คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1679/2517

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 ได้ยื่นเรื่องราวต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ขอขายที่พิพาทแก่โจทก์โดยโจทก์ตกลงซื้อและทำสัญญามัดจำไว้แล้ว ตามสัญญาจำเลยที่ 1 ยินยอมให้โจทก์เข้าครอบครองที่พิพาททันที และจะโอนกรรมสิทธิ์กันต่อเจ้าพนักงานให้เสร็จภายในกำหนด 2 เดือนนับแต่วันทำสัญญาเป็นต้นไป ต่อมาจำเลยที่ 2 ทราบว่าจำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอขายที่พิพาทให้กับโจทก์ จึงยื่นคำร้องคัดค้านต่อนายอำเภอ มิให้จำเลยขายที่พิพาทให้โจทก์ จนกว่าจำเลยที่ 1 จะได้ชำระเงินกู้ให้จำเลยที่ 2 นายอำเภอเรียกโจทก์กับจำเลยที่ 2 มาเปรียบเทียบ แต่ไม่ตกลงกัน จำเลยที่ 2ได้ยื่นฟ้องจำเลยที่ 1 เรียกเงินกู้ที่จำเลยที่ 1 กู้ไปคืน และทำสัญญาประนีประนอมยอมความในวันเดียวกันนั้นเองโดยขายที่พิพาทให้จำเลยที่ 2 ศาลพิพากษาตามยอมแต่ยังไม่ได้โอนที่พิพาท เพราะโจทก์คัดค้านไว้ ดังนี้ แสดงว่าโจทก์ได้ตกลงรับซื้อที่พิพาทตามสัญญามัดจำ และยื่นเรื่องราวต่อพนักงานเจ้าหน้าที่จะให้จดทะเบียนสิทธิของโจทก์ได้อยู่ก่อนจำเลยที่ 2 แล้ว จำเลยที่ 2 เพิ่งมีสิทธิตามคำพิพากษาที่จะได้รับโอนที่พิพาทภายหลัง ทั้งจำเลยก็ทราบดีอยู่แล้วว่าจำเลยที่ 1 ไปยื่นคำร้องขอขายที่พิพาทให้โจทก์ก่อนแล้ว การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงเป็นไปโดยไม่สุจริต จะนำมาใช้ยันโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกไม่ได้ จำเลยที่ 2 ไม่มีสิทธิที่จะให้จดทะเบียนสิทธิที่พิพาทหรือประมูลที่พิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 หรือขายทอดตลาดที่พิพาทเอาเงินแบ่งกันตามส่วนแต่อย่างใด

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและเพิ่มเติมฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ได้ยื่นเรื่องราวต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ขอขายที่ดินสวน 1 แปลงให้แก่โจทก์ โจทก์ตกลงซื้อ และทำสัญญาวางมัดจำให้จำเลยรับไปแล้ว จำเลยยินยอมให้โจทก์ครอบครองที่ดินในทันที และสัญญาจะโอนกรรมสิทธิ์ให้ภายในกำหนดเวลา 2 เดือน ต่อมาจำเลยทั้งสองได้สมคบกันทำหนังสือสัญญากู้ขึ้น 1 ฉบับมีข้อความว่า จำเลยที่ 1 ได้กู้เงินจำเลยที่ 2 ไป และเอาที่ดินแปลงที่จะขายให้โจทก์เป็นประกันเงินกู้ ต่อมาจำเลยที่ 2 ได้เป็นโจทก์ฟ้อง จำเลยที่ 1 เรียกเงินกู้ตามสัญญาดังกล่าวและทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันในวันนั้นเอง โดยจำเลยที่ 1 ยอมโอนที่ดินแปลงที่จะขายให้โจทก์ให้แก่จำเลยที่ 2 เป็นการใช้หนี้ศาลพิพากษาตามยอม แต่ขณะนี้ยังมิได้ทำการโอนทะเบียน ขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 180, 350, 83 และขอให้ศาลสั่งว่า คำสั่งศาลที่ให้โอนที่ดินของจำเลยที่ 1 ให้จำเลยที่ 2ไม่ผูกพันโจทก์ ให้จำเลยที่ 1 โอนขายที่ดินให้โจทก์ ถ้าจำเลยที่ 1 ไม่สามารถโอนขายก็ให้คืนเงินมัดจำ และให้จำเลยทั้งสองร่วมรับผิดชอบใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ด้วย

จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพตามฟ้องทั้งส่วนแพ่งและส่วนอาญา

จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 1 ได้กู้เงินนายห้อยบิดาจำเลยที่ 2 และสัญญาว่าครบ 1 ปี แล้วถ้าไม่เอาเงินต้นกับดอกเบี้ยมาชำระจะขายที่ดินพิพาทให้ต่อมาจำเลยที่ 2 ทราบว่าจำเลยที่ 1 ได้ยื่นคำร้องขอขายที่ดินแปลงพิพาทให้โจทก์จำเลยที่ 2 จึงยื่นคำร้องคัดค้านต่อนายอำเภอ นายอำเภอเรียกโจทก์กับจำเลยที่ 2 มาเปรียบเทียบแต่ไม่ตกลงกัน จำเลยที่ 2 จึงได้ยื่นฟ้องจำเลยที่ 1 เรียกเงินกู้รายนี้คืนจำเลยรับตามฟ้อง ยอมขายสวนพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 โดยขอเพิ่มเงินอีก และจำเลยที่ 1 ได้รับเงินเพิ่มนั้นไปแล้วจำเลยที่ 2 ได้เข้าครอบครองตั้งแต่วันทำสัญญาประนีประนอมยอมความนั้น จำเลยที่ 2 มีบุริมสิทธิเหนือที่พิพาท และอยู่เหนือลำดับหนี้โจทก์ซึ่งมีอยู่กับจำเลยที่ 1 ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 350 และให้จำเลยที่ 1 โอนขายที่ดินให้โจทก์ตามสัญญา ส่วนเบี้ยปรับนั้นจำเลยที่ 2 มิใช่คู่สัญญากับโจทก์โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องเรียกจากจำเลยที่ 2 คงเรียกได้เฉพาะจำเลยที่ 1แต่เห็นว่าเบี้ยปรับที่โจทก์ขอมาสูงเกินควร จึงกำหนดให้จำเลยที่ 1 ชดใช้ให้โจทก์เพียง 1,000 บาท ส่วนคำขอที่ว่าคำพิพากษาคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 30/2513 ของศาลชั้นต้นไม่ผูกพันโจทก์ไม่จำต้องสั่ง เพราะคำพิพากษามีผลผูกพันเฉพาะคู่ความ และไม่ต้องด้วยข้อยกเว้นให้ผูกพันบุคคลภายนอก เรื่องทางแพ่งเป็นเรื่องที่จำเลยที่ 1 จะต้องปฏิบัติแต่เพียงผู้เดียว ส่วนจำเลยที่ 2 ไม่ต้องปฏิบัติแต่อย่างใด

จำเลยที่ 2 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นเป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ในคดีส่วนอาญาเฉพาะจำเลยที่ 2 และให้โจทก์ชำระเงินค่าที่ดินที่ค้างชำระให้จำเลยที่ 1 ด้วยนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

จำเลยที่ 2 ฎีกาเฉพาะคดีส่วนแพ่ง

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2513 จำเลยที่ 1ได้ยื่นเรื่องราวต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ขอขายที่พิพาทแก่โจทก์ โดยโจทก์ตกลงรับซื้อ และได้ทำสัญญามัดจำไว้ตามสัญญาจำเลยที่ 1 ยินยอมให้โจทก์เข้าครอบครองที่พิพาททันที และจะโอนกรรมสิทธิ์กันต่อเจ้าพนักงานให้สำเร็จภายในกำหนด 2 เดือนนับตั้งแต่วันทำสัญญา ต่อมาในเดือนกุมภาพันธ์ 2513 นั้นเอง จำเลยที่ 2 ทราบว่าจำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอขายที่พิพาทให้โจทก์ จึงยื่นคำร้องคัดค้านต่อนายอำเภอมิให้จำเลยที่ 1 ขายที่พิพาทให้โจทก์จนกว่าจำเลยที่ 1 จะได้ชำระเงินกู้ให้จำเลยที่ 2 นายอำเภอเรียกโจทก์กับจำเลยที่ 2 มาเปรียบเทียบ แต่ไม่ตกลงกัน ครั้นต่อมาวันที่ 10 มีนาคม 2513 จำเลยที่ 2 ได้ยื่นฟ้องจำเลยที่ 1 เรียกเงินกู้ที่จำเลยที่ 1 กู้ไปคืน และในวันเดียวกันนั้นมีการประนีประนอมยอมความกันโดยขายที่พิพาทให้จำเลยที่ 2 ศาลพิพากษาตามยอมและมีคำสั่งถึงนายอำเภอให้โอนที่พิพาทแก่จำเลยที่ 2 แต่ยังมิได้ทำการโอนเพราะโจทก์คัดค้านไว้ ดังนี้ แสดงว่าโจทก์ได้ตกลงรับซื้อที่พิพาทตามสัญญามัดจำ และยื่นเรื่องราวต่อพนักงานเจ้าหน้าที่จะให้จดทะเบียนสิทธิของโจทก์ได้อยู่ก่อนจำเลยที่ 2 แล้ว จำเลยที่ 2 เพิ่งมีสิทธิตามคำพิพากษาที่จะได้รับโอนที่พิพาทภายหลัง ทั้งจำเลยทราบดีอยู่แล้วว่าจำเลยที่ 1 ไปยื่นคำร้องขอขายที่พิพาทให้ก่อนแล้วการกระทำของจำเลยทั้งสองจึงเป็นไปโดยไม่สุจริต จะนำมาใช้ยันโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกไม่ได้ จำเลยที่ 2 ไม่มีสิทธิที่จะให้จดทะเบียนสิทธิที่พิพาทหรือประมูลที่พิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 หรือขายทอดตลาดที่พิพาทเอาเงินแบ่งกันตามส่วนแต่อย่างใด

พิพากษายืน

Share