แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ได้รับสัมปทานการบริการวิทยุติดตามตัวตั้งแต่ปี 2533โจทก์ดำเนินธุรกิจจนถึงก่อนสิ้นปี 2535 โจทก์มีลูกค้าเพียงประมาณ 700 รายในขณะเดียวกันผู้ได้รับสัมปทานรายอื่นมีลูกค้าตั้งแต่ 10,000 ราย ถึง 100,000 รายรายได้หลักที่โจทก์มุ่งหวังอยู่ที่ค่าบริการรายเดือนที่ลูกค้าใช้บริการ มิใช่อยู่ที่กำไรจากการขายเครื่องรับวิทยุติดตามตัวอันเป็นรายได้รอง ดังนั้น โจทก์จึงจำเป็นต้องหาลูกค้าให้ได้จำนวนมากที่สุดเพื่อโจทก์จะได้รับค่าบริการจากลูกค้าทุกเดือน การที่โจทก์โฆษณาโดยระบุว่าลูกค้าที่มาใช้บริการในช่วงเวลาตั้งแต่เดือนธันวาคม 2535 ถึงวันที่ 31มีนาคม 2536 จำนวน 1,500 รายแรก โจทก์จะขายวิทยุติดตามตัวในราคาเครื่องละ1,500 บาทนั้น ความสำคัญคือช่วงส่งเสริมการขายได้แก่ระยะเวลาตั้งแต่เดือนธันวาคม 2535 ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2536 ส่วนข้อความที่ระบุว่าจะขายเครื่องละ1,500 บาท เพียง 1,500 เครื่องแรก เป็นเพียงกลยุทธกระตุ้นให้ลูกค้าสามารถจดจำเลขหมาย 1500 อันเป็นเลขหมายใหม่ของโจทก์และรีบมาใช้บริการเท่านั้นมิใช่ว่าโจทก์เจตนาจะส่งเสริมการขายเพียง 1,500 เครื่องเท่านั้น หากเป็นเช่นนั้นก็ไม่สมประโยชน์ที่โจทก์ส่งเสริมการขายเพื่อให้ได้ลูกค้าในช่วงดังกล่าวมากที่สุดดังจะเห็นได้ว่าจากกลยุทธดังกล่าว โจทก์เริ่มส่งเสริมการขายตั้งแต่วันที่ 18ธันวาคม 2535 ปรากฏว่าในเดือนธันวาคม 2535 โจทก์ขายวิทยุติดตามตัวได้ถึง2,435 เครื่อง แม้เมื่อโจทก์ขายครบ 1,500 เครื่อง แล้วโจทก์เปลี่ยนวิธีการขายโดยโจทก์ไม่เก็บค่าบริการรายเดือนเป็นเวลา 6 เดือนก็ตาม แต่จำนวนเงินที่ผู้ใช้บริการต้องชำระแก่โจทก์ยังคงเท่ากับ 1,500 เครื่องแรก และยังอยู่ในระยะเวลาที่โจทก์กำหนดเป็นช่วงส่งเสริมการขาย โดยโจทก์ขายแก่บุคคลทั่วไป ไม่จำกัดเฉพาะบุคคลใดบุคคลหนึ่ง เช่นนี้นับว่าโจทก์ขายสินค้าต่ำกว่าราคาตลาดโดยมีเหตุสมควร
ป.รัษฎากรเป็นกฎหมายมหาชนที่กำหนดภาระหน้าที่ให้ประชาชนปฏิบัติต่อรัฐ จึงต้องบังคับโดยเคร่งครัดในทางที่จะไม่ก่อให้เกิดภาระหน้าที่หรือกระทบกระเทือนต่อสิทธิและทรัพย์สินของประชาชน เมื่อโจทก์ไม่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีอากรเพิ่มขึ้น แต่เจ้าพนักงานประเมินให้โจทก์เสียภาษีอากรเพิ่มขึ้นการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ถึงแม้ว่าผู้รับมอบ-อำนาจโจทก์จะทำบันทึกยอมชำระภาษีอากรตามการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและยื่นคำร้องของดเบี้ยปรับ และเจ้าพนักงานประเมินลดเบี้ยปรับให้แล้วก็ตาม โจทก์ก็หามีหน้าที่ต้องเสียภาษีอากรเพิ่มขึ้นตามบันทึกที่ผู้รับมอบอำนาจโจทก์ทำไว้แต่อย่างใดไม่ จำเลยจึงไม่อาจใช้บันทึกดังกล่าวบังคับต่อโจทก์ให้ต้องชำระภาษีอากรตามนั้น
ที่ศาลภาษีอากรวินิจฉัยให้โจทก์ชำระภาษีมูลค่าเพิ่มพร้อมเบี้ยปรับและเงินเพิ่มคำนวณถึงวันที่ 15 มิถุนายน 2536 เป็นเงิน 67,849.48 บาทและเงินเพิ่มอัตราร้อยละ 1.5 ต่อเดือน หรือเศษของเดือนของจำนวนภาษีที่ต้องชำระ33,901.08 บาท นับแต่วันที่ 16 มิถุนายน 2536 จนกว่าจะชำระเสร็จ ทั้งนี้เงินเพิ่มต้องไม่เกินจำนวนภาษีที่ต้องชำระนั้น จำเลยมิได้ฟ้องแย้งให้โจทก์ชำระภาษีอากรจำนวนดังกล่าวไว้ จึงไม่มีประเด็นที่ต้องวินิจฉัย คำวินิจฉัยของศาลภาษีอากรในส่วนนี้ไม่ชอบ ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง