แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
เจตนารมณ์ของการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดฐานเสพยาเสพติดในชั้นที่ถูกกล่าวหาตาม พ.ร.บ.ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ.2545 มาตรา 19 วรรคหนึ่ง เพื่อเยียวยาแก้ไขเสียก่อนเข้าสู่กระบวนการพิจารณาในชั้นศาล และเป็นบทบังคับให้พนักงานสอบสวนนำตัวผู้ต้องหาซึ่งเป็นบุคคลเข้าหลักเกณฑ์ตามมาตราดังกล่าวไปศาลภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด คดีนี้จำเลยทั้งสามถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำหน่ายเมทแอมเฟตามีน และเสพเมทแอมเฟตามีน รวม 3 ฐาน แต่พนักงานสอบสวนไม่ได้นำตัวจำเลยทั้งสามไปศาลภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด เมื่อพนักงานสอบสวนมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามหลักเกณฑ์มาตรา 19 จึงเป็นการสอบสวนโดยไม่ชอบ เท่ากับว่าไม่มีการสอบสวนคดีนี้มาก่อน เพราะเมื่อพนักงานสอบสวนได้กล่าวหาว่า จำเลยทั้งสามมีความผิด 3 ฐาน หากจำเลยทั้งสามได้รับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดจนครบถ้วนตามที่กำหนดในแผนและผลการฟื้นฟูเป็นที่พอใจแก่คณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด ก็จะพ้นจากความผิดทุกข้อหาที่ถูกกล่าวหาตามมาตรา 19 ในทางกลับกันการที่พนักงานสอบสวนไม่ปฏิบัติตามตัวบทกฎหมาย ย่อมส่งผลให้พนักงานอัยการไม่มีอำนาจฟ้องทุกข้อกล่าวหาด้วยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 120 ประกอบ พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 6 หาใช่เป็นดุลพินิจของโจทก์ที่จะพิจารณาสั่งฟ้องเป็นรายข้อหาเฉพาะความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายโดยไม่ได้รับอนุญาต และจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนไม่
แม้โจทก์ไม่ได้ฟ้องข้อหาเสพเมทแอมเฟตามีน แต่ข้อเท็จจริงปรากฏในสำนวนว่า จำเลยทั้งสามถูกแจ้งข้อหาเสพเมทแอมเฟตามีนด้วย จำเลยให้การรับสารภาพ ศาลชั้นต้นได้สอบถามจำเลยทั้งสามในห้องพิจารณา จำเลยทั้งสามรับว่าเสพเมทแอมเฟตามีน กรณีจึงเป็นเรื่องที่ศาลล่างทั้งสองฟังว่า จำเลยทั้งสามมีพฤติกรรมเกี่ยวข้องกับยาเสพติด เสี่ยงต่อการกระทำความผิดหรืออาจถูกชักนำให้กระทำความผิดได้ หาใช่เป็นการวินิจฉัยว่าจำเลยทั้งสามมีความผิดฐานเสพเมทแอมเฟตามีนไม่ เพราะมิได้ปรับบทกฎหมายหรือกำหนดโทษฐานนี้ ศาลชั้นต้นมีอำนาจคุมความประพฤติจำเลยทั้งสามตาม พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 138 มิใช่การพิพากษาเกินคำขอ
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ริบโทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลาง จึงไม่ชอบเพราะศาลมิได้พิพากษาว่าจำเลยกระทำความผิดและโทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลาง มิใช่ทรัพย์ใช้ในการกระทำความผิด หรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิด หรือได้มาโดยได้กระทำความผิดซึ่งหมายถึงความผิดตามฐานที่ฟ้อง จึงไม่อาจริบได้ ให้คืนแก่เจ้าของตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 102 และ ป.อ. มาตรา 32, 33
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 7, 8, 15, 66, 102 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 83 ริบเมทแอมเฟตามีนที่เหลือจากการตรวจพิสูจน์และโทรศัพท์เคลื่อนที่ 1 เครื่อง ของกลาง
จำเลยทั้งสามให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง แต่เนื่องจากจำเลยทั้งสามเป็นผู้เสพยาเสพติด จึงอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 138 ให้คุมความประพฤติจำเลยทั้งสามมีกำหนด 1 ปี ดังนี้
1. ให้จำเลยทั้งสามไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติจังหวัดเชียงใหม่ทุกระยะ 3 เดือน ต่อครั้ง มีกำหนด 1 ปี ทุกครั้งที่มารายงานตัวให้ตรวจปัสสาวะของจำเลยทั้งสาม หากพบสารเสพติดให้โทษให้รายงานให้ศาลทราบ
2. ให้จำเลยทั้งสามประกอบอาชีพหรือศึกษาต่อเป็นกิจจะลักษณะ
3. ให้ละเว้นการคบหาสมาคมกับบุคคลที่มีความประพฤติไม่ดี โดยเฉพาะบุคคลที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดให้โทษ
4. ห้ามเที่ยวเตร่ในเวลากลางคืนหรือเข้าไปในสถานเริงรมย์ทุกประเภทหรือเกี่ยวข้องกับหญิงค้าประเวณี
5. ห้ามดื่มสุรา สูบบุหรี่ สูดดมสารระเหยหรือเกี่ยวข้องกับยาเสพติดให้โทษทุกชนิด
6. ห้ามออกจากที่อยู่อาศัยในเวลากลางคืน เว้นแต่จะมีเหตุจำเป็นหรือได้รับอนุญาตจากผู้ปกครอง
7. ให้จำเลยทั้งสามมาศาลเมื่อศาลจัดโครงการที่เป็นประโยชน์แก่จำเลยทั้งสาม
ริบเมทแอมเฟตามีนที่เหลือจากการตรวจพิสูจน์และโทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลาง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษายืน
โจทก์ฎีกาโดยอัยการสูงสุดรับรองให้ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ โดยโจทก์ฎีกาอ้างว่า ในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวน จำเลยทั้งสามต้องหาว่ากระทำความผิดฐานเสพเมทแอมเฟตามีน และร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและจำหน่ายซึ่งเป็นกรณีที่จะต้องเข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดตามพระราชบัญญัติฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ.2545 แต่ปรากฏว่าพนักงานสอบสวนยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ส่งตัวจำเลยทั้งสามไปควบคุมเพื่อตรวจพิสูจน์การเสพหรือการติดยาเสพติดเกินกว่าระยะเวลา 24 ชั่วโมง นับแต่จำเลยทั้งสามซึ่งเป็นผู้ต้องหามีอายุไม่ถึงสิบแปดปีบริบูรณ์มาถึงที่ทำการของพนักงานสอบสวน ตามมาตรา 19 วรรคสอง เป็นเหตุให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้อง กรณีดังกล่าวมิได้ทำให้ความผิดทางอาญาระงับไป พนักงานสอบสวนส่งสำนวนการสอบสวนมาให้โจทก์พิจารณา โจทก์มีอำนาจพิจารณาสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้องความผิดฐานใดก็ได้ โจทก์มีคำสั่งไม่ฟ้องในความผิดฐานเสพเมทแอมเฟตามีน แต่โจทก์เห็นว่าคดีมีมูลและมีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะฟ้องจำเลยทั้งสามในความผิดฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและจำหน่ายโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย การยื่นฟ้องคดีนี้จึงชอบด้วยกฎหมายแล้วนั้น เห็นว่า เจตนารมณ์ของการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดฐานเสพยาเสพติดในชั้นที่ถูกกล่าวหาตามมาตรา 19 วรรคหนึ่ง เพื่อเยียวยาแก้ไขเสียก่อนเข้าสู่กระบวนการพิจารณาในชั้นศาล และเป็นบทบังคับให้พนักงานสอบสวนนำตัวผู้ต้องหาซึ่งเป็นบุคคลเข้าหลักเกณฑ์ตามมาตราดังกล่าวไปศาลภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด แต่การที่พนักงานสอบสวนมิได้นำตัวจำเลยทั้งสามไปศาลภายในระยะเวลาตามที่กฎหมายกำหนด ตามหลักเกณฑ์ตามพระราชบัญญัติฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ.2545 เพื่อให้ศาลพิจารณามีคำสั่งให้ส่งตัวจำเลยทั้งสามไปตรวจพิสูจน์การเสพหรือการติดยาเสพติดเพื่อให้จำเลยทั้งสามได้รับประโยชน์ในการที่จะได้รับการพิจารณาเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดอันจะมีผลให้พ้นจากความผิดที่ถูกกล่าวหาตามเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติดังกล่าว การที่พนักงานสอบสวนทำการสอบสวนโดยมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามหลักเกณฑ์ในมาตรา 19 จึงเป็นการสอบสวนโดยไม่ชอบ เท่ากับว่าไม่มีการสอบสวนคดีนี้มาก่อนและเมื่อพนักงานสอบสวนได้กล่าวหาว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดฐานเสพเมทแอมเฟตามีน มีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน หากจำเลยทั้งสามได้รับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดจนครบถ้วนตามที่กำหนดในแผนและผลการฟื้นฟูเป็นที่พอใจแก่คณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด ก็จะพ้นจากความผิดทุกข้อที่ถูกกล่าวหาตามมาตรา 19 ในทางกลับกันการที่พนักงานสอบสวนไม่ปฏิบัติตามตัวบทกฎหมายย่อมส่งผลให้พนักงานอัยการโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องทุกข้อกล่าวหาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 120 ประกอบพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 6 หาใช่เป็นดุลพินิจของโจทก์ที่จะพิจารณาสั่งฟ้องเป็นรายข้อหาไปได้ไม่ ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
ส่วนที่โจทก์ฎีกาว่า ศาลล่างทั้งสองพิพากษาเกินคำขอหรือมิได้กล่าวในฟ้องนั้น โดยโจทก์ฎีกาอ้างว่าโจทก์มิได้ฟ้องจำเลยทั้งสามในความผิดฐานเสพเมทแอมเฟตามีนทั้งมิใช่เป็นการที่ศาลเห็นว่าเด็กหรือเยาวชนมีพฤติกรรมที่เสี่ยงต่อการกระทำความผิดหรืออยู่ในสภาพแวดล้อมหรือสถานที่อันอาจชักนำให้กระทำความผิดตามพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 138 การที่ศาลล่างทั้งสองฟังว่าจำเลยทั้งสามขณะทำผิดฐานเสพเมทแอมเฟตามีนจึงไม่ชอบนั้น เห็นว่า แม้โจทก์จะมิได้ฟ้องจำเลยทั้งสามในความผิดฐานเสพเมทแอมเฟตามีนก็ตาม แต่ข้อเท็จจริงปรากฏในสำนวนว่า จำเลยทั้งสามถูกแจ้งข้อกล่าวหาว่าเสพเมทแอมเฟตามีนและร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและจำหน่ายโดยผิดกฎหมาย จำเลยทั้งสามให้การรับสารภาพ และศาลชั้นต้นได้สอบถามจำเลยทั้งสามในห้องพิจารณา จำเลยทั้งสามรับว่าเสพเมทแอมเฟตามีน กรณีจึงเป็นเรื่องที่ศาลล่างทั้งสองฟังว่าจำเลยทั้งสามมีพฤติกรรมเกี่ยวข้องกับยาเสพติด เสี่ยงต่อการกระทำความผิดหรืออาจถูกชักนำให้กระทำความผิดได้ หาใช่เป็นการวินิจฉัยว่าการกระทำของจำเลยทั้งสามเป็นความผิดฐานเสพเมทแอมเฟตามีนไม่ เพราะมิได้ปรับบทกฎหมายหรือกำหนดโทษฐานนี้แต่ประการใด กรณีเป็นการใช้อำนาจเพื่อคุ้มครองสวัสดิภาพของเด็กหรือเยาวชนตามพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 138 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ทุกข้อฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ริบโทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลางนั้นไม่ชอบ เพราะศาลมิได้พิพากษาว่าจำเลยกระทำความผิดและโทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลางจึงมิใช่ทรัพย์ที่ใช้ในการกระทำความผิด หรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิด หรือได้มาโดยได้กระทำความผิด ซึ่งหมายถึงความผิดตามฐานที่ฟ้อง จึงไม่อาจริบโทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลางตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 102 และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33 เห็นควรแก้ไข
พิพากษาแก้เป็นว่า ไม่ริบโทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลาง โดยให้คืนแก่เจ้าของ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5