่อพยานโจทก์ว่า จำเลยได้เซ็นสัญญากู้ให้แก่โจทก์ดังโจทก์ฟ้อง มีข้อพึงสังเกตว่าโจทก์เบิกความว่า หนังสือสัญญากู้นี้ โจทก์เป็นผู้พิมพ์เองที่บ้านพักโจทก์ที่จังหวัดราชบุรี โดยใช้เครื่องพิมพ์ดีดของเพื่อนที่นำมาฝากไว้ แต่เหตุไฉนโจทก์จึงไม่พิมพ์ชื่อโจทก์ไว้เสียเลยทีเดียวจากเอกสารก็เป็นข้อแสดงให้น่าเห็นได้ว่า เวลาพิมพ์นั้นยังไม่ทราบชื่อผู้ให้กู้ และผู้กู้แน่ และในเรื่องเช็คหากเป็นการออกให้เพื่อชำระเงินกู้ตามหนังสือสัญญาที่ทำให้โจทก์ และกว่าจะนำไปขึ้นได้ก็อีกตั้ง 1 ปี ก็ควรที่จะลงชื่อโจทก์เป็นผู้รับเงินไว้ให้ประกอบกันเป็นหลักฐานไว้ หากว่าเช็คนั้นเกิดสูญหายไปจากการครอบครองของโจทก์ ส่วนข้อที่ว่า โจทก์ไม่มีบัญชีในธนาคารนั้นไม่ขีดคร่อมและไม่ขีดคำว่า หรือผู้ถือออกก็ได้ ดังนั้นการออกเช็คฉบับนี้จึงเป็นอีกเหตุหนึ่งที่ทำให้น่าเห็นว่า เวลาออกเช็คให้นั้นยังไม่แน่ว่าจะนำไปมอบหรือให้แก่ใคร ในข้อเรื่องการขีดฆ่าอากรแสตมป์หนังสือสัญญากู้นั้น จำเลยปฏิเสธว่าไม่ใช่ลายเซ็นของจำเลยศาลอุทธรณ์ได้พิเคราะห์หนังสือสัญญากู้ (เอกสารหมาย จ.1) แล้วสีหมึกที่เซ็นในช่องผู้กู้หาเหมือนกับสีหมึกที่เซ็นขีดฆ่าอากรแสตมป์ในหนังสือสัญญากู้ไม่ สีหมึกที่ขีดฆ่าอากรแสตมป์คล้ายกับสีหมึกที่กรอกข้อความและก็ไม่เหมือนกับสีหมึกที่เขียนและเซ็นชื่อในเช็ค(เอกสารหมาย จ.3) พยานโจทก์บางคนและพยานจำเลยก็ดียืนยันว่าลายเซ็นขีดฆ่าอากรแสตมป์ในหนังสือสัญญากู้นั้นไม่ใช่ลายมือของจำเลยประกอบกับจำเลยมีพยานฐานที่ว่าในวันที่ 21 เมษายน 2494 ซึ่งโจทก์อ้างว่า จำเลยทำหนังสือสัญญากู้และรับเงินไปจากโจทก์ที่บ้านนางสมถวิล จังหวัดพระนคร นั้นจำเลยอยู่จังหวัดนครราชสีมา และข้อที่โจทก์อ้างว่า เงินที่เอามาให้จำเลยกู้ทีแรกตั้งใจว่าจะเอาไปซื้อรถลากไม้ที่จังหวัดราชบุรี แต่น้ำท่วมป่าเสียนั้นฝ่ายจำเลยนำสืบว่า ไม่มีน้ำท่วมในราชบุรีระหว่างระยะเวลานั้นหลักฐานพยานโจทก์เป็นที่น่าสงสัย ยากที่จะเชื่อได้ว่าเช็ครายนี้จำเลยได้มอบและรับเงินไปจากโจทก์พร้อมกับที่ได้ทำหนังสือสัญญากู้เงินดังโจทก์กล่าวอ้างฟ้องมานั้น จำเลยมีเช็คประกอบกับต้นขั้วเช็คที่ได้เคยเกี่ยวข้องกับนางสมถวิลและได้คืนเช็คแก่จำเลยหลายฉบับ สมดังข้ออ้างของจำเลยแม้จำเลยจะได้ให้การปฏิเสธเอกสารสัญญากู้ทั้งฉบับเมื่อฟังได้แต่เพียงว่าลายเซ็นของจำเลยซึ่งไม่ได้ใช้ในขณะนั้นแล้วส่วนข้ออื่น ๆ เป็นการกรอกขึ้นภายหลังโดยไม่ได้รับความรู้เห็นยินยอมจากจำเลย และจำเลยไม่ได้รับเงินไปจากโจทก์ดังฟ้อง ตามประเด็นที่โต้เถียงกันดังกล่าวมาแล้ว ต้องถือว่าเป็นสัญญาปลอมไม่สมบูรณ์ และไม่เป็นหลักฐานการกู้ยืมโดยชอบที่จะฟ้องเรียกเงินจากจำเลยได้ และการไม่เชื่อพยานโจทก์หาใช่เป็นการต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94 ไม่ ทั้งเป็นข้อยกเว้นตามความในวรรคสุด ข้อสำคัญโจทก์ฟ้องอ้างมูลว่าจำเลยทำหนังสือสัญญากู้ และออกเช็คให้แก่โจทก์เองโดยตรงและรับเงินไปจากโจทก์โดยตรง หากโจทก์จะได้แบบพิมพ์สัญญากู้ซึ่งมีลายมือชื่อจำเลยซึ่งไม่ใช้แล้วกับเช็คมาโดยประการใดก็ตามเมื่อฟังไม่ได้ว่า โจทก์ได้มาเพราะจำเลยได้กู้และรับเงินไปจากโจทก์ดังฟ้องก็เป็นข้อนอกประเด็นแห่งคำฟ้องและพยานโจทก์ และเมื่อฟ้องโจทก์ไม่จริงก็เป็นข้อส่อให้เห็นว่า โจทก์ไม่บริสุทธิ์ไม่สุจริตไม่อาจบังคับให้จำเลยใช้เงินแก่โจทก์ตามคำฟ้องได้
อาศัยพฤติการณ์และเหตุผลดังกล่าวมาแล้ว ศาลอุทธรณ์จึงพิพากษากลับคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้ยกคำฟ้องโจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับกันไปทั้งสองศาล
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาได้ตรวจสำนวนนั่งฟังคำแถลงการณ์และประชุมปรึกษาคดีแล้ว เห็นว่า ตามข้อต่อสู้ของจำเลยถือได้ว่า จำเลยได้ให้การต่อสู้ทั้งปฏิเสธความถูกต้องแท้จริงแห่งเอกสาร และทั้งที่ว่าสัญญาหรือหนี้ตามที่ระบุไว้ในเอกสารนั้นไม่สมบูรณ์ ข้อเท็จจริงแห่งคดีฟังได้ชัดว่าลายมือชื่อที่ขีดฆ่าอากรแสตมป์ในหนังสือสัญญากู้ไม่ใช่ลายมือชื่อของจำเลย ซึ่งตรงกันข้ามกับที่ตัวโจทก์และนางสมถวิลพยานโจทก์อีกคนหนึ่งยืนยัน คดีโจทก์ก็มีแต่คำของโจทก์และนางสมถวิลสองคนนี้เท่านั้นซึ่งรูปเรื่องตามคำของโจทก์ก็ดูผิดธรรมดาอยู่มากที่โจทก์ไม่เคยรู้จักจำเลยมาก่อนเลย เพิ่งถูกแนะนำให้โจทก์รู้จักในวันให้กู้เงินหนึ่งแสนบาทกันนั้นเอง และโจทก์ก็ยอมเชื่อถือแต่เพียงลายมือชื่อของจำเลยในหนังสือสัญญากู้เงินและในเช็คเป็นเพียงกระดาษ 2 ฉบับเท่านั้น โจทก์ว่าที่กระทำเช่นนั้นเพราะเชื่อนางสมถวิล แต่ก็หาได้ให้นางสมถวิลลงชื่อเป็นผู้ค้ำประกันอย่างไรไม่เงินที่โจทก์ให้กู้นั้นโจทก์ให้การว่า ตั้งต้นได้มาโดยเล่นการพนันรูเล็ตต์ในสถานกาสิโน ทั้งโจทก์ก็เคยมีอาชีพทนายความแสดงว่าเป็นคนมีไหวพริบดีอยู่ แต่กลับให้คนไม่เคยรู้จักกันกู้เงินตั้งแสนบาทไปโดยไม่มีหลักประกันอย่างไร
ศาลฎีกาเห็นว่า พยานหลักฐานจำเลยเชื่อได้ว่าสัญญากู้เงินและเช็คที่โจทก์นำมาฟ้องนั้น มิได้เกิดจากการกู้เงินตามถ้อยคำของโจทก์และนางสมถวิลดังที่ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยไว้โดยละเอียดแล้วฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้นให้ยกเสีย โดยศาลฎีกาพิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ