คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5742/2538

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้ร่วมกันว่าจ้างโจทก์จัดการโฆษณาสินค้าโดยระบุรายการสินค้าที่โฆษณาเป็นภาษาอังกฤษว่า MEO BATH ซึ่งโจทก์แปลเป็นภาษาไทยว่า แชมพูมีโอ และโจทก์นำสืบว่าจำเลยว่าจ้างโจทก์โฆษณาสินค้า คือแชมพูยี่ห้อมีโอ โดยแปลภาษาอังกฤษคำว่า MEO BATH เป็นภาษาไทยว่า แชมพูมีโอ จำเลยนำสืบโดยอ้างใบเรียกเก็บเงินซึ่งระบุว่าสินค้าที่ให้โจทก์โฆษณานั้นมีชื่อเป็นภาษาอังกฤษว่า MEO BATH แต่จำเลยแปลเป็นภาษาไทยว่า มีโอบาช ซึ่งแปลว่าสบู่เหลว ดังนี้ถือได้ว่า จำเลยนำสืบรับว่าสินค้าที่โจทก์รับโฆษณาคือสินค้าที่มีชื่อเป็นภาษาอังกฤษว่าMEO BATH แม้โจทก์และจำเลยจะแปลเป็นภาษาไทยต่างกัน แต่ก็เป็นสินค้าอย่างเดียวกันนั้นเอง จึงฟังได้ว่าจำเลยว่าจ้างโจทก์โฆษณาสินค้าตามฟ้อง หาใช่เป็นการนำสืบข้อเท็จจริงต่างจากฟ้องไม่
วันเดือนปีใดตรงกับวันอะไรนั้นเป็นข้อเท็จจริงซึ่งเป็นที่รู้กันอยู่ทั่วไป คู่ความไม่ต้องนำสืบตาม ป.วิ.พ.มาตรา 84 (1) ดังนั้นการที่ศาลอุทธรณ์ยกขึ้นวินิจฉัยเองว่าวันสุดท้ายของกำหนดอายุความ 2 ปี ตรงกับวันอาทิตย์หยุดราชการจึงชอบแล้ว
ที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ฎีกาว่า จำเลยที่ 3 เป็นเพียงกรรมการผู้จัดการของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 3 จึงไม่ต้องรับผิดเป็นส่วนตัวนั้นจำเลยที่ 2 และที่ 3 มิได้ให้การต่อสู้ไว้ จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ.มาตรา 249 วรรคหนึ่งศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้

Share