คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5723-5724/2531

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยลงลายมือชื่อเป็นผู้สั่งจ่ายเช็คพิพาททั้งสี่ฉบับ โดยมีนาง ก.ภรรยาจำเลยเป็นผู้กรอกวัน เดือน ปี และจำนวนเงินในเช็คดังกล่าวด้วยความยินยอมเห็นชอบของจำเลย กรณีต้องถือว่าจำเลยเป็นผู้ออกเช็คพิพาททั้งสี่ฉบับ เมื่อโจทก์ซึ่งเป็นผู้ทรงโดยชอบนำเช็คไปเรียกเก็บเงิน แต่ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินจำเลยย่อมมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้ เช็ค พ.ศ.2497 มาตรา 3
ฟ้องของโจทก์ทั้งสองสำนวนไม่ได้ขอให้พิพากษานับโทษของจำเลยติดต่อกัน จึงนับโทษติดต่อกันให้ไม่ได้

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสองสำนวนฟ้องและแก้ไขคำฟ้องเป็นใจความอย่างเดียวกันว่าเมื่อประมาณเดือนมกราคม ๒๕๒๘ โจทก์ได้รับเช็คเป็นการชำระหนี้มาจากจำเลยจำนวน ๒ ฉบับ และรับโอนเช็คเป็นการชำระหนี้จากลูกหนี้จำนวน ๒ ฉบับ เช็คทั้งสี่ฉบับจำเลยเป็นผู้ลงลายมือชื่อสั่งจ่าย ต่อมาเมื่อเช็คถึงกำหนดชำระเงิน โจทก์นำไปเข้าบัญชีของโจทก์ เพื่อให้เรียกเก็บเงิน แต่ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินทั้งสี่ฉบับโดยให้เหตุผลอย่างเดียวกันว่าบัญชีปิดแล้ว โจทก์ทวงถามจำเลย จำเลยก็เพิกเฉยการกระทำของจำเลยเป็นการออกเช็คโดยเจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็คหรือออกเช็คให้ใช้เงินโดยในขณะที่ออกไม่มีเงินอยู่ในบัญชีอันจะพึงให้ใช้เงินได้ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจาก การใช้เช็ค พ.ศ.๒๔๙๗ มาตรา ๓ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๑
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้องทั้งสองสำนวน
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.๒๔๙๗ มาตรา ๓ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๑ การกระทำของจำเลยแต่ละสำนวนเป็นความผิดสำนวนละ ๒ กรรม เรียงกระทงลงโทษ โดยสำนวนแรกจำคุกกรรมละ ๓ เดือน รวมจำคุก ๖ เดือน สำนวนหลังจำคุกกรรมละ ๓ เดือน รวมจำคุก ๖ เดือน ให้นับโทษจำคุกจำเลยทั้งสองสำนวนต่อกัน
จำเลยทั้งสองสำนวนอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ทั้งสองสำนวนฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ยุติตามทางพิจารณาในเบื้องต้นว่า เช็คพิพาททั้งสี่ฉบับจำเลยเป็นผู้ลงลายมือชื่อสั่งจ่าย และโจทก์เป็นผู้ทรง เมื่อเช็คพิพาททั้งสี่ฉบับถึงกำหนดชำระเงิน โจทก์นำเข้าบัญชีเพื่อเรียกเก็บเงินแต่ธนาคารเช็คพิพาททั้งสี่ฉบับถึงกำหนดชำระเงิน โจทก์นำเข้าบัญชีเพื่อเรียกเก็บเงินแต่ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินอ้างว่าบัญชีปิดแล้ว ปัญหามีว่าจำเลยกระทำความผิดตามฟ้องโจทก์หรือไม่ ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้วฟังข้อเท็จจริงว่า เดิมนายสุทัศน์ บรรเจิดไพบูลย์ นำเช็คของจำเลยมาแลกเงินสดไปจากโจทก์ ต่อมาเมื่อเช็คดังกล่าวขึ้นเงินไม่ได้ นางกนกพรจึงได้นำเช็คของจำเลยมาเปลี่ยน ๒ ครั้ง ครั้งสุดท้ายคือเช็คพิพาททั้งสี่ฉบับ ซึ่งเช็คดังกล่าวก็สืบเนื่องมาจากการที่จำเลยหรือนางกนกพรภรรยาจำเลยได้ซื้อกระดาษจากนายสุทัศน์ บรรเจิดไพบูลย์หรือห้างหุ้นส่วนจำกัดบรรเจิดไพบูลย์ ไปใช้ในกิจการโรงพิมพ์ของจำเลยนั่นเอง ที่จำเลยอ้างว่านางกนกพรนำเช็คพิพาททั้งสี่ฉบับไปกรอกข้อความเอาเองโดยพละการจึงไม่มีเหตุผลที่จะรับฟังได้ข้อเท็จ จริงฟังได้ว่านางกนกพรได้กรอกวันเดือนปี และจำนวนเงินในเช็คพิพาททั้งสี่ฉบับด้วยความยินยอมหรือเห็นชอบของจำเลย แม้จำเลยจะเป็นผู้เพียงแต่ลงลายมือชื่อในเช็คนั้นก็ตาม ในกรณีเช่นนี้ต้องถือว่าจำเลยเป็นผู้ออกเช็คพิพาททั้งสี่ฉบับแล้วที่ศาลอุทธรณ์ฟังว่า จำเลยออกเช็คพิพาทโดยไม่ลงวันเดือนปีที่ออกเช็ค ไม่เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คและพิพากษายกฟ้องโจทก์มานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วยฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษากลับว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.๒๔๙๗ มาตรา ๓ การกระทำของจำเลยแต่ละสำนวนเป็นความผิดสำนวนละ ๒ กรรม ให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๑ สำนวนแรกจำคุกกรรมละ ๓ เดือน รวมจำคุก ๖ เดือน สำนวนหลังจำคุกกรรมละ ๓ เดือน รวมจำคุก ๖ เดือน ฟ้องของโจทก์ทั้งสองสำนวนไม่ได้ขอให้พิพากษานับโทษของจำเลยติดต่อกัน จึงนับโทษติดต่อกันให้ไม่ได้

Share