คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5747/2531

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยกล่าวหาว่าโจทก์ทำให้จำเลยถูกบัตรสนเท่ห์ จึงทำร้ายโจทก์จนกระดูกซี่โครงร้าว แล้วออกจากบ้านไปอยู่กับภริยาเก่าโดยไม่กลับมาอยู่กับโจทก์อีกเลย แม้ปรากฏว่าจำเลยเคยช่วยออกค่าไฟฟ้า ค่าน้ำประปา และค่าโทรศัพท์ในบ้านโจทก์โดยฝากบุตรไปให้แต่เมื่อพบกันก็ไม่พูดกัน ดังนี้ถือว่าจำเลยจงใจละทิ้งร้างโจทก์เมื่อเป็นระยะเวลาเกินหนึ่งปี ก็เป็นเหตุฟ้องหย่าได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1516(4)
ที่ดินที่โจทก์ได้มาระหว่างสมรสโดยมารดายกให้โดยเสน่หาและให้ถือกรรมสิทธิ์รวมกับพี่อีก 3 คน ก่อนประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 ที่ได้ตรวจชำระใหม่ พ.ศ.2519 ใช้บังคับ เมื่อการยกให้มิได้แสดงไว้ว่าให้เป็นสินส่วนตัว ที่ดินส่วนของโจทก์จึงตกเป็นสินสมรส แม้ต่อมาได้มีการแบ่งแยกโฉนดออกไปเป็นส่วนของโจทก์เมื่อประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 ที่ได้ตรวจชำระใหม่ พ.ศ.2519 ใช้บังคับแล้วก็เป็นเรื่องการแบ่งทรัพย์สินในระหว่างผู้ถือกรรมสิทธิ์รวม ไม่ทำให้ที่ดินส่วนของโจทก์หลังแบ่งแยกโฉนดแล้วเปลี่ยนเป็นสินส่วนตัวตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1471(3) ที่ได้ตรวจชำระใหม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทำร้ายโจทก์และจงใจละทิ้งร้างโจทก์ไปเกินกว่าหนึ่งปี ขอบังคับให้จำเลยไปจดทะเบียนหย่ากับโจทก์หรือให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา กับให้จ่ายค่าเลี้ยงชีพแก่โจทก์เดือนละ ๓,๐๐๐ บาท
จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า ไม่เคยทำร้ายและไม่ได้ละทิ้งร้างโจทก์ไป โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกค่าเลี้ยงชีพและโจทก์จำเลยมีสินสมรสคือ ที่ดินโฉนดเลขที่ ๓๐๖๔ และบ้านซึ่งปลูกในที่ดินแปลงนี้ราคารวม ๓๐๐,๐๐๐ บาทกับทรัพย์สินตามบัญชีท้ายคำฟ้องแย้งอีก ๖ อันดับ หากศาลพิพากษาให้หย่า ขอให้แบ่งสินสมรสแก่จำเลยครึ่งหนึ่ง ฯลฯ
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า ที่ดินโฉนดเลขที่ ๓๐๖๔ และบ้านเป็นสินส่วนตัวของโจทก์ และโจทก์ได้ขายฝากให้แก่ประพันธ์ ศิริธงแล้ว ทรัพย์สินอื่นตามฟ้องแย้งมีเพียงโต๊ะไม้สักและเก้าอี้ราคารวมกันไม่เกิน ๓,๐๐๐ บาทเท่านั้น โจทก์ไม่มีสิทธิขอแบ่ง ขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยจดทะเบียนหย่ากับโจทก์ให้โจทก์แบ่งรถยนต์ (ตามบัญชีท้ายคำฟ้องแย้งอันดับ ๑) แก่จำเลยตามฟ้องแย้ง ฯลฯ คำขอของโจทก์จำเลยนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ที่ดินและทรัพย์สินตามบัญชีท้ายคำฟ้องแย้งอันดับ ๑ (รถยนต์) กับอันดับ ๖ (ชุดรับแขก) เป็นสินสมรส นอกนั้นฟังไม่ได้ว่ามีอยู่จริงและเป็นสินสมรส พิพากษาแก้เป็นว่าให้แบ่งที่ดินโฉนดเลขที่ ๓๐๖๔ และชุดรับแขกให้จำเลยครึ่งหนึ่ง ฯลฯ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์และจำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่จำเลยฎีกาว่าโจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องขอหย่า เพราะจำเลยมิได้จงใจทิ้งร้างโจทก์นั้น โจทก์นำสืบว่าเมื่อต้นเดือนเมษายน ๒๕๒๒ โจทก์จำเลยทะเลาะกันเรื่องมีผู้ส่งบัตรสนเท่ห์กล่าวหาว่าจำเลยซึ่งเป็นผู้อำนวยการโรงเรียนรัฐบาลมีความประพฤติเสีย หายในเรื่องชู้สาว เรื่องการเงิน และเรื่องกลั่นแกล้งผู้ใต้บังคับบัญชา โดยจำเลยหาว่าโจทก์ทำให้จำเลยถูกบัตรสนเท่ห์และเตะโจทก์จนกระดูกซี่โครงร้าวในวันนั้นจำเลยก็ออกจากบ้านไปอยู่กับนางวิไลภริยาเก่าแล้วไม่กลับมาอยู่กับโจทก์อีกเลย จำเลยเองก็นำสืบว่าหลังจากเกษียณอายุราชการเมื่อพุทธศักราช ๒๕๒๒ ซึ่งเป็นเวลาก่อนโจทก์ยื่นฟ้องเกินหนึ่งปี จำเลยไปอยู่ที่บ้านนางวิไลภริยาเก่า มิได้กลับมาอยู่กับโจทก์อีกเลย เมื่อจำเลยมาเยี่ยมมารดาซึ่งอยู่ใกล้กับบ้านที่โจทก์อยู่ถ้าพบโจทก์ก็ไม่พูดกัน พฤติการณ์ของจำเลยดังกล่าวนี้แม้จะฟังว่าจำเลยเคยช่วยออกค่าไฟฟ้า ค่าน้ำประปา และค่าโทรศัพท์ในบ้านที่โจทก์อยู่บ้างโดยฝากบุตรสาวไปให้โจทก์ดังที่จำเลยนำสืบก็ตาม กรณีก็ถือได้ว่าจำเลยจงใจละทิ้งร้างโจทก์ผู้เป็นภริยาไปเกินหนึ่งปี เป็นเหตุฟ้องหย่าได้ตามบรรพ ๕ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ได้ตรวจชำระใหม่ มาตรา ๑๕๑๖ (๔) โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องหย่า เหตุผลต่าง ๆ ที่จำเลยอ้างอิงในฎีกาข้อนี้ไม่ใช่เหตุที่ศาลจะยกคำขอของโจทก์ข้อนี้ได้ ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยชี้ขาดในประเด็นนี้ชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
……………..ฯลฯ……………….
ที่โจทก์ฎีกาและแก้ฎีกาของจำเลยว่าที่ดินโฉนดเลขที่ ๓๐๖๔ และบ้านเลขที่ ๒๐ ซึ่งปลูกอยู่ในที่ดินแปลงนี้เป็นสินส่วนตัวของโจทก์ หากจะฟังว่าเป็นสินสมรสที่ดินและบ้านดังกล่าวก็ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของนายประพันธ์ ศิริธง ไปแล้วไม่เหลืออยู่ที่จะนำมาแบ่งให้จำเลยได้ ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้แบ่งเฉพาะที่ดินเท่านั้น มิได้ให้แบ่งบ้านเลขที่ ๒๐ ด้วย โจทก์ขายฝากที่ดินโฉนดเลขที่ ๓๐๖๔ และบ้านเลขที่ ๒๐ ให้นายประพันธ์ เป็นเงิน ๑๒๘,๐๐๐ บาท แต่ได้รับเงินไม่ถึง ๑๒๘,๐๐๐ บาท เพราะนายประพันธ์คิดดอกเบี้ยรวมเข้าไปด้วย บ้านเลขที่ ๒๐ เป็นบ้านเก่าถ้าประมูลขายจะได้ราคาอย่างมากเพียง ๓๐,๐๐๐ บาท ราคาที่ดินอย่างเดียวประมาณ ๕๐,๐๐๐ บาท จำเลยจะได้รับส่วนแบ่งไม่เกิน ๒๕,๐๐๐ บาท นั้น ปรากฏว่าจำเลยมิได้ฎีกาขอแบ่งบ้านเลขที่ ๒๐ ด้วย กลับกล่าวในคำฟ้องฎีกาว่าที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาว่าที่ดินโฉนดเลขที่ ๓๐๖๔ เป็นสินสมรสจำเลยเห็นพ้องด้วยเพราะชอบด้วยเหตุผลและความยุติธรรม จึงมีปัญหาวินิจฉัยว่าที่ดินโฉนดเลขที่ ๓๐๖๔ เป็นสินสมรสหรือไม่ ปรากฏว่าที่ดินโฉนดเลขที่ ๓๐๖๔ เดิมเป็นที่ดินแปลงใหญ่ มารดาโจทก์ยกให้โจทก์และพี่อีก ๓ คน โดยเสน่หา เมื่อวันที่ ๒๗ ตุลาคม ๒๕๑๘ ซึ่งอยู่ในระยะเวลาระหว่างสมรสโดยมิได้แสดงไว้ว่าให้เป็นสินส่วนตัว ที่ดินโฉนดเลขที่ ๓๐๖๔ ส่วนของโจทก์จึงตกเป็นสินสมรสของโจทก์และจำเลย แม้หลังจากบทบัญญัติบรรพ ๕ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่ได้ตรวจชำระใหม่ใช้บังคับแล้ว ได้มีการแบ่งแยกโฉนดออกไป ที่ดินโฉนดเลขที่ ๓๐๖๔ คงเหลือเนื้อที่ ๓ งาน ๓ ตารางวา เป็นส่วนของโจทก์ก็เป็นเรื่องการแบ่งทรัพย์สินในระหว่างผู้ถือกรรมสิทธิ์รวม หาทำให้ที่ดินโฉนดเลขที่ ๓๐๖๔ หลังจากแบ่งแยกโฉนดแล้วเปลี่ยนเป็นสินส่วนตัวของโจทก์ตามบรรพ ๕ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่ได้ตรวจชำระใหม่ มาตรา ๑๔๗๑ (๓) ไม่ ปรากฏว่าที่ดินโฉนดเลขที่ ๓๐๖๔ ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของนายประพันธ์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกโดยนายประพันธ์รับซื้อฝากไว้จากโจทก์โดยสุจริตแล้ว คำขอของจำเลยในคำฟ้องแย้งเกี่ยวกับที่ดินโฉนดเลขที่ ๓๐๖๔ มี ๒ ประการ คือ ให้แบ่งที่ดินให้จำเลยครึ่งหนึ่งหรือถ้าการแบ่งที่ดินไม่อาจกระทำได้ให้โจทก์ใช้เงินแก่จำเลย ๑๕๐,๐๐๐ บาท เมื่อคำขอประการแรกไม่อาจบังคับได้เพราะที่ดินโฉนดเลขที่ ๓๐๖๔ ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของบุคคลภายนอก ผู้กระทำการโดยสุจริตไปแล้วจึงต้องบังคับตามคำขอประการหลัง
ในปัญหาว่าจะให้โจทก์ใช้เงินแก่จำเลยเท่าใดนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า…..โจทก์ต้องใช้เงินแก่จำเลยครึ่งหนึ่งเป็นค่าที่ดินโฉนดเลขที่ ๓๐๖๔ เป็นเงิน ๕๐,๐๐๐ บาท ค่าชุดรับแขกและค่าโต๊ะไม้สักเป็นเงิน ๑,๘๐๐ บาท ตามสิทธิของจำเลย
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้โจทก์ใช้เงินจำนวน ๕๑,๘๐๐ บาท แก่จำเลย นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share