คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5743/2534

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยมีวัตถุประสงค์ประกอบการขนส่งสินค้าทางน้ำทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศ ทำหน้าที่แจ้งให้โจทก์ซึ่งเป็นผู้ซื้อสินค้าทราบว่า เรือบรรทุกสินค้ามาถึงประเทศไทย มอบสำเนาใบตราส่งให้โจทก์ ทำหนังสือขออนุญาตนำเรือเข้าเทียบท่า ติดต่อหน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง เป็นผู้ขนตู้สินค้าขึ้นจากเรือ ขนสินค้าออกจากตู้สินค้าและเรียกค่าบริการจากโจทก์ การดำเนินการดังกล่าวของจำเลยเป็นขั้นตอนสำคัญของการขนส่ง เพราะหากปราศจากการดำเนินการดังกล่าว สินค้าที่ขนส่งมาย่อมไม่อาจถึงมือผู้ซื้อได้พฤติการณ์ของจำเลยมีลักษณะเป็นการร่วมกันขนส่งสินค้าพิพาทกับบริษัทฮ. ผู้ขนส่งทอดแรก อันเป็นการขนส่งหลายทอดตามวิธีการรับขนทางทะเล โดยจำเลยเป็นผู้ขนส่งทอดสุดท้าย จำเลยจึงต้องร่วมรับผิดในความบุบสลายของสินค้าที่ขนส่งด้วย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 618 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งกับกฎหมายว่าด้วยการรับขนของทางทะเล เมื่อโจทก์ชำระค่าสินค้าไปโดยคิดอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราในวันใดโจทก์ย่อมเรียกค่าเสียหายจากจำเลยโดยคิดอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราในวันดังกล่าว จำเลยจะขอให้คิดจากอัตราในวันที่เกิดความเสียหายแก่สินค้าซึ่งมีอัตราต่ำกว่าไม่ได้ คดีหนี้เหนือบุคคล จำเลยมีภูมิลำเนาอยู่ที่กรุงเทพมหานครโจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยต่อศาลแพ่ง จำเลยจะอ้างว่ามีข้อตกลงให้ฟ้องที่ศาลในต่างประเทศโดยไม่ปรากฏข้อตกลงดังกล่าวในคำแปลภาษาต่างประเทศเป็นภาษาไทยหาได้ไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อกลางเดือนสิงหาคม 2527 โจทก์ได้สั่งซื้อกระจกเงาสีชาจากบริษัทวีทรีเรียซาวาส เอส.พี.เอ. จำกัดที่ประเทศอิตาลี จำนวน 55 ลัง บริษัทวีทรีเรียซาวาสเอส.พี.เอ.จำกัด ได้ว่าจ้างบริษัทฮาปากลอยด์ เอจี จำกัด เป็นผู้ขนส่ง สินค้าทั้งหมดซึ่งบรรจุในตู้สินค้ารวม 5 ตู้ ได้ขนลงเรือทะเลชื่ออีกอนมาถึงประเทศสิงคโปร์ บริษัทฮาปากลอยด์ เอจี จำกัด เป็นผู้ขนส่งทอดแรกไม่มีสำนักงานสาขาในประเทศไทย จึงได้มอบหมายให้บริษัทจำเลยเป็นผู้ขนส่งทอดสุดท้ายโดยให้บำเหน็จ ได้มีการเปิดตู้สินค้าเมื่อถึงประเทศไทยแล้ว ปรากฏว่ากระจกที่บรรจุอยู่ในตู้สินค้าหมายเลข 2005057 แตกเสียหายทั้งหมดคิดเป็นเงินทั้งสิ้น 370,208.90 บาทความเสียหายดังกล่าวเกิดขึ้นในระหว่างขนส่งทางทะเล บริษัทฮาปากลอยด์ เอจี จำกัด ผู้ขนส่งสินค้าและจำเลยผู้ขนส่งร่วมมีหน้าที่ต้องชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ ขอให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์จำเลย 370,208.90 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันที่ 28 กันยายน 2527อันเป็นวันตรวจพบความเสียหายจนกว่าจำเลยจะชำระเงินดังกล่าวให้แก่โจทก์เสร็จ
จำเลยให้การว่า การขนส่งรายพิพาทจากประเทศอิตาลีถึงท่าเรือกรุงเทพเป็นการขนส่งในระบบตู้สินค้าจากสถานีตู้สินค้าต้นทางถึงท่าเรือปลายทางซึ่งเรียกว่า เอฟ.ซี.แอล แอล.ซี.แอล.ซึ่งในกรณีเช่นนี้ผู้ขนส่งไม่จำต้องรับผิดชอบในความเสียหายอันเกิดมาจากการบรรจุสินค้าลงตู้ไม่ดี หรือไม่ปลอดภัยเพียงพอ อันเป็นไปตามประเพณีขนส่งสินค้าระบบตู้สินค้าและตามข้อตกลงในการขนส่งบริษัทฮาปากลอยด์ เอจี จำกัด มิได้มอบหมายให้จำเลยเป็นผู้ขนส่งร่วมทอดสุดท้าย และจำเลยไม่เคยตกลงเข้าร่วมขนส่งดังที่โจทก์อ้าง กระจกมิได้แตกในระหว่างขนส่งผู้ขนส่งจึงไม่ต้องรับผิดอย่างไรก็ดีโจทก์มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายเพียง 12,781.69เหรียญสหรัฐอเมริกา คิดเป็นเงินไทย 294,617.95 บาท ตามอัตราแลกเปลี่ยนในวันที่โจทก์มีสิทธิเรียกร้องในอัตราแลกเปลี่ยน1 เหรียญสหรัฐอเมริกาต่อ 23.05 บาท เท่านั้น เกี่ยวกับการขนส่งสินค้ารายพิพาทนี้มีข้อตกลงว่าถ้ามีข้อพิพาทเกิดขึ้นให้ดำเนินคดีที่ศาลเมืองฮัมเบิร์ก ประเทศเยอรมันนี โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องคดีที่ศาลในประเทศไทย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาให้จำเลยใช้เงินจำนวน 344,083.09บาทพร้อมดอกเบี้ย
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงินแก่โจทก์จำนวน370,208.90 บาท พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาว่า จำเลยเป็นผู้ขนส่งทอดสุดท้ายหรือไม่ เห็นว่านอกจากจำเลยทำหน้าที่แจ้งให้โจทก์ทราบว่าเรือสิริภูมิได้เดินทางเข้ามาถึงประเทศไทยและมอบสำเนาใบตราส่งเอกสารหมาย จ.7 ให้แก่โจทก์แล้ว จำเลยเป็นตัวแทนของบริษัทฮาปากลอยด์ เอจี จำกัด ตามที่ปรากฏในใบสั่งปล่อยสินค้าเอกสารหมาย จ.12 จำเลยมีหน้าที่ขนสินค้าลงจากเรือเป็นผู้ขนสินค้าออกจากตู้และได้เรียกค่าบริการส่วนนี้จากโจทก์เป็นเงิน1,259.30 บาท จำเลยมีวัตถุประสงค์ประกอบการขนส่งสินค้าทางน้ำทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศตามเอกสารหมายจ.30 เมื่อเรือสิริภูมิมาถึงประเทศไทยแล้ว จำเลยมีหน้าที่ทำหนังสือถึงการท่าเรือแห่งประเทศไทยเพื่อขออนุญาตนำเรือสิริภูมิเข้าเทียบท่าที่การท่าเรือแห่งประเทศไทย เจ้าหน้าที่ของจำเลยจะประชุมกับเจ้าหน้าที่ของการท่าเรือแห่งประเทศไทยว่าเรือสิริภูมิจะไปจอดที่ท่าใดจำเลยยังมีหน้าที่ติดต่อกับกรมศุลกากรกรมเจ้าท่า กองตรวจคนเข้าเมือง และกองสาธารณสุขด้วยจำเลยได้รับค่าบริการการขนสินค้าออกจากตู้จากโจทก์เป็นเงิน1,259.30 บาท ตามสำเนาใบตราส่งเอกสารหมาย จ.7 ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า การดำเนินการดังกล่าวของจำเลยเป็นขั้นตอนสำคัญของการขนส่งเพราะหากปราศจากการดำเนินการดังกล่าว สินค้าที่ขนส่งมาย่อมไม่อาจถึงมือผู้ซื้อได้ พฤติการณ์ของจำเลยมีลักษณะเป็นการร่วมกันขนส่งสินค้าพิพาทกับบริษัทฮาปากลอยด์ เอจี จำกัด ผู้ขนส่ง อันเป็นการขนส่งหลายทอดตามวิธีการรับขนทางทะเล โดยจำเลยเป็นผู้ขนส่งทอดสุดท้าย
ปัญหาว่า จำเลยจะต้องรับผิดชำระค่าเสียหายให้แก่โจทก์หรือไม่เพียงใด เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยเป็นผู้ขนส่งทอดสุดท้ายจำเลยจึงต้องร่วมรับผิดในความบุบสลายของสินค้าที่ขนส่งด้วยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 618 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งกับกฎหมายว่าด้วยการรับขนของทางทะเล ส่วนอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราที่จะนำมาคำนวณค่าเสียหายนั้น จำเลยจะขอให้คิดจากอัตราในวันที่เกิดความเสียหายแก่สินค้าซึ่งมีอัตราต่ำกว่าไม่ได้เพราะโจทก์มิได้ชดใช้ค่าเสียหายในวันดังกล่าว จึงต้องคำนวณจากอัตราในวันที่โจทก์ชำระค่าสินค้าไป
ส่วนปัญหาว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยต่อศาลแพ่งนั้น เห็นว่าคดีนี้เป็นคดีหนี้เหนือบุคคล จำเลยมีภูมิลำเนาอยู่ที่กรุงเทพมหานครโจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยต่อศาลแพ่ง ข้อตกลงเกี่ยวกับศาลที่จะฟ้องร้องกันตามที่จำเลยอ้าง ตามคำแปลเอกสารหมาย จ.7 จ.9 ไม่ปรากฏว่ามีข้อตกลงตามที่จำเลยกล่าวอ้างว่าโจทก์จะต้องฟ้องจำเลยต่อศาลเมืองฮัมเบิร์กแต่อย่างใด ฎีกาของจำเลยทั้งหมดฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share