คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1990/2531

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้ผู้ตายจะโกรธแค้นที่เคยถูกจำเลยผู้เป็นสามีตบตี ผู้ตายก็ไม่มีอำนาจอันชอบธรรมที่จะด่าว่าจำเลยในลักษณะดูถูกเหยียดหยามด้วยถ้อยคำหยาบคายพาดพิงถึงวงศ์สกุลของจำเลยในที่ว่าการอำเภอซึ่งมีคนอื่นได้ยินด้วยย่อมทำให้จำเลยรู้สึกอับอายขายหน้าและแค้นเคืองอย่างมาก ถือได้ว่าเป็นการข่มเหงน้ำใจจำเลยอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม การที่จำเลยใช้ปืนยิงผู้ตายถึงแก่ความตาย จึงเป็นการกระทำผิดโดยบันดาลโทสะ.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 288, 289,371 พระราชบัญญัติอาวุธปืน ฯ มาตรา 4, 7, 8, ทวิ, 72, 72 ทวิ
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา288, 72, 371 พระราชบัญญัติอาวุธปืน ฯ มาตรา 4, 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ
โจทก์ร่วมและจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ร่วมฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นโดยให้ลงโทษจำคุกจำเลยแต่ละข้อหาไม่เกิน 5 ปีจึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 218 ศาลฎีกาจะต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยมาแล้วจากพยานหลักฐานในสำนวนว่า จำเลยเป็นสามีของผู้ตายมีบุตรด้วยกัน 2 คนเมื่อเดือนมีนาคม 2527 ผู้ตายได้ไปหาโจทก์ร่วมซึ่งเป็นบิดาที่บ้านโจทก์ร่วม ผู้ตายบอกโจทก์ร่วมว่าจำเลยทุบตีผู้ตายคิดจะหย่ากับจำเลย และผู้ตายขอพักอาศัยอยู่กับโจทก์ร่วม ส่วนบุตรคงอยู่กับจำเลยต่อมาจำเลยได้อ้อนวอนให้ผู้ตายกลับบ้านผู้ตายไม่ยอมกลับ ผู้ตายขอหย่ากับจำเลย จำเลยไม่ยอมแต่หลังจากนั้นผู้ตายนัดกับจำเลยให้ไปหย่ากันที่อำเภอสองพี่น้องในวันที่ 10 เมษายน 2527 นายอุดม ปลัดอำเภอได้เจรจาไกล่เกลี่ยให้ผู้ตายกับจำเลยคืนดีกันนายอุดมถามผู้ตายว่ามีปัญหาอะไรกันผู้ตายพูดว่า ‘อยู่ไม่ได้แล้วละไอ้โคตรนี้เลวทั้งโคตรตบตีเมียทั้งโคตร’ จำเลยขอให้ผู้ตายกลับไปอยู่กับจำเลยผู้ตายพูดว่า ‘ไม่กลับแล้วปล่อยให้ลูกน้องเอาผู้หญิงมานอนในบ้าน’ นอกจากนี้ผู้ตายด่าจำเลยว่า’ มึงเป็นทนายที่เลวที่สุดในจังหวัดสุพรรณมึงร่วมกับอีดอกนงค์ปลอมสัญญากู้มาหลอกพ่อกู’ และว่าจำเลยเป็นหน้าตัวเมียไม่ยอมหย่ากับผู้ตาย เมื่อจำเลยพูดว่าจำเลยเป็นผู้ชายหย่าไม่ยากแต่ลูกยังเล็กอยู่ ผู้ตายก็พูดว่า ‘ลูกกูไม่เอาหรอกโตแล้วมันก็เลวเหมือนมึงเลือดชั่วในตัวมันแยะเหมือนเลือดโคตรมึงนั่นแหละ’ผู้ตายได้ด่าว่าจำเลยอีกจำเลยจึงได้ใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายเห็นว่าตามพฤติการณ์ที่เกิดขึ้นจำเลยใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายเมื่อผู้ตายได้ด่าว่าจำเลยอย่างหยาบคายและรุนแรงต่อหน้านายอุดมปลัดอำเภอ จำเลยได้พบผู้ตายก่อนนั้นแล้วมีโอกาสที่จะยิงผู้ตายได้แต่จำเลยมิได้กระทำ ทั้งไม่ปรากฏพฤติการณ์อื่นใดที่ส่อแสดงว่าจำเลยได้ตระเตรียมการหรือตั้งใจมาพบผู้ตายเพื่อที่จะฆ่าผู้ตายตรงกันข้ามขณะที่นายอุดมเจรจาไกล่เกลี่ยนั้นได้ความว่าจำเลยมีลักษณะโอนอ่อนในการที่จะขอคืนดีโดยให้ผู้ตายกลับไปอยู่กับจำเลยเพื่อเห็นแก่ลูก และเมื่อได้พิเคราะห์โดยตระหนักในเรื่องถ้อยคำที่ผู้ตายด่าว่าจำเลยแล้วเห็นว่าผู้ตายด่าว่าจำเลยในลักษณะดูถูกเหยียดหยามใช้ถ้อยคำที่หยาบคายพาดพิงถึงวงศ์สกุลของจำเลยต่อหน้านายอุดมปลัดอำเภอในที่ว่าการอำเภอ ซึ่งย่อมมีคนอื่นได้ยินได้ฟังด้วย แม้ผู้ตายจะโกรธแค้นจำเลยที่เคยตบตีผู้ตาย ผู้ตายก็ไม่มีอำนาจอันชอบธรรมที่จะด่าว่าจำเลยในลักษณะเช่นนั้น การกระทำของผู้ตายย่อมทำให้จำเลยรู้สึกอับอายขายหน้าและแค้นเคืองเป็นอย่างมากย่อมถือได้ว่าเป็นการข่มเหงน้ำใจจำเลยอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรมการกระทำของจำเลยจึงมีเหตุบันดาลโทสะตามกฎหมาย
พิพากษายืน.

Share